- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 14 July 2014 14:50
- Hits: 2166
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การจัดพอร์ตการลงทุนยังแนะนำให้เข้าสู่โหมดปลอดภัย โดยเน้นหุ้น Dividend อย่างเช่น KKP และ BECL และขายหุ้นที่ราคาวิ่งขึ้นมาสูงกว่า Fair Value อย่างไรก็ตามหากต้องการเก็งกำไรในหุ้นขนาดเล็ก ควรเลือกตัวที่ผลประกอบการมีกำไรต่อเนื่องช่วง 4 ไตรมาสที่ผ่านมา และราคายังต่ำกว่า Book Value ซึ่งตัวเลือกเก็งกำไรระยะสั้นที่โดดเด่น เช่น LALIN, STA, GEL และ TCB
กรอบเวลาทางการเมืองชัดเจนขึ้นตามลำดับ เป็นผลดีต่อตลาดหุ้น
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงถึงความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่า ภาพรวมจะมีจำนวนมาตราไม่เกิน 50 มาตรา โดยจะมีการวางกลไกให้มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่าง คสช. กับรัฐบาล ซึ่งอาจจะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินยังไม่เป็นแนวทางปกติทุกเรื่อง เพื่อที่จะให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ คสช. จะเน้นการทำหน้าที่ในส่วนงานความมั่นคง อีกประเด็นหนึ่งที่มีการกล่าวถึงได้แก่ ที่มาของ สภาปฎิรูป ซึ่งจะมีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 250 คน โดยในกระบวนการคัดสรรจะให้มีการเสนอรายชื่อจากกลุ่มอาชีพต่างๆ 11 กลุ่มซึ่งจะมีผู้ผ่านการเสนอชื่อรวม 550 คน และให้มาจากการคัดเลือกของจังหวัดต่างๆ อีก 76 คน (ใช้วิธีหาตัวแทนมาจังหวัดละ 5 คน และคัดให้เหลือเพียงจังหวัดละ 1 คน) หลังจากนั้นจะมีผู้ผ่านการคัดเลือกรวมประมาณ 630 คน แล้วคัดเลือกอีกครั้งให้เหลือ 250 คน โดยสภาปฎิรูปจะทำหน้าที่ในการเสนอแนวทางในการปฎิรูปเรื่องต่างๆ รวมถึงส่งตัวแทนเข้าไปอยู่ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ
ในส่วนของกรอบเวลา จากการติดตามข้อมูลผ่านสื่อมวลชนต่างๆ คาดว่า คสช. จะนำร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ขึ้นทูลเกล้าฯ ในสัปดาห์นี้ ภายในเดือน ก.ย.2557 จะมีการแต่งตั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรโดย สภาร่างรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงเดือน ก.ค.2558 หลังจากนั้นเป็นการจัดการเลือกตั้ง กรอบเวลาที่ชัดเจนดังกล่าวน่าจะถือเป็นปัจจัยบวกสำหรับ SET Index อย่างน้อยก็ทำให้ Fund Flow หยุดการไหลออก และอาจไหลกลับเข้ามาอีกระยะหนึ่งแต่ยังไม่มาก
หุ้นต่ำ Book Value และมีกำไรต่อเนื่อง 4 ไตรมาส LALIN, STA, GEL, TCB
ที่ระดับ Current PER ประมาณ 16 เท่า ปรากฎว่าหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ส่วนใหญ่มีระดับราคาตลาดที่วิ่งขึ้นไปใกล้ Fair Value ทำให้เหลือ Upside ที่จำกัด ขณะที่บางส่วนปรับตัวสูงขึ้นไปเหนือ Fair Value ด้วยสภาวะดังกล่าวทำให้กระแสการลงทุนในระยะหลังให้ความสนใจกับหุ้นขนาดเล็ก (Market Cap. เล็ก) ซึ่งราคาต่ำผิดปกติ หรือไม่ได้ปรับตัวขึ้นมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้ฝ่ายวิจัย ASP ได้ทำการคัดกรองหุ้นขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งอยู่บนเงื่อนไขสำคัญว่า ต้องมีผลประกอบการรายไตรมาสย้อนหลังว 4 ไตรมาส เป็นกำไรต่อเนื่อง, ค่า PER (กำไรย้อนหลัง 4 ไตรมาส) ต้องไม่เกิน 15 เท่า และสำคัญที่สุดราคาหุ้นต้องซื้อขายต่ำกว่า Book Value ซึ่งพบว่าได้แสดงผลออกมากลุ่มหนึ่ง หลังจากนั้นได้คัดกรองเอาหุ้นที่สภาพคล่องในการซื้อขายน้อย หรือไม่ค่อยมีการซื้อขายออกไป พบว่าได้ตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการเก็งกำไรระยะสั้น อย่างเช่น LALIN (Book Value 5.36), STA (Book Value 16), GEL (Book Value 0.94) และ TCB (Book Value 37.98) อย่างไรก็ตามในการเข้าไปเก็งกำไร นักลงทุนควรกำหนดจุด Take Profit หรือ Cut Loss ให้ชัดเจน และต้องจับตาดูสภาพคล่องในการซื้อขายใกล้ชิด โดยหากสภาพคล่องในการซื้อขายหายไปก็ไม่ควรเข้าไปเก็งกำไรต่อ
กลุ่ม ธ.พ. ขึ้นมาแรงเกินไป มีโอกาสถูก sell on fact หลังประกาศงบ 2Q57
สัปดาห์นี้จะเข้าสู่การรายงานผลประกอบการงวด 2Q57 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยเมื่อช่วงเย็นวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา TISCO ได้เป็น ธ.พ. แห่งแรกที่รายงานงบงวด 2Q57 ซึ่งกำไรสุทธิใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาด ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยได้คาดการณ์ผลการดำเนินงานของกลุ่ม ธ.พ. 10 แห่งที่ศึกษา จะมีกำไรสุทธิงวด 2Q57 เท่ากับ 5.03 หมื่นล้านบาท ทรงตัวจากงวดที่ผ่านมา และยังทรงตัวจากงวด 2Q56 (-0.1% qoq และ yoy) โดยที่ภาพรวมยังไม่มีอะไรโดดเด่นจากผลการดำเนินงานของ ธ.พ. ส่วนใหญ่ในงวดนี้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากปัจจัยการเมืองที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคเอกชนมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2556 ซึ่งมีผลต่อเนื่องมาถึงช่วง 1H57 เว้นแต่เพียงรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ยังเติบโตได้ แต่ก็ถูกลดทอนจากการตั้งสำรองหนี้ฯ
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงดัชนีกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พบว่าได้มีการปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา จนถึงล่าสุดปรับขึ้นมากว่า 14% เนื่องมาจากแรงเก็งกำไรผลประกอบการ และความคาดหวังต่อแนวโน้มที่ดีขึ้นของผลประกอบการ ในช่วง 2H57 และปี 2558 จากการเดินหน้าเศรษฐกิจตาม Roadmap ของ คสช. อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นแรงเกินไปของดัชนีและราคาหุ้นขนาดใหญ่หลายตัวที่เพิ่มขึ้นสูงมากจนทำให้ upside เหลือค่อนข้างจำกัด ทำให้มีความเสี่ยงที่จะถูก sell on fact ได้ นักลงทุนจึงควรระมัดระวังและเลือกลงทุนในหุ้นที่ยังมี upside เหลือ เช่น KKP (FV@B 52.2) ที่ยังมี upside ราว 11% และมีประเด็นบวกจากการเป็นหุ้นปันผลเด่น
ค่าเงินบาท แข็งค่าตามภูมิภาคเอเซีย
ค่าเงินบาท ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา (7 ก.ค. - 11 ก.ค. 2557) มีทิศทางแข็งค่าขึ้นกว่า 0.8% สาเหตุหนึ่งมาจาก ปัจจัยการเมืองในประเทศ ที่มีกำหนดการและแนวทางที่ชัดเจนขึ้นทำให้มีการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศทั้งในตลาดตราสารทุน สะท้อนได้จากการมีสถานะซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยในรอบ 8 วันทำการหลังสุดกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท รวมทั้งซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้อีกกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทไทยนี้เป็นรองเพียงค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียที่แข็งค่าที่สุดโดยเปรียบเทียบ 2.5% เนื่องมาจากได้รับ sentiment เชิงบวกจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งคาดหมายว่า นายโจโก วิโดโด น่าจะได้รับชัยชนะ ซึ่งจะส่งผลในเรื่องของภาพลักษณ์ที่คาดว่าปัญหาการคอร์รัปชั่นจะลดลง และมุมมองต่อการเมืองอินโดนีเซียมีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศในภูมิภาคเอเซียยังได้แรงหนุนจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ที่มีการประชุมผ่านไปในวันที่ 17-18 มิ.ย. 2557 โดยยังเป็นไปตามที่คาดว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะเกิดขึ้นราวช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ประเด็นบวกดังกล่าวน่าจะหนุนให้ยังมีเงินไหลเข้าสู่ภูมิภาคในระยะสั้น ซึงเป็นแรงช่วยพยุง SET Index
ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่อง
ศุกร์ที่ผ่านมา แม้ตลาดหุ้นไทยจะปิดทำการ แต่ตลาดอื่นๆในภูมิภาคยังเปิดทำการตามปกติ โดยที่เงินทุนจากต่างชาติยังคงไหลเข้าภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 495 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 27% จากวันก่อนหน้า) ซื้อสุทธิสูงสุดคือ อินโดนีเซียที่ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4 ราว 253 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 30% จากวันก่อนหน้า) ตามมาด้วย เกาหลีใต้ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 เช่นกัน ราว 207 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 19%) ส่วน ไต้หวันแม้จะซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 แต่กลับเบาบางเพียง 51 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า) สวนทางกับ ฟิลิปปินส์ที่สลับมาขายราว 16 ล้านเหรียญฯ (สลับซื้อขายใน 4 วันหลังสุด) ขณะที่ไทยปิดทำการเนื่องจากวันอาสาฬหบูชา
ในส่วนของตลาดหุ้นไทยในวันพฤหัสที่ผ่านมา ยังคงถูกซื้อสุทธิราว 3.7 พันล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิถึง 8 จาก 9 วันหลังสุด รวม 1.5 หมื่นล้านบาท ในทิศทางเดียวกับตลาดตราสารหนี้ ที่ยังคงถูกเข้าซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 11 ด้วยยอดสูงถึง 1.6 หมื่นล้านบาท รวม 11 วันซื้อสุทธิราว 6.6 หมื่นล้านบาท
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล