- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 07 January 2016 17:09
- Hits: 786
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET Index ยังคงถูกกดดันรอบด้าน World Bank ตัด GDP Growth โลกลงอีกครั้ง โดยปรับลดจีนเกือบทุกส่วนของโลก และราคาน้ำมันดิบยังทำจุดต่ำสุดใหม่ กลยุทธ์การลงทุนยังให้เน้นหุ้นรายตัวที่ราคาลงลึก/เงินปันผลเด่น STPI([email protected]) และ MCS([email protected]) เป็น Top picks
World bank ตัดลด GDP growth โลก โดยการตัดลดทุกส่วนของโลก
วานนี้ ธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดประมาณการ GDP Growthโลกรอบใหม่ ในเดือน ม.ค. เหลือ 2.9% ในปี 2559 เทียบกับเดิม 3.3% (ขณะที่ 2.4% ปี 2558) โดยเป็นการปรับลดทุกประเทศ ทั้งฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว โดยปรับลดญี่ปุ่นมากสุดปรับลด 0.4% เหลือ 1.3% ตามมาด้วยสหรัฐและกลุ่มยูโรโซนปรับลง 0.2% เท่ากันลงมาเหลือ 2.7% และ 1.7% ตามลำดับ และอังกฤษปรับลด 0.2% เหลือ 2.4% และประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเซีย ได้ปรับลดมาเลเซียมากที่สุด ราว0.5% เหลือ 4.5% ตามมาด้วย จีนปรับลดลงราว 0.3% เหลือ 6.7% ส่วนกลุ่ม TIPS อินโดนีเซียปรับลดลง 0.2% เหลือ 5.3% และฟิลิปปินส์ ปรับลด 0.1% เหลือ 6.4% ยกเว้นไทย ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง 2% ส่วนอินเดียปรับลง 0.1% เหลือ 7.8% เป็นต้น
ขณะที่การรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐ ยังส่งสัญญาณขัดแย้งกัน กล่าวคือ แม้ตลาดแรงงานยังฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดการจ้างงานภาคเอกชน เดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้นที่ระดับ 2.57 แสนราย (เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 6 เดือน) ตรงกันข้ามกับภาคการผลิตที่ยัง ชะลอตัว สะท้อนจากยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนและ ยอดสั่งซื้อสินค้าจากโรงงงาน เดือน พ.ย. อยู่ที่ระดับ 0% และ -0.2% (หดตัวติดต่อกัน 3 เดือน) ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ยัง มีความเสี่ยง และ น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไป หลังจากที่ Fed ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 0.5% นับเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ในช่วงกลางเดือน ธ.ค.2558 ซึ่งจะต้องติดตามผลการประชุมของ Fed ในรอบถัดไป (26-27 ม.ค. 2559)
การใช้น้ำมันสำเร็จรูปในสหรัฐลดลง ตามเศรษฐกิจชะลอตัว
ราคาน้ำมันดิบโลกยังคงทำจุดต่ำสุดใหม่ (โดยเฉพาะราคาน้ำมันตลาดล่วงหน้า Brent ปรับตัวลดลงทำจุดต่ำสุดใหม่ในรอบ 11 ปี ) นอกจากปัญหาผลผลิตส่วนเกินที่มีอยู่แล้ว ยังมีความกังวลผลการรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐสิ้นสุด 1 ม.ค. ที่ออกมามากกว่าที่คาด กล่าวคือ สต็อกน้ำมันสำเร็จรูป คือ น้ำมันกลั่น Heating Oil และน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้น 10.57 ล้านบาร์เรล ติดต่อกัน 8 สัปดาห์ และเป็นการปรับขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2536 (อยู่ที่ 231.99ล้าน บาร์เรล) เช่นเดียวกับสต็อกน้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น 6.30 ล้าน บาร์เรล(ติดต่อกัน 7 สัปดาห์) อยู่ที่ 159.41 ล้าน บาร์เรล เนื่องจากสภาพอากาศที่ยังคงแปรปรวนทำให้อากาศอุ่นขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ผนวกกับสัปดาห์ที่ผ่านมามีวันหยุดยาว และอยู่นอกฤดูกาลขับขี่ จึงทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันลดลง
ขณะที่สต็อกน้ำมันดิบที่รายงานรอบนี้ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยลดลง 5.08 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้แม้จะมี ความขัดแย้งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางอยู่ก็ตาม (หลังจากซาอุดิอาระเบียได้ประหารนักโทษคดีก่อการร้ายจำนวน 47 ราย) แต่ทำให้ราคาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้นในระยะสั้น ๆ เท่านั้น ล่าสุด EIA ประเมินปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของโลกที่ 95.22 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น1.49% เทียบกับปีก่อน) ขณะที่ปริมาณการผลิตอยู่ที่ 95.79 (เพิ่มขึ้น 0.42% เทียบกับปีก่อน) หรือยังคงมีปริมาณ Supply เกินกว่าความต้องการอยู่ราว 0.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวันจากอิหร่านกลับมาผลิตหลังสิ้นสุดการคว่ำบาตร) ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันอันดับสองของโลก มีสัญญานชะลอตัวชัดเจน ล้วนกดดันราคาน้ำมันดูไบ ทำจุดต่ำสุดใหม่ โดยล่าสุดอยู่ที่ 29.95 เหรียญต่อบาร์เรล ลดลง 7.25% จากวันก่อนหน้า เช่นเดียวกับน้ำมันตลาดล่วงหน้าทั้ง Brent และ WTI ที่ลดลง 6.01%,5.06% ซึ่งเป็น Sentiment เชิงลบต่อกลุ่มพลังงาน อาทิ PTT(FV@B310) และ PTTEP(FV@B60) ซึ่งมี Market cap ใหญ่ในอันดับต้น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ณ ระดับราคาหุ้นในปัจจุบันถือสะท้อนปัจจัยดังกล่าวไปมากแล้ว
