- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 24 September 2015 17:38
- Hits: 4359
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
“เลือกซื้อเก็งกำไรตามค่าบวก”
• หุ้นที่เปลี่ยนคำแนะนำทางปัจจัยพื้นฐานวันนี้ : ไม่มี
ปัจจัย&กลยุทธ์ทางปัจจัยพื้นฐาน : ตลาดหุ้นไทยเมื่อวานนี้แกว่งในแดนลบ แต่ปิดตลาดลดลงไม่มาก (-4.15 จุด ปิดที่ 1375.17) โดยตลาดยังมีแรงขายในกลุ่มแบงค์เพราะกังวลเรื่อง NPL และกลุ่มสื่อสารเนื่องจากผลประกอบการที่ชะลอตัว รวมถึง SCC นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 4.9 พันล้านบาท รายย่อยซื้อสุทธิ 4.3 พันล้านบาท สถาบันในประเทศและพอร์ตบล.ซื้อ/ขายสุทธิกลุ่มละไม่มากตลาดหุ้นยังคงผันผวนไปตามข่าวรายวัน ปัจจัยที่กดดันในเชิงพื้นฐานหลัก คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซายาวนาน ตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของจีนอ่อนแอที่สุดในรอบ 78 เดือน ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐต่ำสุดในรอบ 22 เดือน ด้าน ECB ยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ ขณะที่น้ำมันดิบที่อยู่ในภาวะอุปทานล้นเกินทำให้ราคายังผันผวน อย่างไรก็ตาม ในประเทศยังมี Stories บวกเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดรมว.คลังกล่าวว่าจะสรุปมาตรการกระตุ้นอสังหาฯภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ และในส่วน LTF น่าจะต่ออายุให้อาจให้ถือครองเต็ม 5 ปี (จากเดิมที่ใช้ช่องโหว่ถือครอง 3 ปี 2 วันได้) ส่วนความกังวลว่า SCB จะขายหุ้นที่ถือครอง เช่น SCC, LH, MINT เป็นต้น เพื่อชดเชยกับสำรองฯที่ต้องตั้งเพิ่มกรณี SSI ก็กดดันราคาหุ้นดังกล่าวในระยะสั้น แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงเรามองว่าเป็นปัจจัยชั่วคราวและไม่เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานบริษัท ดังนั้นการอ่อนตัวลงของราคาหุ้นจึงเป็นจังหวะซื้อลงทุนระยะกลาง-ยาว หุ้นพื้นฐานแนะนำวันนี้เป็น AEONTSการวิเคราะห์ทางเทคนิค : ภาพตลาดเป็นลบเล็กๆ ควรระวังการแกว่งลง ซื้อเก็งกำไรตามรอบใหม่เน้นตามด้วยค่าบวก แนวต้านระยะสั้น1390, 1400, 1410 จุด ค่าลบดูไม่ดี ควร Wait & See หรือลดพอร์ตตาม สำหรับหุ้นที่มีสัญญาณทางเทคนิคดี น่าสนใจเลือกซื้อเก็งกำไรระยะสั้น ได้แก่ KBANK, AEONTS, LPN, JMART, BEAUTY, APCS, APCO ส่วนหุ้นที่แนะนำไปแล้วและยังถือต่อได้/หาจังหวะขายทำกำไรเมื่อราคาปรับขึ้น คือ SPALI, IFEC
Market Drivers
ปัจจัยต่างประเทศ & ราคาโภคภัณฑ์
- จีน : ภาคการผลิตอ่อนแอมาก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI)ภาคการผลิตเบื้องต้นที่มาร์กิตจัดทำร่วมกับไฉซินลดลงแตะ 47.0 ในเดือนก.ย. ซึ่งต่ำสุดในรอบ 78 เดือน จากระดับ 47.3 ในเดือนส.ค.58
