- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 04 January 2016 15:42
- Hits: 2707
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
สวัสดีปีใหม่ 2559 ขอให้ลูกค้า ASPS ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนในปีใหม่.... แม้จะเปิดทำการวันแรกของปีใหม่ แต่ตลาดยังเงียบ วันนี้เชื่อว่าจะมีแรงของกองทุน LTF แต่ราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวน่าจะช่วยประคอง SET เลือก SCC(FV@B595) เป็น Top pick
แม้เปิดตลาด 2 วันแรกของปี SET มักตกต่ำ แต่ปี 2559 ไม่น่ากังวล
แม้ทุกต้นเดือน ม.ค. ของทุกปี มักจะมีแรงขายของนักลงทุนสถาบันในประเทศ (จากการขายของกอง LTF ที่กำหนด 5 ปีปฏิทิน) หลังจากที่ได้มีแรงซื้อของกองทุนฯ (ส่วนใหญ่คือ LTF เช่นกัน) ในช่วง ธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่เวลาที่มียอดซื้อสูงสุดของทุกปีเช่นกัน โดย เดือน ธ.ค. 2558 พบว่ามียอดซื้อสุทธิ 1.9 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าปี 2557 ที่มียอดซื้อสุทธิ 2.4 หมื่นล้านบาท แต่ใกล้เคียงกับ 1.7 หมื่นล้านบาท ในปี 2556 และส่วนใหญ่เป็นการขายของหุ้นที่มีมูลค่าขนาดใหญ่ ได้แก่ PTT, ADVANC แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาหุ้นใหญ่เหล่านี้ส่วนมาก จะลดลงอย่างมากในช่วงท้ายของปี จากปัญหาเฉพาะหุ้นและ ภาพรวมตลาด ทำให้ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย
แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2559 พบว่าราคาน้ำมันดิบโลกได้ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดที่ 31.6 เหรียญฯ ต่อ บาร์เรล ซึ่งทำไว้เมื่อต้นปลายปี 2558 ซึ่งเป็นผลจาก ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง โดยซาอุดิอาระเบียตัดสินประหารชีวิตนักโทษที่เป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ถึง 47 รายเมื่อวันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา จนทำให้เกิดการประท้วงรุนแรงขึ้นในอิหร่าน มีการบุกทำลายและวางเพลิงสถานทูตซาอุฯ ในอิหร่าน รวมทั้งผู้นำสูงสุดของอิหร่าน กล่าวเตือนรัฐบาลซาอุฯ ว่าจะต้องถูกล้างแค้น ล่าสุดรัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน โดยให้นักการทูตของอิหร่านทั้งหมด เดินทางออกนอกประเทศซาอุดีอาระเบียภายใน 48 ชั่วโมง ซ้ำร้ายกว่านั้น ยังมีเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในฐานทัพอากาศของอิรักเมื่อคืนวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยกลุ่มก่อการร้ายไอเอสเป็นผู้กล่าวว่าอยู่เบื้องหลังการกระทำดังกล่าว
ทั้งนี้ เหตุการณ์รุนแรงในตะวันออกกลางดังกล่าวเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด น่าจะส่งผลในแง่จิตวิทยาต่อราคาน้ำมันโลก โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับเพิ่มขึ้น 2.71% (จาก 30 ธ.ค. 58) อยู่ที่ 38.29 เหรียญต่อบาร์เรล และเช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบ NYMEX ปรับเพิ่มขึ้น 2.08% อยู่ที่ 37.81 เหรียญต่อบาร์เรล ( ยกเว้น ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดลง 0.37% อยู่ที่ 32.13 เหรียญต่อบาร์เรล) ซึ่งเหตุการณ์นี้ แม้มิได้ส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานนั้น เนื่องจากปัญหาหลัก ๆ ในเรื่องของ oversupply ที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะปริมาณผลิตน้ำมันจากอิหร่าน ที่คาดว่าจะกลับมาส่งออกน้ำมันได้อีกครั้ง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ EIA คาดการณ์ supply ในปีนี้อยู่ที่ 95.