WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASP copyบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
     ตลาดหุ้นไทยได้รับการประคับประคองด้วยนักลงทุนรายบุคคล ขณะที่ Ex P/E ปี 2559 ต่ำ 13.7 เท่า ถือว่าเป็นระดับที่น่าสนใจ จึงเป็นโอกาสสะสมหุ้นพื้นฐาน P/E ต่ำและเงินปันผลสูง (SCC, ADVANC, PTT, EASTW, MCS) และหุ้นที่มีผลของฤดูกาล เลือก IRPC([email protected]) และ BDMS([email protected]) เป็น Top picks

ค่าเงินยูโรแข็งค่า หลังตลาดผิดหวัง ECB ขยาย QE น้อยกว่าคาด
      หลังการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) วานนี้ มีมติให้ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มเติมอีก 0.1% เหลือ -0.3% พร้อมขยายระยะเวลาการใช้เม็ดเงิน QE เดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร ไปจนถึงเดือน มี.ค. 2560 (จากเดิมที่สิ้นสุด ก.ย. 59) ซึ่งทำให้วงเงินในการเข้าซื้อรวมเพิ่มขึ้นอีก 3.60 แสนล้านยูโร หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะใช้เม็ดเงิน 1.14 ล้านล้านยูโร หรือเพิ่ม 32% แต่อย่างไรก็ตามถือว่ายังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าแตละเดือนน่าจะเพิ่มขึ้นราว 10-25 พันล้านยูโร ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับตลาด เนื่องจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว (ยอดค้าปลีกที่รายงาน 2.5% เทียบกับเดือนก่อนที่ 2.9% สะท้อนอุปสงค์รวมในกลุ่มยูโรโซนยังมีแนวโน้มอ่อนตัวดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคการบริการปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ 54.2 เทียบกับเดือนก่อน 54.6) และหนุนทำให้ค่าเงินยูโรฟื้นตัวระยะสั้น หลังจากทดสอบจุดต่ำสุดที่ 1.05 เหรียญฯต่อยูโร ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดใกล้เคียงกับรอบหลังสุดเมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา โดยฟื้นตัวขึ้นมากกว่า 4% และกดดันตลาดหุ้นยุโรปปรับฐานแรงมากราว 3-5% (นำโดยตลาดหุ้นเยอรมันติดลบมากสุด 5% ตลาดหุ้นฝรั่งเศส ติดลบ 4.8% อังกฤษติดแนวต้าน 6,400 จุด ยกเว้นสเปนที่ปรับฐานเพียง 3% อิตาลี 3.3%)


       ตรงข้ามกับ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงแรงกว่า 2% ทั้งนี้ส่วนใหญ่คาดว่า DXYO ติดแนวต้าน 100 จุด และเกิดจากการแข็งค่าของเงินยูโรกว่า 3% (ยูโรเป็นหนึ่งใน 6 สกุลหลักในตะกร้าเงินของสหรัฐ มีน้ำหนักถึง 57.6%) ทำให้เกิดการขายทำกำไรระยะสั้นนักเก็งกำไร (โดยเฉพาะ trader ที่เตรียม short ค่าเงินยูโร ต่อหาก ECB มีการออกมาตรการขยายวงเงิน QE อย่างที่ตลาดคาด แต่ผลที่ออกมาน้อยกว่าที่คาด จึงทำให้มีการ covered short ปิดสถานะกันเป็นจำนวนมาก) นอกจากนี้ เงินสวิสฟรังก์ (หนึ่งใน 6 สกุลหลักในตะกร้าเงินของสหรัฐ มีน้ำหนัก 3.6%) แข็งค่าขึ้นมากเช่นกัน 1.8% เนื่องจากนักลงทุนต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง จึงเข้าถือครองในสกุลเงินที่มีความปลอดภัย ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า อย่างไรก็ตาม เงินบาทกลับไม่ได้แข็งค่าขึ้น เช่นเดียวกับเงินในภูมิภาค จึงไม่น่าที่จะมีผลต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นบ้านเรามากนัก

