- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 16 December 2015 15:55
- Hits: 1103
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การประมูลคลื่น 900 ร้อนแรงกว่าคาด และอาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและประสิทธิภาพการทำกำไรในระยะยาวของผู้ประกอบการ วันนี้เลือก Top pick TASCO([email protected]) นอกจากกลับเข้ามาใน SET50 และยังได้ประโยชน์จากน้ำมันขาลง และยังชื่นชอบ BA เช่นกัน
เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นกว่าคาด หนุน Fed เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย
ประเด็นที่ตลาดให้น้ำหนักยังเป็นผลการประชุมของ Fed ที่เริ่มประชุมตั้งแต่เมื่อวานนี้เป็นวันแรก (15 -16 ธ.ค.) ซึ่งจะรู้ผลการประชุมในช่วงเช้าวันพฤหัส 17 ธ.ค. ตามเวลาไทย แม้ว่าตลาดจะรับรู้ข่าวไปล่วงหน้าแล้ว ถึงโอกาสที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี สะท้อนจากผลสำรวจของ Bloomberg ล่าสุดพบว่าผู้ที่ให้น้ำหนักต่อการขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ยังสูงถึง 78% และคาดว่าหลังจาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก จะมีการปรับขึ้นอีกเพียง 2 ครั้ง ในปี 2559
ขณะที่ล่าสุดการรายงานเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. พบว่า สูงกว่าคาด โดยอยู่ที่ 0.5%yoy เทียบกับเดือน ต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 0.2 %yoy ( เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 เดือน) ซึ่งแม้ราคาน้ำมันยังปรับตัวลดลง แต่เป็นเพราะการปรับขึ้นของสินค้าในหมวดสุขภาพ โดย เพิ่มขึ้น 1.1% ค่าโดยสารสาธารณะ เพิ่ม 1.2% และหมวดการศึกษา ยาสูบ เป็นต้น อย่างไรก็ตามถือว่ายังต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2%
และทางด้าน อังกฤษ มีการรายงานอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ย. ที่ปรับตัวเป็นบวกที่ 0.1%yoy หลังจากติดลบ 2 เดือนติด (ห่างจาก เป้าหมายที่ 2%) โดย BOE คาดการณ์เงินเฟ้อสิ้นปี 2559 ที่ 1% และแตะที่ 2% ในปี 2560 ทำให้เชื่อว่า BOE น่ารอให้สหรัฐนำร่องในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปก่อน
ส่วน ไทย การประชุมธนาคารกลาง(BOT) วันนี้ 16 ธ.ค. ยังเชื่อว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ 1.5% ตามเดิมต่อไป จนถึงกลางปี หน้า โดยยังให้น้ำหนักต่อ มาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจระยะสั้น-กลาง และแผนลงทุน ภาครัฐที่ได้ทยอยทำไปแล้ว และเริ่มเห็นผลมาบ้าง
การประมูลรุนแรงกว่าคาด อาจกดดันต้นทุนสูงขึ้น ADVANC ยังได้เปรียบ
สถานการณ์การประมูลใบอนุญาตคลื่น 900 ณ ขณะนี้ จบช่วงการประมูลครั้งที่ 2 ระหว่างเวลา 00.00 - 06.00 น. ผู้เข้าประมูลทั้ง 4 รายยังมีการเสนอราคาประมูลต่อเนื่องตลอด 18 ชั่วโมงของการประมูล คิดเป็นการเคาะประมูลครั้งที่ 54 ราคาในช่วงคลื่นที่ 1 ซึ่งมีผู้เคาะประมูล 1 ราย อยู่ที่ 31,862 ล้านบาท ช่วงคลื่นที่ 2 มีผู้เคาะประมูล 3 ราย ราคาอยู่ 31,862 ล้านบาท ราคารวม 2 ใบอนุญาตอยู่ที่ 63,724 ล้านบาท โดยการประมูลช่วงที่ 3 จะเริ่มขึ้นในเวลา 09.00 น.