• สหรัฐ : ภาคผลิตเดือนก.ย.ไม่ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น มาร์กิตรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนก.ย.ของสหรัฐทรงตัวที่ 53.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือน
•/- ยูโรโซน : ECB ยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมประธาน ECB แถลงการณ์ต่อที่ประชุมรัฐสภายุโรปว่าขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม โดย ECB ต้องประเมินสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจโดยรวมก่อน ซึ่งส่วนนี้ทำให้ตลาดผิดหวังเล็กๆ เพราะก่อนหน้ามีกระแสคาดการณ์ว่า ECB จะออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมในเร็วๆนี้
•/- CEO "โฟล์คสวาเกน" ประกาศลาออก...บริษัทอาจต้องกันสำรอง 2.6 แสนล้านบาทรองรับความเสี่ยหายครั้งนี้ โดยคณะผู้บริหารของบริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมนีรายนี้กำลังหาทางคลี่คลายวิกฤตหลังบริษัทบิดเบือนข้อมูลการปล่อยมลพิษของรถยนต์ดีเซลและถูกตรวจพบในสหรัฐ ทั้งนี้โฟล์คสวาเกนระบุด้วยว่ารถยนต์ของบริษัทจำนวน 11 ล้านคันทั่วโลกอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการแจ้งผลปล่อยมลพิษที่ไม่ถูกต้องเช่นกัน บริษัทมีแผนกันสำรองเงินจำนวน 6.5พันล้านยูโร (7.3 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 2.6 แสนล้านบาท) เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวกับกรณีอื้อฉาวนี้
- ตลาดหุ้นสหรัฐอ่อนลงต่อ โดยดัชนี DJIA ปิดลดลง 50.58 จุด(-0.31%) ปัจจัยกดดันตลาดคือ ภาคการผลิตของจีนในที่อ่อนแอลงมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคผลิตสหรัฐเติบโตทรงตัวในเดือนก.ย.แต่ก็ยังต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี
- ราคาน้ำมันดิบลดลง...กังวลอุปทานล้นเกินหลังสหรัฐกลับมาผลิตน้ำมันเพิ่มในสัปดาห์ก่อน สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 1.88 ดอลลาร์ หรือ 4.1% ปิดที่ 44.48 ดอลลาร์/บาร์เรลส่วน BRENT ลดลง 1.33 ดอลลาร์ หรือ 2.7% ปิดที่ 47.75 ดอลลาร์/บาร์เรล ทั้งนี้ EIA รายงานว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 18 ก.ย.58 เพิ่มขึ้น 19,000 บาร์เรล สู่ระดับ9.136 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้นักลงทุนกลับมากังวลกับภาวะอุปทานล้นเกินอีกรอบ
+ ราคาทองคำขยับขึ้น โดยสัญญาตลาด COMEX ส่งมอบธ.ค.เพิ่มขึ้น 6.7 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,131.50 ดอลลาร์/ออนซ์ ปัจจัยหนุน คือรายงานที่ว่ากองทุนทองคำรายใหญ่ของโลก SPDR Gold Trust เพิ่มการถือครองทองคำ 0.18% ในอังคารที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 1 เดือน
ปัจจัยในประเทศ & Theme เด่น
