WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASP copyบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
     แรงกดดันต่อตลาดหุ้นยังมีต่อเนื่อง โดยตลาดยังให้น้ำหนักกับผลการสำรวจของกรมการบินพลเรือนยุโรป (EASA) ต่อมาตรฐานการให้บริการสายการบินสัญชาติไทยวันที่ 10 ธ.ค. นี้ ซึ่งยังกดดัน THAI, BA จึงให้ switch มาหุ้นปันผลหรือมีผลของฤดูกาล เลือก IRPC([email protected]) และ BDMS([email protected]) เป็น Top picks

ประธาน FED หนุนการขึ้นดอกเบี้ย ดันดอลลาร์ยืน 100 ได้
      เชื่อว่าตลาดยังให้น้ำหนักต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ หลังจากยอดการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP เดือน พ.ย. เพิ่มขึ้นที่ระดับ 2.17 แสนราย สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 1.9 แสนราย (เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 5 เดือน) แต่คาดอัตราการว่างงาน ล่าสุดอยู่ที่ 5% ขณะที่ ล่าสุด นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลาง Fed ส่งสัญญาณโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในรอบนี้ 15 – 16 ธ.ค. มีความเป็นไปสูง โดยเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงที่จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ยังมีอยู่โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำ 0.2% yoy และยังมีผลสรุปรายงานภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ (Beige Book) ที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวในระดับปานกลาง แม้ภาคแรงงานจะมีการฟื้นตัว แต่ในภาคการผลิตยังคงชะลอตัว
     ทำให้ ASPS เชื่อว่า Fed ยังมีโอกาสที่จะเลื่อนออกไปเป็นต้นปี 2559 อย่างไรก็ตามขณะที่ค่า Dollar Index ได้ปรับขึ้นแตะ 100 จุด ตรงข้ามกับค่าเงินยูโรที่ยังคงแกว่งตัวในลักษณะอ่อนค่า แต่เป็นที่สังเกตว่าค่าเงินในเอเชีย ก็ไม่อ่อนค่ามากไปกว่าเดิม ซึ่งอาจจะเป็นการบ่งบอกว่าได้สะท้อนความเชื่อเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยไประดับหนึ่งแล้ว
      ทางฝั่งยูโรป วานนี้ได้มีการรายงานอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. ทรงตัวที่ระดับ 0.1% ติดต่อ 2 เดือน (ต่ำกว่าตลาดคาด 0.2%) เช่นเดียวกับดัชนีราคาผู้ผลิต เดือน ต.ค. หดตัว 3.1% เท่ากับเดือนก่อนหน้า (ติดลบติดต่อกัน 27 เดือน) ECB ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคต่อเนื่อง (อาจจะขยายเวลาและวงเงินมาตรการ QE เพิ่มเติม และลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสู่ระดับติดลบ) อย่างไรก็ตามติดตามผลธนาคารกลาง ECB ในวันนี้ (ECB ใช้ มาตรการ QE ด้วยการซื้อสินทรัพย์เดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร เริ่ม มี.ค. 2558 ถึง ก.ย. 2559 มูลค่ารวมทั้งหมด 1.14 ล้านล้านยูโร)
