- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 12 November 2015 16:06
- Hits: 821
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ผลการประมูล 4G ต้นทุนสูงกว่าคาด มีแนวโน้มปรับลดน้ำหนักกลุ่ม ICT เป็นน้อยกว่าตลาด ขณะที่ผลกำไรงวด 3Q58 ต่ำกว่าคาด น่าจะสะท้อนในราคาตลาดแล้ว ให้น้ำหนักต่องบ 4Q58 ที่คาดว่าจะฟื้นตัว กลยุทธ์ยังเน้นรายหุ้น PLANB(FV@B8), ASK(FV@B23), MAKRO(FV@B47) และ EASTW([email protected]) โดยเลือก KSL(FV@B6) เป็น Top pick
ต้นทุนประมูล 4G แพงเกินไป ปรับลดน้ำหนักเป็นน้อยกว่าตลาด
ตั้งแต่เมื่อวานนี้จนถึงเช้าวันนี้ เวลา 7.26 น. ในระหว่างที่เขียน Market Talk การประมูลคลื่น 4G ใบอนุญาต 1,800 Mhz ยังไม่มีผลสรุปว่าใครคือผู้ชนะ แต่ได้มีการเปิดเผยราคาที่มีการเปิดเผยขณะนี้มี 2 ราคา คือ 34,618 และ 35,016 หมื่นล้านบาท จะเห็นราคาประมูลขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงกว่าประมาณการไว้เพียง 2 หมื่นล้านบาทต้นๆ ไว้ (ตอนประมูล 3G ไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาท) ทั้งนี้น่าจะเป็นผลมาจากมีผู้เข้าแข่งขันประมูล 4 ราย แต่มีใบอนุญาตเพียง 2 ใบ จึงทำให้มีการแข่งขันกันรุนแรง ทั้งนี้ เพราะปัจจุบัน ADVANC เป็นเพียงผู้ประกอบการมือถือเพียงรายเดียวที่ยังไม่มีการให้บริการคลื่นความถี่ 4G จึงสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในระยะสั้น ๆ ขณะที่ TRUE และ DTAC ให้บริการ 4G แล้ว แต่ด้วยการใช้คลื่นความถี่ 2100 MHz แต่ไม่มากคือราว 10 MHz และ 5 MHz ตามลำดับ ซึ่งนับว่ายังต่ำกว่าระดับสากลที่ต้องการคลื่นความถี่ระดับ 15 MHz จึงจะทำให้การให้บริการมีประสิทธิภาพยังไม่เต็มที่ การได้คลื่นความถี่เพิ่มจะช่วยต่อยอดธุรกิจทั้ง 2 ราย และทำให้สามารถเบียด ADVANC ลงได้บ้าง ทั้งนี้ ภายใต้จุดแข็งของ ADVANC มีฐานะการเงินแข็งแกร่งสุดใน 3 ราย จึงคาดว่าจะเป็น 1 ในผู้ชนะประมูลใบอนุญาตแน่นอน
เนื่องจากต้นทุนค่าประมูลที่สูงกว่าคาดมาก แต่ค่าอนุญาตสามารถให้ตัดจำหน่ายได้ระยะเวลานาน 18 ปี จึงเท่ากับว่าต้นทุนค่าใบอนุญาตจะเพิ่มขึ้นปีละ 1.94 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งยังไม่รวมเงินลงทุนในอุปกรณ์ และโครงข่ายอีกราว 2 หมื่นล้านบาทสำหรับ ADVANC ราว 1.5 หมืนล้านบาท สำหรับ DTAC และ 1 หมื่นล้านบาท สำหรับ TRUE ซึ่งต้นทุนส่วนนี้ สามารถตัดจ่ายได้ 7 ปี หรือจะทำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายมีต้นทุน ส่วนเพิ่มจากใบอนุญาตอีกรายละ 2.5 พันล้านบาทต่อปี 1.88 พันล้านบาทต่อปี และ 1.43 พันล้านบาทต่อปี ตามลำดับ หรือโดยรวมแต่ละราวจะมีต้นทุนในการให้บริการ 4G เพิ่มขึ้นในการจัดทำงบกำไรขาดทุนต่อปี รายละ 4.2 พันล้านบาทต่อปี 3.575 พันล้านบาทต่อปี และ 3.129 พันล้านบาทต่อปี ตามลำดับ
ในเบื้องต้นคาดว่าจะต้องปรับลดประมาณการกำไรของทั้ง 3 บริษัทลงราวปีละ 10%, 60% และ 73% จากประมาณการเดิม สำหรับ ADVANC,DTAC และ TRUE ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณี DTAC กับ TRUE จะมีเพียงรายใดรายหนึ่งเท่านั้นที่จะได้ใบอนุญาต 4Gคลื่น 1800 MHz ภายใต้สมมติฐานว่าทุกราย จะต้องพยายามหารายได้มาชดเชย ซึ่งในที่สุดน่าจะทำให้รายได้ค่าบริการเฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) มีแนวโน้มทรงตัวตลอดอายุใบอนุญาต จากปัจจุบันที่มีแนวโน้มลดลงตลอดหลายปีที่มีการให้บริการ 3G
ประเด็นนี้คาดว่ากดดันให้กำไรกลุ่มสื่อสารในปี 2559 ลดลงจากปีนี้ จึงมีแนวโน้มปรับลดน้ำหนักลงทุนเป็น น้อยกว่าตลาด จากปัจจุบันที่ให้ เท่าตลาด ภายหลังเสร็จสิ้นการประมูล ทั้งนี้ ในส่วนของ Top Pick ยังชื่นชอบ ADVANC(FV@B285) ซึ่งคาดว่ากำไรปี 2559 ยังสามารถเติบโตได้ราว 5-10% จากอานิสงส์การหยุดรับรู้ค่าตัดจำหน่ายอุปกรณ์สัมปทาน 2G 9 พันล้านบาทในปีหน้า ซึ่งเข้ามาช่วยชดเชยภาระลงทุน
ตลาดตอบรับกำไรงวด 3Q58 ย่ำแย่ และมองข้าม 4Q58
นับตั้งแต่เข้าสู่ช่วงการรายงานผลประกอบการงวด 3Q58 จากกลางเดือน ต.ค. จนถึงช่วงเย็นวานนี้ (11 พ.ย.) มีบริษัทจดทะเบียนรายงานงบแล้วกว่า 157 บริษัท หรือราว 26% ของบริษัทจดทะเบียนใน SET ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ต่ำกว่านักวิเคราะห์ ASPS คาด โดยเฉพาะ กลุ่มพลังงานในเบื้องต้นลดลง 18%yoy หลัก ๆ มาจากผลขาดทุน PTTEP ราว 4.6 หมื่นล้านบาท และ PTT คาดว่าจะขาดทุนราว 2.9 หมื่นล้านบาท (ถือ PTTEP 65.3%) ตามมาด้วยกลุ่ม ธ.พ. กำไรลดลง 22%yoy (จากการตั้งสำรองหนี้ของ SCB, KTB และ TISCO) และกลุ่มอื่น ๆ เช่น THAI ขาดทุนกว่า 9.9 พันล้านบาท และที่คาดว่าจะออกมาย่ำแย่คือ SSI ซึ่งน่าจะขาดทุนจากการดำเนินงานและการด้อยค่าเงินลงทุนใน SSI-UK รวมกว่า 1-3 หมื่นล้านบาท
ด้วยเหตุนี้คาดกำไรตลาดใน 3Q58 น่าจะทำได้เพียง 1 แสนล้านบาท เทียบกับงวด 1H58 ทำได้เฉลี่ยเกินกว่าไตรมาสละ 2 แสนล้านบาท (รวม 2 ไตรมาสราว 4.41 แสนล้านบาท) และทำให้จะต้องปรับลดกำไรตลาดปี 2558 ลงอีกรอบ โดยมาจาก
กลุ่มพลังงาน (-57% หลักๆ จาก PTT, PTTEP)
ประกันฯ (23% จาก BLA)
รับเหมาฯ (-13% หลักๆ มาจาก STEC, STPI)
และธนาคารพาณิชย์ (-7% หลักๆ จาก SCB, KTB, TISCO)
ที่เหลือปรับลดเล็กน้อย (วัสดุก่อสร้าง -2% หลักทรัพย์ 2%)
ตรงข้ามที่ปรับขึ้น คือ เกษตร (13%) อสังหาฯ (5%) และสื่อ-บันเทิง (3%)
ส่วนปี 2559 กลุ่มที่มีการปรับประมาณการลง คือ ประกันฯ (-14%) ธนาคารพาณิชย์ (-4%) รับเหมาฯ (-4%) หลักทรัพย์ (-2%) ตรงข้ามกลุ่มที่ปรับประมาณการขึ้น คือ เกษตร (59%) ยานยนต์ (8%) อสังหาฯ (6%) และสื่อ-บันเทิง (5%)
ในเบื้องต้นคาดว่า กำไรตลาดปี 2558 จะทรงตัวจากปี 2557 แต่จะกลับมาเติบโต 30.5% ในปี 2559 โดยการหนุนของกลุ่มพลังงาน จะเติบโต 189%, ขนส่ง (+66%), รับเหมาฯ (+24%), ค้าปลีก (+19%), ปิโตรฯ (+17%) และ ธ.พ. (+16%) ส่งผลให้กำไรตลาดปี 2558 จะลดลงจากประมาณการเดิม 13.5% มาอยู่ที่ 77.49 บาทต่อหุ้น ส่วนปี 2559 ลดลงเพียงเล็กน้อยเหลือ 101.11 บาทต่อหุ้น
ในการกำหนดดัชนีเป้าหมายระยะ 12 เดือนข้างหน้า จะอิงประมาณการกำไรตลาดใหม่ในปี 2559 และ อิง Expected P/E ที่ 16 เท่า ทำให้ได้ดัชนีเป้าหมายใหม่อยู่ที่ราว 1,615 จุด อย่างไรก็ตามจะต้องรอการรายงานงบครบทั้งหมดภายในสัปดาห์หน้าและจะนำเสนอดัชนีเป้าหมายใหม่อีกครั้ง
จีนตลาดน่าจะตอบรับกำไรตลาดงวด 3Q58 ย่ำแย่
วานนี้จีนมีการรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ยังมีความขัดแย้งกัน โดยเฉพาะภาคการผลิต พบว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 กล่าวคือ เดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 5.6%YoY ต่ำกว่าที่ตลาดคาด 5.8% (เป็นการเพิ่มในอัตราลดลงต่อเนื่องเป็นเดือน 4) และเช่นเดียวกับการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เพิ่มขึ้น 10.2% ใกล้เคียงกับตลาดคาด แต่เป็นการเพิ่มในอัตราลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เดือน ซึ่งตรงข้ามกับฝั่งการบริโภคที่มีสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจาก ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. เพิ่มขึ้นที่ระดับ 11 %YoY สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ 10.9% (เพิ่มขึ้นในอัตราเพิ่มต่อเนื่องกัน 4 เดือน) อย่างไรก็ตามภาคส่งออก เดือน ต.