WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASP copyบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
       ภาพรวมในเชิงปัจจัยพื้นฐาน วันนี้ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญทำให้คาดว่า SET Index น่าจะผันผวนอยู่ในกรอบที่แคบลง แต่อย่างไรก็ตามยังต้องระวังปัจจัยเสี่ยงอันเนื่องมาจากการขายของนักลงทุนต่างชาติที่ยังมีอยู่ ยังให้น้ำหนักเป็นรายหุ้นที่เชื่อว่ามีพื้นฐานแข็งแกร่ง เลือก SCC (FV@B 580) เป็น Top Pick

สินเชื่อรวม 8M58 เป็นไปตามเป้าหมาย ชอบ KBANK, TCAP
      การรายงานยอดสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ล่าสุดในเดือน ส.ค. 58 ยังคงเป็นไปตามแผน กล่าวคือ สินเชื่อสุทธิ (หลังหักค่าเผื่อหนี้ฯ) คงค้างรวม 9.63 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเบาบาง 0.2%mom และ 6.4%yoy โดย TMB โดดเด่นสุด กล่าวคือเติบโตสูงถึง 2.3%qoq และ 8.1%yoy ตามด้วย LHBANK, KBANK, BBL และ TCAP ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตจากกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่ แต่ยังเป็นสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น ขณะที่ SME เริ่มเห็นการเติบโตมากขึ้นใน ธ.พ. หลายแห่ง เช่นเดียวกับสินเชื่อรายย่อย ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบุคคล ยังเห็นการเติบโตต่อเนื่อง ตรงกันข้ามธนาคารพาณิชย์ ที่พบว่าสินเชื่อลดลงมากสุดคือ TISCO ซึ่งเกิดจากการชำระคืนหนี้ก่อนกำหนดของลูกหนี้รายใหญ่ และการตัดหนี้สูญของสินเชื่อ SSI-UK มูลค่า 3.57 พันล้านบาท รวมถึงสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ยังหดตัวต่อเนื่อง รองลงมาคือ SCB มีการชำระสินเชื่อรายใหญ่ ส่วน SME และรายย่อยยังทรงตัว ยกเว้นสินเชื่อเช่าซื้อที่หดตัวลง และ KTB มีการชำระหนี้คืนของสินเชื่อรายใหญ่ โดยรวมแล้วสินเชื่อสุทธิ (หลังหักค่าเผื่อหนี้ฯ) ในระยะ 8M58 ทั้งระบบเติบโต 3.7% จากสิ้นปี 2557 ถือว่ายังสอดคล้องกับเป้าหมายทั้งปี 2558 ที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ 6.3%yoy ซึ่งทำให้กำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ทั้งกลุ่มฯ ปี 2558 ลดลงถึง 11.5%yoy แต่จะพลิกกลับมาเติบโต 17.6%yoy ในปี 2559
      ส่วนผลการดำเนินงานงวด 3Q58 ASPS ประเมินว่าทั้งกลุ่มฯ จะมีกำไรสุทธิราว 4.53 หมื่นล้านบาท ลดลงถึง 11.7%qoq และลดลง 16.0%yoy โดยคาด TISCO จะแสดงการลดลงของกำไรสุทธิมากที่สุดในกลุ่มฯ ถึง 33.3%qoq และ 38.5%yoy ตามด้วย KTB และ SCB กดดันด้วยค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ของ SSI ขณะที่ NIM ของกลุ่มฯ คาดว่าจะเริ่มทรงตัวได้เมื่อเทียบกับงวด 2Q58 จึงยังให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มฯ เท่ากับตลาด เชื่อว่า SETBANK ได้สะท้อนปัจจัยลบไปแล้ว จากที่ดัชนีกลุ่มได้ปรับตัวลด 20% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน จนมี PBV ปี 2558 เพียง 1.2 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 1.7 เท่าถึง -2SD แล้ว และยังใกล้เคียงค่าเฉลี่ย PBV ในภูมิภาคที่ 1.2 เท่า และแม้จะเห็นการปรับฐานราคาของ TISCO, SCB, KTB ไปมาก แต่ด้วยคุณภาพสินทรัพย์และ coverage ratio ที่อ่อนแอลง จึงแนะให้ switch ไป KBANK (FV@232B), TCAP ([email protected]) ซึ่งเป็นหุ้น top picks