+ กลุ่มที่พักอาศัย : กระทรวงการคลังคาดว่าจะสรุปมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ได้ภายใน 2 สัปดาห์ โดยคาดว่าจะมีการให้ธอส.ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมให้กับผู้ที่ต้องการซื้อบ้านแต่มีปัญหากู้ไม่ผ่านเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งส่วนนี้กำลังให้ธอส.ศึกษาว่าจะบริหารจัดการอย่างไร แต่จะรีบทำให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้คนชะลอการซื้อที่พักอาศัยนานเกินไป
ความเห็นเชิงกลยุทธ์ : ทาง Retail Research ประเมินว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาจะเน้นไปยังที่พักอาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก และอาจจะครอบคลุมเฉพาะบ้านหลังแรกเท่านั้น(คนที่มีบ้านมากกว่า 1 หลังน่าจะเป็นผู้มีรายได้ระดับปานกลาง-สูงแล้ว) ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นบวกกับผู้ประกอบการที่เน้นทำโครงการที่ราคาไม่แพง เช่น LPN, PS, SENA, LALIN เป็นต้น หุ้น Top Pick ในเชิงกลยุทธ์เป็น LPN (ราคาพื้นฐาน 18.50 บาท)
สำหรับความเสี่ยงของกลุ่มที่พักอาศัย คือ ต้นทุนที่ดินที่สูงขึ้นมากโดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม และที่จะเกิดขึ้นใหม่ในปริมณฑลรอบๆ กรุงเทพ ทำให้ราคาขายที่พักอาศัยถีบตัวสูงขึ้นมากขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคทรงตัวถึงลดลงในภาวะการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีปัญหาอุปทานล้นเกินในบางทำเล เช่น ในพื้นที่ตามแนวเส้นรถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นต้น
• ความคืบหน้าเรื่อง LTF ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังศึกษาความเหมาะสมที่จะต่ออายุ LTF โดยในเบื้องต้นจะให้ต่ออายุและกำลังพิจารณาระยะเวลาถือครองว่าจะให้ถือครอง 5 ปีเต็ม จากปัจจุบันที่มีช่องที่ทำให้ถือครองได้ 3 ปี 2 วัน เป็นต้น ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มจะคงไว้ที่7% ต่อไป
ความเห็นเชิงกลยุทธ์ : การต่ออายุ LTF เป็นบวกกับตลาดหุ้นโดยรวมเพราะกองทุน LTF จะเน้นลงทุนในหุ้นเท่านั้น ยังผลให้ความต้องการซื้อหุ้นยังคงมีอยู่ต่อไปโดยเฉพาะใน 1-2 เดือนสุดท้ายของปี และเป็นข่าวดีของธุรกิจบลจ.ด้วย อย่างไรก็ตาม การลงทุนในตลาดหุ้นช่วงนี้ยังต้องระมัดระวัง เพราะความผันผวนจากความไม่แน่นอนยังมีอยู่มาก
• SCB จะขายเงินลงทุนอะไร? เพื่อชดเชยการตั้งสำรองฯกรณีSSI สำหรับหุ้นที่ SCB ถือครองและตลาดกังวลว่าอาจขายทำกำไรออกมาชดเชยการตั้งสำรองค่าเผื่อฯกรณี SSI ได้แก่ LH – ถือ 91.62ล้านหุ้น (0.78%), SCC – ถือ 9.07 ล้านหุ้น (0.76%), MINT – ถือ29.65 ล้านหุ้น (0.64%) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าเงินลงทุนที่SCB จะขายออกมาส่วนใหญ่น่าจะเป็นตราสารหนี้เป็นหลัก ดังนั้นการอ่อนตัวลงของราคาหุ้นดังกล่าว จึงเป็นจังหวะในการทยอยซื้อลงทุนระยะกลาง-ยาว โดยในทางปัจจัยพื้นฐาน DBS แนะนำถือ LH (ราคาพื้นฐาน 9.2 บาท), แนะนำซื้อ SCC (ราคาพื้นฐาน 580 บาท), แนะนำซื้อ MINT (ราคาพื้นฐาน 35 บาท)
