- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 05 January 2016 16:00
- Hits: 1645
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เป็นอีกวันหนึ่งที่คาดว่าจะยังมีแรงของกองทุน LTF แต่เชื่อว่า หุ้นน้ำมัน ยังช่วยประคอง SET ราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวระยะสั้น จากปัญหาในตะวันออกกลาง เลือก STPI([email protected]) เป็น Top pick ซึ่งนอกจากราคาลงลึกเกินไปแล้ว ยังมีปัจจัยบวกรออยู่หลายประการ
ค่าเงินโลกกลับมาผันผวนอีกครั้งหลังจีนลดค่าเงิน
ภาพเศรษฐกิจโลกชะลอตัวยังคงเห็นได้ชัดเจน หลังจากที่จีนรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจภาคการผลิตออกมากต่ำกว่าตลาดคาด กล่าวคือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อไฉซิน (Caixin) หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ทำให้ความกังวลใจต่อ GDP Growth จะต่ำกว่าเป้าหมาย 7% (เทียบกับ IMF คาด 6.8%) จึงเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางจีนประกาศลดค่าเงินหยวนเป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยปรับลดลง 0.14% จาก 6.493 หยวนต่อดอลลาร์ เป็น 6.5032 หยวนฯ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับจาก 24 พ.ค. 2554 ทั้งนี้แม้ว่า เงินหยวนได้ถูกนำเข้าไป 1 ในตะกร้าเงินหลัก (SDR) ของโลกแล้วก็ตาม
และเช่นเดียวกับสหรัฐ พบว่าดัชนีภาคการผลิตชะลอตัวต่อเนื่อง กล่าวคือดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ของ ISM ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ มีแนวโน้มชะลอ และน่าจะมีผลต่อการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไป หลังจากที่ Fed ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ขึ้นเป็น 0.5% นับเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ในช่วงกลางเดือน ธ.ค.2558 ซึ่งจะต้องติดตามผลการประชุมของ FED ในรอบถัดไป (26-27 ม.ค. 2559) สะท้อนจากได้ Dollar index ยังคงทรงตัวในระดับ 98.68 ล่าสุด หลังจากที่แตะระดับ 100 จุด ในช่วงที่ผ่านมา
จากปัจจัยเศรษฐกิจโลก และการลดค่าเงินหยวนน่าจะกดดันให้ค่าเงินเอเชียมีโอกาสอ่อนค่าอีกรอบหนึ่ง แม้ล่าสุดหลายสกุลในเอเชีย เริ่มทรงตัวก็ตาม สะท้อนได้จากเช้านี้ค่าเงินในกลุ่มเอเชีย โดยเฉพาะ เงินรูเปียะห์ของอินโดนีเซีย เงินริงกิตของมาเลเซีย และ รูปีของอินเดีย มีทิศทางอ่อนค่าชัดเจน ขณะที่เงินบาทอาจจะทรงตัวในระดับ 36 บาทต่อเหรียญฯ บวก/ลบเล็กน้อย ในภาวะที่ค่าเงินเอเชียกลับมาอ่อนค่าอีกรอบ ถือเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นในระยะสั้น
เริ่มต้นปี 2559...กระแสเงินทุนยังคงไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาค
เริ่มต้นเข้าสู่วันแรกของปี 2559 ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกปรับตัวลงแรง ในขณะเดียวกันต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 609 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) แต่เป็นการซื้อสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซียถูกซื้อสุทธิราว 6 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) และฟิลิปปินส์ถูกซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 3 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 8) ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ ไต้หวันถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 431 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) รองลงมาคือเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 153 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) ส่วนตลาดหุ้นไทย วานนี้ปรับตัวลงแรงถึง 24 จุด โดยเกิดจากนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิราว 33 ล้านเหรียญ หรือ 1,201 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 1,219 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่องถึง7 วัน)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 20,661 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิเล็กน้อยราว 610 ล้านบาท ทั้งแรงขายหุ้นและตราสารหนี้จากนักลงทุนต่างชาติส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดยล่าสุดอยู่ที่ 36.16 บาท/ดอลลาร์