ปัจจัยภายนอกยังคงกดดันให้ต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาค
วานนี้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกปรับตัวลดลง จากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ซบเซาของจีน มิหนำซ้ำเมื่อคืนนี้ราคาน้ำมันดิบโลกดิ่งลงอย่างหนักกว่า 5 % ขณะที่วานนี้ต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 40 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) แต่เป็นการซื้อสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิราว 133 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 5 วัน) และอินโดนีเซียถูกซื้อสุทธิราว 28 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ ไต้หวันถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 148 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิเล็กน้อยราว 3 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ส่วนตลาดหุ้นไทยต่างชาติยังคงขายสุทธิราว 50 ล้านเหรียญ หรือ 1,796 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 โดยมียอดขายสุทธิรวม 7.5 พันล้านบาท) ต่างกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่สลับมาซื้อสุทธิราว 948 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 3 วัน)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 23,970 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 2,965 ล้านบาท และแรงขายหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดยล่าสุดอยู่ที่ 36.25 บาท/ดอลลาร์
งบงวด 4Q58 ของ ธ.พ. ไม่สดใส
ปัจจัยกดดันรอบด้าน ยังคงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน แม้ว่าภายในประเทศจะมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่งวด 3Q58 แต่ก็ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าที่จะเริ่มเห็นผลอย่างมีนัย ซึ่งเป็นไปได้ว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะเป็นช่วง 1Q59 นี้ ที่จะเริ่มเห็นตัวเลขของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้น อาทิ กลุ่มค้าปลีก ท่องเที่ยว-โรงแรม สายการบิน เป็นต้น ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 4Q58 นั้น อาจจะออกมาไม่ได้โดดเด่นมากนัก ล่าสุด นักวิเคราะห์กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ได้เริ่มจัดทำ Earning Preview หุ้นในกลุ่มฯ แล้ว ปรากฏว่า ธ.พ. ส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะ ธ.พ. ขนาดใหญ่) คาดว่า ผลการดำเนินงานงวด 4Q58 ชะลอตัว เป็นผลทั้งจากการตั้งสำรองฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ NIM ก็คาดว่าน่าจะชะลอตัวลง รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้น ขณะที่มุมมองของปี 2559 ในช่วงครึ่งปีแรกก็ยังไม่สู้ดีนัก จากสัดส่วน NPL ที่คาดว่าน่าจะพุ่งสูงขึ้น และการตั้งสำรองฯ ที่เพิ่มมากขึ้นตามหลักระมัดระวัง ซึ่งกว่าผลการดำเนินงานจะดีขึ้นก็น่าจะล่วงเข้าสู่ 2H59 ไปแล้ว
และล่าสุดกลุ่ม ICT นักวิเคราะห์ ASPS ได้ปรับลดประมาณการกำไรฯ ปี 2559-2560 ไปแล้ว สะท้อนต้นทุนการประมูลใบอนุญาต 4G ที่สูงเกินคาดมากๆๆๆๆ และ แนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรง ขึ้น หลังจากที่มีผู้แข่งขันรายที่ 4 เข้ามาในอุตสาหกรรม โดยรวมจึงยังเชื่อว่า SET Index ยังมีโอกาสอ่อนตัวลงต่อจากปัจจัยกดดันรอบด้านดังกล่าว
เลือกหุ้นปันผลสูง สะสมเพื่อการลงทุน
ในภาวะที่ตลาดหุ้นยังปรับตัวลง แต่หากพิจารณารายหุ้น พบว่าน่าจะเป็นจังหวะสะสม โดยเฉพาะหุ้นที่มีเงินปันผลเด่น โดยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณได้ค้นหา หุ้น ที่สามารถจ่ายเงินปันผล เป็นเงินสดสม่ำเสมอในรอบ 5 ปีหลังสุด พร้อมทั้งมีโอกาสสูงที่จะได้ Capital Gain จากการปรับขึ้นของราคาในช่วงก่อนวันขึ้น XD ราว 3 เดือน
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์