และ อังกฤษ การรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจล่าสุด ยังสะท้อนภาพรวมการเติบโตที่ชะลอตัว ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการก่อสร้าง เดือน พ.ย. ลดลงที่ ระดับ 55.3 จากเดือน ต.ค. ที่ 58.8 (ลดลง 6 % และเป็นการลดลงติดต่อกัน 3 เดือน) สอดคล้องกับ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตที่ ชะลอตัวเช่นเดียวกัน อยู่ที่ 52.7 จากเดือนก่อนหน้าที่ 53.6 ทำให้คาดว่าการประชุม BOE ในวันที่ 10 ธ.ค. จะยังคง อัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม 0.5%

THAI, BA อาจจะกระทบจากผลตรวจสอบ EASA อีกระลอก
      หลังจากสำนักบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) ของสหรัฐ ประกาศลดมาตรฐานการบินประเทศไทยมาเป็นกลุ่มที่ 2 (ความปลอดภัยการบินต่ำกว่ามาตรฐาน) จากเดิมที่อยู่กลุ่ม 1 (ไม่มีประเด็นปัญหาความปลอดภัย) ทำให้ตลาดเริ่มมีความกังวลผลการตรวจสอบของสำนักงานบริหารความปลอดภัยด้านการบินของสหภาพยุโรป (EASA) ที่จะประกาศวันที่ 10 ธ.ค. 58 ซึ่งหากออกมาในทิศทางลบ สายการบินสัญชาติไทยที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับทางภูมิภาคยุโรป อาจต้องรับผลกระทบการถูกห้ามเพิ่มจุดบินใหม่ จำนวนเที่ยวบิน ซึ่งแม้ EASA อาจมีข้อยกเว้นเป็นรายสายการบิน ดังที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอินโดเนเซียได้
      ทั้งนี้ คาดว่า สายการบินสัญชาติไทย ที่จะกระทบมากสุดคือ THAI ซึ่งปัจจุบันมีจุดบินในยุโรป 11 แห่ง และมีสัดส่วนรายได้จากภูมิภาคยุโรปราว 30% ของรายได้รวม ซึ่งอาจสูญเสียความเชื่อมั่นในการใช้บริการจากชาวยุโรป ทั้งนี้ จากการศึกษาของฝ่ายวิจัย พบว่า ทุกๆรายได้จากลูกค้ายุโรปที่ลดลง 1% ซึ่งหมายถึง รายได้ THAI ลดลงราว 0.3% จะกระทบกำไร THAI ลดลง 9.4% จากประมาณการปี 2559 และจะกระทบมูลค่าพื้นฐานราว 0.21 บาท
      รองมา คือ BA ซึ่งแม้ไม่ได้บินไปยังยุโรปโดยตรง แต่จะกระทบจากความเชื่อมั่นจากผู้ที่จะมาใช้บริการผ่านเที่ยวบินร่วมจากข้อตกลงที่มีไว้กับสายการบินครบวงจรในยุโรป (Code Share) โดยปัจจุบัน BA มีสัดส่วนรายได้จากลูกค้ายุโรปราว 20% ของรายได้รวม ทั้งนี้ จากการศึกษาของฝ่ายวิจัย พบว่า ทุกๆรายได้จากลูกค้ายุโรปที่ลดลง 1% ซึ่งหมายถึง รายได้ BA ลดลงราว 0.2% จะกระทบกำไร BA ลดลง 1.7% จากประมาณการ และจะกระทบมูลค่าพื้นฐานราว 0.13 บาท นอกจากนี้ ทั้งนี้ยังอาจจะมีกระทบในเรื่องความร่วมมือกับสายการบินทางยุโรป ที่อาจถูกลดระดับเป็น Interline จากเดิมที่เป็น Code Share ซึ่งจะทำให้ BA ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ช่องทางจำหน่าย 5-6 ดอลลาร์ต่อตั๋วโดยสารเอง ทั้งนี้ ปัจจุบัน BA มีลูกค้าที่ทำ Code Share จากสายการบินยุโรปราว 3.0 แสนคนต่อปี ซึ่งหากในส่วนนี้ BA ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเอง จะกระทบกำไร BA ราวปีละ 70 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 3.1% ของประมาณการปี 2559 ซึ่งในส่วนของ BA โดยภาพรวมแล้ว หากตั้งสมมติฐานกรณีที่เป็นไปได้ คือ รายได้จากลูกค้าชาวยุโรปผ่าน