แม้กังวลต่อเศรษฐกิจชะลอตัว แต่กำไรตลาดจะไม่ถูกปรับลดอย่างมีนัยสำคัญ
       หลังจากที่ฝ่ายวิจัยได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ลง อันเนื่องมาจากการที่ SCB, KTB และ TISCO ต้องการมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่ม จากกรณีของ SSI และ SSI-UK โดยทำให้กำไรสุทธิปี 2558 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ลดลงราว 6 พันล้านบาทหรือ 3.2% ฝ่ายวิจัยได้ทำการสำรวจความเห็นจากนักวิเคราะปัจจัยพื้นฐาน ของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อประเมิน Downside ที่อาจเกิดขึ้นกับประมาณการโดยภาพรวมของบริษัทจดทะเบียน พบว่า ยังไม่เห็นการปรับลดประมาณการอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็มีโอกาสที่บางกลุ่มอุตสาหกรรมอาจทำกำไรได้ต่ำกว่าคาด โดยยังอยู่ในช่วงเวลาของการติดตามสถานการณ์ ดังพอสรุปสถานการณ์ได้ดังนี้
       กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง มีการปรับประมาณการกำไรของ STEC ในปีนี้ลงราว 197 ล้านบาท หรือ 14% ของประมาณการเดิมผลจากงานก่อสร้างอาคารรัฐสภาที่ล่าช้ากว่าแผนฯ กระทบต่อต้นทุนโครงการให้เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งงานประมูลภาครัฐที่ออกมาล่าช้ากว่ากำหนด กระทบต่อประมาณการรายได้และกำไร แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับฐานกำไรสุทธิรวมปี 2558 ของบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะอยู่ที่ 8.3 แสนล้านบาท ก็ถือว่าไม่มีนัยสำคัญ
กลุ่มวัสดุก่อสร้าง อาจมีการปรับประมาณการฯ ของ TPIPL ลง เนื่องจากเงินบาทที่อ่อนค่าจะส่งผลให้เกิดผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนราว 300-400 ล้านบาท เนื่องจากภาระหนี้สินหลักอยู่ในสกุลยูโร
     กลุ่มสื่อสาร ยังไม่มีการปรับประมาณการฯ แต่จากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของอุตสาหกรรมอาจทำให้กำไรสุทธิของกลุ่มมีโอกาสต่ำกว่าคาดราว 4 พันล้านบาทคิดเป็น 5.2% ของประมาณการกำไรสุทธิของกลุ่ม ICT แต่ก็ยังต้องรอติดตามสถานการณ์อีกระยะหนึ่ง
      ทั้งนี้ หากมีการปรับประมาณการลงดังกล่าวข้างต้นทั้งหมด (รวมการปรับลดประมาณการกลุ่ม ธ.พ.) คาดว่าจะทำให้กำไรสุทธิตลาดฯ ปีนี้จะลดลงมาอยู่ที่ 8.26 แสนล้านบาท (จาก 8.36 แสนล้านบาท) และทำให้กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ลดลง มาอยู่ที่ราว 88.55 บาท/หุ้น (จาก 89.63 บาท/หุ้น) อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ valuation ของ SET จะพบว่า ระดับ current PER ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ราว 15.6 เท่า มี upside เหลือราว 6 - 9% เมื่อเทียบกับดัชนีเป้าหมายสิ้นปีที่ 1,435 - 1,480 จุด (อิง Expected PER 16 - 16.5 เท่า) จึงเชื่อว่านับจากนี้ Downside ของSET จะเริ่มจำกัดแล้ว และเป็นโอกาสให้ทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานแกร่งที่ราคาหุ้นลงมามากเกินปัจจัยพื้นฐาน เช่น SCC, KBANK, TCAP

สหรัฐมองหาโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ย สวนทางประเทศตลาดเกิดใหม่ยังคงลดดอกเบี้ย
    วานนี้ มีการรายงานดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยเริ่มจากด้านการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจาก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน ก.ย. อยู่ที่ระดับ 103 สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ระดับ 96.8 (สูงสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 2558) ประกอบกับตลาดบ้านที่ปรับตัวดีขึ้น โดยจากผลสำรวจของ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ เผยถึงราคาบ้านทั่วสหรัฐ เดือน ก.ค. ปรับตัวสูงขึ้น 4.7% สูงกว่าเดือน มิ.ย. ที่เพิ่มขึ้น 4.5% จะเห็นได้ว่าดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจของสหรัฐต่างๆ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ ASPS มองว่าโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed น่าจะยืดออกไปเป็นปลายปีนี้หรือต้นปี 2559 (ขณะที่ยังเหลือการประชุม อีก 2 ครั้ง ในเดือน ต.ค. และ ธ.ค.)
     ขณะที่ ธนาคารกลางอินเดีย ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% เหลือ 6.75% โดยเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ตั้งแต่ต้นปี พร้อมคงอัตราการสำรองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ที่ 4% หลังอัตราเงินเฟ้อลดต่ำมาอยู่ที่ 4.37 ซึ่งเป็นค่าต่ำสุดตั้งแต่ต้นปี สอดคล้องกับ อินโดนีเซียที่ได้มีประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 โดยเน้นการดึงดูดนักลงทุนเข้าประเทศ หนุนค่าเงินและการเติบโตของเศรษฐกิจ กล่าวคือเร่งอนุมัติการออกใบอนุญาตในการทำธุรกิจในเขตอุตสาหกรรม ลดหย่อนภาษีรายได้รูปเงินดอลลาร์ที่ฝากกับธนาคารภายในประเทศสำหรับการฝากเงินระยะ 1 เดือน เหลือ 7.5% จาก 20% และ 0% สำหรับฝากเป็นระยะเวลา 1 ปี เช่นเดียวกับการแปลงรายได้เป็นเงินสกุลรูเปียะห์ ที่จะได้รับการลดหย่อนเหลือ 0%

เร่งดำเนินการกระจายเม็ดเงินลงสู่ภาครัฐ หวังงวด 4Q58 เศรษฐกิจฟื้น
    ทางด้านของความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐนั้น ได้มีการเปิดเผยจากผู้อำนวยการธนาคารออมสินว่า การปล่อยเงินกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้าน ได้มีการกระจายอนุมัติเงินให้กับกองทุนหมู่บ้านไปแล้วกว่า 16,500 กองทุน จำนวน 16,500 ล้านบาท หรือกว่า 3 แสนราย ซึ่งคาดการณ์จะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ เช่นเดียวกับโครงการของภาครัฐที่วานนี้ สศค. ได้มีการรายงานเศรษฐกิจโดย ด้านการลงทุนพบว่า ไตรมาสสุดท้ายเพียง 2 เดือนคลังมีการเบิกจ่ายไปแล้ว กว่า 9,000 ล้านบาท จากเบิกจ่ายเพียง 6,000 ล้านบาทในครึ่งปีแรก แสดงให้เห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐเริ่มกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบแล้วทั้งภาคการบริโภคและการลงทุน คาดการณ์ จะเห็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปีนี้หรือไตรมาส 1 ปีหน้า
      นอกจากนี้ สศค. ได้มีการรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง เดือน ส.ค โดยยังคง GDP Growth ของไทย ไว้ที่ 3% ตามเดิม แต่อาจมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน ต.ค. ส่วนการส่งออกปีนี้ ประเมินไว้ว่าจะติดลบ 4% และค่าเงินบาทประเมินไว้อยู่ที่ 34.30 บาทต่อเหรียญฯ ทั้งนี้ หากจะให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ โต 3% ตามประมาณการของ สศค. จริง ในช่วง 2H58 GDP จะต้องโตเฉลี่ยราว 3.1% แต่อย่างไรก็ตาม ASPS ประเมินว่า 2H58 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 2.45% เท่านั้น และคาดว่าทั้งปีจะเติบโต 2.7%

ต่างชาติยังคงขายหุ้นกลุ่ม TIP อย่างต่อเนื่อง
วานนี้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้และไต้หวันหยุดทำการเนื่องจากเป็นวันหยุด แต่ตลาดหุ้นกลุ่ม TIP ยังเปิดทำการปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่า แม้ตลาดหุ้นอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.41% และ 0.64% ตามลำดับ ส่วนตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงเล็กน้อยราว 0.24% อย่างไรก็ตามนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในกลุ่ม TIP ทั้ง 3 ประเทศ โดยมียอดขายรวม 125 ล้านเหรียญ และหากพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า อินโดนีเซียถูกขายสุทธิราว 36 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 10) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 13 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) และไทยต่างชาติขายสุทธิสูงสุดในกลุ่มราว 76 ล้านเหรียญ หรือ 2,765 ล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกัน 5 วัน โดยมียอดขายรวมสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท) ต่างกับนักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 1,942 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิ 11,635 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 618 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 36.41 บาทต่อเหรียญฯ

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!