- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 02 November 2015 18:05
- Hits: 1070
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แม้ยังขาดปัจจัยชี้นำ แต่ตราบที่การใช้มาตรการการเงินผ่อนคลายยังมีอยู่ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐยังเดินหน้า จะหนุน SET แกว่งตัวเชิงบวก ยังชื่นชอบหุ้นที่มีกำไรเด่นใน 2H58 EASTW(FV@B14) และ SYNTEC([email protected]) และเลือก CK([email protected]) เป็น Top pick และตามด้วย PLANB(FV@B8) ธุรกิจสดใส ถือเป็น Growth Stock
ทั่วโลกยังมีความจำเป็นในการใช้ดอกเบี้ยต่ำ
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา การรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังส่งสัญญาณการฟื้นตัว แม้อาจจะล่าช้าบ้างกล่าวคือ การบริโภคครัวเรือนเริ่มชะลอ ผ่านการรายงานรายได้ภาคครัวเรือน เดือน ก.ย. อยู่ที่ระดับ 0.1% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.3% และ รายจ่ายภาคครัวเรือน อยู่ที่ระดับ 0.1% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.4% เป็นการตอกย้ำว่าธนาคารกลางสหรัฐยังเลื่อนการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ฯ ไปเป็นปีหน้า
ส่วนญี่ปุ่น ผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการมีมติคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน (คงฐานเงิน Money Base ที่อัตราราว 80 ล้านล้านเยนต่อปี) โดย BOJ เชื่อว่า วงเงินที่ใช้อยู่เดิมเพียงพอที่จะกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2% ตามเป้าหมาย (ผิดคาดจากที่นักวิเคราะห์ 16 คนจากทั้งหมด 36 คน หรือราว 45% คาดว่าจะมีการขยายวงเงินในรอบนี้) ประเด็นนี้อาจจะไม่มีน้ำกดดันตลาดเท่าไรนัก และน่าจะให้ความสำคัญกับการประชุมในรอบถัดไป ในวันที่ 19 พ.ย. อีกครั้ง
และสุดท้ายสหภาพยุโรป รายงานดัชนีเศรษฐกิจ เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องแม้ไม่มากนัก กล่าวคืออัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. กลับมาอยู่ที่ 0% จากเดือนก่อนหน้าที่ติดลบ 0.1% (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานล่าสุด 1.0% เพิ่มขึ้นหลังจากคงที่ 0.9% ติดต่อกันกว่า 3 เดือน) ทิศทางเดียวกับอัตราการว่างงานรายงานออกมาดีกว่าคาดการณ์ ล่าสุดอยู่ที่ 10.8% จากเดือนก่อนที่ 11% (คงที่ 3 เดือนติดต่อกัน) เชื่อว่าปัจจัยหลักน่าจะมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน QE แต่อย่างไรก็ตามดัชนีเศรษฐกิจสำคัญๆ ยังคงยืนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมายมาก อาทิ อัตราเงินเฟ้อที่เป้าหมาย 2.0% จึงอาจทำให้ธนาคารกลาง (ECB) ขยายระยะเวลาในการทำ QE ออกไปจากเดิมกำหนดสิ้นสุดเดือน ก.ย. 2559 (ผลสำรวจคาดการณ์อาจขยายเป็นปลายเดือน ต.ค. 2559 ถึงกลางปี 2562) และอาจจะขยายวงเงินการเข้าซื้อจากเดือนละ 60 พันล้านยูโร เป็น 75 พันล้านยูโร หรือเพิ่มเม็ดเงินสุทธิตลอดโครงการ(เดิมกำหนดไว้ที่ 1.14 ล้านล้านยูโร) ในการประชุมเดือน ธ.ค. นี้ ซึ่งยังเป็นประเด็นที่หนุนตลาดหุ้นโดยรวมได้
คาด กนง. จะยืนดอกเบี้ยฯ ที่เดิม หวังมาตรการรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ
วันนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะรายงานอัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. ซึ่งตลาดคาดว่าจะติดลบลดลงเหลือ 0.94 %YoY (เดือนก่อนหน้าที่ ติดลบ 1.07%YoY) หลังจากที่ติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 เป็นการยืนยันถึงความจำเป็นในการใช้นโยบายทางการเงินต่อไป ซึ่งคงต้องติดตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท. ในวันที่ 4 พ.ย. นี้ ซึ่งฝ่ายวิจัยคาดว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 1.5% ตามเดิม และคาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจนถึงการประชุมในรอบสุดท้ายของปีนี้ 16 ธ.ค. โดยตลาดน่าจะให้น้ำหนักประเด็นนี้น้อย เพราะสิ่งที่คาดหวังน่าจะเป็นประเด็นของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังเดินหน้า
ทั้งนี้สัปดาห์นี้ ตลาดน่าจะยังให้น้ำหนักต่อความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กต์) จำนวน 20 โครงการ งบลงทุน 1.8 ล้านล้านบาท ที่กระทรวงคมนาคมได้มีการหารือกันเกี่ยวกับรายละเอียดและขั้นตอนตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว และเตรียมนำเสนอ ครม. ภายในสัปดาห์นี้ (คาดเป็นวันพรุ่งนี้) เพื่อให้นายกฯ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินงาน เช่น ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการภาครัฐ (PPP) การพิจารณาของคณะกรรมการบริษัท รวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และยังเป็น Sentiment บวกต่อกลุ่มรับเหมา โดยเฉพาะบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ (ITD, CK, STEC, UNIQ) น่าจะมีความพร้อมมากที่สุด เนื่องจากมีคุณสมบัติครบถ้วนที่เคยรับงานก่อสร้างขนาดใหญ่มาก่อน ทั้งยังได้เปรียบในเรื่องของฐานเงินทุนรวมทั้งเครือข่าย โดยฝ่ายวิจัยยังชื่นชอบ CK([email protected]) มากที่สุด เนื่องจากมีความโดดเด่นเหนือผู้รับเหมารายอื่นๆ ส่วนทางด้านผู้รับเหมารายเล็ก ยังชอบ SYNTEC([email protected]) มากที่สุด จากแนวโน้มผลประกอบการโดดเด่นในงวด 2H58 รวมทั้ง Backlog จำนวนมาก และ Hidden Asset และประเด็นบวกเก็งกำไรในอนาคต
แม้สถิติช่วงท้ายปี ต่างชาติมักขายหุ้นไทย แต่แรงซื้อ LTF น่าจะช่วยประคอง
วันศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตลาดหุ้นในภูมิภาคราว 156 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) แต่เป็นการซื้อสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ ตลาดหุ้นไต้หวันถูกซื้อสุทธิราว 11 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 3 วัน) เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่ถูกซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 5 หมื่นเหรียญ ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 45 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) ตามมาด้วยอินโดนีเซียที่ถูกขายสุทธิราว 59 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ส่วนไทยต่างชาติขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 63 ล้านเหรียญ หรือ 2,254 ล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกัน 4 วัน โดยมียอดขายสุทธิสะสมรวม 8 พันล้านบาท) ต่างกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 1,960 ล้านบาท