นักวิเคราะห์ & กลยุทธ์ : อาภาภรณ์ แสวงพรรค – Phone 7829
[email protected]
Update อุตสาหกรรมและหุ้นรายบริษัท
• SCC (ราคาปิด 472 บาท) : Spread ของผลิตภัณฑ์หลัก คือ HDPEอ่อนลงเป็น 725 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากต้น 3Q58 ที่ระดับ 800 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่อุปสงค์ซีเมนต์ยังไม่กระเตื้องนัก เพราะการลงทุนโดยรวมขยายตัวไม่มาก ซึ่งส่วนนี้ทำให้คาดการณ์ว่าผลประกอบการ3Q58 และ 4Q58 จะอ่อนลงจาก 1H58 โดยเฉพาะของ 3Q58 คาดว่ากำไรสุทธิบรรทัดสุดท้ายอาจจะอ่อนลง 30-35%QoQ อยู่ที่ประมาณ 1หมื่นล้านบาท (2Q58 มีกำไรสุทธิ 1.39 หมื่นล้านบาท) ซึ่งส่วนนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้ราคาหุ้นอ่อนตัวลงในช่วงสั้น กับอีกประเด็นหนึ่ง คือValuation ของ SCC ที่ดูแพงกว่า PTT โดยค่า P/E และ P/BV ของ PTTต่ำกว่า และให้ Dividend Yield สูงกว่าในราคาปัจจุบัน โดย P/E ปี 58-59 ของ PTT เท่ากับ 10 และ 9 เท่า ส่วนของ SCC อยู่ที่ 13 และ 12 เท่าตามลำดับ ด้าน P/BV ของ PTT เท่ากับ 1.0 และ 0.9 เท่า ส่วน SCC อยู่ที่2.8 และ 2.4 เท่า ตามลำดับ ส่วน Dividend Yield ของ PTT เท่ากับ4.4% ทั้งในปี 58-59 ส่วน SCC เท่ากับ 3.4% ทั้งสองปี
ทั้งนี้ DBS ได้สะท้อนแนวโน้มการอ่อนตัวของผลประกอบการ 2H58 เมื่อเทียบ HoH เข้าไว้ในประมาณการอยู่แล้ว โดยให้กำไรสุทธิ 2H58 อยู่ที่ 2หมื่นล้านบาท ลดลงจาก 2.5 หมื่นล้านบาทใน 1H58 ส่วนปี 59
คาดการณ์ว่ากำไรสุทธิจะเติบโตได้ 8% เป็น 4.9 หมื่นล้านบาท ประเมินราคาพื้นฐานไว้ที่ 580 บาท ในเชิงกลยุทธ์ การอ่อนตัวของราคาหุ้น SCCเป็นจังหวะในการทยอยซื้อลงทุน สำหรับการวิเคราะห์ทางเทคนิค ให้แนวรับของ SCC ไว้ที่ 460-450 บาท, 420-400 บาท
สำหรับ PTT ในเชิงกลยุทธ์แนะนำซื้อลงทุน โดยฝ่ายวิจัยฯ DBS ให้ราคาพื้นฐาน 350 บาท คาดการณ์กำไรสุทธิปี 58 เติบโต 29% จากฐานที่ต่ำมากในปี 57 และขยายตัวต่อ 9% ในปี 59
นักวิเคราะห์ & กลยุทธ์ : อาภาภรณ์ แสวงพรรค
[email protected]
+ AEONTS (ราคาปิด 94 บาท) : บริษัทรายงานกำไรสุทธิ 2Q59(สิ้นสุด 20 ส.ค.58) เท่ากับ 731 ล้านบาท เติบโต 8.5%YoY ทั้งนี้รายได้รวมลดลงเล็กน้อย 2%YoY แต่เพิ่มขึ้น 8%QoQ เป็น 4.5 พันล้านบาท ซึ่งการลดลงของรายได้มาจากการขายลูกหนี้ออกไป นับไว้ว่าบริษัทยังมีผลประกอบการที่มีเสถียรภาพในยามเศรษฐกิจซบเซา บริษัทตั้งเป้าหมายสินเชื่อเติบโต 3-4% ในงวดปีนี้ และคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยให้การอุปโภคและบริโภคกระเตื้องขึ้นและทำให้บริษัทสามารถขยายฐานบัตรเครดิตได้เพิ่มขึ้นไปอีก บริษัทประกาศปันผลระหว่างกาล 1.60 บาท (คิดเป็น Interim Dividend Yield 1.7%) กำหนดXD 6 ต.ค.58
