WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASP copyบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
      สัปดาห์นี้คาดว่าตลาดให้น้ำหนักต่อการอนุมัติแผนกระตุ้นอสังหาฯ ขณะที่ค่าเงินเอเชียมีสัญญาณชะลอการอ่อนค่า หลังจากตลาดเชื่อว่าสหรัฐจะยืดการขึ้นดอกเบี้ยไปเป็นต้นปี 2559 ซึ่งช่วยหนุนให้ Fund Flow กลับมาระยะสั้น ยังแนะนำหุ้น Developers เลือก SPALI([email protected]), KBANK(FV@B232) เป็น Top Picks

ตลาดคาดสหรัฐจะยืดการขึ้นดอกเบี้ยเป็นต้นปี 2559
      ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐประกาศดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่สำคัญของตลาดแรงงาน แม้ยังส่งสัญญาณทีดีต่อเนื่อง แต่ต่ำกว่าตลาดคาด กล่าวคือยอดการจ้างงานนอกภาคการเกษตร เดือน ก.ย. เพิ่มขึ้นที่ระดับ 142,000 ราย เทียบกับตลาดคาดที่ระดับ 201,000 ราย ทำให้อัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ที่ระดับ 5.1% นอกจากนี้การรายงาน ยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงาน เดือน ส.ค. กลับติดลบ 1.7% เทียบกับที่มีอัตราการเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนก่อนหน้า (ถือว่ามีการชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มิ.ย. 58) ด้วยเหตุนี้ ทำให้ตลาดคาดหมายว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ภายในปีนี้เป็นไปได้ยาก (เหลือการประชุม อีก 2 ครั้งในเดือน ต.ค.และ ธ.ค.) ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ ASPS ที่ประเมินมาตลอดว่า Fed น่าจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วสุดคือปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า (โดยคาดว่า Fed Fund Rate น่าจะอยู่ที่ 0.375% สิ้นปีนี้ และ 1.375% ในสิ้นปี 2559)
      ผลของความคาดหวังว่าสหรัฐจะยืดการขึ้นดอกเบี้ยออกไป ได้กดดันให้ Dollar Index แกว่งตัวในทิศทางอ่อนค่าหลังจากที่แข็งค่าต่อเนื่องมานานกว่า 6 เดือน ในทางตรงกันข้ามกับเงินยูโรที่หยุดการอ่อนค่า และกลับมาแกว่งตัวในทิศทางแข็งค่า จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรปที่ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามการประชุมของ ECB เรื่องนโยบายเศรษฐกิจในปลายสัปดาห์นี้ (8 ต.ค.)
ส่วนญี่ปุ่นจะมีการประชุม BOJ ในกลางสัปดาห์ (7 ต.ค.) ตลาดมีความหวังว่ามีโอกาสจะเพิ่มมาตรการ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ (ที่ 0.2% เดือน ก.ย. และ 1%ytd) จากการบริโภคภายในประเทศชะลอตัวผนวกกับราคาน้ำมันยังคงอยู่ระดับต่ำ เช่นเดียวกับอัตราการจ้างงานที่ยังคงที่ 3.3% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ทำให้ค่าเงินเยนยังแกว่งตัวในกรอบ 120 เยนต่อดอลลาร์มานานกว่า 1 เดือน และเช่นเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง หลังจากที่อ่อนค่ามาเป็นเวลาหลายเดือนติดต่อกัน

ต่างชาติเริ่มสะสมหุ้นในตลาด TIP แต่เพียงเล็กน้อย
       วันศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 110 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 2 วัน) โดยเป็นการขายสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 81 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 2 วัน) และไต้หวันถูกขายสุทธิราว 38 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 2 วัน) ต่างกับกลุ่ม TIP ที่ต่างชาติซื้อสุทธิเล็กน้อย ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ถูกซื้อสุทธิราว 1 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ตามมาด้วยอินโดนีเซียถูกซื้อสุทธิราว 4 ล้านเหรียญ และไทยต่างชาติซื้อสุทธิราว 3 ล้านเหรียญ หรือ 115 ล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิราว 519 ล้านบาท
     ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 15,550 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 14 ล้านบาท ทั้งนี้ แรงซื้อจากตราสารหนี้และหุ้นไทย มีส่วนหนุนให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า แต่เพียงเล็กน้อย โดยล่าสุดอยู่ที่ 36.38 บาท/ดอลลาร์ สอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าเงินแข็งค่าขึ้นเช่นกัน โดยจากจุดสูงสุดของวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินริงกิตมาเลเซียแข็งค่า 1.12%, รูเปียะห์อินโดนีเซียแข็งค่า 1.09%, เปโซฟิลิปปินส์แข็งค่า 0.64% และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 0.78%

มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์หนุน Developers : SIRI, PS, SPALI
       คาดหมายกันว่าการประชุม ครม. วันอังคารนี้ น่าจะมีการพิจารณาเรื่องมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และให้มีผลบังคับใช้ทันที ได้แก่ การลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนองเหลือ 0.01% เป็นเวลา 6 เดือน พร้อมทั้งให้ ธอส. ขยายวงเงินสินเชื่อบ้านเป็น 1 หมื่นล้านบาท และปรับเงื่อนไขขยายเวลาปล่อยกู้เพิ่มเป็น 35-40 ปี จากเดิม 30 ปี นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มสัดส่วนรายได้ของผู้กู้เพื่อใช้ในการคำนวณความสามารถในการผ่อนชำระ จาก 30% เป็น 50% ของรายได้ ทั้งนี้ หากมีการอนุมัติจริงก็น่าจะมีส่วนช่วยทั้งผู้บริโภคที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยง่ายขึ้น ในส่วนของผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน โดยฝ่ายวิจัยประเมินว่า Backlog จำนวน 2.4 แสนล้านในมือของผู้บริษัทจดทะเบียน 15 ราย สามารถโอนฯได้ง่ายขึ้น การปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ ก็น่าจะทำให้ผู้ประกอบการมี Profit Margin ก่อนภาษีเพิ่มขึ้นราว 0.6% ขณะที่ผู้ซื้อก็ประหยัดค่าธรรมเนียมการโอนฯ ลงได้ราว 0.6% ของราคาขายบ้านเช่นกัน นอกจากนี้ผู้ที่กู้เงินซื้อบ้านก็ยังประหยัดค่าจดจำนองได้อีก 0.9% ของเงินกู้ซื้อบ้านอีกด้วย สำหรับผู้ประกอบการที่น่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวมากที่สุด ควรเป็นผู้ประกอบการที่มี Backlog สูงพร้อมโอนฯในอายุมาตรการ มีสต็อกบ้านสร้างเสร็จสูง และ/หรือ ขายบ้านพร้อมอยู่ อาทิ SIRI (FV@B 2.13), PS ([email protected]) และ SPALI (FV@B 27.57) ทั้งนี้ หากพิจารณาเพิ่มเติมในแง่ของ Upside, PER และ Div. Yield จะพบว่า SPALI ค่อนข้างโดดเด่นกว่า จึงเลือก SPALI เป็น top pick
       ทางด้านของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นที่ได้มีการออกมาก่อนหน้านี้ ทั้งการปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้าน, จัดสรรเงินให้เปล่า 7,000 ตำบล เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาทและมาตรการช่วยเหลือ SME แม้ว่า ธปท. จะประเมินว่ามาตรการดังกล่าวช่วยหนุนเศรษฐกิจในงวด 4Q58 ได้เพียง 0.1% แต่จะเริ่มส่งผลตั้งแต่งวด 1Q59 ก็ตาม แต่ฝ่ายวิจัยยังเชื่อว่าการเร่งรัดดำเนินนโยบายของรัฐบาลน่าจะช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ตั้งแต่งวด 4Q58 เป็นต้นไป

กลยุทธ์การลงทุนเลือกหุ้น Domestic Play: PTT, KBANK, ADVANC
      เชื่อว่าวันนี้ตลาดหุ้นไทยน่าจะได้รับ sentiment เชิงบวกจากตลาดหุ้นต่างประเทศ อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยจะยังเผชิญกับแนวต้านระยะสั้นที่ 1,365-1,370 จุด โดยคาดว่าหุ้นที่จะมีโอกาสเอาชนะตลาดได้ในสัปดาห์ น่าจะเป็นหุ้น Domestic Play ซึ่งจะได้แรงหนุนจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่น่าจะทยอยอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้หรือตั้งแต่ ต.ค.เป็นต้นไป ทั้งนี้หากพิจารณาดัชนีตลาดที่มีการปรับฐานหลังจากที่แตะรับสูงสุด ที่ 1,400 จุด เมื่อ 11 เดือน ก.ย. จนถึงล่าสุด 1346 จุด ถือว่าดัชนีหุ้นไทยมีการปรับฐานราว 4% ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน (ฟิลิปปินส์ลดลง 5%, อินโดนีเซีย ลดลงมากสุด 7% แต่ฟื้นตัวไปก่อนหน้านี้ 3 วัน, มาเลเซีย 4%) และหากพิจารณาการปรับฐานเป็นรายกลุ่มพบว่าหุ้นที่มีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารพาณิชย์ สื่อสาร และพลังงาน ล้วนปรับตัวลดลงมากกว่าตลาด ดังนั้นหากมีการฟื้นตัวของตลาดฯ ในวันนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการฟื้นตัวของหุ้นใหญ่ใน 3 กลุ่มดังนั้น โดย ASPS ยังชื่นชอบหุ้นใหญ่ ดังนั้น KBANK, ADVANC, PTT เป็นต้น

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!