WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASP copyบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
       ดูเหมือนตลาดจะเริ่มกังวลต่อแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจมีความล่าช้า ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจจีนชะลอตัว กลับมาถ่วงน้ำหนักตลาดอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามยังให้น้ำหนักเป็นรายหุ้นที่เชื่อว่ามีพื้นฐานแข็งแกร่ง ยังเลือก SCC (FV@B 580) เป็น Top Pick

ความกังวลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้ากลับมามีน้ำหนักถ่วงตลาด
        แม้ว่า ภาครัฐได้พยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง สร้างความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวได้ตั้งแต่งวด 4Q58 เป็นต้นไป แต่ดูเหมือนว่าโครงการต่างๆ และเม็ดเงินอัดฉีดอาจมีความล่าช้าจากแผน โดยในส่วนของกองทุนหมู่บ้านวงเงิน 3 หมื่นล้านบาทนั้น นับจากเปิดโครงการมาจนถึงปัจจุบัน (23 ก.ย.) ธนาคารออมสิน ได้อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว 1.58 หมื่นล้านบาท ขณะที่สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 1 แสนล้านบาท มีการเบิกใช้แล้วเพียง 300 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว กลับเป็นประเด็นลบที่มีความแรงมากว่า และหักล้างกับปัจจัยบวกในประเทศ สะท้อนได้จากตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ และพันธบัตรที่ปรับตัวลดลงเกือบทั้งสิ้น หลังจากวานนี้ มีรายงานตัวเลขกำไรของบริษัทของรัฐบาลจีน งวด 8M58 ลดลงถึง 6.6% เทียบกับที่ลดลง 2.3% ในงวด 7M58 หลักๆ มาจากการลดลงของกำไรในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี น้ำมัน และวัสดุก่อสร้าง ส่วนบริษัทในอุตสาหกรรมเหล็กกล้า ถ่านหิน และโลหะไร้สนิมยังคงขาดทุนต่อเนื่อง ตอกย้ำถึงภาคดัชนี PMI เดือนล่าสุด ที่ลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ช่วงปี 2551-52 แม้ว่ารัฐบาลจีนได้พยายามออกมาตรการช่วยเหลือทั้งมาตรการทางการเงินและมาตรการการคลัง โดยเฉพาะการอัดฉีดเม็ดเงินในตลาดหุ้น เพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนให้กลับคืนมา แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่ส่งผลอะไรมากนัก จึงเชื่อว่าตลาดหุ้นโลกอาจยังต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันเช่นนี้ไปอีกระยะหนึ่ง

คาดหวังต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่
       ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เชื่อว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการทางการเงินอ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีน เชื่อว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายบายและการลด RRR ยังมีความจำเป็นในช่วงที่เหลือของปีนี้ แม้ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการลดมาแล้วหลายครั้งก็ตาม เช่นเดียวกับทางสหภาพยุโรป คาดว่ามีโอกาสจะยืดระยะเวลาการใช้ QE ออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้ ก.ย. 2559 หรือพร้อมจะเพิ่มวงเงิน QE ต่อเดือน เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่รับซื้อ 60 พันล้านยูโร โดยล่าสุดวานนี้ ธนาคารกลางเวียดนามยกเลิกเพดานดอกเบี้ยเงินฝากสกุลดอลลาร์ สำหรับธนาคารพาณิชย์ และนิติบุคคลเหลือ 0.25% จาก 0.75% ขณะที่สัปดาห์ก่อน ไต้หวันที่ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.125% เหลือ 1.750% ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกตั้งแต่ปี 2554 เนื่องจากเผชิญกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ขณะที่ฟิลิปปินส์ ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ 4%คงที่ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่จะกลับมาช่วยหนุนตลาดได้อีกครั้งหนึ่ง