ค. หดตัว 6.9% (สกุลดอลลาร์) หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 รวมทั้ง ตัวเลขการนำเข้าหดตัว 18.8% เนื่องจากราคาสินค้านำเข้าโดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมัน ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับอุปสงค์ภายในประเทศยังคงอ่อนตัว ทำให้เกินดุลการค้าสูงขึ้นอยู่ที่ 6.46 หมื่นล้านดอลลาร์ หนุนให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 11.39 พันล้านดอลลาร์
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของจีน เดือน ต.ค. อยู่ที่ 1.3%YoY (ลดลง 3 เดือนติดต่อกัน) เป็นการตอกย้ำการชะลอตัวเศรษฐกิจจีนมากขึ้น ทำให้มีโอกาสที่ธนาคาร กลางจีน (PBOC) จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยและการลดเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง แม้ว่าจะได้ทำการลดดอกเบี้ยไปแล้ว 6 ครั้งนับตั้งแต่ปลายปี 2557 รวม 1.65% และปรับลด RRR 4 ครั้งรวม 2.5% คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศ ดังเช่น สหรัฐอเมริกา โดยในการประชุมของ Fed ในวันที่ 15 - 16 ธ.ค. ซึ่งตลาดมองว่ามีโอกาสที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น หลังจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจส่งสัญญานที่ดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดแรงงาน แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยยังมองว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ เนื่องจาก อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0% ซึ่งยังห่างไกลเป้าหมายที่ 2% อีกมาก และหากพิจารณาการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ในอดีตพบว่าอัตราเงินเฟ้อมักอยู่ในระดับสูง จึงเชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยฯ น่าจะเกิดขึ้นในต้นปี 2559
ขณะที่อังกฤษคาดว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน โดยน่าจะรอสหรัฐจะนำร่องไปก่อน เนื่องจากอังกฤษ เผชิญกับอัตราเงินเฟ้อติดลบ แม้ว่า ล่าสุด มีการรายงานภาคแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจาก อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย.ลดลงสู่ระดับ 5.3 % ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ 5.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี
ต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 4
วานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 619 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 โดยมียอดขายสุทธิสะสมรวม 1.7 พันล้านเหรียญ) และเป็นการขายสุทธิทั้ง 5 ประเทศ นำโดยไต้หวันถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 379 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) รองลงมาคือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 153 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) ตามมาด้วยอินโดนีเซียถูกขายสุทธิราว 45 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 22 ล้านเหรียญ สุดท้ายคือ ไทยต่างชาติยังคงขายสุทธิราว 30 ล้านเหรียญ หรือ 1,074 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 353 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1,142 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 5,076 ล้านบาท ในส่วนของค่าเงินบาทล่าสุดทรงตัวอยู่ที่ 35.82 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์