ทั้งนี้ ราคาประมูลล่าสุดสูงกว่าสมมติฐานของฝ่ายวิจัย ซึ่งประเมินไว้ที่ 3 หมื่นล้านบาท โดยผู้เข้าประมูลทั้ง 4 ราย ประกอบด้วย ADVANC DTAC TRUE และ JAS ไม่มีผู้ใดถอนตัว ถือได้ว่าการแข่งขันประมูลรอบนี้รุนแรงกว่าคาด ซึ่งน่าจะกลับมากดดันหุ้นในสื่อสารในวันนี้ โดยใบอนุญาตคลื่น 900 MHz มีขนาดความจุของคลื่นเพียง 10 Mhz และมีอายุ 15 ปี น้อยกว่าใบอนุญาตคลื่น 1800 ที่มีขนาดความจุคลื่นอยู่ถึง 15 Mhz และมีอายุอยู่ที่ 18 ปี อีกทั้งเครื่องมือถือ 4G รอบรับการใช้งานคลื่น 1800 ซึ่งเป็นคลื่นมาตรฐานสำหรับการใช้ 4G ได้ทุกรุ่น ขณะที่เครื่องมือถือ 4G ที่รองรับการใช้งานบนคลื่น 900 ในเมืองไทย ปัจจุบันเป็นเครื่องมือถือ 4G เกรด A ราคาแพงเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ ADVANC และ TRUE ได้ชนะการประมูลใบอนุญาตคลื่น 1800 MHz ไปแล้วด้วยราคาราว 4 หมื่นล้านบาท หากจะลงทุนใบอนุญาคลื่น 900 MHz เพิ่มอีก 3.5 -4.0 หมื่นล้านบาท และประเมินกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน หักด้วย ค่าใบอนุญาตคลื่น 1800 และงบลงทุนปกติในแต่ละปี พบว่า ADVANC ยังมีกระแสเงินสดสุทธิในอีก 5 ปีนี้ (2558-2562) เฉลี่ยราว 3.4 หมื่นล้านบาทต่อปี มี Net Gearing ต่ำ 0.95 เท่า (ภายใต้ฐานทุน 3.8 หมื่นล้านบาท) ซึ่งยังก่อหนี้ลงทุนค่าใบอนุญาตได้ทั้งหมด และกระแสเงินสดที่เหลือ บวกกับ เงินสดที่มีในมือ 7.7 พันล้านบาท ยังมีศักยภาพจ่ายเงินปันผลสูงต่อเนื่องได้
ขณะที่ TRUE มีกระแสเงินสุทธิเหลือเฉลี่ยใกล้เคียงกับสิ่งที่ต้องลงทุนเพิ่ม (ติดลบเล็กน้อย) ถ้าชนะการประมูลใบอนุญาตคลื่น 900 MHz จะต้องก่อหนี้เพิ่มใกล้เคียงมูลค่าใบอนุญาต และดันสัดส่วน Net Gearing ขยับเพิ่มขึ้นมาเกิน 1 เท่า จากปัจจุบันที่อยู่ราว 0.7 เท่า (ภายใต้ฐานทุน 7.4 หมื่นล้านบาท แต่หากพิจารณาจากอัตราส่วน หนี้สินสุทธิ (Net Debt) ต่อกำไรที่เป็นเงินสด (EBITDA) จะเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ เกินเป้าหมายบริษัทที่ 2 เท่า จากปัจจุบันที่อยู่ราว 1 เท่ากว่า ซึ่งถือเป็นระดับที่มีความเสี่ยงต่อการเพิ่มทุนอีกครั้ง
ส่วน DTAC ซึ่งพลาดหวังจากการประมูลในอนุญาตคลื่น 1800 MHz หากประเมินกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน หักด้วย งบลงทุนปกติของ DTAC พบว่า กระแสเงินสดสุทธิในอีก 5 ปีนี้ (2558-2562) เหลือ 1.5 หมื่นล้านบาท และยังมี Net Gearing ต่ำ 0.95 เท่า (ภายใต้ฐานทุน 2.8 หมื่นล้านบาทและเงินสดในมืออีก 2.1 หมื่นล้านบาท) ซึ่งยังก่อหนี้และใช้เงินสดลงทุนค่าใบอนุญาตได้ทั้งหมด และกระแสเงินสดที่เหลือยังมีศักยภาพนำมาจ่ายเงินปันผลสูงต่อเนื่องได้ ดังนั้นหาก DTAC ชนะการประมูลใบอนุญาตคลื่น 900 MHz สุขภาพทางการเงินของ DTAC ยังรองรับได้ และสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนกลับคืนมา
ส่วน JAS หากประเมินกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน หักด้วย งบลงทุนปกติของ JAS พบว่า กระแสเงินสดสุทธิในอีก 5 ปีนี้ (2558-2562) เหลือเพียง 1.7 พันล้านบาท จึงต้องพึ่งเงินสดในมือเหลือ 8.7 พันล้านบาท และการก่อหนี้ จากจุดเด่นที่มีสถานะเป็น Net Cash (ภายใต้ฐานทุน 1.5 หมื่นล้านบาท) หากตั้งสมมติฐานให้ดัน Net Gearing สู่ระดับ 2 เท่า จะเท่ากับว่าก่อหนี้ได้อีก 3 หมื่นล้านบาท ประกอบกับ เงินที่คาดหวังได้จากการแปลงสภาพ JAS-W3 ได้อีก 1.5 หมื่นล้านบาท รวมเป็นทุน 5.4 หมื่นล้านบาท หักใบอนุญาตออกไป 3.5-4.0 หมื่นล้านบาท จะเหลือเงินไว้ลงทุนอีกเพียง 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอหากเทียบกับ 3 เจ้าใหญ่