SET ปรับฐานแรงสุด 5% ในรอบ 1 เดือนจากปัญหาภายใน
     ขณะที่ค่าเงินเอเชียยังคงทรงตัว เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่ตลาดหุ้นเอเชีย กลับตกต่ำในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นสหรัฐ และ ยุโรป กล่าวคือ ตลาดหุ้นเกาหลีลดลง 5.2% ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ติดลบ 2.25% ยกเว้นตลาดหุ้นจีน ฮ่องกง และ ไต้หวัน ที่ยังทรงตัว ส่วนตลาดหุ้นไทยวานนี้แม้จะปิดบวกได้ แต่หากพิจารณาในช่วงต้นเดือน พ.ย. เป็นต้นมาพบว่า SETตกต่ำกว่า 5% ซึ่งแรงกดดันหลัก น่าจะมาจากหลายสาเหตุ เริ่มจาก ต้นทุนการประมูล 4G ที่แพงเกินกว่านักวิเคราะห์คาดอย่างมาก ตามมาด้วยประเด็นที่กรมการบินพลเรือนยุโรป ปรับลดระดับความเชื่อถือ การให้บริการการบินของไทย และ สุดท้ายเรื่อง CG ที่ล่าสุด กลต ประกาศรายชื่อ ผู้บริหารที่เข้าข่ายกระทำความผิดราว 6 บริษัท ซึ่งเป็นประเด็นที่ลดความน่าเชื่อถือของตลาดหุ้นไทย
อย่างไรก็ตามการที่ตลาดหุ้นไทยปรับฐานลงมาที่ระดับ 1,340 จุด ซึ่ง มีค่า Expected P/E ปี 2559 ที่ 13.7 เท่า เชื่อว่าเป็นระดับที่สะท้อนข่าวร้ายไปเยอะมาก ทั้งเรื่องกำไรตลาดหุ้นที่ย่ำแย่ในงวด 3Q58 แต่น่าจะมีสัญญานที่ดีขึ้นในงวด 4Q58 เศรษฐกิจในประเทศที่ยังอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม วานนี้ มหาวิทยาหอการค้าไทย ได้เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ( CCI ) เดือน พ.ย.58 อยู่ที่ระดับ 74.6 จาก 73.4 ในเดือน ต.ค. (เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2) เช่นเดียวกันกับ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้นที่ 63.4 จาก 62.2 ในเดือน ต.ค. (เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2) ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดฟื้นตัวต่อเนื่องจนถึงปลายปีนี้ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลจับจ่ายใช้สอย ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกัน ในปี 2544 - 2545 จึงทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องนับจากนี้

มองข้ามไปงวด 4Q58 คาดจะดีขึ้นในกลุ่ม อาหาร/ร.พ./โรงกลั่น/ค้าปลีก (ต่อ)
      หลังจากได้พูดถึงกลุ่มที่คาดว่าจะมีผลกำไรที่ดีขึ้นในงวด 4Q58 เมื่อเทียบกับงวดก่อนหน้า (qoq)วันนี้จะ update เพิ่มเติมกลุ่ม ธ.พ. และ ค้าปลีกฯ รายละเอียดมีดังนี้
      กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (เท่ากับตลาด) คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานของกลุ่ม ธ.พ. ในงวด 4Q58 เนื่องจากภาระการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่เริ่มบรรเทาลง (หมดภาระสำรองของ SSI) ขณะที่ภาพรวมธุรกิจหลักคาดว่าจะกระเตื้องขึ้นจากงวด 3Q58 เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูกาลการเติบโตของสินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียมฯ แต่อาจจะถูกกดดันด้วยการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายดำเนินงานด้วยเช่นกัน โดยคาด KTB, SCB, TISCO จะแสดงการฟื้นตัวโดดเด่นขึ้นของกำไรงวด 4Q58 เนื่องจากภาระการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่บรรเทาลง สวนทางกับ KBANK และ BBL ที่คาดกำไรสุทธิงวด 4Q58 ยังหดตัวต่อเนื่องจากแนวโน้มการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยภาพรวมคาดการณ์กำไรสุทธิทั้งปี 2558 ยังหดตัวลง 12.6% yoy แต่จะกลับมาเติบโตถึง 15.8% yoy ในปี 2559 จากภาระสำรองที่เบาลง และคาดหวังเชิงบวกต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยหุ้นที่นักวิเคราะห์ ASPS ชื่นชอบมากสุดคือ KBANK(FV@B240) ซึ่งเป็น ธ.พ.ใหญ่ที่มีภูมิต้านทานแข็งแกร่งสุดในกลุ่มฯ ด้วยการกระจายตัวของสินเชื่อและฐานรายได้ที่ดี ช่วยลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ดีกว่า ธ.พ.อื่นๆ และชอบ TCAP([email protected]) ด้วยนโยบายการปรับตัวเชิงรุกของบริษัทฯ ทั้งการปรับส่วนผสมของสินเชื่อ การบริหารต้นทุน (เพิ่ม CASA) ผลักดันรายได้ค่าธรรมเนียมฯ และการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ (เร่งขาย/ลด NPL เชิงรุก) ซึ่งจะทำให้การตั้งสำรองหนี้ฯ ในปี 2558 ผ่อนคลายลง และยังช่วยเพิ่ม coverage ratio ด้วย


