- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 25 November 2015 17:40
- Hits: 934
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ดัชนี ผันผวนสูงจากปัญหาภายนอก แต่วันนี้อาจได้แรงหนุนจากหุ้น Global (PTT) เนื่องจากราคาน้ำมันฟื้นตัว กลยุทธ์ยังผสมหุ้น Domestic & Global โดยเฉพาะหุ้นปันผลเด่น (ASK, SCC, EASTW) เลือก ASK ([email protected]) yield 7% และ ADVANC(FV@B280) yield 6.2% เป็น Top picks
ดัชนี ชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังชะลอตัว จะมีผลให้ชะลอขึ้นดอกเบี้ยฯ
ดัชนี เศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง แม้ล่าสุด รายงาน GDP Growth งวด 3Q58 ที่มีการทบทวนเป็นครั้งที่ 2 ใกล้เคียงกับตลาดคาด คืออยู่ที่ 2.1% qoq (annualized หรือเพิ่มขึ้นเท่ากับ 2.2%YoY จากเดิม 2% yoy ในครั้งก่อนหน้า) แต่จากการรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจล่าสุด บ่งบอกถึงภาวะชะลอตัวอีกครั้ง กล่าวคือ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย. หดตัวลงที่ 90.4 เทียบกับเดือน ต.ค.ซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.1 (เป็นการหดตัวติดต่อกัน 3 เดือน) สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต เดือน พ.ย. อยู่ที่ 52.6 ต่ำสุดในรอบ 25 เดือน (หลังจากฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 54.1 ในเดือนก่อนหน้า) และ ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ต.ค. อยู่ที่ระดับ 5.36 ล้านหลัง ต่ำกว่าที่ตลาดคาด 5.4 ล้านหลัง หรือลดลง 3.4% mom ปรับตัวลดลงหลังจากกระเตื้องขึ้นในเดือนก่อน (ต.ค. 5.55 ล้านหลัง) ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อในฝั่งผู้บริโภคล่าสุด ที่ 0.2% yoy ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย 2% มาก ซึ่งทำให้ ASPS เชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้ มีโอกาสน้อย และน่าจะเลื่อนออกไปเป็นต้นปี 2559 จึงต้องติดตามผลการประชุมในวันที่ 15-16 ธ.ค. จะเป็นไปตามที่ตลาดส่วนใหญ่คาดหรือไม่
ทั้งนี้ สะท้อนให้เห็นได้จากค่าเงินสกุลดอลลาร์ที่มีแนวโน้มทรงตัว หลังจากที่แข็งค่าต่อเนื่องมานานราว 6% ในรอบ 1 เดือน (DXYO ยังเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับ 100) และสอดคล้องกับค่าเงินยูโรป และเงินเยน ที่เริ่มทรงตัวถึงแข็งค่าเล็กน้อย โดยล่าสุดค่าเงินยูโรสามารถทรงตัวที่ 1.06 เหรียญฯต่อยูโร หลังจากอ่อนค่ามาราว 7% ในช่วงเดียวกัน เช่นเดียวกับเงินเยนที่เริ่มกลับมาแข็งค่าเล็กน้อย หลังจากที่อ่อนค่ามาราว 3% ในช่วงเดียวกัน และเช่นเดียวกับค่าเงินของบางสกุลของประเทศกำลังพัฒนา พบว่ากลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และนำหน้าเพื่อนๆ ในกลุ่ม โดยเฉพาะ เงินรูเปียะห์ พบว่ากลับแข็งค่าราว 7% นับจากช่วงต้นเดือน พ.ย. จนถึงกลาง พ.ย. (จากที่อ่อนค่ามากเกือบ 30% ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา) และเริ่มแกว่งตัวในกรอบ 13800-13600 รูเปียะห์ ต่อดอลลาร์ ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ตามมาด้วยเงินริงกิตแข็งค่า 4.1% นับจากที่แข็งค่าสูงสุด 4.39 ริงกิตต่อดอลลาร์ เมื่อ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา และเงินบาทที่กลับมาทรงตัวในกรอบ 36-35.5 ล่าสุด 35.7 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากทำสถิติสูงสุดที่เกือบ 35.99 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามสถานการณ์ค่าเงินเอเชีย คาดว่ายังคงมีลักษณะทรงตัวถึงอ่อนค่า หากในปี 2559 สหรัฐจะเริ่มมีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างจริงจัง ซึ่งน่าจะเป็นผลบวกต่อหุ้นส่งออกของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มอาหาร ได้แก่ TU(FV@B23), CPF(FV@B28) ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ KCE(FV@B80), DELTA(FV@B84), HANA(FV@B37) และ ชิ้นส่วนรถยนต์ SAT([email protected]) ซึ่งปัจจุบันมีค่า Expected P/E 9 เท่าในปี 2559 จาก 10.6 เท่าในปี 2558 เป็นต้น
จีนอาจจะสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลกอีกครั้ง
ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังคงไม่สนองตอบต่อมาตรการกระตุ้นทั้งนโยบายการเงินและการคลังที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการตัดลดอัตราดอกเบี้ย 6 ครั้งในปีนี้ และการเร่งการใช้จ่าย สะท้อนได้จากดัชนี PMI ภาคการผลิต และภาคบริการที่อยู่ในภาวะชะลอตัวทั้งคู่ ส่งผลให้บรรดาธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก ต่างทยอยปิดกิจการไปในช่วงเดือนที่ผ่านมา ปัญหายังคงเป็นเรื่องเดิมคือการผลิตส่วนเกิน หรือ overcapacity ของภาคการผลิต รวมทั้งภาคก่อสร้างอสังหาฯ ขณะที่ฝั่ง demand ในประเทศยังซบเซา ทำให้นักวิเคราะห์จีน ต่าง แสดงความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนยังไม่ถึงจุดต่ำสุด เนื่องจากดัชนีชี้วัดต่างๆ ยังคงหักหัวลง อาทิ ดัชนี Minxin PMI ซึ่งวัดจากบริษัทขนาดเล็กกว่า 4000 บริษัท ปรับลดลงตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ดัชนี Baidu SME Index วัดภาคผลิตและบริการของผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็ก ก็ยังคงลดลง เช่นเดียวกับ MNI Business Sentiment Index ที่ใช้วัดความเชื่อมั่นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้หรือเสิ่นเจิ้น ทำระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ปัจจัยลบที่เกิดขึ้น แม้แต่นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ยังออกมายอมรับว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้อาจพลาดเป้าเป็นปีที่ 2 ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลก อีกรอบ
ส่งออก-นำเข้า เดือน ต.ค. ย่ำแย่กว่าคาด แต่ตลาดน่าจะรับรู้ไปแล้ว
ผลบวกที่เกิดขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐนับจากปลาย ก.ย. ที่ผ่านมา ได้ส่งสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตามลำดับ โดยหลังจากมีการรายงาน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือน ต.ค. พบว่ามีปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ล่าสุดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. พบว่า เพิ่มขึ้น 2.3% มาที่ 84.7 และ เพิ่มขึ้นติดต่อเป็นเดือนที่ 2 แต่อย่างไรก็ตามการค้าระหว่างประเทศยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง โดยล่าสุด ยอดส่งออก (รูปดอลลาร์) เดือน ต.ค. มีมูลค่า 18,566 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 8.11 %YoY แม้ย่ำแย่กว่าที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว 7.7%YoY แต่เป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นดือนที่ 10 (ตามภาวะเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งปัจจัยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวลง ) เช่นเดียวกับการนำเข้ามีมูลค่า 16,465 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 18.21 %YoY ย่ำแย่กว่าตลาดว่าหดตัว 17%YoY ทำให้ดุลการค้าสามารถเกินดุล 2,101 ล้านดอลลาร์ และเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เดือน โดยรวม 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. - ต.ค.58) พบว่า ยอดส่งออก และนำเข้า ติดลบ 5.32 % และติดลบ 11.27% ตามลำดับ ซึ่งหดตัวแรงกว่าที่ ASPS ประเมินไว้ทั้งปี 2558 (ยอดส่งออก และนำเข้า ในรูปดอลลาร์ ปี 2558 คาดติดลบ 3.5% และติดลบ 5.43%) แต่อย่างไรก็ตามคาดว่า ความเสี่ยงต่อการปรับลดประมาณการลงมีน้อย เนื่องจากตลอดปี 2558 ASPS ประเมิน GDP growth ไว้ที่ 2.7% ขณะที่ 9เดือนแรกของปีนี้เติบโตแล้ว 2.9% ปีนี้จึงน่าจบที่สูงกว่า ASPS คาดเล็กน้อย
