- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 24 November 2015 16:36
- Hits: 1138
บล.ฟินันเซีย ไซรัส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
แม้ SET แกว่งตัวผันผวนให้เห็น แต่คาดว่ายังลุ้นบวกต่อได้...
กลยุทธ์ : ถึงแม้ว่า SET ยังมีจังหวะแกว่งตัวผันผวนช่วงบวกให้เห็น แต่คาดว่ากรอบลบจำกัด และยังมีสิทธิขยับบวกต่อ เพื่อลุ้นขึ้นหาระดับดัชนีพื้นฐานปีนี้ที่ 1450 จุดได้ตามคาด ดังนั้นเรายังแนะนำให้เน้นถือเพื่อรอขายทำกำไรตามเป้าหมายได้เช่นเดิม
หุ้นเด่นทางเทคนิค : MCS, FORTH, GFPT(buy back)
แนวโน้ม : เมื่อวานนี้ SET ยังแกว่งด้านบวกเป็นหลัก แต่ก็มีจังหวะแกว่งผันผวนและย้อนลงบ้างจากแรงขายทำกำไร ขณะที่เช้านี้แม้ว่าจะยังมีแรงกดดันจากการที่ตลาดหุ้นสหรัฐเมื่อคืนนี้ย้อนปิดเป็นลบอีกครั้ง หลังมีข่าวการควบรวมของบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ของสหรัฐ กับบริษัทยาในไอร์แลนด์ด้วยมูลค่าค่อนข้างสูง ประกอบกับตัวเลขยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐเดือน ต.ค. ก็ร่วงลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ด้วย แต่ตลาดหุ้นในเอเชียส่วนใหญ่ที่เปิดเป็นลบตามก็ไม่ได้ลงรุนแรงมากนัก ทำให้ FSS คาดว่ากรอบลบของ SET น่าจะยังมีอยู่จำกัด และยังลุ้นแรงซื้อกลับเข้ามาช่วยหนุนให้ดัชนีกลับไปแกว่งบวกต่อได้ตามคาดเดิม จากแรงซื้อเก็งกำไรเกี่ยวกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และความคาดหวังเชิงบวกว่า ECB อาจจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมทั้งแรงซื้อจากกองทุน LTF/RMF ในช่วงท้ายปี อย่างไรก็ตามตลาดยังมีสิทธิแกว่งตัวผันผวนต่อเนื่อง โดยคาดว่านักลงทุนยังรอจับตาดูตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของ GDP สหรัฐไตรมาส 3/58 รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ในคืนวันนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจอีกครั้ง
แนวรับ 1392-1390 , 1387-1385 จุด
แนวต้าน 1397-1400 , 1402-1410 จุด
Fund Flow วานนี้กระแสเงินทุนไหลเข้าภูมิภาค US$15ล้าน นำโดยไต้หวัน US$84.7ล้าน ตามด้วยไทย US$23.5ล้าน และเวียดนาม US$5ล้าน ขณะที่ไหลออกเกาหลีใต้ US$77.5ล้าน และฟิลิปปินส์ US$18.9ล้าน แนวโน้มกระแสเงินทุนมีทิศทางไหลออกแต่น่าจะชะลอตัวลง เนื่องจากตลาดเริ่มซึมซับเรื่องดอกเบี้ยของ Fed และหันความสนใจไปที่ตัวเลขเศรษฐกิจโลกซึ่งส่วนใหญ่ยังชะลอตัว
ข่าว/หุ้นเด่นมีประเด็น
(+) ราคาทองคำลงใกล้จุดที่น่าซื้อลุ้นเด้ง แม้ทิศทางยังไม่กลับเป็นขาขึ้น แต่เราคาดว่าประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ซึ่งกดดันราคาทองคำตลอดทั้งปีซึมซับไปในราคาหมดแล้ว และมีข้อสังเกตที่บ่งชี้ว่าราคาลงใกล้เด้ง คือ (1) โครงสร้างตลาดทองคำ 3Q15 พลิกเป็นอุปสงค์ส่วนเกิน (2) กองทุนต่างๆชะลอการลดสถานะ Long ใน COMEX Gold Futures และ SPDR เริ่มหยุดขาย (3) ค่า Premium/Discount ของอินเดียและจีนเริ่มเป็นบวก และ (4) ปัจจัยทางเทคนิคมีลุ้นดีดกลับตามพฤติกรรมในอดีต จึงแนะนำซื้อเก็งกำไรระยะสั้นในทองคำแท่งหรือ Long Gold Futures โดยคาดหวังจุดทำกำไรที่ $1,110-1,120/Oz และจุดตัดขาดทุนที่ $1,050/Oz