Code Share ลดลง 10% ซึ่งหมายถึงกระทบรายได้รวมให้ลดลง 2% และต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเอง จะกระทบกำไร BA ในปี 2559 ที่อาจจะต้องลดลงจากประมาณการราว 20% มาอยู่ที่ 1.8 พันล้านบาท แต่เนื่องจากการประเมินมูลค่าพื้นฐานด้วย Sum of the part (สายการบิน + BDMS)จึงยังสูงราว 24.8 บาท ลดลงจากมูลค่าพื้นฐานปัจจุบัน 1.7 บาท (มูลค่าพื้นฐานของ BA ประมาณ 50% มาจากการถือหุ้นใน BDMS สัดส่วนราว 7.82%)

น้ำมันลง แต่ค่าการกลั่นยังสูง หนุน IRPC
      คาดว่า การรายงานเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังขัดแย้ง และเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวล่าช้า ยังเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันตลาดล่วงหน้า Brent ลดลงทำจุดต่ำสุดใหม่ของปีนี้นที่ 42.49 เหรียญฯต่อบาร์เรล และเช่นเดียว ดูไบต่างปรับตัวลดลง 2.49% จากวันก่อนหน้า ประกอบกับการประชุมโอเปคในวันพรุ่งนี้ (4 ธ.ค.) มีการคาดกันว่าซาอุดิอาระเบีย และประเทศในอ่าวเปอร์เซีย จะยังคงเดินหน้าผลิตน้ำมันระดับเดิม ซึ่งขัดแย้งจากเสียงส่วนใหญ่ต้องการลดการผลิตเพื่อลดปัญหา Oversupply และวานนี้สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ได้รายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ สิ้นสุด 27 พ.ย.เพิ่มขึ้นราว 1.2 ล้านบาร์เรล (เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 10) ส่งผลให้สต็อกน้ำมันดิบอยู่ที่ 489 ล้านบาร์เรล (จากการนำเข้าน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันจากอิรัก และ ซาอุดิอาระเบีย เพิ่มขึ้นกว่า 4.14 แสนบาร์เรลต่อวัน) และเช่นเดียวกับสต็อกน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน อาทิ สต็อกน้ำมันกลั่น Heating Oil และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.35 แสนบาร์เรล (ติดต่อกัน 3 สัปดาห์) อยู่ที่ 216.87ล้านบาร์เรล น้ำมันเบนซินล เพิ่มขึ้น 3.05 ล้าน บาร์เรล(ติดต่อกัน 4 สัปดาห์) อยู่ที่ 144.4 ล้านบาร์เรล เนื่องจากสภาพอากาศที่ยังคงแปรปรวนทำให้อากาศอุ่นขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน จากปรากฎการณ์ เอลนีโญ จึงทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันลดลง ซึ่งจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวจะเป็น sentiment เชิงลบกับหุ้นน้ำมัน (PTTEP, PTT) แต่จะหนุนหุ้นกลุ่มโรงกลั่น สะท้อนจากค่าการกลั่นที่สิงค์โปรยังคงอยู่ในระดับสูง ล่าสุดที่ 8.25 เหรียญฯต่อบาร์เรล (อานิสงค์จากช่วงฤดูกาล และเชื่อว่าการเพิ่มขึ้นของกำลังการกลั่น ของโรงกลั่นใหม่ๆ ที่จะเข้ามาสู่ตลาดน้อยกว่าคาด) จึงยังคงแนะนำซื้อ IRPC ([email protected]) เนื่องจากแนวโน้มกำไรปกติในปี 2559 เติบโตโดดเด่นที่สุดในกลุ่ม(39.2% yoy) และ ณ ราคาปัจจุบันมี upside ราว 42.34% และซื้อ PTT (FV@B360) เนื่องจากมีการกระจายธุรกิจสูง

มองข้ามไปงวด 4Q58 คาดกำไรตลาดจะดีขึ้น อาหาร/ร.พ./โรงกลั่น/ค้าปลีก
