- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 02 December 2015 17:17
- Hits: 1000
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ปัจจัยกดดันตลาดเพิ่มขึ้น หลังกรมการบินพลเรือนสหรัฐ (FAA) ระงับการเพิ่มเที่ยวบินของประเทศไทย เช่นเดียวกับ ICAO กดดันหุ้นการบิน (BA, THAI) ระยะสั้นให้ Switch มายังหุ้นมีผลบวกของฤดูกาล เลือก IRPC ([email protected]) และ BDMS ([email protected]) เป็น Top picks
เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวล่าช้า การกระตุ้นเศรษฐกิจยังจำเป็น
สหรัฐ ยังคงรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจต่อเนื่อง และส่งสัญญาณขัดแย้งกัน กล่าวคือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต(สถาบัน ISM) เดือน พ.ย. ลดลงมาที่ 48.6 จาก 50.1 ในเดือน ต.ค. (ลดลง 3% และเป็นการหดตัวติดต่อกัน 5 เดือน) สวนทางกับ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของ Markit เดือน พ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 52.8 จาก 52.6 ในเดือน ต.ค. (เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 เดือน) โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายด้านการก่อสร้าง เดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 1.0% (สู่ระดับ 1.11 ล้านล้านดอลลาร์ นับว่าสูงสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2550) เช่นเดียวกับภาคการบริโภคครัวเรือน มีทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีการทำสัญญาขายบ้าน (pending home sales) เดือนต.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% MoM สูงกว่าเดือน ก.ย. ที่ติดลบ 2.3% MoM หนุนให้ยอดขายบ้านใหม่ เดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 4.8 หมื่นหลัง (อยู่ที่ 4.95 แสนหลัง) เพิ่มขึ้น 5% YoY แต่อย่างไรก็ตามตลาดยังให้น้ำหนักกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม 15-16 ธ.ค. นี้ สะท้อนจากผลการสำรวจโดย Bloomberg พบว่า กว่า 72% ยังมองว่า FED มีโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 15 -16 ธ.ค. อย่างไรก็ตามด้วยเงินเฟ้อที่ยังต่ำ 0.2% yoy ทำให้ ASPS เชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้ มีโอกาสน้อย และน่าจะเลื่อนออกไปเป็นต้นปี 2559
ทางฝั่งยูโรป วานนี้ได้มีการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต เดือน ต.ค. ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 52.8 เทียบกับเดือนก่อน 52.3 (เป็นการปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 19 เดือน) แต่ยังต่ำกว่าระดับที่เกิน 60 ในช่วงก่อนวิกฤติการเงินในช่วงที่ผ่านมา และอัตราการว่างงานยังทรงตัว 10.7% (เทียบกับ 10.8% เดือนก่อนหน้า บวกกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ 0.1% ในเดือน ต.ค. ยังคงห่างไกลจากเป้าหมาย 2% มาก คาดธนาคารกลางยูโรยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบาบกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการสำรวจของ Reuter คาดการณ์ ธนาคารกลางจะขยายเวลาและวงเงินมาตรการ QE เพิ่มเติม และอาจลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสู่ระดับติดลบ อย่างไรก็ตามต้องติดตามในการประชุมในวันพรุ่งนี้ (3 ธ.ค.) และเช่นเดียวกับอังกฤษที่ตัวเลขเศรษฐกิจยังคงสะท้อนภาพรวมการเติบโตที่ชะลอตัว จากการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต เดือน พ.ย. ลดลงอยู่ที่ 52.7จากเดือนก่อนที่ 53.6 จึงคาดการณ์ธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมวันที่ 10 ธ.ค. นี้
