- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 04 November 2015 18:15
- Hits: 930
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เชื่อว่า SET ยังแกว่งตัวขึ้นต่อ โดยการขับเคลื่อนของหุ้น commodity (น้ำมัน/น้ำตาล)รวมถึงรัฐยังคงเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะหนุน SET แตะ 1,415-1,420 จุด กลยุทธ์ยังเน้นถือหุ้นที่มีกำไรเด่นใน 2H58 (EASTW(FV@B14) และ SYNTEC([email protected])) วันนี้เลือก PTTEP(FV@B90) และ PLANB(FV@B8) ซึ่งเป็น Growth Stock เป็น Top picks
BOE ยังยืนดอกเบี้ยนโยบายต่ำ เช่นเดียวกับ FED
ดัชนี ชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐ ล่าสุดยังคงส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างล่าช้า กล่าวคือ ภาคการผลิต พบว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าจากโรงงาน เดือน ก.ย. อยู่ที่ -1% (เทียบกับตลาดคาด -0.9%) นับว่าเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งยังเป็นการตอกย้ำถึงโอกาสที่ FED จะเลื่อนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ฯ ไปเป็นปีหน้าเพิ่มมากขึ้น ( การประชุมครั้งสุดท้ายของ FED ปีนี้ คือ 15 -16 ธ.ค.) และ เช่นเดียวกับ ฝั่งของ อังกฤษ พบว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจล่าสุดในเดือน ต.ค. ยังแกว่งตัว สะท้อนจากการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคก่อสร้าง (มาร์กิต) เดือน ต.ค. อยู่ที่ 58.8 ใกล้เคียงกับตลาด แต่ลดลงจากเดือน ก.ย. ราว 1.87% ขณะที่ยังมีอุปสรรคเรื่องอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยล่าสุด เดือน ก.ย. ยังติดลบ 0.1% (ชะลอตัวติดต่อกัน 8 เดือน ) ทำให้คาดว่าการประชุม ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในวันพรุ่งนี้ 5 พ.ย. น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยฯ ที่ 0.5% ตามเดิม (คงระดับนี้ติดต่อกันตั้งแต่ มี.ค. 2552 ) ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ 47 คน โดย bloomberg สรุปว่าการประชุมรอบนี้ BOE จะยืนดอกเบี้ยฯ ที่เดิม
ส่วนไทย ช่วงบ่ายของวันนี้ (4 พ.ย.) คาดว่าผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ตามเดิม และคาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจนถึงการประชุมในรอบสุดท้ายของปีนี้ (16 ธ.ค.) แม้อัตราเงินเฟ้อยังติดลบ โดยล่าสุด เดือน ต.ค. -0.77%yoy (ติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10) ทำให้ผลตอบแทนสุทธิเป็นบวกกว่า 2% ก็ตาม แต่เนื่องจากรัฐได้ใช้มาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ ทุกระดับ ตั้งแต่รากหญ้า และ SMEs รวมถึงผลักดันโครงการลงทุนตามแผน น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวใน งวด 4Q58 และปี 2559 เป็นต้นไป
LTF ได้รับการต่ออายุ LTF อีก 3 ปี และขยายเวลาเป็น 7 ปี
ผลจากที่ ครม. อนุมัติให้ขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมระยะยาว (LTF/RMF) ในการนำมาหักลดหย่อนภาษีออกไปอีก 3 ปี เป็นปี 2562 จากเดิมที่จะครบกำหนดในปี 2559 พร้อมขยายเวลาการถือครองจากเดิม 5 ปีปฏิทิน เป็น 7 ปี ถือว่าเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นไทย เพราะหากพิจารณามูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันไทยนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) พบว่ามีส่วนแบ่งตลาดราว 9.38% ของมูลค่าซื้อขายรวมของแต่ละวัน แม้จะต่ำกว่าการซื้อขายของต่างชาติที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ราว 21.85% ก็ตาม (ส่วนรายย่อยสัดส่วน 59.67% และ พอร์ตโบรกเกอร์ 9.08% )
และหากพิจารณาเม็ดเงินลงทุนที่ซื้อผ่านกองทุนระยะยาว นับตั้งแต่มีการอนุญาตให้นำค่าซื้อกองทุนหุ้นระยะยาวมาหักลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ปี 2547 พบว่า มูลค่าซื้อได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ กล่าวคือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย (CAGR) 26.3% ต่อปี โดยล่าสุดในปี 2557 อยู่ที่ 5.63 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.6% จากปี 2556 ขณะที่ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มีเงินลงทุนแล้ว ราว 1.65 หมื่นล้านบาท และหากยังยึดตามสถิติเดิม คือยอดซื้อกองทุน ฯ มักจะกระจุกตัวอยู่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี (ราว 70% ของยอดซื้อแต่ละปี) คาดว่าปีนี้จะมีเม็ดเงินลงทุน LTF/RFM ปีนี้จะสูงราว 6.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 12.7% จากปี 2557 และเป็นที่สังเกตว่าเม็ดเงินจากกองทุนหุ้นระยะยาว คิดเป็น 26.3% ของกองทุนรวมทั้งหมด ดังนั้นการยืดอายุของการนำเงินค่าลดหย่อนภาษีดังกล่าว น่าจะมีส่วนช่วยประคับประคองตลาดหุ้นได้อย่างมาก และ น่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีต่อตลาดหุ้นไทย
ครม. ผลักดัน แผนกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง
วานนี้ ครม. เดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโดยนอกเหนือจากต่ออายุ LTF 3 ปี จากเดิมที่ครบกำหนดปี 2559 ถึงปี 2562 แล้ว ยังมีมติสำคัญ 2 เรื่อง ที่เกี่ยวเนื่องกับการขับเคลื่อนการลงทุนทั้งในภาครัฐบาล และเอกชน ได้แก่การลดทอนช่วงเวลาในการในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่รว่มทุนกับเอกชน (PPP Fast Track) และการให้สิทธิพิเศษสำหรับเอกชนที่เร่งลงทุน ซึ่งประเมินผลกระทบได้ดังนี้
กรณีการทำ PPP Fast Track : คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเสนอ ลดระยะเวลาในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างลง จากเดิมใช้เวลา 1 ปี 10 เดือน เหลือเพียง 9 เดือน ถือเป็นผลบวกโดยตรงต่อบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่เข้าร่วมประมูลงานโครงการภาครัฐ เชื่อว่าจากนี้ไปจะเห็นความคืบหน้ามากขึ้นเกี่ยวกับการเปิดประมูลโครงการต่างๆ หลังมีความชัดเจนทั้งเรืองการจัดหาแหล่งเงินทุน และการลดขั้นตอนการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนของหน่วยงานราชการ สำหรับการร่วมทุนกับภาคเอกชนแบบ PPP นั้นดูเหมือนจะเป็นช่องทางที่รัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยลดภาระเงินงบประมาณที่มีอยู่จำกัด และช่วยลดการกู้เงินมาลงทุนซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศสูงขึ้น โดยได้มีการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ค. 2558-2562 ซึ่งจะมีทั้งหมด 20 กิจการ จำนวน 66 โครงการ วงเงินรวม 1.57 ล้านล้านบาท เบื้องต้นวานนี้ได้อนุมัติออกมา 6 โครงการ มูลค่ารวม 3.47 แสนล้านบาท ฝ่ายวิจัยเห็นว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีเครือข่ายและฐานเงินทุนแข็งแรงอย่าง CK (FV@B 33) น่าจะมีความได้เปรียบเมื่อเทียบบริษัทรับเหมาฯรายอื่นๆ
กรณีการเร่งการลงทุนภาคเอกชน : สำหรับโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI อยู่แล้ว และลงทุน 70% ในช่วง ม.ค.57-มิ.ย. 59 ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มอีก 4 ปี, หากลงทุน 50% เพิ่ม 3 ปี กรณีลงทุนช่วง ก.ค.59 - 59 จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี 2 ปี และหากลงทุนในปี 2560 จะได้รับสิทธิทางภาษี 1 ปี แต่สิทธิประโยชน์รวมทั้งหมดต้องไม่เกิน 8 ปี สำหรับโครงการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI แต่มีการลงทุนในปีนี้และปีหน้า ทางกระทรวงการคลังจะให้นำเงินจ่ายลงทุนมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่หากเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับบัตรจาก BOI ให้เลือกว่าจะรับสิทธิประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องแจ้งความประสงค์ภายในสิ้นปีนี้ Incentives ทางภาษีของ BOI และกระทรวงการคลังที่ครอบคลุมทั้งโครงการที่ขอรับส่งเสริมจาก BOI และโครงการที่ไม่ได้รับขอส่งเสริม จะสามารถดึงดูดให้เกิดการลงทุนจริงของภาคเอกชนมากขึ้น เพราะในช่วงที่ผ่านมาแม้มูลค่าของกิจการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในช่วง 8M58 ที่ผ่านมาจะมีมูลค่า 4.1 แสนล้านบาท ฟื้นตัว 1.2 เท่า YoY แต่กลับพบว่าการลงทุนจริงยังเกิดขึ้นไม่ สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากประเด็นนี้คือกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมซึ่งมีแนวโน้มที่จะขายที่ดินใหม่ (Presales) ได้เพิ่มขึ้นหากการลงทุนของภาคเอกชนกลับมา อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยประเมินการฟื้นตัวอย่างเร็วที่สุดน่าจะเกิดขึ้นในปี 2559 ดังนั้นกว่าที่ยอด Presales ที่ฟื้นตัวจะสามารถรับรู้รายได้จากการโอนฯและสะท้อนเข้าไปในผลประกอบการอาจต้องรอถึงช่วงปลายปี 2559 หรือปี 2560 Top Pick ในกลุ่มได้แก่ WHA (FV@B 4.72)
หุ้นน้ำมันและน้ำตาล นำตลาด PTTEP, PTT, KSL
ราคาน้ำมันเริ่มกลับมาแกว่งตัวในทิศทางบวก จากปัจจัยปัญหา Oversupply เริ่มผ่อนคลาย เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ยังทรงตัวในระดับต่ำกว่าต้นทุน ทำให้ผู้ผลิตมีต้นทุนสูง (Shale oil และ Shale gas) เริ่มลดกำลังการผลิต ล่าสุดมีการรายงานการลดแท่นขุดเจาะในแคนนาดาลง โดยปี 2559 ระบุว่าจะลดลงเหลือ 5,150 หลุม จาก 5,340 หลุมในปีนี้ และเช่น เดียวกับสหรัฐ ที่แทนขุดเจาะลดลงจาก 594 เหลือ 578 หลุ่ม ทั้งนี้แม้ปัญหาด้านการปริมาณผลิตที่คาดว่ายังคงได้รับแรงกดดัน จากการที่อิหร่าน จะกลับมาผลิตอีก (หลังได้รับการยกเลิกการคว่ำบาตร) 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน(เดิม 2.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ซึ่งจะทำให้ Supply ปีนี้นี้อยู่ที่ 97 ล้านบาร์เรล (เดิม 96 ล้านบาร์เรล) ขณะที่ Demand ปีนี้คาดว่าจะอยุ่ที่ 94.5 ล้านบาร์เรล จะเห็นว่ามีปริมาณผลิตส่วนเกินความต้องการอยู่ ราว 2.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งหากปริมาณส่วนเกินไม่เพิ่มขึ้น จากที่ผู้ผลิตเริ่มลดกำลังการผลิตลงดังกล่าวข้างต้น ซึ่งทำให้เชื่อว่าประเด็นเหล่านี้ตลาดน่ารับรู้ไปแล้ว สะท้อนจากราคาน้ำมันดิบโลกผ่านระดับต่ำสุดไปแล้ว ล่าสุดน้ำมันดูไบ อยู่ที 45.67 เหรียญฯต่อบาร์เรล (ฟื้นจากจุดต่ำสุดที่ 42 เหรียญฯ) และราคาน้ำมันตลาดล่วงหน้า (Brent) แตะระดับ 50.54 เหรียญฯต่อบาร์เรลแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นผลดีต่อ PTTEP(FV@90B) ณ ราคาตลาดจะมี upside 19.6%และเช่นเดียวกับ PTT(FV@360B) ซึ่งถือหุ้นใหญ่ใน PTTEP (65.29%) น่าจะได้รับประโยชน์ในสถานการณ์ปัจจุบัน ราคาตลาด upside 21.95%
ราคาน้ำตาลดิบโลกล่าสุดขยับขึ้นมาอีก 2% อยู่ที่ 15.49 เซ็นต์/ปอนด์ ทำระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน สาเหตุหลักยังคงเป็นความกังวลเกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดความแห้งแล้งและมีแนวโน้มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่สุด 3 อันดับแรกของโลก (บราซิล อินเดียและสหภาพยุโรป) ออกสู่ตลาดต่ำกว่าที่คาดไว้ถึง 8 ล้านตัน ราคาน้ำตาลระดับดังกล่าวส่งผลดีต่อ KSL ([email protected]) (รายได้กว่า 70% มาจากธุรกิจน้ำตาล) เนื่องจากฝ่ายวิจัยกำหนดสมมติฐานราคาขายน้ำตาลเฉลี่ยปี 2558/59 (สิ้นสุด ต.ค. 2559) ไว้ที่ 14 เซ็นต์/ปอนด์ ยังต่ำกว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกปัจจุบัน 10.6% (เทียบกับปี 2557/2558 พ.ย. 2557-ต.ค. 2558 อยู่ที่ 13.3 เซนต์) จึงทำให้นักวิเคราะห์ ASPS มีโอกาสปรับเพิ่มประมาณการกำไร ปี 2558/59 โดยเบื้องต้นพบว่า หากราคาน้ำตาลดิบสูงกว่าสมมติฐานของ ASPS ทุก 1 เซ็นต์/ปอนด์ จะเพิ่มกำไรสุทธิของ KSL จากเดิม 5.8% และ Fair value 0.2% ตามลำดับ ตามรายละเอียดใน Equity Talk ซึ่งนักวิเคราะห์ ASPS จะนำเสนอรายละเอียดหลังจาก company visit ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้
ต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นในภูมิภาค แต่ยังคงขายหุ้นกลุ่ม TIP
วานนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 342 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) โดยเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ ไต้หวันซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 349 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) และเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิราว 19 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ส่วนที่เหลือเป็นขายทั้ง 3 ตลาด นำโดยอินโดนีเซียขายสุทธิราว 12 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) และฟิลิปปินส์สุทธิราว 5 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 2 วัน) ส่วนไทยขายสุทธิราว 9 ล้านเหรียญ หรือ 315 ล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกัน 6 วัน มียอดขายสุทธิสะสม 8.6 พันล้านบาท) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 211 ล้านบาท ส่วนตลาดตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 17,498 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 160 ล้านบาท
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์