สรุปแรงซื้อขายจากต่างชาติในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา พบว่า นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิสะสมในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 1.7 พันล้านเหรียญ (หลังจากขายต่อเนื่อง 4 เดือน) ส่งผลให้ยอดซื้อสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 ร้อยล้านเหรียญ จากยอดซื้อสะสมที่เคยติดลบราว 1.3 พันล้านเหรียญ (ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน ก.ย.) และหากพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า ในเดือน ต.ค. นั้นตลาดหุ้นไต้หวันถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 2.1 พันล้านเหรียญ ตามมาด้วย ฟิลิปปนส์ และไทย ที่ถูกซื้อสะสมสุทธิราว 9 ล้านเหรียญและ 5 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ส่วนอินโดนีเซียและเกาหลีใต้ยังคงถูกขายสะสมสุทธิราว 350 ล้านเหรียญ และ 67 ล้านเหรียญ ตามลำดับ
ส่วนแนวโน้มเดือน พ.ย. แม้จากสถิติ 10 ปีย้อนหลัง พบว่า นักลงทุนต่างชาติมักจะขายหุ้นไทยในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. ราว 6 ใน 10 ปีก็ตาม แต่เชื่อว่า ในช่วงที่เหลือของปี แรงซื้อ LTF น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนให้ SET Index ปรับตัวขึ้นได้
เชื่อมั่น SET ในช่วงที่เหลือของนี้ยังแกว่งตัวในเชิงบวก
แม้ขณะนี้จะไม่มีประเด็นบวกใหม่ ๆ เข้ามาหนุนตลาด แต่เชื่อว่าประเด็นเรื่องของการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโลก ผ่านการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายยังมีอยู่ทั่วโลก รวมถึงได้ ประกอบการประเทศไทย ได้มีการใช้มาตรกรระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น-ยาว ซึ่งคาดว่าจะค่อย ๆ เห็นผลนับจากงวด 4Q58 แต่ต่อเนื่องในปี 2559 และน่าจะหนุน SET แกว่งตัวเชิงบวกสามารถแตะ 1,450-1,480 จุดก่อนสิ้นปี ทั้งนี้หากพิจารณาจากสถิติข้อมูลการซื้อขายของตลาดฯ ย้อนหลัง 10 ปี พบว่าในช่วงเดือน พ.ย. ถึง ธ.ค. ของทุกปี ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนเป็นบวก (เฉลี่ย 0.8%) ด้วยโอกาสที่เกิดขึ้น 63.6% (ขึ้นมากกว่าลง) และหากพิจารณาในรายกลุ่มพบว่ากระจายตัวในกลุ่มฯ ที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นเกิน 70% มี 3 กลุ่มหลัก คือ
เกษตร บันเทิง และวัสดุก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ตามจากการสอบถามนักวิเคราะห์ของ ASPS รายกลุ่มดังกล่าว คาดว่าสถานการณ์ปัจจุบัน มีบางกลุ่มอาจจะไม่เกินขึ้นเหมือนอดีตคือกลุ่มเกษตร เพราะปัจจุบันชี้นำยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ เช่น ราคาผลิตภัณฑ์เกษตร ทั้งราคายางพารา ราคาต่ำสุดในรอบ 8 ปี (STA:ถือFV@B12) ราคาน้ำมันปาล์มโลกต่ำกว่าในประเทศ ทำให้สต็อกในประเทศสูง (UVAN, UPOIC, VPO) และ ราคาไก่ (GFPT:ถือ[email protected]) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ล้วนอยู่ในภาวะตกต่ำ ทำให้ผลประกอบการในงวด 4Q58 ไม่สดใสนัก ยกเว้นราคาน้ำตาลที่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น (KSL(ซื้อ: [email protected]))แม้ว่ายังทรงตัว 14-14.5 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งยังสอดคล้องกับสมมติฐาน จึงแนะนำให้ Switch จากหุ้น STA, UVAN, UPOIC, VPO มายังหุ้น KSL ส่วนหุ้น GFPT ให้ Switch มายังหุ้น CPF(FV@B24) ซึ่งมีฐานรายได้กระจายความเสี่ยงมากกว่า