ส่วนจีน รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ( PMI) ภาคการผลิต เดือน พ.ย. ลดลงอยู่ที่ 49.6 จาก 49.8 ในเดือน ต.ค. สวนทางกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ Caixin (สำรวจเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก) เพิ่มขึ้นที่ 48.6 จาก 48.3 เดือน ต.ค แต่อย่างไรก็ตาม ยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 เดือน บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนยังคงหดตัวต่อเนื่อง ส่วนล่าสุดที่ IMF ได้อนุมัติให้เงินหยวนเข้าสู่ตระกร้าเงิน SDR โดยมีผลตั้งแต่ต.ค. 2559 คาดว่าน่าจะหนุนให้ค่าเงินหยวน มีเสถียรภาพมากขึ้น
เงินเฟ้อต่ำ รัฐต้องเดินหน้ากระตุ้นการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
วานนี้ กระทรวงพาณิชย์ ของไทย รายงานเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. ติดลบ 0.97%YoY พบว่าติดลบเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ ติดลบ 0.77% เดือน ต.ค. นับเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ทั้งนี้เหตุผลหลักๆ ยังเป็นผลจาก สินค้าหมวดพลังงานที่ลดลง 14.92% (น้ำมันเชื้อเพลิง ลดลง 10.92%) ตรงข้ามกับราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.31% อย่างไรก็ตามตลอด 11 เดือนของปี 2558 ม.ค. – พ.ย. (YTD) พบว่าเงินเฟ้อยังคงติดลบ 0.90 % ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ฝ่ายวิจัยประมาณการอัตราเงินเฟ้อ ตลอดทั้งปีไว้ที่ติดลบ 0.83% (ภายใต้สมมติฐาน ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 53 เหรียญฯต่อบาร์เรล)
ทำให้ความจำเป็นในการใช้นโยบายทางการเงินยังคงมีอยู่ ซึ่งต้องติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท. ในการประชุมรอบสุดท้ายของปีนี้ 16 ธ.ค. แต่คาดว่า กนง. จะยืนอัตราดอกเบี้ยฯ ที่ 1.5% ไปถึงกลางปี 2559 จนกว่าจะมีความคืบหน้าจากการลงทุน ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐ และเอกชน (PPP)
ในการประชุม คณะรัฐมนตรี วานนี้ มีมติอนุมัติแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559 (Action Plan) แผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 20 โครงการ พร้อมกับเพิ่มโครงสร้าง พื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) มูลค่าการลงทุนรวม 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่คาดว่าน่าจะสามารถประกวดราคาได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณแรกของปี 2559 (ต.ค – ธ.ค. 58) มี 6 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 1.86 แสนล้านบาท และอีกกว่า 14 โครงการ ตามแผนระบุว่าจะเริ่มประกวดราคาได้ตั้งแต่ปี 2559-60 วงเงินลงทุนรวม 1.610 ล้านล้านบาท ซึ่งทุกอย่างยังเป็นไปตามที่คาดไว้ก่อนหน้า จึงคาดว่าจะเพียง sentiment ช่วงสั้นๆ ต่อกลุ่มรับเหมา และที่ต้องติดตามต่อสัปดาห์หน้าคือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ที่เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการวันที่ 8 ธันวาคม รวมทั้งการประมูล e-Auction สัญญาก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 2.36 หมื่นล้าน ที่จะมีขึ้นในวันเดียวกันนั้น โดยฝ่ายวิจัยยังชื่นชอบ CK มากที่สุดในบรรดาบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ และมีโอกาสมากสุดหลังพลาดงานประมูลรถไฟทางคู่ช่วงแก่งคอย-คลอง 19 ที่เพิ่งผ่านไป ทั้งในมุมของ Valuation ที่ต่ำกว่า รวมถึงเสถียรภาพของกำไรที่มีมากกว่า จากส่วนแบ่งรายได้และเงินปันผลของบริษัทลูกที่มีเข้ามาสม่ำเสมอ รวมทั้งยังมีประเด็นบวกจากการควบรวม BECL+BMCL ช่วยหนุนส่วนแบ่งกำไรตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป
FAA ของสหรัฐระงับการเพิ่มเที่ยวบินแก่ไทย กดดันหุ้น THAI, BA
หลังจากกรมการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ประกาศขึ้นธงแดงให้กับประเทศไทย ซึ่งมีความหมายว่า มาตรฐานการกำกับดูแลสายการบินของกรมการบินพลเรือนไทย (บพ.) ต่ำกว่ามาตรฐาน และส่งผลให้กรมการบินพลเรือนบางประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ มีมาตรการห้ามมิให้สายการบินสัญชาติไทยเพิ่มจุดบิน หรือเที่ยวบินใหม่ๆ ขณะที่ประเทศอื่นๆ อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกงได้มีการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยสายการบินจากประเทศไทยเข้มงวดขึ้น
ล่าสุด กรมการบินพลเรือนสหรัฐฯ (FAA) ได้ปรับลดระดับมาตรฐานการบินประเทศไทยมาอยู่กลุ่มที่ 2 (Category 2) จากที่เคยให้อยู่ในกลุ่มที่ 1 (Category 1) ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะคล้ายกับในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ คือ สายการบินสัญชาติไทยจะห้ามเพิ่มเที่ยวบินและจุดบินใหม่ๆ ในสหรัฐ อย่างไรก็ตาม สายการบินของไทยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงไม่มี เพราะแม้แต่ THAI ซึ่งเป็นสายการบินเดียวที่บินไปสหรัฐ ล่าสุดเพิ่งยกเลิกจุดบินสุดท้ายในสหรัฐไปในวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา แต่จะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการให้บริการในรูปแบบเที่ยวบินร่วม (Code Share) กับสายการบินในเครือ Star Alliances รวมไปถึง BA ที่มีการทำ Code Share กับสายการบินทั่วโลก ก็อาจจะถูกลดระดับเป็น Interline ซึ่งในส่วนนี้ THAI และ BA ต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียมให้กับช่องทางจัดจำหน่ายเองที่เฉลี่ย 5-6 ดอลลาร์ต่อตั๋วโดยสาร 1 ใบ แต่เชื่อว่าผลกระทบไม่ได้มีนัยฯ (ในส่วนของ THAI ปี 2557 ที่ผ่านมามีรายได้จากสหรัฐฯราว 0.8% ของรายได้รวม ขณะที่ BA เคยให้ข้อมูลกับฝ่ายวิจัยว่ามีจำนวนผู้โดยสารที่ทำ Code Share จากสหรัฐไม่มีนัยฯ)
นอกจากยังต้องติดตาม ผลการตรวจสอบมาตรฐานการบินจากทางกรมการบินพลเรือนยุโรป (EASA) ซึ่งเข้าตรวจสอบที่ THAI ตามหลัง FAA เข้ามา ซึ่งคาดว่าผลการคำตัดสินของ EASA น่าจะมีทิศทางเดียวกับสหรัฐฯ หากพิจารณาแนวทางปฏิบัติที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม EASA มีความยืดหยุ่นมากกว่าของสหรัฐ เพราะแม้ ประเทศไม่ผ่านมาตรฐาน EASA ก็ยังสามารถยกเว้นให้เป็นรายสายการบินได้ (ดังเช่นที่เคยเกิดในประเทศอินโดฯ ซึ่งมีสายการบินการูด้า สายการบินแห่งชาติที่ได้รับการยกเว้น) ซึ่งทั้ง THAI และ BA เชื่อว่ามีโอกาสสูงที่จะได้รับยกเว้น เพราะถือครองมาตรฐานความปลอดภัย IOSA ที่ได้จากสมาคมสายการบินระหว่างประเทศ หรือ IATA แต่ในกรณีเลวร้าย หากไม่ได้รับยกเว้น THAI และ BA จะกระทบในส่วนความเชื่อมั่นจากผู้ที่จะมาใช้บริการ โดย BA ลดลงจากกลุ่มที่จะบินต่อเนื่องจากการทำ Code Share มาจากสายการบินอื่น และอาจต้องแบกรับต้นทุนค่าธรรมเนียมให้กับช่องทางจัดจำหน่าย ในกรณีที่ถูกสายการบินพันธมิตรปรับลดระดับความร่วมมือเป็น Interline ภาพรวมแล้ว ระยะสั้นจึงให้หลีกเลี่ยงลงทุน THAI และ BA ไปก่อน
ส่วน AOT(FV@B365) จะกระทบต่อ Sentiment และศักยภาพการเติบโตระยะยาว เพราะสายการบินต่างๆ จะเผชิญข้อจำกัดในการขยายเส้นทางบิน ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยกำหนดสมมติฐานการเติบโตเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารแต่ละปีอย่างอนุรักษ์นิยมอยู่แล้วที่เฉลี่ยราว 8%-9% ต่อปีเท่านั้น ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงจาก Sentiment ลบน่าจะเป็นโอกาสสะสม เช่นเดียวกับ AAV([email protected]) เพราะไม่ได้มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับสหรัฐอยู่แล้ว ขณะที่การถูกห้ามบินในญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่งผลกระทบต่อบริษัทในกลุ่มเดียวกัน อย่างสายการบินไทย แอร์ เอเชีย เอ๊กซ์ ซึ่ง AAV ไม่ได้มีการถือหุ้นใดๆในสายการบินดังกล่าว
กลยุทธ์ระยะสั้นให้ลงทุนในหุ้นที่มีผลบวกของฤดูกาล อาหาร/ร.พ./โรงกลั่น