      หลังจากรายงานงบงวด 3Q58 ออกมาผิดหวัง และทำให้นักวิเคราะห์ ASPS มีการปรับลดประมาณการกำไรปี 2558 ลงเป็นรอบที่ 4 โดยรวมปรับลดลง 28% นับจากต้นปี 2558 โดยมีกำไรสุทธิตลอดปีอยู่ที่ 7.06 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับ 7.02 แสนล้านบาทในปี 2557 แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี 2559 จะมีกำไรสุทธิ 9.18 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปี 2558 ซึ่งคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 98 บาท ในปี 2559 จาก 75.44 บาท ในปี 2558 และ สำหรับแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในงวด 4Q58 คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากงวด 3Q58 โดยเฉพาะหุ้นที่มีผลประกอบการตามฤดูกาล ได้แก่ ธุรกิจโรงกลั่น และ ปิโตรเคมี (กล่าวไปแล้วใน Market Talk วานนี้) ตามมาด้วยกลุ่ม ท่องเที่ยว &โรงแรม, อาหาร และ เครื่องดื่ม และ ธนาคารพาณิชย์ สรุปได้นี้
       ท่องเที่ยว&โรงแรม (เท่ากับตลาด) ที่คาดว่า เริ่มเข้าสู่ช่วง High Season ท่องเที่ยวอีกครั้ง เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยล่าสุดเดือน ต.ค. 2558 เพิ่มขึ้น 10% mom อยู่ที่ 2.228 ล้านคน และคาดจะเพิ่มต่อเนื่องในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. 2558 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวเต็มตัว หนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติแตะระดับสูงสุดรายไตรมาสที่ 8 ล้านคนใน 4Q58 และทั้งปี 2558 ทำ New High เป็นประวัติการณ์ 30 ล้านคน เพิ่มขึ้น 21% yoy ปัจจัยดังกล่าว ย่อมส่งผลบวกต่อบริษัทกลุ่มธุรกิจโรงแรมเติบโตในทิศทางเดียวกันกับการท่องเที่ยว โดยคาดผลประกอบการกลุ่มโรงแรมฯ จะขยายตัวมากขึ้นใน 4Q58 และพีคต่อเนื่องใน 1Q59 เหมือนปกติทุกปี แนะนำลงทุนหุ้น ERW ([email protected]) เนื่องจากราคาหุ้นยัง Laggard เมื่อเทียบกับ CENTEL พิจารณาจากราคายังมี upside 25% อีกทั้งแนวโน้มผลประกอบการเชื่อว่าจะมีโมเมนตัมที่ดี โดยพลิกจากขาดทุนใน 3Q58 มามีกำไรอีกครั้งใน 4Q58 และมากขึ้นใน 1Q59 ซึ่งเป็นช่วง Peak Season ของการท่องเที่ยว อาหารและเครื่องดื่ม (เท่ากับตลาด) ที่โดดเด่นเห็นจะเป็นธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะ MINT(FV@B39)

     ถือว่าได้อานิสงค์กลุ่มโรงแรมเข้าสู่ช่วง High season และ ยังได้รับผลดีจากการขยายสาขาเดิมของธุรกิจอาหาร ประกอบกับได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนร้านอาหาร Coffee Club ออสเตรเลีย จากเดิม 50% เป็น 70% ตั้งแต่ 1 พ.ย. 2558 คาดหนุนกำไร 4Q58 ทำจุดสูงสุดของปี แต่อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น MINT มี upside จำกัด จึงแนะนำให้ Switch ไปเข้าหุ้นโรงแรมอย่าง ERW ซึ่งมี upside มากกว่าและยัง laggard ตามมาด้วย M(FV@B65) คาดแนวโน้มงวด 4Q58 น่าจะฟื้นตัว หลังแตะจุดต่ำสุดใน 3Q58 หนุนจากยอดขายร้านเดิมของ MK สุกี้ เดือน ต.