เงินเฟ้อปี 2559 ยังมีโอกาสติดลบ หากราคาน้ำมันยังต่ำกว่า 50 เหรียญฯ
วานนี้ กระทรวงพาณิชย์ รายงานเงินเฟ้อเดือน ธ.ค. -0.85%yoy เป็นการติดลบต่อเดือนที่ 12 แต่ถือว่าดีขึ้น เมื่อเทียบกับที่ -0.97%yoy เดือน พ.ย. ทั้งนี้หลักๆ เป็นผลจากสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง เคหสถาน ลดลง 18.93% 0.3% ตามลำดับ ตรงข้ามกับราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.83% (ผักและผลไม้สด ปรับเพิ่ม 3.3%) ทำให้ตลอดปี 2558 เงินเฟ้อ -0.90 % ห่างจากประมาณการของ ASPS ที่ประเมินไว้ -0.83% ไม่มากนัก (ภายใต้สมมติฐาน ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 53 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในปี 2558) และปี 2559 คาดว่าเงินเฟ้อจะยัง -1.7% หากกำหนดให้ราคาน้ำมันดูไบอยู่ 45 เหรียญฯ แต่อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มกลับมาเป็นบวก หากราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นเกิน 50 เหรียญฯต่อบาร์เรล (ทุก 5 เหรียญฯต่อบาร์เรล จะทำให้เงินเฟ้อจะขยับขึ้น 0.04%) อย่างไรก็ตามเชื่อว่าภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ น่าจะทำให้ กนง. น่าจะยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.5% ต่อไปในระยะ 6 เดือนแรกของปี 2559 จนกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการระยะกลางและยาวจะเริ่มเห็นผลชัดเจน ซึ่งถือว่าการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำยังมีความจำเป็น
ตลาดหุ้นตกต่ำทั่วโลก จีนตกต่ำมากสุดเกือบ 7%
วานนี้เป็นวันทำการแรกของปี 2559 ปรากฏว่า SET ปรับลดลงหนักถึง 25 จุด หรือ -1.9% ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าสอดคล้องกับหลักสถิติในอดีตที่ว่า SET Index มีโอกาสสูงที่จะปรับตัวลง โดยเฉพาะในช่วง 2 วันทำการแรกของปี (ดังที่กล่าวไปวานนี้) หากแยกเป็นรายอุตสาหกรรมจะพบว่าวานนี้ได้ปรับตัวลดลงทุกกลุ่มฯ แต่เป็นที่สังเกตว่าเป็นการปรับลดลงของหุ้นในกลุ่ม ICT มากสุด และเป็นการปรับลดลงทุกบริษัท อาทิ DTAC (-6.6%), THCOM(-6.0%), TRUE (-6.0%), ADVANC (-5.9%), JAS (-5.6%), INTUCH (-4.8%) เป็นต้น เช่นเดียวกับ กลุ่มรับเหมาฯ กลุ่มสื่อ-บันเทิง กลุ่มอาหาร และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ปรับลดลง 2.4%, 2.3%, 2.3% และ 2.2% ตามลำดับ
ทั้งนี้ปัจจัยกดดันหลัก นอกจากเป็นผลจากการขายของสถาบันในประเทศกว่า 1.2 พันล้านบาท รวมทั้งนักลงทุนต่างประเทศอีก 1.2 พันล้านบาทแล้ว ยังเป็นผลมาจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดังกล่าวข้างต้น และมีกระแสข่าวว่ารัฐ จะยังไม่อนุญาตให้ผู้บริหาร ขายหุ้น ในส่วนที่เคยถูกพักการขาย เป็นเวลา 6 เดือน แม้ภายหลังพ้นระยะเวลาห้ามขาย คือ คือ 8 ม.ค. นี้ แล้วก็ตาม จึงทำให้มีแรงเทขายหุ้นจีนอย่างนัก จนทำให้มีการสั่งพักการซื้อขายชั่วคราว (Circuit Breakers) หลังจากทรุดหนักไปกว่า 7% เช่นเดียวกับตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลดลงเฉลี่ย 3% โดยเฉพาะเยอรมันลดลงมากสุด 4.2% สหรัฐ ลดลงเฉลี่ยราว 2% ญี่ปุ่น 1% ส่วนเอเชียลดลงเฉลี่ยราว 2%
คาดว่าวันนี้น่าจะมีแนวโน้มลดลงต่อจาก sentiment เชิงลบที่ยังหลงเหลืออยู่ สอดคล้องกับสถิติในอดีตย้อนหลัง 25 ปี (2534 - 2558) การปรับตัวลดลงมักจะเกิดขึ้นในช่วง 1-3 วันทำการแรกของเดือน ม.ค. หลังจากนั้นก็จะเริ่มทรงตัว และปรับตัวบวกได้ในช่วงวันทำการที่ 4-7 ของเดือน ม.ค.