ขณะที่กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เหตุผลที่ได้จากการการพูดคุยกับนักวิเคราะห์ พบว่าการที่หุ้นกลุ่มนี้ให้ผลตอบแทนที่ดีน่าจะเกิดจากตลาดน่าจะมีความคาดหวังต่อการจ่ายเงินปันผลช่วงปลายปี ทั้งนี้ หลายบริษัทจะจ่ายเงินปันผลปีละ 2 ครั้ง และค่อนข้างสม่ำเสมอ เช่น SCC, SCCC, VNG, DRT ส่วน DCC จ่ายเงินปันผลเป็นรายไตรมาส โดยอัตราเงินปันผลเฉลี่ยของกลุ่มวัสดุก่อสร้าง สามารถคาดหวังได้ในอัตราที่ราว 3.2% และ 3.5% ในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ ฝ่ายวิจัยชื่นชอบ SCC (FV@B595) เนื่องจากให้ Dividend Yield ที่ดีกว่าตลาดที่ 3.3% และ 3.74% ตามลำดับ และมี PER ต่ำเพียง 12 เท่า ในปี 2558 ขณะที่ผลประกอบการน่าจะกลับมาฟื้นตัวในงวด 4Q58 ต่อเนื่องปี 2559
กลุ่มบันเทิง โดยปกติงวดไตรมาส 4 ถือเป็นงวดที่มีการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาสูงสุด เนื่องจากบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์จะต้องกระตุ้นยอดขายเพื่อปิดงบสิ้นปี ขณะที่ภาพเศรษฐกิจในปีนี้ ยอดขายสินค้าเกือบทุกประเภทในงวด 9 เดือนของปีได้รับผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ในงวด 4Q58 จึงเชื่อว่าเม็ดเงินโฆษณาจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั้งจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเม็ดเงินโฆษณาหลัก ๆ ยังอยู่ในสื่อทีวี โดยเฉพาะสื่อที่วีดิจิทัลที่มีเรตติ้งที่สูงขึ้นต่อเนื่องอย่างอันดับ 3 คือ WORK และอันดับ 4 คือ RS โดยเฉพาะ RS ถือเป็นสื่อทีวีดิจิทัลที่มีเรตติ้งเติบโตโดดเด่นในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา และขยับขึ้นมาใกล้ WORK ที่ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมีเรตติ้งทรงตัว ขณะที่ WORK ไม่มีการตั้งสำรองโบนัสจ่ายในงวด 9 เดือนแรก ส่งผลให้กำไรในงวด 4Q58 ของ WORK จะไม่โดดเด่นเท่า RS ซึ่งทยอยตั้งสำรองโบนัสทุกไตรมาส RS ([email protected]) จึงถือเป็นหุ้นทีวีดิจิทัลที่โดดเด่นสุด นอกเหนือจาก สื่อทีวีแล้ว สื่อที่มีการเติบโตโดดเด่นสุดคือ สื่อนอกบ้าน โดยเฉพาะ PLANB ที่ได้รับผลบวกจากรายได้ที่ทยอยเพิ่มขึ้นจากการจับมือกับ Hello Bangkok โดยเป็นตัวแทนขายแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงสื่อดิจิทัลกลางแจ้ง สื่อรถไฟฟ้าใต้ดิน สื่อรถประจำทางปรับอากาศที่จะกลับมามีการเติบโตสูงสุดในงวด 4Q58 (ตามปัจจัยฤดูกาล) ช่วยหนุนให้ PLANB (FV@B8) มีกำไรงวด 4Q58 จะเติบโตโดดเด่นทั้ง qoq และ yoy ส่วนสื่อโรงภาพยนต์ในงวด 4Q58 จะได้อานิสงส์จากรายได้โฆษณาที่เติบโตเช่นกัน ประกอบกับ มีหนังฟอร์มยักษ์ที่จะเข้าฉายหลายเรื่อง อาทิ Star war Episode 8 และ เจมส์บอนด์ จึงคาดว่ากำไรงวด 4Q58 ของ MAJOR (FV@B58) จะโดดเด่นเช่นกัน อย่างไรก็ตามผลประกอบการงวด 3Q58 ได้รับผลกระทบจากการระเบิดที่ 4 แยกราชประสงค์ ทำให้ สาขาพารากอนซึ่งสร้างรายได้สูงสดมีการปิดหรือลดจำนวนรอบที่ฉายไปหลายวัน
นักวิเคราะห์ :
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์