- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 04 July 2014 14:06
- Hits: 2605
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาด SET เคลื่อนไหวตามผลประกอบการงวด 2Q57 โดยเฉพาะหุ้นขนาดกลาง-เล็ก วันนี้เลือก TTCL([email protected]) หลังผ่อนคลายเรื่องการเพิ่มทุน และ IVL(FV@B40) ปรับ Fair Value ขึ้น 33% จากเดิม สะท้อนโอกาสการเติบโตในอนาคต และเลือกเป็น Top picks
การว่างงานสหรัฐต่ำกว่าคาด หนุน Sentiment ช่วงสั้น
สหรัฐ ตลาดแรงงานสหรัฐยังคงฟื้นตัวกว่าตลาดคาด โดยล่าสุด การจ้างงานนอกภาคการเกษตร เดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 288,000 ตำแหน่ง มากกว่าตลาดคาด 73,000 ตำแหน่ง (และมากกว่าเดือนก่อนหน้า 64,000 ตำแหน่ง) แม้จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด 28 มิ.ย. นี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2,000 ราย สูงกว่าที่คาดเล็กน้อย 1,000 ราย ซึ่งสอดคล้องกับการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ที่รายงานไปก่อนหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้น 281,000 ตำแหน่ง จึงหนุนให้อัตราการว่างงาน ลดลงสู่ระดับ 6.1% เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ซึ่งกำลังจะเข้าใกล้ 5-5.5% ซึ่งเป็นระดับปกติและก่อนจะเกิดวิกฤติซับไพร์ม
ด้วยเหตุนี้จึงคาดว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญต่อภาคการบริโภค (70% ของ GDP) รวมถึงภาคการผลิตอุตสาหกรรม ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะช่วยทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงที่เหลือดีขึ้นกว่างวด 1Q57 ที่ขยายตัวเพียง 1.5%
ทั้งนี้ จากการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ ของบลูมเบิร์ก คาดว่า GDP Growth ในงวด 2Q57 จะขยายตัว 1.8%yoy (งวด 2H57 จะต้องขยายตัว ได้ไม่ต่ำกว่าไตรมาสละ 2.6% หากอิงตามประมาณการ World Bank คาดไว้ที่ 2.1%yoy) แม้จะสามารถช่วยหนุนตลาดหุ้นสหรัฐให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะสั้น แต่อย่างไรก็ตามตลาดอาจต้องกลับมาวิตกเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง โดยคาดว่าจะเกิดช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 หลังตัดลด QE หมดแล้ว และหากเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น ก็น่ากลับมากดดันตลาดหุ้นสหรัฐ ได้อีกครั้ง
ยุโรป ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) วานนี้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.15% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ระดับ -0.1% เนื่องจากต้องการประเมินผลกระทบหลังจากที่ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวลงเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา และ ECB ยังคงมุ่งเน้นไปที่ปริมาณการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ ภายใต้โปรแกรม TLTROs ธนาคารพาณิชย์จะมีวงเงินการกู้ยืมเงินราว 1 พันล้านยูโร (1.36 พันล้านเหรียญฯ) ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และคาดว่าจะหนุนเงินเฟ้อให้ฟื้นตัวหลังจากอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1% มานานถึง 9 เดือน และล่าสุดเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 0.5% ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% อย่างไรก็ตามคาดว่ามาตรการกระตุ้นการปล่อยกู้โดยใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำของ ECB น่าจะช่วยหนุนเศรษฐกิจของยูโรโซนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจจะไม่ได้เห็นผลอย่างรวดเร็วเหมือนการใช้นโยบาย QE ดังเช่นในสหรัฐ อังกฤษ หรือญี่ปุ่น
ไทย ล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ 75.1 และสูงสุดในรอบ 8 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หลังปัญหาการเมืองสิ้นสุดลง และหวังว่าจะเห็นเศรษฐกิจไทย (GDP Growth) มีการฟื้นตัวแบบ V-Shape ในช่วง 2H57 โดยว่าน่าจะเติบโตราว 2.9% ในงวด 3Q57 และ 4.8% ในงวด 4Q57 ภายใต้สมมติฐานงวด 2Q57 GDP Growth เริ่มฟื้นตัว 0.6% หลังหดตัว 0.6% ในงวด 1Q57 โดย GDP Growth ทั้งปี 2557 อยู่ที่ 2% (โดย ASP) ซึ่งคาดว่าน่าจะสะท้อนในตลาดหุ้นที่ระดับใกล้ 1,500 จุด ซึ่งมี Expected P/E 15 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่แนะนำให้เลือกขายทำกำไรหุ้นรายตัว
ต่างชาติยังคงซื้อไทย แต่เริ่มลดลงเช่นเดียวกับภูมิภาค