ค. ชะลอตัวลดลงเหลือ -8% yoy เทียบกับติดลบ 12% ในเดือนก่อนหน้า ประกอบกับการขยายสาขาเพิ่มอีก 14 สาขา และการปรับขึ้นราคาขายเฉลี่ย 2% OISHI ([email protected]) คาดว่ากำไรงวด 4Q58 น่าจะทำระดับสูงสุดของปี จากธุรกิจร้านอาหารเข้าสู่ช่วงเทศการส่งท้ายปี บวกกับการขยายสาขาเพิ่ม 10 สาขา รวมเพิ่มขึ้น 30 สาขาในปีนี้ หนุนให้กำไรทั้งปีเติบโตโดดเด่น 52.5% yoy และคาดว่ายังเติบโตโดดเด่นในปี 2559 จากการรับรู้รายได้รับจ้างผลิตสินค้าเครื่องดื่ม OEM เพิ่มขึ้น และ ICHI([email protected]) แม้ปกติยอดขายช่วง 4Q58 จะเป็นจุดต่ำสุดของปี จากปัจจัยฤดูกาล แต่กลับมีประสิทธิภาพในการทำกำไรที่ดีขึ้น เพราะไม่มีการจัดแคมเปญกระตุ้นตลาดเหมือนงวด 3Q58 ทำให้เห็นการเติบโตในงวดก่อนหน้า

      ส่วนปี 2559 การเติบโตจะขึ้นกับการเปิดตัวสินค้าใหม่ๆในกลุ่มแบรนด์ไบเล่ และ SAPPE(FV@B29) ยังอยู่ในช่วง Low season ของการส่งออกเครื่องดื่ม (สัดส่วนการส่งออก 60%) ทำให้แนวโน้มกำไรงวด 4Q58 ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจาก 3Q58 แต่คาดเห็นการเติบโตดีขึ้น yoy จากฐานต่ำในงวด 4Q57 ขณะที่ปี 2559 จะสามารถพลิกเติบโตได้จากการกลับเข้าไปวางจำหน่ายสินค้าในจีนอีกครั้ง
      กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ (น้อยกว่าตลาด) ผลประกอบการงวด 4Q58 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า แต่มาจาก INTUCH(FV@B111) ซึ่งรับรู้กำไรจากบริษัทย่อยคือ ADVANC(FV@B280) ถือหุ้น 40% ที่คาดกำไรจะขึ้นทำระดับสูงสุดของปี (หยุดรับรู้รายจ่ายค่าตัดจำหน่ายอุปกรณ์โครงข่ายภายใต้สัญญาสัมปทานคลื่น 900 MHz เฉลี่ยไตรมาสละ 3 พันล้านบาทเป็นไตรมาสแรก หลังสิ้นสุดสัมปทานสิ้นสุด 30 ก.ย. 58) และ THCOM(FV@B51) ถือหุ้น 40% คาดกำไรจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากงวด 3Q58 เพราะไม่ต้องรับรู้ผลขาดทุนพิเศษเหมือนไตรมาสที่ผ่านมา (สูงถึง380 ล้านบาท หลักๆมาจากขาดทุน FX ซึ่งเชื่อ ประกอบกับ) กำไรปกติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากอัตราใช้งานดาวเทียมไทยคม 7 ที่จะเต็ม 100%
ขณะที่ DTAC(FV@B45) คาดกำไรสุทธิงวด 4Q58 จะทรงตัวจากไตรมาสก่อน เพราะแม้รายได้ค่าบริการมีแนวโน้มดีตามฤดูกาล แต่จะถูกหักล้าง ด้วยค่าใช้จ่ายการตลาดที่สูงตามฤดูกาล ส่วน TRUE([email protected]) กำไรสุทธิมีแนวโน้มลดลงจาก 3Q58 เพราะจะรับรู้กำไรพิเศษจากการขายเสาโทรคมนาคมให้ DIF ลดลงจากงวดก่อนหน้า ส่วนผลกำไรจากการดำเนินงานปกติน่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับ DTAC คือ ทรงตัวจาก 3Q58 เพราะแม้รายได้ค่าบริการเพิ่มแต่จะถูกหักล้างทั้งหมดจากค่าใช้จ่ายการตลาดที่เพิ่มขึ้น