      กลุ่มค้าปลีก (เท่ากับตลาด) คาดงวด 4Q58 ผลการดำเนินงานจะทยอยฟื้นตัว โดยเชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังหนุนความเชื่อมั่นผู้บริโภคและกำลังซื้อของประชาชนให้มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง บวกกับช่วงปลายปีที่เป็นช่วงฤดูกาล ผลักดันให้กำไรกลุ่มฯ ขึ้นทำจุดสูงสุด คาดกำไรปี 2558 เพิ่มขึ้น 19% และฟื้นตัวต่อเนื่องอีก 20% ในปีหน้า โดย COM7 ([email protected]) คาดกำไรเติบโตที่ดีสุดในกลุ่มฯ โดยเฉพาะงวด 4Q58 และคาดจะเติบโตต่อเนื่องในปี 2559 ปัจจัยหนุนจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นอกจากนี้ หลังการให้บริการ 4G คาดจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากแนวทางการร่วมมือกับค่ายมือถือ ช่วยลดการแข่งขัน และเพิ่มฐานรายได้ ส่วน MAKRO (FV@B47) ช่วงฤดูกาลหนุนยอดใช้จ่ายกลุ่ม HoReCa ขณะที่ยอดขายสาขาเดิม (SSSG) น่าจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง จากฐานเปรียบเทียบปีก่อนที่ต่ำ และการเปิดสาขาเชิงรุกมากที่สุดในกลุ่มฯ คาดสาขาที่เปิดในปี 2558 จะทยอยถึงจุดคุ้มทุนและมีกำไรตั้งแต่ปี 2559 ROBINS (FV@B55)

       คาดงวด 4Q58 จะเป็นจุดสูงสุดของปีเช่นกัน และคาดจะเติบโตต่อเนื่องในปี 2559 โดยจะเน้นที่การทำกำไรของสาขาเดิม และปรับไปเน้นกลุ่มที่มีการแข่งขันน้อยเพื่อเลี่ยงการแข่งขันที่รุนแรง คาดจะทยอยส่งผลบวกต่อการทำกำไรในช่วง 1-2 ปีจากนี้ได้ HMPRO ([email protected]) คาดกำไรจะทยอยฟื้นตัวในงวด 4Q58 และทำให้กำไรรวมทั้งปี 2558 เพิ่มราว 3% ขณะที่ปี 2559 จะเพิ่มขึ้นทั้งการเปิดสาขาใหม่ และยอดขายสาขาเดิม เนื่องจาก HMPRO เป็นบริษัทแรกๆ ในกลุ่มที่ได้ประโยชน์และฟื้นตัวได้ไวกว่าในกรณีที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัว เพราะฐานลูกค้ามีกำลังซื้อมากกว่าบริษัทอื่นๆ โดยรวมคาดกำไรในปี 2559 คาดจะเพิ่มขึ้น 17% และ CPALL (FV@B 60) คาดกำไรงวด 4Q58 จะอ่อนตัวเล็กน้อย จากปกติมักจะมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารสูงงวดสุดท้ายของปี แต่โดยภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว บวกกับกำไรของ MAKRO จะเป็นจุดสูงสุด ทำให้ภาพรวมกำไรทั้งปี 2558 คาด ยังเพิ่มขึ้นราว 30% yoy และยังโดดเด่นต่อเนื่องในปี 2559 จากแนวโน้มเศรษฐกิจคาดจะดีขึ้น อย่างไรก็ตามระยะสั้นอาจจะมีประเด็นข่าวเกี่ยวกับผู้บริหารใช้ข้อมูลภายใน ในการซื้อขายหุ้น MAKRO ยังเป็น ปัจจัยกดดันระยะสั้น การที่ราคาหุ้นตกต่ำลงมากจนทำให้มี upside มากถึง 35% จึงน่าจะเป็นจังหวะสะสมเพื่อการลงทุนระยะยาว