กลยุทธ์การลงทุน เลือกเป็นรายหุ้นที่ราคาลงลึก : STPI
ในภาวะตลาดที่ผันผวน กลยุทธ์การลงทุนยังคงเน้นลงทุนในหุ้น 40-50% ของเงินลงทุน และให้เน้นหนักเป็นหุ้นรายตัวที่มีประเด็นบวกหนุน เช่น STPI ซึ่งจะกล่าวในตอนท้าย หรือ EASTW สามารถอยู่รอดในภาวะภัยแล้ง รวมหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ เช่น MCS และ อีกบริษัทหนึ่งที่ราคาตกลงมากจนอยู่ในระดับที่น่าสนใจคือ INTUCH
สำหรับหุ้น STPI พบว่าราคาพุ่งแรงนับตั้งแต่ปลายปี 2558 ต่อเนื่องมาถึงปีใหม่ เชื่อว่าส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจาก ราคาหุ้นที่ ปรับตัวลงลึกและต่อเนื่องมานาน นับตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากกังวลต่อแนวโน้มธุรกิจในอนาคต หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบโลกตกต่ำ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาปัจจัยพื้นฐานพบว่ามีปัจจัยบวกที่รออยู่หลายประการ เริ่มจากงวด 1Q59 มีโอกาสได้ค่าเร่งงานโครงการ Ichthys เพิ่มเติม ทำให้รายได้ปีนี้ ใกล้เคียงกับปี 2558 และยังมีโอกาสได้งานประมูลใหม่ที่อียิปต์เพิ่มเติม
งวด 2Q59 คาดว่าจะรู้ผลงานประมูลโครงการ Pacific Northwest ในแคนาดา ซึ่งมีโอกาสสูงเนื่องจาก EPC Contractor 2 รายที่เหลืออยู่ในรอบสุดท้าย คาดว่า STPI มีโอกาสเข้าไปร่วม bid กับ EPC Contractor ทั้ง 2 ราย
ใน 2H59 มีประเด็นที่อาจจะหนุนราคาหุ้น เงินที่จะได้รับและบันทึกในงบกำไรขาดทุนงวดสุดท้าย โครงการ Ichthys ว่า STPI จะได้รับมากเพียงใด รวมถึงติดตามงานประมูลใหญ่ โครงการ LNG Canada ที่ STPI จะเข้าไป Bid งานผ่าน CFSW ซึ่งคาดว่าจะได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้รับเหมาหลัก จำนวน 3 package มูลค่า Package ละ 3 หมื่นล้านบาท
ด้านมูลค่าพบว่าราคาปัจจุบัน มี upside สูงกว่า 75% ส่วน PER ต่ำเพียง 7 เท่าเท่านั้น นอกจากนี้ นักลงทุนที่ต้องการถือยาวเพื่อรับปันผล ยังสามารถคาดหวัง Dividend Yield ได้สูงกว่า 6% จึงเป็นตัวเลือกการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนที่ต้องการหาหุ้นที่มี Downside ต่ำมากยามตลาดผันผวน
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์