วานนี้ แม้ว่ากระแสเงินทุนจากต่างชาติยังคงไหลเข้าภูมิภาค โดยที่เป็นการซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 9 แต่ยอดซื้อกลับลดลงถึง 75% เหลือราว 166 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น และยอดซื้อสุทธิส่วนใหญ่มาจากเกาหลีใต้ที่ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6 ราว 167 ล้านเหรียญฯ ลดลง 46% ขณะที่ประเทศที่เหลือ เป็นการซื้อสลับขายสุทธิเบาบาง กล่าวคือ ไทยซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4 ราว 14 ล้านเหรียญฯ (446 ล้านบาท, ลดลง 29% จากวันก่อนหน้า) และ ไต้หวันซื้อสุทธิเป็นวันที่ 10 แต่ลดลงถึง 97% จากวันก่อนหน้า เหลือเพียงราว 8 ล้านเหรียญฯ สวนทางกับ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่สลับขายสุทธิออกมาราว 17 และ 5 ล้านเหรียญฯ ตามลำดับ
กระแสเงินทุนยังคงไหลเข้าภูมิภาค และ ชะลอการซื้อประเทศในกลุ่ม TIP ซึ่งได้สลับขายออกมา เว้นเพียงแต่ไทยที่ถูกเข้าซื้อเบาบาง ต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 รวม 5.4 พันล้านบาท หลังจากที่ถูกเทขายต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือน พ.ค. รวมกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ของไทย นักลงทุนต่างชาติยังคงเข้าซื้อต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ราว 4.2 พันล้านบาท รวม 6 วัน ซื้อสุทธิ 3.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งน่าจะช่วยหนุนค่าเงินบาทไทยให้ยังคงแข็งค่าที่ระดับ 32.40 บาทต่อไป
IVL ออก warrants รองรับการเติบโตอนาคต
ล่าสุด IVL ได้เตรียมระดมทุนเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ผ่านการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม 2 ชุด คือ IVL-W1 และ IVL-W2 ซึ่งมีอายุ 3 ปี และ 4 ปี และราคาใช้สิทธิ ที่ 36 และ 43 บาทต่อหุ้น ซึ่งขณะนี้ราคาใช้สิทธิยังสูงกว่าราคาตลาด จึงคาดว่าจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการลดลงของกำไรในระยะสั้น ทั้งนี้คาดว่าจะได้รับเงินเพิ่มทุนจากการแปลงสภาพในอนาคตคืออีก 1-2 ปีข้างหน้า เมื่อราคาตลาดขึ้นใกล้ราคาใช้สิทธิ โดยจะนำเงินที่ได้ไปลงทุนก่อสร้างโรงงานเอทิลีนแครกเกอร์ กำลังการผลิต 1.5 ล้านตันต่อปี และโรงงาน MEG กำลังการผลิต 7.5 แสนตันต่อปี ในประเทศสหรัฐอเมริกา มูลค่าโครงการอยู่ราว 3.4 พันล้านเหรียญฯ หรือ กว่า 1 แสนล้านบาท (IVL จะถือหุ้นสัดส่วน 50%) ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินทุนจากภายในกิจการทั้งหมด (ปัจจุบันมีเงินสดภายในกิจการ 2 พันล้านเหรียญฯ และที่เหลือจะมาจากการแปลงสภาพ warrant ดังกล่าวข้างต้น)
ขณะที่โครงการใหม่ดังกล่าวคาดว่าจะสร้างรายได้ตั้งแต่ปี ซึ่งคาดว่าผลกำไรจากโครงการใหม่จะสามารถหักล้างกับ Dilution Effect ที่จะเกิดขึ้นจากการออก IVL-W1 และ IVL-W2 ที่ 15% ในระยะ 3-4 ปี ได้ ด้วยแผนการลงทุนที่มีความชัดเจน และจะสร้างแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับขึ้นเป็นผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สาย PET ที่ครบวงจรรายใหญ่ของโลก ทำให้ฝ่ายวิจัยได้ปรับเพิ่มสมมติฐานอัตราการเติบโตในระยะยาว (Long term growth rate) เป็น 4% จาก 1% และปรับเพิ่มไปใช้มูลค่าพื้นฐาน ณ สิ้นปี 2558 (DCF) เท่ากับ 40 บาทต่อหุ้น (จาก 30 บาท) โดยยังคงคำแนะนำ “ซื้อ”
ปรับคำแนะนำ TTCL เป็นซื้อ ผ่อนคลายกังวลเพิ่มทุน
ฝ่ายวิจัยมีมุมมองในเชิงบวกต่อ TTCL พร้อมปรับเพิ่มคำแนะนำเป็นซื้อ เนื่องจากราคาหุ้น TTCL ได้ปรับตัวลงตลอดช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จากความกังวลว่า TTCL อาจมีการเพิ่มทุนอีกรอบเพื่อลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้ามูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท (บริษัทย่อยคือ TTPHD ซึ่ง TTCL ถือหุ้น 70%) แต่จากการสอบถามแนวทางการจัดหาเงินจากผู้บริหาร พบความชัดเจนว่า TTCL ไม่จำเป็นต้องมีการเพิ่มทุนอีก โดยแหล่งเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการจะมาจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินของญี่ปุ่นเป็นหลักเกือบ 2 พันล้านเหรียญฯ (ราว 6.6 หมื่นล้านบาท) ขณะที่ในส่วนของทุนนั้น จะมาจากการนำบริษัทลูกคือ TTPHD ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ปีหน้า ซึ่ง TTCL จะลดสัดส่วนการถือหุ้นใน TTPHD ลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 70% เหลือ 50% โดยไม่เพิ่มทุนอีก สำหรับแนวโน้มกำไรของ TTCL เชื่อว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2558 หลังธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ TTCL เข้าไปร่วมลงทุนเริ่มสร้างผลตอบแทนคืนกลับมา โดยคาดว่าสัดส่วนกำไรจากธุรกิจโรงไฟฟ้าจะเพิ่มเป็น 35% ของกำไรทั้งหมดที่ทำได้ จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนไม่ถึง 5% ขณะที่ราคาตลาดยังมี upside 17.7% จาก Fair Value 42.68 บาท
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล