WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASP copyบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
      วันนี้ SET อาจเผชิญแนวต้าน 1,425-1,430 จุด มีแรงกดดันจากการประมูล 4G อาจล่าช้า (อ่าน Equity Talk วันนี้) และตลาดสหรัฐอาจเข้าสู่โหมดปรับฐานหลังให้ผลตอบแทน 12% ใน 1 เดือนเศษ ยังเน้นถือหุ้นน้ำมัน PTTEP(FV@B90) และหุ้นที่มีกำไรเด่นใน 2H58 วันนี้เลือก EASTW(FV@B14) เป็น Top pick การเติบโตเด่นกว่า TTW และมีเงินปันผลสูง

การใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำยังคงจำเป็นทั่วโลก
     ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวานนี้สรุปว่ายังยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% เช่นเดิม และคาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจนถึงการประชุมครั้งถัดไป คือ 16 ธ.ค. 2558 แม้อัตราเงินเฟ้อยังติดลบ โดยล่าสุด เดือน ต.ค. -0.77%yoy (ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10) แต่เนื่องจากรัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกระดับ น่าจะช่วยหนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวใน งวด 4Q58 และปี 2559 เป็นต้นไป ประเด็นเรื่องการยืนดอกเบี้ยจึงให้น้ำหนักน้อย
    ขณะที่ อังกฤษ คาดว่าการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะทราบผลในตอนเย็นของวันนี้ (ตามเวลาประเทศไทย) ซึ่งเชื่อว่ายังคงดอกเบี้ยฯ ที่ 0.5% ตามเดิม (คงระดับนี้ติดต่อกันตั้งแต่ มี.ค. 2552 ) และน่าจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วสุดในต้นปีหน้า สอดคล้องกับความเห็นของทางสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอังกฤษ ที่ประเมินว่า BOE จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วสุด ในเดือน ก.พ. ปี 2559 (คาดอัตราเงินเฟ้ออังกฤษใน 2559 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.1% และปี 2560 อยู่ที่ 1.8% แต่อย่างไรก็ตามยังคงต่ำกว่าเป้าหมาย ที่ 2 %) การขึ้นดอกเบี้ยของอังกฤษได้ล่าช้าในลักษณะเดียวกับ สหรัฐ ที่คาดว่า FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในต้นปี 2559 โดยคาดว่าการประชุม FOMC รอบถัดไป 15-16 ธ.ค. ก็ยังไม่น่าจะขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ แม้ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐมีสัญญานการฟื้นตัว แต่ระยะสั้นเริ่มมีความขัดแย้งกันบ้าง เช่น ยอดสั่งซื้อสินค้าจากโรงงาน เดือน ก.ย. ลดลง 1% จากเดือน ส.ค. (เป็นการหดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 2 ) ตามด้วย การจ้างงานภาคเอกชนเดือน ต.ค. อยู่ที่ 1.82 แสนราย เทียบกับ 2 แสนราย เดือน ก.ย. สวนทางกับ ดัชนี PMI ภาคบริการ เพิ่มขึ้น 54.8 ดีขึ้นจาก 54.4 เดือน ก.ย. ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อติดลบ น่าจะทำให้ FED ต้องใช้ความระมัดระวังในการขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ FED ในอดีตพบว่าดัชนีเศรษฐกิจล้วนมีความแตกต่างกับภาวะการปัจจุบัน กล่าวคือ การขึ้นดอกเบี้ยฯ ในช่วง มิ.ย. 2547 - มิ.ย. 2549 รวม 17 ครั้ง จาก 1% เป็น 5.25% นั้นเพราะเศรษฐกิจสหรัฐมีฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ( GDP Growth 1.6% งวด 1Q46 2% งวด 2Q46, 3.2% งวด 3Q46, 4.4% งวด 4Q46, 4.4% งวด 1Q47, 4.2% งวด 2Q47, 3.4% งวด 3Q57 3.1% งวด 4Q47) และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจาก 3.3% เป็น 4.3%

ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นกว่า 12% สะท้อนการยืดเวลาขึ้นดอกเบี้ยฯ แล้ว
     เนื่องจากตลาดผ่อนคลาย การขึ้นดอกเบี้ยฯ ที่เลื่อนออกไป มีส่วนสำคัญทำให้ ตลาดหุ้นสหรัฐฟื้นตัวต่อเนื่องเฉลี่ยราว 12% ตลอดช่วง 1 เดือนเศษที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปลาย ก.ย. – ปัจจุบัน) และทำให้เกิดการปรับฐาน โดย S&P500 ปัจจุบันอยู่ที่ 2,109 จุด กำลังทดสอบ 2,130 หรือเหลือ upside เพียง 1% ขณะที่ DJIA ปัจจุบันอยู่ที่ 17,918 จุด กำลังทดสอบ 18,300 หรือเหลือ upside เพียง 2% และ NASDAQ ปัจจุบันอยู่ที่ 5,145 จุด กำลังทดสอบ 5,218 หรือเหลือ upside เพียง 1.3% หลังจากนี้น่าจะเริ่มเห็นตลาดหุ้นเหล่านี้ปรับฐานอีกรอบหนึ่ง ประกอบกับคำให้สัมภาษณ์ของ นางเบลเลนฯ ประธาน FED ระบุว่า ในการประชุมของ FOMC รอบถัดไปมีโอกาสขึ้นมีโอกาสดอกเบี้ยนโยบายฯ ได้ ซึ่งกลับมาเป็นปัจจัยกดดันตลาดอีกครั้ง
      ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรป โดยส่วนใหญ่ก็กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยได้ปัจจัยหนุนจากความคาดหวังในการเพิ่มมาตรการ QE ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังจากวานนี้ นายมาริโอ ดรากี ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่เยอรมัน เน้นย้ำว่า ECB พร้อมที่จะใช้นโยบายสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนต่อไปเพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำให้เข้าใกล้ระดับ 2%ทั้งนี้ แม้ดรากี จะไม่ได้ระบุถึงเม็ดเงินว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าใดจาก 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนในปัจจุบัน แต่เชื่อได้ว่าน่าจะมีการขยายเวลาการใช้มาตรการ QE ให้นานกว่าเดือน ก.ย. 2559 แน่นอน จึงถือเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นภูมิภาคยุโรป แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาแต่ละตลาด จะมี Upside แตกต่างกัน โดยตลาดหุ้นฝรั่งเศสน่าจะมีแนวต้านบริเวณ 5,200 จุด (ปัจจุบันอยู่ที่ 4,948 จุด) มี upside ราว 4.6% ตลาดหุ้นอังกฤษ (ปัจจุบันอยู่ที่ 6,412 จุด) แนวต้านบริเวณ 6,800 จุด upside 5.7% และตลาดหุ้นเยอรมัน (ปัจจุบันอยู่ที่ 10,845 จุด) มีแนวต้านบริเวณ 12,000 จุด upside ราว 9.8% เป็นต้น
      ส่วนตลาดหุ้นจีนมีการฟื้นตัวอย่างมากวานนี้ คาดว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่ดีขึ้น กล่าวคือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Caixin) ภาคบริการเดือนต.ค. เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52 สูงกว่าเดือน ก.ย. อยู่ที่ระดับ 50.5 (หรือเพิ่มราว 3%) ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคการผลิต เดือน ต.ค. ที่กระเตื้องขึ้นเล็กน้อย (49.8 เทียบกับ 49.ปป ในเดือน ก่อนหน้า) แม้ว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ก็ตาม ช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง ปรับตัวขึ้นแรงราว 4.3% และ 2.15% จากวันก่อนหน้า แต่ ณ ระดับนี้ถือว่าตลาดหุ้นจีนอยู่ในระดับต่ำมาก และยังหากจากจุดสูงสุดเดิมที่ 5166 จุด ที่ทำไว้เมื่อ 12 เดือน พ.ค. 2558 (เทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน ที่ปรับตัวขึ้นในอัตราที่น้อยกว่า เช่น อินโดนีเซีย +1.75%, ไต้หวัน +1.65%, ไทย 0.76%, มาเลเซีย 0.34% บางประเทศติดลบเช่น ฟิลิปปินส์ -0.13% และ เวียดนาม – 0.2% เป็นต้น) สต๊อกน้ำมันดิบสอดคล้องตลาด ขณะที่สต๊อกน้ำมันสำเร็จรูปลดลง: PTTEP, PTT
     วานนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ สิ้นสุด 30 ต.ค. เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 6 ราว 2.85 ล้านบาร์เรล แต่สอดคล้องกับตลาดคาด (ส่งผลให้สต็อกน้ำมันดิบอยู่ที่ 482.8 ล้านบาร์เรล) ทั้งนี้เป็นผลจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐที่เพิ่มขึ้น 48,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ เท่ากับ 9.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ว่าการนำเข้าน้ำมันดิบจะลดลง 89,000 บาร์เรลต่อวัน เหลือ 6.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2534 ผนวกกับยังคงอยู่ในช่วงโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุงประจำปี
ตรงกับข้ามกับสต็อกน้ำมันสำเร็จรูปที่ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ สต็อกน้ำมันกลั่น Heating Oil และน้ำมันดีเซล ลดลง 1.3 ล้าน บาร์เรล ( ติดต่อกัน 3 สัปดาห์) และ เช่นเดียวกับสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 3.3 ล้าน บาร์เรล(ติดต่อกัน 4 สัปดาห์) เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวในหลายทวีปทั่วโลก ส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ลดแรงกดดันจากสต็อกน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดน้ำมันตลาดล่วงหน้า Brent และ WTI อยู่ที่ 48.58 เหรียญฯ ต่อ บาร์เรล และ 46.47 เหรียญฯ ต่อ บาร์เรล อ่อนตัวลงจากวันก่อนหน้าที่ 50.54 เหรียญฯ และ 47.78 เหรียญฯ ตามลำดับ ตรงกันข้ามกับราคาน้ำมัน ดูไบปิดตลาดที่ 47.11 เหรียญฯ ต่อ บาร์เรล ปรับขึ้นจากวันก่อนหน้า 3.15% จึงยังเห็นแนวโน้มราคาน้ำมันแกว่งตัวในทิศทางบวก ซึ่งเป็นผลดีต่อ PTT(FV@360B) ซึ่งถือหุ้นใหญ่ใน PTTEP (65.29%) ซึ่งคาดน่าจะได้รับประโยชน์ในสถานการณ์ปัจจุบัน และ ณ ราคาตลาดมี upside 17.6% และ PTTEP(FV@90B) upside 17.26% ราคาหุ้นที่อ่อนตัวลงวันนี้น่าจะเป็นโอกาสสะสม

ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคทั้ง 5 ประเทศ
      วานนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 843 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) โดยเป็นการซื้อสุทธิทั้ง 5 ประเทศ นำโดยไต้หวันถูกซื้อสุทธิสูงสุดราว 725 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) รองลงมาคือ เกาหลีใต้ซื้อสุทธิราว 89 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ตามมาด้วยอินโดนีเซียซื้อสุทธิราว 20 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 5 วัน) และฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิราว 5 ล้านเหรียญ ส่วนไทยต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิราว 4 ล้านเหรียญ หรือ 158 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 6 วัน) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 1,863 ล้านบาท
     ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 13,451 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 718 ล้านบาท หนุนให้เงินบาทยังคงทรงตัวอยู่ที่ 35.53 บาท/ดอลลาร์

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!