ครม. อนุมัติจัดตั้งฟิวเจอร์ฟันด์ เป็นหนทางลดภาระของรัฐ
ความคืบหน้าการก่อตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานฯ (ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์) วงเงิน 1 แสนล้านบาท ล่าสุด วานนี้ ครม. อนุมัติให้จัดตั้งเป็นที่เรียบร้อย โดยมีลักษณะเป็นกองทุนเปิด ระดมทุนจากภาคเอกชน เช่น กลุ่มประกันภัย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือประชาชนทั่วไป เป็นต้น ผ่านการถือหน่วยลงทุน แต่ยังไม่ได้กำหนดผลตอบแทนที่ชัดเจน โดยวงเงินที่ระดมทุนมาจะไม่นับเป็นหนี้สาธารณะของประเทศ โดยมีข้อดีคือลดภาระทางการคลังของรัฐ เบื้องต้นแหล่งเงินทุนตั้งต้น 1 หมื่นล้านบาทมาจากกองทุนวายุภักษ์ และกระทรวงการคลังเพื่อเป็นเงินเริ่มต้นของกองทุน โดยความกังวลที่ว่าจะต้องมีการจำหน่ายหุ้นรัฐวิสาหกิจที่กองทุนวายุภักษ์ถืออยู่ และจะกระทบต่อราคาหุ้นหรือไม่นั้น ทางกระทรวงการคลังได้ออกมาเปิดเผยว่าจะทำการ swap ระหว่างหน่วยลงทุนกับหุ้นที่ถืออยู่ และคลังจะนำหุ้นดังกล่าวไปลงทุนในกองทุนอีกต่อหนึ่ง จึงเชื่อวว่าไม่น่ากระทบราคาหุ้น โดยกองทุนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบขนส่งของประเทศ ดังเช่น PPP Fast Track 5 โครงการ มูลค่ารวม 3.34 แสนล้านบาท และโครงการอื่นๆ ที่รอ ครม. พิจารณาเป็นต้น ซึ่งกระทรวงการคลังพยายามเร่งรัดเปิดให้ลงทุนในกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ได้ภายใน 1Q59 เชื่อว่ากองทุนดังกล่าวจะเป็นแหล่งเงินทุน เพื่อกระตุ้นทำให้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบรรลุเป้าหมายได้ ตามสมมุติฐานที่ ASPS คาดการณ์ไว้ โดยจะหนุนให้ GDP Growth ปี 2559 โต 3.8 % จาก 2.7% ในปี 2558
ต่างชาติขายหุ้นทั้งภูมิภาคติดต่อกัน 6 วันทำการ
ในช่วง 6 วันทำการที่ผ่าน ต่างชาติได้ขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคทั้ง 5 ประเทศ โดยยังไม่มีประเทศไหนเลยที่ถูกซื้อสุทธิ ส่วนวานนี้ต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 509 ล้านเหรียญ และหากพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 259 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 10) รองลงมาคือ ไต้หวันถูกขายสุทธิราว 149 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6) ตามมาด้วยอินโดนีเซียถูกขายสุทธิเล็กน้อยราว 2 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) และฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 9 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 10) ส่วนตลาดหุ้นไทย แม้วานนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 32 จุด หรือ 2.6% แต่แรงซื้อส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิสูงถึง 5,806 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงขายสุทธิราว 3,238 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 โดยมียอดขายสุทธิสะสมรวมสูงถึง 1 หมื่นล้านบาท)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 9,625 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 2,390 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 35.98 บาท/ดอลลาร์
หุ้นที่ได้ประโยชน์จากน้ำมันขาลง
ราคาน้ำมันยังอยู่ขาลง ล่าสุดราคาน้ำมันดูไบปิดที่ 33.0 เหรียญต่อบาร์เรล และน้ำมันตลาดล่วงหน้าทั้ง Brent และ WTI ยังคงซื้อขายระดับต่ำกว่า 40 เหรียญฯต่อบาร์เรล นับเป็นค่าต่ำสุดในรอบ 7 ปี (Brent และ WTI ล่าสุด 38.68, 36.85 เหรียญฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ) ซึ่งทำให้ในปี 2559 นักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานได้ปรับสมมุติฐานลงเหลือ 45 เหรียญฯต่อบาร์เรล จาก 65 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่ใช้ต้นทุนน้ำมันเป็นหลัก