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน มากกว่า demand ที่ 95.22 ล้านบาร์เรลต่อวัน จึงทำให้เชื่อว่าการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงปัจจัยระยะสั้นเท่านั้น แต่หากเทียบกับราคาหุ้นน้ำมันส่วนใหญ่ได้ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำมาก จึงเป็นระดับที่สะท้อนข่าวร้ายต่าง ๆ ไปมากแล้ว
และเป็นที่สังเกตว่าค่าเงินในประเทศเอเชียเริ่มหยุดการอ่อนค่า และกลับมาทรงตัว หรือแข็งค่าในบางประเทศ นำโดย เงินเปโซแข็งค่ามากสุดราว 1.3% นับจากกลางเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา เงินรูเปียะห์ ของอินโดนีเซีย แข็งค่า 1% ช่วงเดียวกัน ยกเว้นเงิน ริงกิต และเงินบาท ที่ยังคงทรงตัว หลังจากอ่อนค่าในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งนี้คาดว่า แรงขายของต่างชาติได้เริ่มเบาบางลง (อ่านรายละเอียดเงินทุนไหลออกในช่วงท้ายของ Market Talk วันนี้) หลังจากสหรัฐได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ไปแล้วเป็นครั้งแรกในรอบเกือน 10 ปี ขณะที่คาดว่าแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยฯ หลังจากนี้น่าจะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวล่าช้า และธนาคารกลางหลายแห่งของโลกยังคงใช้มาตรการ ทาการเงินผ่อนคลาย เช่น ยุโรป และ จีน รวมถึงประเทศในกลุ่ม TIP โดยล่าสุด พบว่ารัฐบาลอินโดนีเซียเตรียมเสนอแผนการลดภาษีบุคคลธรรมดา 2-6% (ทำคล้ายกับประเทศไทยแต่ปรับลดมากกว่าเยอะเลย) พร้อมกับการยกเว้นภาษีการลงทุนแก่นักลงทุนต่างชาติ
โดยสรุป หากดัชนีหุ้นไทยถูกแรงขายของกองทุนในประเทศในวัน 1-2 นี้ เป็นเพียงการขายหุ้น เพื่อถือสถานะเงินสด รองรับความต้องการของนักลงทุนระยะยาวบางกลุ่มที่ ต้องการขายกอง LTF ที่ครบกำหนด 5 ปีปฏิทิน เท่านั้น จึงเป็นเพียงเหตุกาณณ์สั้นๆ และ ไม่น่ากังวล ในทางตรงกันข้ามน่าน่าจะเป็นโอกาสสะสม เนื่องจากดัชนีหุ้นไทยในระดับที่ต่ำกว่า 1,300 จุด มีค่า Expected PER ต่ำสุดในภูมิภาค (อ่านรายละเอียดในย่อหน้าท้าย ๆ ของ Market Talk วันนี้)
ย้อนรอยปี 2558 แม้จะเป็นปีที่ย่ำแย่...แต่เชื่อว่าได้สะท้อนในดัชนีแล้ว
ปี 2558 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ตลาดหุ้นโลกหลายแห่งปรับตัวลดลงแรง สวนทางกับปี 2557 ที่ค่อนข้างสดใส โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยลดลงมากสุดเป็นลำดับต้นๆ ในภูมิภาค โดยลดลงกว่า 14% จากปี 2557 แต่นับว่าใกล้เคียงกับตลาดหุ้นหลายแห่งในแถบเอเชีย ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไต้หวัน ยกเว้นเพียงบางแห่งเท่านั้น คือญี่ปุ่นและจีน ที่ยังสามารถประคองตัวในแดนบวกได้
ส่วนตลาดหุ้นภูมิภาคอเมริกาปรับลงเล็กน้อย สวนทางกับตลาดหุ้นยุโรปอย่างฝรั่งเศสและเยอรมันที่บวกกว่า 10% ทั้ง 2 เนื่องจาก กระแสการไหลของเงินทุนจากกลุ่มประเทศ Emerging Market ไปยังประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีสัญญาณการฟื้นตัว หลังจากการใช้มาตรกระตุ้นเศรษฐผ่าน QE ถูกใช้มาต่อเนื่องเป็นเวลานาน
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์