       และกลุ่มที่มีแนวโน้มอ่อนตัวในงวด 4Q58 (qoq) จากผลของฤดูกาล ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนฯ และ เกษตร-อาหาร สรุปได้ดังนี้
กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ : คาดกำไรจากการดำเนินงานงวด 4Q58 อ่อนตัวจากงวด 3Q58 เนื่องจากพ้นฤดูกาลส่งออกของกลุ่มชิ้นส่วนฯ ไปแล้ว ทำให้คำสั่งซื้อของลูกค้าต่างประเทศลดลง เนื่องจากได้สต็อกสินค้าไว้แล้วตั้งแต่งวด 3Q58 รองรับเทศกาลวันหยุดยาวช่วงปลายปี ซึ่งเป็นปกติของอุตสาหกรรม โดยคาดกำไรจากการดำเนินงานปี 2558 จะเติบโต 4.7% yoy และเติบโตต่อเนื่องอีก 20% yoy ในปี 2559 อีกทั้งแนวโน้มเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จะอ่อนค่าลง หลังจากที่ Fed น่าจะขึ้นดอกเบี้ยฯ ส่งผลบวกโดยตรงต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนฯ ที่มีรายได้เกือบทั้งหมดเป็นสกุลเงินต่างประเทศ โดย KCE (FV@B 80) คาดการเติบโตของกำไรจากการดำเนินงานโดดเด่นสุดในปี 2559 ถึง 38.4% yoy

      อานิสงส์จากการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานลาดกระบังแห่งใหม่ที่สูงขึ้นต่อเนื่องจนเต็มกำลังการผลิตตั้งแต่งวด 2Q59 เป็นต้นไป ขณะที่ SVI (FV@B 7) แนวโน้มการเติบโตของกำไรจากการดำเนินงานปี 2559 สูงถึง 30.8% yoy จากการฟื้นตัวของโรงงานไปสู่ภาวะปกติเท่ากับก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้แล้ว ตามด้วย DELTA (FV@B 84) ที่คาดการณ์กำไรจากการดำเนินงานปี 2559 เติบโต 16.6% yoy หนุนด้วยการเติบโตของธุรกิจ Data Center และการลงทุนด้านโทรคมนาคมในอินเดียที่ยังเติบโตต่อเนื่อง และ HANA (FV@B 37) คาดการณ์กำไรจากการดำเนินงานปี 2559 จะพลิกกลับมาเติบโต 7.7% yoy จากแนวโน้มอุปกรณ์เครื่องช่วยได้ยิน (Hearing aids) และอุปกรณ์เซ็นเซอร์และหน้าจอ LED สำหรับสมาร์ทโฟน จะเติบโตได้ดี


        ธุรกิจเกษตร-อาหาร คาดกำไรจากการดำเนินงานงวด 4Q58 อ่อนตัวลงจากงวด 3Q58 หลังจากพ้นช่วง High Season ของอุตสาหกรรมอาหารไปแล้ว ส่งผลให้คำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง เนื่องจากได้สต็อกสินค้าไว้ตั้งแต่งวด 3Q58 เช่นกัน สำหรับคาดการณ์กำไรจากการดำเนินงานของกลุ่มเกษตร-อาหารปี 2558 จะหดตัวลงถึง 28.8%yoy เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวล่าช้า และราคาผลิตภัณฑ์สัตว์บกอยู่ในภาวะตกต่ำ แต่คาดกำไรจากการดำเนินงานปี 2559 จะพลิกกลับมาเติบโตถึง 51.3% yoy โดย CPF (FV@B 28) คาดกำไรจากการดำเนินงานปี 2558 อาจลดลงถึง 71.1% yoy จากราคาผลิตภัณฑ์สัตว์บกตกต่ำ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มกำไรจากการดำเนินงานปี 2559 จะพลิกกลับมาเติบโตแรงถึง 240.1% yoy จากฐานกำไรที่ต่ำ และการฟื้นตัวของธุรกิจกุ้ง ราคาสัตว์บกทั้งไก่และหมู และผลบวกจากการรวมงบการเงินของ S&W เข้ามา ช่วยเพิ่มกำไรสุทธิของ CPF เป็นสัดส่วนถึง 14% ของคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2559 TU (FV@B 23) แนวโน้มงวด 4Q58 คาดอ่อนตัวลงถึง 29.4% qoq เนื่องจากการเข้าฤดูหนาว ซึ่งเป็นปกติของอุตสาหกรรมฯ ขณะที่คาดปี 2559 จะเติบโต 16.0% yoy ผลจากการปรับโครงสร้างธุรกิจ

