- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 29 December 2015 16:35
- Hits: 1205
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เหลืออีก 2 วัน กำลังจะเข้าสู่ปีใหม่ 2559 ขอให้นักลงทุนทุกท่านมีความสุขสมหวังตลอดไป สำหรับวันนี้ราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลงอาจสร้างแรงกดดันต่อกลุ่มพลังงาน แต่ตัวเลือกการลงทุนอื่นที่ได้ประโยชน์จากแรงกระตุ้นของมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศก็ยังมีอยู่ เน้น Domestic Play เลือก SCC(FV@B595) และ ROBINS(FV@B55) เป็น Top picks
ASPS คาดเงินเฟ้อปีนี้ -0.89% ปีหน้าพลิกกลับมาบวก หากน้ำมันเกิน 50 เหรียญฯ
หลังจากที่นักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานของ ASPS ได้ปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบในปี 2559 จากเดิม 65 เหรียญฯต่อบาร์เรล เหลือ 45 เหรียญฯ หรือลดลง 30.76% จะมีผลทำให้สมมติฐานในการคำนวณหาเงินเฟ้อในปี 2559 เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ คาดว่าเงินเฟ้อใหม่ในปี 2559 คาดว่าจะติดลบ 1.7% หากใช้สมมติฐานใหม่ที่ 45 เหรียญฯ เทียบกับประมาณการเดิม 2.15% ใช้สมมติฐานน้ำมัน 65 เหรียญฯ แต่อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มกลับมาเป็นบวก หากราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นเกิน 50 เหรียญฯต่อบาร์เรล กล่าวคือ หากปรับขึ้นทุก 5 เหรียญฯต่อบาร์เรล เงินเฟ้อจะขยับขึ้นเป็น 0.04%
ขณะที่เดือน ธ.ค. คาดว่าเงินเฟ้อจะติดลบ 0.73%yoy และตลอดปี 2558 น่าจะติดลบ 0.89% ซึ่งนับว่าใกล้เคียงกับสมมติฐานของ ASPS ที่ประเมินไว้ติดลบ 0.83% ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบปี 2558 ที่ 53 เหรียญฯต่อบาร์เรล แต่อย่างไรก็ตามในเดือน ธ.ค. ราคาน้ำมันลดลงไปต่ำสุดที่ 33 เหรียญฯต่อบาร์เรล ทำให้ตลอดเดือน ธ.ค. เฉลี่ยที่ 35.17 เหรียญฯต่อบาร์เรล และตลอดปี 2558 เฉลี่ยที่ 51.48 เหรียญฯต่อบาร์เรล จึงเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อตลอดทั้งปีอาจจะติดลบมากกว่าที่คาดข้างต้น
หากเงินเฟ้อเป็นไปตามสมมติฐานของ ASPS คาดว่า กนง. น่าจะยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.5% ต่อไปในระยะ 6 เดือนแรกของปี 2559 จนกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการระยะกลางและยาวจะเริ่มเห็นผลชัดเจน และสามารถกระตุ้นการลงทุนภาครัฐได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการลงทุนภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ รองลงมาคือการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ได้อานิสงส์จากการกระตุ้นกำลังซื้อภาครัฐ ตั้งแต่เดือน ก.ย. เป็นต้นมา จนกระทั้งการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านการเพิ่มค่าลดหย่อนให้รายละ 1.5 หมื่นบาท เพื่อใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค (ไม่รวมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์) ซึ่งถือเป็นผลดีต่อภาคเศรษฐกิจในประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มค้าปลีก ซึ่งมี ROBINS (FV@B 55) เป็นหุ้น Top Pick โดยภาพรวมประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อประคับประคองการฟื้นตัวให้เกิดขึ้นต่อเนื่องคล้ายคลึงกับหลายประเทศ เช่น จีน ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 6 ครั้งนับตั้งแต่ปลายปี 2557 รวม 1.65% และยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง และอินโดนีเซีย (ยืนดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องตลอด 11 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ หลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ) เป็นต้น
ส่งออก พ.ย. ติดลบ 7.42% YoY คาด ปีหน้าพลิกกลับมาบวก
วานนี้กระทรวงพาณิชย์มีการรายงานยอดการค้าระหว่างประเทศ โดยยอดส่งออก (รูปดอลลาร์) เดือน พ.ย. มีมูลค่า 17,167 ล้านเหรียญฯ หดตัว 7.42%yoy แม้จะหดตัวติดต่อกันเป็นดือนที่ 11 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวรวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวลง แต่ก็ดีขึ้นจากเดือน ต.