ราคาน้ำมันฟื้นตัวสั้นๆ แต่ค่าการกลั่นยังสูง 9 เหรียญฯ ดีต่อ IRPC, PTT
วานนี้ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้น 1.29 เหรียญฯ แม้ยังคงมีแรงกดดันจากปัญหา Oversupply แต่จากเหตุการณ์ความขัดแย้งในซีเรียมีท่าทีลุกลาม ล่าสุดวานนี้ตุรกีได้ยิงเครื่องบินรบของรัสเซียที่มีเป้าหมายในการเข้าโจมตีกลุ่มไอซิสในซีเรีย (อ้างเหตุว่ารุกล้ำน่านฟ้า) คาดกดดันราคาน้ำมันในระยะสั้น เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่รายหนึ่งของโลก ในกลุ่ม Non-OPEC โดยกำลังการผลิตปัจจุบันคิดเป็นราว 13.28% ของปริมาณการผลิตน้ำมันของโลก ล่าสุดน้ำมันตลาดล่วงหน้า Brent ปิดที่ 46.12 เหรียญฯต่อบาร์เรล ปรับตัวขึ้นราว 3% จากวันก่อน เช่นเดียวกัน ดูไบล่าสุดปิดที่ 40.70 เหรียญฯต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.72% ซึ่งการที่น้ำมันปรับตัวขึ้น จะเป็น Sentiment ทางบวกในระยะสั้น หนุนหุ้นในกลุ่มพลังงานคือ PTT(FV@B360) ณ ราคาปัจจุบันมี Upside 33.83% และ PTTEP (FV@B94) Upside 28.11%
แต่อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดูไบ ยังคงทรงตัวที่ระดับ 40 เหรียญฯต่อบาร์เรล ยังคงหนุนค่ากลั่นที่สิงคโปร์ได้ ขยับขึ้นจาก 6 เหรียญ ฯ ต่อ บาร์เรล เมื่อกลางเดือน ต.ค. ขึ้นมาแตะ 9.3 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในสัปดาห์นี้ และคาดว่าจะยังคงดีต่อเนื่องถึงช่วง 1H58 เนื่องจากได้อานิสงค์จากช่วงฤดูกาลที่จะเข้าสู่ฤดูหนาว และเชื่อว่าการเพิ่มขึ้นของกำลังการกลั่น ของโรงกลั่นใหม่ๆ ที่จะเข้ามาสู่ตลาดจะไม่มากนัก เช่นเดียวกับธุรกิจปิโตเคมีที่คาดว่าจะได้รับอานิสงค์จากช่วงฤดูกาล โดยรวมจึงยังคงชื่นชอบหุ้นโรงกลั่นและปิโตรเคมีคือ IRPC ([email protected]) เนื่องจากแนวโน้มกำไรปกติในปี 2559 เติบโตโดดเด่นที่สุดในกลุ่ม(39.2% yoy) และ ณ ราคาปัจจุบันมี upside ราว 39.02%
ต่างชาติกลับมาขายหุ้นทั้งภูมิภาค แต่ขายหุ้นไทยน้อยสุด
วานนี้ ความกังวลต่อเหตุการณ์อันไม่สงบในตะวันออกกลาง ส่งผลให้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกตกหนักรวมถึงตลาดหุ้นในเอเชีย ขณะเดียวกัน ต่างชาติได้สลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 225 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิทั้ง 5 ประเทศ นำโดยเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 143 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) รองลงมาคือ ไต้หวันที่ถูกขายสุทธิราว 39 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) ตามมาด้วยอินโดนีเซียถูกขายสุทธิราว 24 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) และตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 14 ล้านเหรียญ ส่วนไทยต่างชาติขายสุทธิน้อยสุดในภูมิภาคราว 6 ล้านเหรียญ หรือ 200 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 2 วัน) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 416 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 11,305 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 4,893 ล้านบาท ในส่วนของค่าเงินบาทล่าสุดทรงตัวอยู่ที่ 35.80 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์