ดังที่กล่าวไปแล้ววานนี้ถึงแนวโน้มตลาดหุ้นยังน่าจะให้ผลตอบแทนเป็นบวกในเดือน ธ.ค. (สถิติในอดีตย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2548-2557 ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1.48% ด้วยความน่าจะเป็น 70%) แม้จะถูกกดดันจากปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว/การเมืองภายในประเทศ และ ปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะล่าสุด กรมการบินพลเรือนของสหรัฐ (FAA) ได้ระงับการเพิ่มเที่ยวบินของไทย ดังกล่าวข้างต้น และหากพิจารณาในระดับกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่ามี 12 กลุ่มฯ ที่สามารถสร้างผลตอบแทนชนะตลาดได้ โดยกลุ่มฯ ที่ให้ผลตอบแทนด้วยความน่าจะเป็นสูงสุด (80% เท่ากัน) 4 อันดับแรกคือ อิเล็กทรอนิกส์, ค้าปลีก, อาหาร และการแพทย์ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4.98% 3.73% 3.04% 2.68% ตามลำดับ (รายละเอียดดังภาพ) (อ่านรายละเอียด Market Talk วานนี้)
จากการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ ASPS พบว่าหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในเดือน ธ.ค. สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากแนวโน้มผลประกอบการงวด 4Q58 ที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากงวด 3Q58 (ออกมาผิดหวัง และทำให้นักนักวิเคราะห์ ASPS มีการปรับลดประมาณการกำไรปี 2558 ลงเป็นรอบที่ 4) และบางกลุ่มอาจจะน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 1Q59 รายละเอียดคือ
ธุรกิจโรงกลั่น และปิโตรเคมี สำหรับธุรกิจโรงกลั่น คาดว่าตั้งแต่งวด 4Q58 ต่อเนื่องต้นปี 2559 จะเข้าสู่ฤดูกาล กล่าวคือ มีความต้องการใช้พลังงานเพื่อทำความร้อน ทำให้ค่าการกลั่นจะทำสถิติสูงสุดของปี สะท้อนได้จากค่าการกลั่นล่าสุด ขยับขึ้นจาก 9 เหรียญฯ ต่อ บาร์เรลในสัปดาห์ก่อนหน้า ขึ้นมาเป็น 10 เหรียญฯ ในสัปดาห์นี้ ประกอบการคาดว่ากำลังการผลิตโรงกลั่นใหม่ ๆ จะออกมาสู่ตลาดในปี 2559 น้อยกว่าในปี 2558 เพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ตกต่ำส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นในทวีปเอเชียแปซิฟิค และตะวันออกกลาง ซึ่งแต่เดิมมีแผนที่จะก่อสร้างโรงกลั่นใหม่แล้วเสร็จในปี 2559 ได้เลื่อนการผลิตเชิงพาณิชย์ออกไปเป็นปี 2560 แทน รวมถึงโรงกลั่นที่ไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิตทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่องในปี 2559 หลักๆเป็นโรงกลั่นในประเทศจีนและญี่ปุ่น (ทำให้ค่าการกลั่น ปี 2559 ยังคงอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงปีนี้ที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 7.61 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล)
ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอีกธุรกิจหนึ่ง ที่โรงกลั่น มีการต่อยอดไปทำธุรกิจปิโตรเคมี เช่น TOP (ทำปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ คิดเป็น 11% ของรายได้) ส่วน PTTGC (ทำปิโตรเคมีสายอะโรเมติกและโอเลฟินส์ ซึ่งคิดเป็น 12% และ 33% ของรายได้ ตามลำดับ) และ IRPC (ปิโตรเคมีสายอะโรเมติกและโอเลฟินส์ คิดเป็น 10% และ 14.5%ของรายได้ ตามลำดับ) ล่าสุดพบว่า Spread ของปิโตรเคมีมีแนวโน้มทรงตัว และน่าจะต่อเนื่องปี 2559 โดยคาดว่า Spread ของ Px-Naptha, Bz-Naptha (สายอะโรเมติกส์)และ HDPE-Naptha (สายโอเลฟินส์) ในปี 2559 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 354, 206 และ 700 เหรียญฯต่อตัน ตามลำดับ โดยรวมนับว่าส่งผลดีต่อหุ้นโรงกลั่นและปิโตรเคมี โดยหุ้นที่นักวิเคราะห์ ASPS ชื่นชอบมากสุดคือ IRPC (FV@ B5.9) ด้วยจุดเด่นที่โครงการ UHV ใกล้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ จะช่วยยกฐานกำไรปกติจากเดิมเฉลี่ย 1-2 พันล้านบาท ขึ้นเป็น 6-7 พันล้านบาท ในปี 2559 หรือเติบโตกว่า 39%yoy ขณะที่มี Expected P/E ต่ำสุดราว 9 เท่า และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มในภูมิภาคที่ราว 12.5 เท่า ในปี 2559 รองลงมาคือ BCP([email protected]) โดยมี upside สูงถึง 22.3%
กลุ่มโรงพยาบาล แนวโน้มผลการดำเนินงานงวด 4Q58 มีแนวโน้มอ่อนตัวจากงวด 3Q58 หลังผ่านพ้นช่วงฤดูกาล อย่างไรก็ตาม คาดกำไรงวด 4Q58 ของ CHG มีแนวโน้มเติบโตจากงวด 3Q58 เพราะงวด 3Q58 มีการปรับปรุงการตั้งสำรองรายได้โครงการประกันสังคมลดลงมีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ม.ค. 58 ตามประกาศของสำนักงานประกันสังคม ณ วันที่ 1 ก.ย. 59 ให้ใช้ค่าความรุนแรงของโรคที่ RW1 เท่ากับ 1 หมื่นบาท แทนเดิมที่ 1.15 หมื่นบาท และส่วนเหลือจะมีการพิจารณาจ่ายอีกครั้งหลังปิดงบสิ้นปีของโครงการประกันสังคม ขณะที่ผลประกอบการของ BH ในงวด 4Q58 มีแนวโน้มลดลงจากงวด 3Q58 เพียงเล็กน้อย เพราะงวด 3Q58 ได้รับผลกระทบจากผู้ป่วยชาติรายหนึ่งติดเชื้อโรค “MERS” กระทบต่อจำนวนผู้ป่วยในงวด 3Q58 ที่อ่อนตัวลงราว 1 เดือนแม้ในงวด 3Q58 เป็นช่วงฤดูกาลสูงสุดของ BH ส่วนรพ.อื่น ๆ ทั้ง BDMS และ BCH กำไรสุทธิ 4Q58 มีแนวโน้มอ่อนตัวจากงวด 3Q58 ตามฤดูกาลเช่นกัน ทั้งนี้ผลบวกของช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวสูงสุดในงวด 1Q59 จะบวกต่อ BDMS มากสุด เพราะมีสาขากระจายทั่วประเทศตามแหล่งท่องเที่ยวจะทำให้กำไรสุทธิของ BDMS ในงวด 1Q59 เพิ่มขึ้นจากงวด 4Q58 อย่างมีนัยสำคัญเพียงรพ.เดียว ขณะที่คาดกำไรสุทธิของ BDMS ปี 2558 มีการเติบโตต่ำกว่ารพ. อื่น เพราะรพ.ใหม่ 10 แห่งจาก 14 แห่ง ยังขาดทุน ทั้งนี้ในปี 2559 คาดกำไรสุทธิของ BDMS จะกลับมาเติบโตราว 11% เนื่องจากรพ.ใหม่คาดว่าจะมีขาดทุนเหลือ 7-8 แห่งเท่านั้น โดยคาดว่าในปี 2561 กำไรสุทธิของ BDMS จะกลับมาเติบโตโดดเด่นสุดในกลุ่ม เพราะรพ.ใหม่ทุกแห่งมีกำไรแล้ว บวกกับการปรับปรุง รพ. เดิม 8 แห่ง ให้เป็น International Hub เพื่อรองรับการเติบโตของผู้ป่วยต่างชาติ โดยรพ.ดังกล่าวตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ใกล้ประเทศเพื่อนบ้านหรือแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ฝ่ายวิจัยจึงเลือก BDMS([email protected]) เป็น Top Pick กลุ่ม โดยเป็นหุ้นกลุ่มรพ.ที่มี upside สูงสุดในกลุ่มที่ 11%
ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นในภูมิภาค แต่ยังขายหุ้นไทยอยู่
วานนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 366 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) โดยเป็นการซื้อสุทธิทั้งหมด 3 ประเทศ คือ ไต้หวันที่ถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 269 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) รองลงมาคือ เกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิราว 113 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ที่ถูกซื้อสุทธิราว 13 ล้านเหรียญ ส่วนที่เหลืออีก 2 ประเทศต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ อินโดนีเซียที่ถูกขายสุทธิราว 19 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) และไทยต่างชาติยังคงขายสุทธิราว 10 ล้านเหรียญ หรือ 371 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 โดยมียอดขายสุทธิสะสมรวม 5.6 พันล้านบาท) ต่างกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 165 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 12,617 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 9,564 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทล่าสุดทรงตัวอยู่ที่ 35.78 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์