โดยเฉพาะธุรกิจการบิน (BA, AAV, THAI) ทำให้นักวิเคราะห์กลุ่มขนส่งทางอากาศมีแนวโน้มจะปรับลดสมมติฐานต้นทุนน้ำมันเครื่องบินลง กล่าวคือ หากปรับลดสมมติฐานต้นทุนน้ำมันดิบในปี 2559 ลง 30.7% เหลือ 45 เหรียญฯต่อบาร์เรล คาดว่าจะทำให้ต้นทุนน้ำมันเครื่องบินลดลงเหลือ 70 เหรียญฯต่อบาร์เรล จากเดิม เฉลี่ย 85 เหรียญฯ หรือลดลงราว 15 เหรียญฯต่อบาร์เรล หรือ ราว 17.6% จากสมมติฐานเดิม อย่างไรก็ตาม ทุกสายการบินได้มีการป้องกันความเสี่ยงในด้านต้นทุนไว้บางส่วน กล่าวคือ BA, AAV, THAI ได้ทำการ hedging น้ำมันไว้ 25%, 25% และ 40% ตามลำดับ ซึ่งโดยรวมทำให้สามารถลดความเสี่ยงด้านต้นทุนน้ำมันในส่วนที่เหลือได้อย่างมีนัยสำคัญ และทำให้กำไรสุทธิของแต่ละบริษัทเพิ่มขึ้นจากประมาณการปี 2559 จากปัจจุบันคือ
BA ([email protected]) จะเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 654 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 29.1% นอกจากนั้นการปรับมูลค่าพื้นฐานของ BDMS จาก 22.3 บาท เป็น 23.6 บาท (Industry update 14 ธ.ค.) ทำให้ มูลค่า BA ปรับขึ้น 2.83% เป็นเท่ากับ 27.25 บาท (จากเดิม 26.5 บาท) ซึ่ง ณ ราคาปัจจุบันมี Upside 20.04%
AAV ([email protected]) จะเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 1,020 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 61.3% บวกกับเข้าสู่ฤดูกาล และแนวโน้มเติบโตขึ้นในปีหน้า หนุนจากการขยายฝูงบิน ซึ่ง ณ ราคาปัจจุบันมี Upside 22.36%
THAI ([email protected]) จะเพิ่มขึ้นจากเดิม ราว 7.52 พันล้านบาท อาจช่วยให้พลิกจากขาดทุนมาเป็นกำไร แต่ยังคงมีความกังวลจากแผนปฎิรูปองค์กร ที่อาจคืบหน้าช้ากว่าคาด แม้ราคาปัจจุบันมี Upside 17.15% แต่ยังแนะนำให้ switch ไปยังหุ้นการบินอื่น ๆ ดังกล่าวข้างต้น
อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มอื่น ๆ ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากน้ำมันขาลงอีก ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก-ส่ง โดยหุ้นเด่นในค้าปลีก ได้แก่ COM7([email protected]) คาดว่ากำไรสุทธิงวด 4Q58 มีแนวโน้มสดใส และต่อเนื่องในปี 2559 ขณะที่ P/E ต่ำสุดในกลุ่ม ตามมาด้วย HMPRO([email protected]) และ ROBINS(FV@B55) ณ ราคาปัจจุบันมี upside 27.7% .28.68% และ 33.33%
ตามมาด้วย กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่จะได้รับประโยชน์ชัดเจนคือธุรกิจกระเบื้อง (DCC) เพราะโครงสร้างต้นทุนมีส่วนของก๊าซธรรมชาติสูงถึง 30% ของต้นทุนการผลิต เช่นเดียวกับ TASCO ซึ่งใช้น้ำมันดิบเป็นวัตถุดิบโดยตรงในการผลิตยางมะตอย บวกกับการได้รับคัดเลือกกลับเข้ามาใน SET50 จึงยังคงชื่นชอบ TASCO ([email protected]) ณ ซึ่งราคาปัจจุบันมี upside 16.33%
กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เนื่องจาก น้ำมันมีสัดส่วนราว 5% ของต้นทุนทั้งหมด ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงได้ประโยชน์ แต่ยังชอบ CK (FV@B33) รองลงมาเป็นบริษัทที่รับงานพวกเสาเข็ม ยังชอบ SEAFCO เพราะ SEAFCO ([email protected]) มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับ CK ซึ่งยิ่ง CK มีโอกาสได้งานก่อสร้างรถไฟฟ้าใหม่ ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจทำให้ SEAFCO ได้รับตามมาด้วย
นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์ : ภราดร เตียรณปราโมทย์