ในเชิงกลยุทธ์เห็นว่า AEONTS เป็นบริษัทไฟแนนซ์ที่มี Platform ธุรกิจดีและมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อช่วงเศรษฐกิจซบเซาคาดการณ์ว่ากำไรปีนี้จะทรงตัวแล้วค่อยเติบโตราว 10% ในปีหน้า ความน่าสนใจคือ Valuation ที่ต่ำ โดยซื้อขายที่ P/E ปี 58/59 เพียง 9 เท่า และมี ROE สูงถึง 25% ส่วนปันผล คาดการณ์ Yield ทั้งปีไว้ที่ 3.5%
นักวิเคราะห์ & กลยุทธ์ : อาภาภรณ์ แสวงพรรค
[email protected]
• ที่อยู่อาศัย : รมว.คลัง เร่งสรุปมาตรการกระตุ้นอสังหาฯใน 2สัปดาห์
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง คาดว่าจะสามารถสรุปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ภายใน 2 สัปดาห์โดยจะเสนอให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ปล่อยวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมด้วย รมว.คลัง กล่าวว่า ปัญหาที่แท้จริงของภาคอสังหาริมทรัพย์คือ ผู้ซื้อบ้านกู้เงินธนาคารพาณิชย์ไม่ผ่าน จึงให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ไปหามาตรการเพื่อดูแลลูกค้ากลุ่มนี้ จะเป็นการเติมเต็มส่วนที่ตลาดขาดอยู่ ยอมรับว่า ธอส.ก็จะมีความเสี่ยงหนี้เสียเพิ่มขึ้นซึ่ง ธอส.จะต้องไปบริหารลูกค้าดีของ ธนาคารเพื่อหารายได้มาเฉลี่ยกับส่วนที่จะเสียหาย โดยมาตรการอสังหาฯจะออกมาในระยะสั้นเท่านั้นไม่ใช่ยาว เพราะว่าเท่าที่หารือกับผู้ประกอบการยังขายบ้านได้ดี แต่อนาคตอาจมีปัญหา เพื่อป้องกันปัญหาอนาคต (Aspen)
ผลกระทบ: ทีมกลยุทธ์ Retail Team Research เห็นว่าเป็นไปในทางบวกเพราะที่ผ่านมาแม้ว่าบริษัทที่อยู่อาศัยต่างๆจะมียอดขายล่วงหน้ารอโอน(Backlog) เป็นจำนวนมาก แต่ก็ติดปัญหากับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยขอกู้กับสถาบันการเงินไม่ผ่าน อัตราการปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) จึงสูงขึ้นตามมา และมีผลให้การโอนไม่สำเร็จต้องยกเลิกไป ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับที่อยู่อาศัยประเภทจับกลุ่มลูกค้าระดับล่างและปานกลาง ขณะที่มีปัญหาน้อยกับกลุ่มลูกค้าระดับสูง ซึ่งมีฐานะการเงินที่ดีกว่า และมีการผ่อนชำระเงินดาวน์สูง
คำแนะนำ: คาดว่าหลักทรัพย์ที่มี Backlog ระดับปานกลาง-สูง และจับกลุ่มลูกค้าระดับราคาปานกลาง-ล่างจะได้ประโยชน์ เช่น PS, SIRI, LPN,SPALI, SENA และ LALIN เป็นต้น จึงจะมีการเก็งกำไรเข้ามาได้ในระยะนี้ ระหว่างที่รอความชัดเจนจากมาตรการ แต่ปัจจัยลบจะเกิดกับกลุ่มสถาบันการเงินได้ คือ ธอส.มีโอกาสมีหนี้เสียมากขึ้น ส่วนธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ก็อาจจะถูกแย่งลูกค้าจาก ธอส.ได้ เพราะเงื่อนไขปล่อยกู้ที่อ่อนกว่านั่นเอง
นักวิเคราะห์ & กลยุทธ์ : สมบัติ เอกวรรณพัฒนา [email protected]