(-) Dollar Index กระชากขึ้นแตะ 100 จุด จากแรงหนุนทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ FED และความเชื่อมั่นในยูโรโซนที่อ่อนแอลง เป็นลบกับราคาโภคภัณฑ์และกระแสเงิน แต่สำหรับบ้านเราจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตัวเลขส่งออก ต.ค. 15 ที่คาดจะเผยในสัปดาห์นี้ ตลาดคาดหดตัว 6.9% Y-Y ทำให้ SET ต้นสัปดาห์แกว่งแคบเพื่อรอดูความชัดเจน
(-) กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (ยกเว้น KTB) รายงานสินเชื่อเดือนต.ค. แทบไม่มีการเคลื่อนไหวและเพิ่มขึ้นเพียง 1.86% YTD (ราว 1.7 แสนลบ.) ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ดีนักหากเทียบกับปกติที่ทุกไตรมาส 4 จะเป็นฤดูกาลที่ดีของสินเชื่อ TMB มีสินเชื่อที่เติบโตดีที่สุดในเดือนนี้ที่ 0.8% M-M ตามด้วย TISCO ที่โต 0.38% M-M ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบเกือบ 1 ปีโดยส่วนใหญ่มาจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ ขณะที่ TCAP และ KKP แสดงการหดตัวของสินเชื่อมากที่สุดที่ 0.63% M-M และ 0.22% M-M ตามลำดับ สะท้อนยอดขายรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้น แนวโน้มผลกำไร 4Q15 ของกลุ่มธนาคารคาดว่าจะยังไม่น่าฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้าแม้จะไม่มีค่าใช้จ่ายสำรองฯ SSI เหมือนใน 3Q15 ก็ตาม รวมถึงในไตรมาสสุดท้ายธนาคารจะมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานสูงตามฤดูกาล และคาดว่าธนาคารจะพิจารณาตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มและมากกว่าระดับปกติอีกครั้งเพื่อเพิ่มระดับความแข็งแกร่งของ Coverage ratio อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่าภาพรวมของกลุ่มธนาคารน่าจะเริ่มดีขึ้นในปี 2016 ทั้งบรรยากาศเชิงบวกของภาคการลงทุนภาครัฐที่สดใสขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อการลงทุนในภาคเอกชนด้วย เราให้น้ำหนักการลงทุน Neutral และเลือก KBANK เป็น Top Pick ส่วนกลุ่มหุ้นกลุ่มธนาคารขนาดกลาง-เล็ก เราเลือก TMB และ TCAP
(0) ASP แนวโน้มกำไร 4Q15 จะฟื้นตัวขึ้น 37% Q-Q จากมูลค่าการซื้อขายและส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้น รวมถึงงาน IB ที่คึกคักที่สุดในปี อย่างไรก็ตามเราปรับลดกำไรสุทธิปี 2015 ลงเหลือ 552 ลบ. หดตัว 33% Y-Y โดยคาด Dividend Yield งวด 2H15 อีกราว 3.3% ส่วนปี 2016 คาดว่ากำไรจะกลับมาเติบโตได้ 11% Y-Y จากมูลค่าการซื้อขายที่คาดว่าจะดีขึ้นและรายได้จากเงินลงทุนที่สดใส เราปรับใช้ราคาเหมาะสมปี 2016 ที่ 3.50 บาท แม้ว่าราคาล่าสุดจะไม่มี Upside แต่เราคาดว่าการกระจายฐานรายได้และแนวโน้มการซื้อกิจการเพิ่มเติมซึ่งคาดว่าจะอยู่ในธุรกิจการจัดการลงทุนจะทำให้ ASP ต่างจากธุรกิจหลักทรัพย์อื่น ขณะที่ Dividend Yield คาดว่ายังอยู่ในระดับมากกว่า 6% ต่อปี จึงแนะนำถือ
