- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 02 March 2016 18:33
- Hits: 457
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ราคาน้ำมันโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น และ การระดมเงินเพื่อลงทุนในโครงการขนาดใหญ่มีความชัดเจนมากขึ้น น่าจะหนุนเศรษฐกิจไทย และตลาดหุ้นไทยเดินหน้าต่อ ระยะสั้นน่าจะ SET แตะ 1,350 จุด ได้ กลยุทธ์ยังให้ผสมหุ้น Global (PTT, IRPC) + Domestic (ADVANC, PS, ASK, AIT) เลือก IRPC([email protected]) เป็น Top pick
การกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีอยู่ตราบที่ดัชนีชี้นำยังขัดแย้ง
เศรษฐกิจทั่วโลกยังคงส่งสัญญาณฟื้นตัวล่าช้า โดยเฉพาะ จีน ล่าสุด พบดัชนี PMI ภาคการผลิต เดือน ก.พ. ลดลงจาก 49.4 จุด จากเดือนก่อนหน้าเหลือ 49 จุด (เช่นเดียวกับ Caixin PMI ที่ 48.0) ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่า 50 ต่อเนื่องนานกว่า 11 เดือน ส่งผลทำให้ธนาคารกลางจีนต้องใช้มาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม ผ่านการลด RRR อีก 0.5% ที่ได้กล่าวไปวานนี้
ขณะที่ภาคการผลิตของสหรัฐ และยูโรโซน เริ่มกลับมามีเสถียรภาพ สะท้อนจากดัชนี PMI (Markit) เดือน ก.พ. ที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 51.3 จุด (จากเดือนก่อนหน้าที่ 51.0 จุด) และ 51.2 จุด (จากเดือนก่อนหน้าที่ 51.0 จุด) อย่างไรก็ตามยังนับว่าอยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกับภาคแรงงานที่อัตราการว่างงานยูโรโซนทีปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ 10.3% เดือนก่อนหน้าที่ 10.4%(สูงสุดที่ 12.1%)
ด้วยเหตุนี้ ทำให้การใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสำคัญ ๆ ของโลก ยังคงมีความจำเป็นต่อไป ซึ่งจะหนุนให้ช่วยเพิ่มสภาพคล่องโลก หนุนสินทรัพย์เสี่ยง อาทิ ตลาดหุ้น และ สินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันดิบ ตลาดล่วงหน้าทั้ง WTI , Brent ยังคงยืนอยู่เหนือระดับ 30 เหรียญฯต่อบาร์เรล และยังคงเชื่อว่าปัญหา Over supply เริ่มผ่อนคลายลงหลังมีการหันมาหารือ ระหว่างผู้ผลิตรายใหญ่ ผนวกกับ Dollar Index ที่กลับมาแข็งค่าล่าสุดที่ 98.35 จุด คาดจะสามารถหนุนราคาน้ำมัน WTI ขึ้นทะลุแนวต้านที่ 37 เหรียญฯต่อบาร์เรล ส่งผลบวกกับหุ้นในกลุ่มพลังงาน ทั้ง IRPC และ PTT ยังคงเลือกเป็น Top picks
มีแนวโน้มปรับลด GDP Growth ลงแต่น่าจะยืนที่ 3.5%
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กกร.) ยังมีความกังวลต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีแผนจะปรับลด GDP Growth ปี 2559 ลงอีกครั้ง จากปัจจุบันที่ประเมินไว้ 3-3.5% ซึ่งยังถือว่าใกล้เคียงกับตลาด (ค่าเฉลี่ยของ Concensus อยู่ที่ 3.5%) สาเหตุมาจากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ดังเช่น จีน (เศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกชะลอตัว) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย โดยล่าสุดเดือน ม.ค. -8.9%yoy (หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11) ขณะที่ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มรากหญ้า ยังเห็นผลล่าช้า เช่นเดียวกับ ASPS อยู่ระหว่างการทบทวน GDP Growth ปี 2559 คาดว่าจะปรับลดลงจากเดิมราว 0.3% เหลือ 3.5% (ดีกว่าปี 2558 ที่ 2.8% ) ติดตามใน Economic Update เร็ว ๆ นี้
ขณะที่เงินเฟ้อ เดือน ก.พ. -0.5% ใกล้เคียงกับตลาดคาด -0.53% นับว่าหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 ทั้งนี้แม้ ราคาผัก ผลไม้และเนื้อสัตว์ ได้ขยับขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่ยังถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำเป็นหลัก อย่างไรก็ตามคาดว่า เงินเฟ้อน่าจะมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นในเดือน มี.ค. และ เม.ย. จากผลกระทบของภัยแล้ง โดยตลอดีป 2559 กระทรวงพาณิชย์ประเมินเงินเฟ้อไว้ที่ 0.0-1% ลดลงจากเดิม 1-2% (ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบ 30- 40 เหรียญฯต่อบาร์เรล และ อัตราแลกเปลี่ยน 36-38 บาทต่อดอลลาร์ และ GDP Growth 2.8-3.8%) ซึ่งทำให้ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบาย (1.5%) กับเงินเฟ้อ ยังคงเป็นบวก ซึ่งทำให้เชื่อว่า กนง. ยังสามารถใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง ไปถึงกลางปีหรือสิ้นปี 2559 คู่ขนานไปกับ นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐต่อเนื่อง
รัฐเตรียมระดมเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดีต่อ หุ้น SCC, SCCC, CK
หลังจากเมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ครม. ได้อนุมัติให้จัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานฯ (ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์) วงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนก่อสร้างโครงการคมนาคมต่างๆ ผ่านระดมทุนจากภาคเอกชน เพื่อลดภาระการก่อหนี้สาธารณะ ล่าสุด กระทรวงการคลัง ได้ออกมาเปิดเผยว่าจะเริ่มระดมทุนส่วนแรก 1 หมื่นล้านบาท เสนอขายแบบเจาะจงให้นักลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนวายุภักษ์ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ก่อนเป็นลำดับแรกในเดือน มี.ค. นี้ จากนั้นจะเปิดขายให้กับนักลงทุนทั่วไปตั้งแต่เดือน มิ.ย. จนกว่าจะครบ 1 แสนล้านบาท ในส่วนของผลตอบแทนนั้น จะมีการการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำ ซึ่งตรงนี้คาดว่าน่าจะส่งผลต่อนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยง รวมทั้งกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากหรือพันธบัตรรัฐบาล อาจมีการสลับมาลงทุนใน ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ อันจะทำให้เม็ดเงินมีโอกาสไหลออกจากตลาดหุ้นในระยะสั้นๆ
สำหรับโครงการที่จะใช้แหล่งเงินทุนดังกล่าว ได้มีการคัดเลือกโครงการหลัก ๆ คือ ถนนมอเตอร์เวย์สาย 7 กรุงเทพ-พัทยา-มาบตาพุด (มูลค่า 1.42 หมื่นล้านบาท) และสาย 9 ถนนวงแหวนรอบนอกสายตะวันออก-บางพลี-สมุทรปราการ (มูลค่า 8.46 หมื่นล้านบาท) เนื่องจากเป็นโครงการที่จะมีรายได้เกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ โครงการถนนมอเตอร์เวย์ กรุงเทพ-พัทยา-มาบตาพุด นั้น ได้มีการประมูลไปแล้ว และ ขณะนี้ กรมทางหลวงได้ลงนามสัญญาก่อสร้างกับผู้รับเหมาจำนวน 5 สัญญา (การเจรจาต่อรองราคาแล้วเสร็จ) จากทั้งหมด 13 สัญญา ที่เหลือคาดว่าจะลงนามสัญญาได้ครบภายใน เดือนมี.ค.นี้ และน่าจะเริ่มต้นส่งมอบพื้นที่และเริ่มก่อสร้างได้ภายในเดือน มี.ค. นี้เช่นกัน ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างที่ชะลอตัวเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังแนะนำ SCC (FV@B595) และ SCCC (FV@B390) รวมถึงบริษัทรับเหมาก่อสร้างคือ CK([email protected])
ต่างชาติยังซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค แต่ขายหุ้นไทยเล็กน้อย
วานนี้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้หยุดทำการเนื่องจากเป็นวันหยุด ส่วนตลาดหุ้นอื่นๆยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่าต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 171 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) และเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 3 ประเทศ คือ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 148 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ตามมาด้วยอินโดนีเซียซื้อสุทธิราว 17 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) และฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิราว 11 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 3 วัน) ยกเว้นไทยที่ยังคงขายสุทธิราว 4 ล้านเหรียญ หรือ 146 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ต่างกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 337 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิราว 20,538 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 821 ล้านบาท
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์