- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 15 February 2016 17:37
- Hits: 714
บล.เอเซีย พลัส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ดัชนี ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว ตอกย้ำโอกาสขึ้นดอกเบี้ยลดลง กดดันเงินดอลลาร์อ่อนค่า หนุนสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ กลยุทธ์การลงทุนยังเน้นหุ้นที่มีค่า PER ต่ำ เงินปันผลสูง ยังคงเลือก ADVANC(FV@B187)
เศรษฐกิจสหรัฐมีสัญญาณชะลอตัว...ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงถัดไป
ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก และ ล่าสุด สหรัฐ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (สำรวจโดย ม.มิชิแกน) เดือน ก.พ. พบว่าลดลงอยู่ที่ระดับ 90.7 นับเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งสอดคล้องกับภาคการผลิตที่ยังชะลอตัว เป็นการตอกย้ำว่า Fed น่าจะมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยฯ ในช่วงที่เหลือน้อยลง ทั้งนี้สะท้อนจากผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์ใน Bloomberg คาดการณ์โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของ Fedในรอบ มี.ค. นี้มีเพียง 10% (จากเดิมคาดโอกาสขึ้น 50% ในการสำรวจเดือน ม.ค.) แต่โอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยจะสูงสุดอยู่ราว 70% ในการประชุม กลางปี (รอบ 14-15 มิ.ย.) ปรับเพิ่มขึ้นจากการสำรวจในเดือน ม.ค. ที่มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยเพียง 30%
ความเห็นดังกล่าวนับว่าสอดคล้องกับความเห็นของนาย Jim Caron ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของ Morgan Stanley ที่มีความเชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐว่ามีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยด้วยความน่าจะเป็น 20-25% โดยได้รับผลกระทบหลักจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน และการลดลงของราคาน้ำมัน รวมถึงการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอตัว ซึ่งในที่สุดอาจจะเป็นปัจจัยถ่วงดุลเศรษฐกิจสหรัฐ แม้ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจอื่นๆ ยังดูมีเสถียรภาพ ได้แก่ ตลาดแรงงาน, รายได้ประชากร และการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยนาย Jim Caron เชื่อว่า Fed มีความเป็นไปได้ที่จะต้องตรึงดอกเบี้ยต่อไปจนถึงปีหน้า ทั้งนี้สินทรัพย์เสี่ยง/อุตสาหกรรมที่นาย Caron เชื่อว่าได้รับผลกระทบน้อยในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันคือ อุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับพลังงาน และไม่มีวัฏจักรเศรษฐกิจ/อุตสาหกรรม รวมทั้งตราสารหนี้ที่แม้จะไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่น่าตื่นเต้น แต่ความเสี่ยงที่ต่ำ จึงทำให้กลายเป็นสินทรัพย์ที่เป็น High Yield ในช่วงเวลานี้ และเกิดการ hedging ป้องกันความเสี่ยงเป็นอย่างมาก
ความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังหนุนให้การประชุมธนาคารกลาง สวีเดน ล่าสุดปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.15% เป็นติดลบ 0.5% (ติดลบตั้งแต่กลางปี 2558 ) สอดคล้องกับธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่ได้ปรับลดดอกเบี้ยกระแสรายวัน ที่ ธ.พ.มาฝากกับธนาคารกลางฯ(BOJ) ลงเป็นติดลบ 0.1% ครั้งแรกในประวัติการณ์ ในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนไทย เช้าวันนี้ ติดตามการรายงาน GDP Growth งวด 4Q58 ซึ่งตลาดคาดที่ 2.4%yoy (vs 2.9%yoy งวด 3Q58) เทียบกับ ASPS คาดไว้ที่ 2.3% ส่งผลให้ทั้งปี 2558 GDP Growth จะอยู่ที่ 2.7% (vs. 2.9% ปี 2557) โดยได้แรงหนุนสำคัญมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่เริ่มดำเนินมาตั้งแต่ ก.ย. 58
ต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 5
วันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไต้หวันหยุดทำการเนื่องจากเป็นวันหยุด แต่ตลาดอื่นๆยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่า ต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 356 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) แต่ยังซื้อสุทธิอยู่ประเทศเดียว คือ อินโดนีเซียซื้อสุทธิราว 65 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 316 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ขายสุทธิราว 14 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) และไทยต่างชาติสุทธิราว 28 ล้านเหรียญ หรือ 992 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิสูงถึง 3,416 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 10,493 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 12,871 ล้านบาท อย่างไรก็ตามแรงขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาก โดยล่าสุดอยู่ที่ 35.70 บาท/ดอลลาร์
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
ราคาน้ำมันสะท้อนจุดต่ำ
เช้านี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า กลับมาอ่อนตัวเล็กน้อย หลังสามารถฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในสัปดาห์ที่ที่ผ่านมา กล่าวคือ วันศุกร์ ราคาน้ำมัน WTI สามารถดีดตัวขึ้นกว่า 12.32% ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด ปิดที่ 29.44 เหรียญฯต่อบาร์เรล (วันพฤหัสบดี ที่ 26.21 เหรียญฯต่อบาร์เรล) เช่นเดียวกับ Brent ที่ปิดตลาดวันศุกร์ สามารถปรับตัวขึ้นกว่า 3.36 เหรียญฯต่อบาร์เรล ปิดที่ 33.36 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล โดยล่าสุดราคาน้ำมันเริ่มย่อตัวลง ล่าสุด WIT และ Brent อยู่ที่ 29.12 และ 32.81 ขณะที่น้ำมันดูไบยังคงปรับตัวขึ้นต่อราว 1.17 เหรียญฯต่อบาร์เรล ปิดตลาด วันศุกร์อยู่ที่ 27.86 เหรียญฯต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ แม้ปัญหา Over Supply จะยังมีอยู่ก็ตาม แต่เนื่องจากระดับราคานี้ถือว่าต่ำกว่าต้นทุนของผู้ผลิตแล้ว สะท้อนจากการรายงานยอดบริษัทน้ำมันในสหรัฐ (Shale oil and Shale gas) กว่า 67 แห่ง ได้ยื่นล้มละลายในปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าปีก่อนถึง 379% จึง คาด ณ ระดับราคาปัจจุบันผ่านจุดต่ำสุด และเหลือ Downside จำกัดแล้ว นอกจากนี้กลุ่ม OPEC เริ่มส่งสัญญาณพร้อมร่วมมือกับผู้ผลิตรายอื่นเพื่อลดกำลังการผลิต รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ จากการขึ้นดอกเบี้ยฯ ที่ชะลอตัวลง จึงทำให้ราคาน้ำมันโลกน่าจะมีการเคลื่อนไหวแกว่งตัวอยู่ในระดับนี้ต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหนุนหุ้นกลุ่มน้ำมัน
หุ้นที่แนะนำใน Market talk