      สำหรับ ค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาตคลื่น 1800 MHz ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา มีต้นทุนค่าใบอนุญาตสูง 4 หมื่นล้านบาทต่อใบอนุญาต ขณะที่การประมูล 900 MHz นักวิเคราะห์ ASPS ได้ตั้งสมมติฐานไว้ที่ราว 3 หมื่นล้านบาท (1 ใบอนุญาต 10 Mhz) เมื่อรวม 2 ใบอนุญาตคาดจะต้องบันค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 2.0 – 2.2 พันล้านบาทต่อใบอนุญาตต่อปี โดยน่าจะบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายเต็มที่ในปี 2559 (งวด 4Q58 จะบันทึกเพียง 1 เดือน และ 10 วัน ตามลำดับ) นอกจากนี้ทุกรายต้องลงทุน จากการลงทุนโครงข่าย 4G โดยรวมให้กำไรกลุ่ม ICT ใน 1Q59 จึงมีแนวโน้มลดลงจาก 4Q58 และ ยังชื่นชอบ ADVANC(FV@B280) มากสุดในกลุ่ม ภายใต้จุดเด่นกำไร 4Q58 ขึ้นทำระดับสูงสุด และได้ผลบวกชนะประมูลคลื่นใหม่มาช่วยเสริมปิดจุดอ่อน 4G (1800 MHz) และเพิ่มประสิทธิภาพบริการ 2G+3G (900 MHz) และ แม้กำไรงวด 1Q59 จะอ่อนตัวจาก 4Q57 แต่เชื่อว่าเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนจะยังเติบโตได้ 8%-10% เทียบกับคู่แข่งขันที่กำไรสุทธิทรงกับลงเท่านั้น
      ส่วนกลุ่ม Non-mobile (12% ของกำไรกลุ่ม) บริษัทที่น่าจะมีกำไรดีใน 4Q58 คือ THCOM(กล่าวถึงไปแล้ว) JMART ซึ่งกำไรจะขึ้นทำระดับสูงสุดของปี จากอานิสงส์การขาย iPhone รุ่นใหม่ และ AIT ที่กำไรฟื้นตัว เพราะได้แรงหนุนจาก Backlog ที่เพิ่มขึ้นหลังผ่านช่วงฤดูกาลงบประมาณรัฐใน 3Q58 แต่กำไรทั้งคู่คาดว่ากำไรจะอ่อนตัวลงใน 1Q59 ขณะที่ SAMART และ SAMTEL งวด 4Q58 ยังทรงตัวจาก 3Q58 เพราะ SAMTEL การเซ็นต์สัญญานงานโครงการใหญ่ได้ถูกเลื่อนไปเป็นปลายปี แต่การเริ่มรับรู้นับจาก 1Q59 คาดว่าจะช่วยให้กำไรงวด 1Q59 ของ SAMTEL และ SAMART กลับมาดีอีกครั้ง
(ส่วนกลุ่ม ธนาคาพาณิชย์ และ ที่คาดว่าผลประกอบงวด 4Q58 มีแนวโน้ม่อ่อนตัวลง จะมีการกล่าวถึงในวันถัดไป)

ดัชนีหุ้นไทยตกหนัก แต่ต่างชาติกลับซื้อหุ้นไทยเล็กน้อย
      วานนี้ ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 301 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) โดยเป็นการขายสุทธิทั้ง 4 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 248 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) รองลงมาคือ อินโดนีเซียที่ถูกขายสุทธิราว 26 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ตามมาด้วยไต้หวันถูกขายราว 11 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) และฟิลิปปินส์ที่ถูกขายสุทธิราว 17 ล้านเหรียญ ยกเว้นตลาดหุ้นไทย ที่วานนี้ตกหนักถึง 1.29% แต่แรงขายจากต่างชาติกลับเบาบางลง โดยสลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 1 ล้านเหรียญ หรือ 19 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 6 วัน) ต่างกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 500 ล้านบาท
      ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 8,243 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 4,358 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทยังคงทรงตัวอยู่ที่ 35.77 บาท/ดอลลาร์

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!