ส่งออกชะลอตัว vs เงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบกว่าคาด
       ขณะที่วานนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานยอดส่งออก ในรูปดอลลาร์ เดือน ส.ค. ติดลบ 6.69% หดตัวมากกว่าเดือนก่อนหน้าซึ่งติดลบ 3.56% ถือเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 เช่นเดียวกับการนำเข้าพบว่าหดตัว 4.8% แต่ถือว่าดีขึ้นจากที่ติดลบ 12.73% ในเดือน ก.ค. จึงส่งผลทำให้ดุลการค้า เกินดุล 721 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการเกินดุลต่อเนื่อง 4 เดือน โดยรวมในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้พบว่ายอดส่งออก และนำเข้า ติดลบ 4.86% และติดลบ 7.7% ตามลำดับ เทียบกับประมาณการ ASPS ประเมินว่ายอดส่งออกและนำเข้า ในรูปดอลลาร์ ตลอดปี 2558 จะติดลบ 3.49% และติดลบ 5.43% ซึ่งอาจจะสูงเกินไปทำให้มีความเสี่ยงต่อการปรับลดประมาณการส่งออกและนำเข้าได้ (แต่หากพิจารณามูลค่าการส่งออกในรูปบาท ทั้งปี 2558 จะเป็นบวก 3.2% และ 2.8% ซึ่งเกิดจากเงินบาทที่อ่อน และอยู่ภายใต้สมมติฐานเงินบาทตลอดปี 2558 ที่ 34 เหรียญฯ ต่อดอลลาร์)
  นอกจากนี้ ความกังวลต่อแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐอาจล่าช้า กลับมาสร้างความกังวลต่อตลาดมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ความหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในงวด 4Q58 จะไม่เป็นไปตามคาด กล่าวคือจากเดิมที่ประเมินว่า GDP Growth ในงวด 4Q58 จะอยู่ที่ราว 2.6% ฟื้นตัวจาก 2.3% ในงวด 3Q58 (เทียบกับงวด 1Q58 3% และ 2.8% ในงวด 2Q58)
  ขณะเดียวกันคาดว่าระดับราคาน้ำมันดิบที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ (ล่าสุดราคาน้ำมันดิบดูไบต่ำเพียง 43 เหรียญฯต่อบาร์เรล) อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทย ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ว่าจะติดลบ 0.83% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว อยู่ภายใต้สมมติฐานหลักคือราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยตลอดปี 2558 จะอยู่ที่ 53 เหรียญฯต่อบาร์เรล (ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 54.4 เหรียญฯต่อบาร์เรล เท่ากับในช่วงที่เหลือของปีนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยราว 48.8 เหรียญฯต่อบาร์เรล) แต่หากราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วงที่เหลือของปีนี้ (3 เดือนที่เหลือ) ยังทรงตัวในระดับต่ำที่ 40 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล จะทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2558 จะอยู่ที่ 50.8 เหรียญฯต่อบาร์เรล (ต่ำกว่าสมมุติฐานราว 2 เหรียญฯต่อบาร์เรล) ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสติดลบเป็น 1.24% ถือว่าเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นในระยะสั้น ๆ

ต่างชาติยังคงขายหุ้นไทย กดดันให้บาทอ่อนสุดในรอบ 8 ปี 7 เดือน
       ในช่วง 4 วันทำการที่ผ่านมา ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคทุกวันทั้ง 5 ประเทศ โดยมียอดขายสุทธรวมสูงถึง 2.3 พันล้านเหรียญ ซึ่งสูงเกินครึ่งของยอดขายสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ส่วนวานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 454 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิทั้ง 5 ประเทศ นำโดยเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 277 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6) รองลงมาคือ ไต้หวันถูกขายสุทธิราว 89 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) ตามมาด้วยอินโดนีเซียถูกขายสุทธิราว 18 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 9) และฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 13 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) ส่วนไทยต่างชาติยังคงขายสุทธิราว 58 ล้านเหรียญ หรือ 2,088 ล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกัน 4 วัน โดยมียอดขายรวมสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท) ต่างกับนักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 210 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 3,410 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 3,948 ล้านบาท จากแรงขายของต่างชาติในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทยที่กลับมาขายหนักอีกครั้ง ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปมาก โดยล่าสุดอยู่ที่ 36.44 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 8 ปี 7เดือน (นับตั้งแต่ เดือน ก.พ. 2550 เป็นต้นมา)

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!