ค. ที่หดตัว 8.11%yoy เช่นเดียวกับการนำเข้า มีมูลค่า 16,868 ล้านเหรียญฯ หดตัว 9.53%yoy น้อยกว่าเดือนที่แล้วที่หดตัวหนักถึง 18.21%yoy ส่งผลให้ดุลการค้า เกินดุล 299 ล้านเหรียญฯ (เกินดุลต่อเนื่อง 7 เดือน) โดยรวม 11 เดือนแรกของปีนี้ ยอดส่งออกและนำเข้า ติดลบ 5.51 %yoy และติดลบ 11.16%yoy ตามลำดับ (หดตัวแรงกว่าที่ ASPS ประเมินยอดส่งออก และนำเข้า ในรูปดอลลาร์ ปี 2558 คาดติดลบ 3.91% และติดลบ 9.66%) โดยตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักเป็นการลงทุนของรัฐ (G) และการบริโภคในประเทศ (C) และหากมองไปในปี 2559 สำนักเศรษฐกิจหลายสถาบัน ได้ออกมาประเมินการส่งออกของไทย โดยคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงจากราคาน้ำมันมีโอกาสปรับลงอีกซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมันและประเทศที่ค้าขายน้ำมัน โดยกระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ปี 2559 การส่งออกจะกลับมาขยายตัวที่ 5% สูงกว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.), สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ (สรท.) และธนาคารแห่งประเทศไทย ที่คาดว่าจะขยายตัว เพียง 2.5%, 2% และ 0% ตามลำดับ โดยฝ่ายวิจัยได้คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 1.5% ตามสมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 36 บาท/เหรียญ และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัว ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ประกอบโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ PPP Fast Track 5 โครงการมูลค่า 3.34 แสนล้านบาทเดินหน้าตามแผน เชื่อว่าจะหนุนให้ GDP Growth ปี 2559 ขยายตัวได้ที่ 3.8%
โอกาสสุดท้ายของปี ลุ้น Window Dressing และแรงซื้อ LTF ประคองตลาด
นับจากต้นเดือน ธ.ค. จนถึงปัจจุบัน นักลงทุนสถาบันฯ มีสถานะซื้อสุทธิเพียง 1.4 หมื่นล้านบาท น้อยกว่า ธ.ค. 2557 ที่ซื้อสุทธิกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท สนับสนุนโดยเม็ดเงิน LTF/RMF ซึ่งปกติในเดือน ธันวาคม จะมีสัดส่วนการซื้อราว 46% ของมูลค่าการซื้อทั้งปี ซึ่งหากใช้ฐานยอดซื้อ LTF 5.6 หมื่นล้านบาทในปี 2557 ที่ผ่านมาเดือน ธันวาคม 2558 ก็ควรมียอดซื้อ LTF เข้ามาประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งน่าจะทำให้เห็นแรงซื้อสุทธิจากสถาบันในประเทศเข้ามาได้ อีกทั้งยังมีส่วนเกื้อหนุนให้เกิดปรากฎการณ์ window dressing อีกด้วย โดยน่าจะเกิดขึ้นกับหุ้น Market Cap ใหญ่ที่ยัง laggard หรือที่ราคาหุ้นปรับลงลึกโดยไม่มีเหตุอันควรทางปัจจัยพื้นฐาน เช่น SCC, PTT, KBANK รวมถึง INTUCH และ ADVANC นอกจากนี้ในเชิงสถิติ ยังพบอีกว่า BTS และ IRPC ราคาหุ้นมักจะ Outperform ตลาดในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี ส่วนต้นปีหน้าที่กังวลว่าจะมีแรงขายของ LTF ที่ครบ 5 ปีปฏิทิน จากการประเมินเบื้องต้นเชื่อว่าไม่น่าจะมีแรงขายออกมามากนักเนื่องจาก LTF ที่ซื้อเมื่อปลายปี 2555 มีต้นทุนเฉลี่ยที่ประมาณ 1400 จุด เป็นเหตุให้ผู้ที่ถือ LTF ที่ต้นทุนดังกล่าว ยังอยู่ในภาวะที่ขาดทุนจึงไม่น่าจะเห็นการขายคืนหน่วยลงทุนมากเหมือนปีที่ผ่านๆ มา แม้ว่าในเชิงสถิติ SET Index มีโอกาสปรับตัวลงในช่วง 3 วันทำการแรกของเดือน ม.ค. แต่หลังจากนั้น SET มักจะปรับตัวขึ้นหลังจากนั้น จึงไม่น่ากังวลแรงขายในช่วงต้นปีหน้า
กระแสเงินทุนเริ่มไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นเอเชียอีกครั้ง
วานนี้ต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 75 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) โดยเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 4 ประเทศ คือ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 39 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) รองลงมาคือ อินโดนีเซียถูกซื้อสุทธิราว 31 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 4 วัน) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิราว 13 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) และฟิลิปปินส์ถูกซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 1 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6) ส่วนตลาดหุ้นไทย แม้ยังคงถูกต่างชาติขายสุทธิ แต่แรงขายในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เริ่มเบาบางลง โดยล่าสุดถูกขายสุทธิราว 9 ล้านเหรียญ หรือ 321 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 16 โดยมียอดขายสุทธิสะสมรวม 3.5 หมื่นล้านบาท) ต่างกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 1,622 ล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 12,067 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 718 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทล่าสุดยังคงทรงตัวอยู่ที่ 36.08 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์