      และการบริหารต้นทุนของกลุ่มบริษัทฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคาดการณ์แนวโน้มราคาวัตถุดิบปลาทูน่าเฉลี่ยในปี 2559 ทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่องใกล้เคียงปี 2558 หนุนคาดการณ์ gross margin ปรับเพิ่มขึ้น GFPT (FV@B 11.5) แนวโน้มงวด 4Q58 คาดว่าจะอ่อนตัวลงถึง 35.7% qoq เนื่องจากแนวโน้มปริมาณขายเนื้อไก่ลดลง รวมทั้งผลจากปัญหา supply ไก่ล้นตลาด แต่คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2559 จะพลิกกลับมาเติบโตอีกครั้งที่ 15.3% yoy จากปริมาณการส่งออกไก่ที่สูงขึ้น โดยคาดปริมาณการส่งออกเนื้อไก่ในปี 2558 เติบโตราว 7.0% yoy และเติบโตต่อเนื่องอีก 6% yoy จากแนวโน้มการส่งออกไก่สดแช่แข็งสู่ญี่ปุ่นได้มากขึ้น BR (FV@B 9) แนวโน้มผลการดำเนินงานงวด 4Q58 เติบโตถึง 25.4% qoq และ 7.1% yoy จากการเข้าสู่ช่วงเทศกาลวันหยุดยาวช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม คาดกำไรสุทธิปี 2558 อ่อนตัวลง 13.8% yoy จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กดดันการบริโภคเนื้อเป็ดลดลง แต่ปี 2559 น่าจะพลิกกลับมาเติบโต 12.6% yoy จากแนวโน้มการส่งออกเป็ดสู่ญี่ปุ่นได้มากขึ้น อีกทั้งยังได้อานิสงส์จากค่าใช้จ่ายทางการเงินลดลง หลังจากนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปชำระหนี้สินบางส่วนในงวด 3Q58
      KSL (FV@B 6) ปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงในปี 2559 หนุนราคาน้ำตาลโลกดีดตัวต่อเนื่อง คาดกำไรสุทธิปี 2558/59 จะเติบโต 10.9% yoy จากปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้น หนุนคาดการณ์ปริมาณขายน้ำตาลเพิ่มขึ้น 4.7% yoy รวมทั้งคาดการณ์ปริมาณขายเอทานอลเพิ่มขึ้น 5% yoy

ต่างชาติขายสุทธิหุ้นทั้งภูมิภาค
       วานนี้ต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 286 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) โดยเป็นการขายสุทธิทั้ง 5 ประเทศ นำโดย เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 210 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) รองลงมาคือ อินโดนีเซียที่ถูกขายสุทธิราว 29 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) ตามมาด้วยไต้หวันถูกขายสุทธิราว 17 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) และฟิลิปปินส์ที่ถูกขายสุทธิราว 19 ล้านเหรียญ ส่วนตลาดหุ้นไทย แม้ช่วงบ่ายของวานนี้ดัชนีจะกลับมาปิดในแดนบวกได้ โดยเพิ่มขึ้น 0.09% แต่ต่างชาติกลับขายสุทธิราว 12 ล้านเหรียญ หรือ 441 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 1,100 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 6,955 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 1,351 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทยังคงทรงตัวอยู่ที่ 35.82 บาท/ดอลลาร์

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!