(0) ตลาดหุ้นสหรัฐฯเมื่อคืนที่ผ่านมาปิดลบเล็กน้อยจากราคาน้ำมันที่ผันผวน รวมถึงนักลงทุนจับตาดูตัวเลข GDP 3Q15 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคคืนนี้
(0) ส่วนตลาดหุ้นยุโรปเมื่อคืนปิดในแดนลบเช่นกันโดยได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่แกว่งตัวผันผวน
(0) ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้ปรับตัวผสม โดยภาวะตลาดหุ้นภูมิภาคอื่นที่ไม่ค่อยสดใสนักจากความผันผวนของราคาน้ำมันดิบเป็นปัจจัยกดดันบรรยากาศการลงทุน
(0) ค่าเงินบาทยังคงแกว่งตัวออกข้างเป็นหลัก ล่าสุดเคลื่อนไหวในกรอบ 35.80-35.90 บาท/ดอลลาร์
ราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ส่งมอบเดือน ม.ค. ปิดที่ 41.75 ดอลลาร์/บาร์เรล ขยับลง 0.15 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากพุ่งขึ้นราว 1% ในช่วงก่อนหน้าหลังซาอุดิอาระเบียให้คำมั่นว่าพร้อมจะร่วมมือกับกลุ่ม OPEC เพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดน้ำมันโลก
ราคาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค. ปิดที่ 1,066.80 ดอลลาร์/ออนซ์ ลดลง 9.50 ดอลลาร์/ออนซ์ จากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า หลังประธาน FED สาขาซานฟรานซิสโกกล่าวว่าเป็นไปได้อย่างมากที่ FED จะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
24-พ.ย. - สหรัฐ: 3Q15 GDP, ดัชนีราคาบ้าน S&P/CaseShiller (ก.ย.)
25 พ.ย. - อินเดีย: ตลาดหุ้นปิดทำการ
- สหรัฐ: คำสั่งซื้อสินค้าคงทน, การใช้จ่ายส่วนบุคคล (ต.ค.)
26-พ.ย. - ฟิลิปปินส์: 3Q15 GDP
- สหรัฐ: ตลาดการเงินปิดทำการ วัน Thanksgiving
27-พ.ย. - ไทย : ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ต.ค.)
- ญี่ปุ่น: เงินเฟ้อ, อัตราการว่างงาน (ต.ค.)
- ยูโรโซน: ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (พ.ย.)
30-พ.ย. - ไทย: ส่งออก, ดุลการค้า, ดัชนีความเชื่อมันทางธุรกิจ (ต.ค.)
- ญี่ปุ่น: ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม, ยอดค้าปลีก (ต.ค.)
- สหรัฐฯ: ยอดขายบ้านรอปิดการขาย, ยอดค้าปลีก (ต.ค.)
1-ธ.ค. - จีน: PMI ภาคการผลิต (พ.ย.)
- ยูโรโซน: PMI ภาคการผลิต, อัตราว่างงาน (พ.ย.)
- สหรัฐฯ: ISM ภาคการผลิต (พ.ย.)
Contact person : Somchai Anektaweepon Register : 002265
Tel: 02-646-9967, 02-646-9852 www.fnsyrus.com
FB: Finansia Syrus Research, IG: finansiasyrusresearch