- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 24 September 2015 17:12
- Hits: 1625
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ประเด็นที่น่าสนใจวันนี้เป็นเรื่องมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ที่คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า จึงน่าจะทำให้เกิดกระแสเก็งกำไรในหุ้นอย่าง SIRI, PS และ SPALI แต่สำหรับหุ้นที่เลือกเป็น Top Pick วันนี้เป็น SCC (FV@B 580) เหตุเพราะราคาหุ้นปรับลดลงแรงวานนี้โดยที่ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นฐาน ให้ Upside เปิดกว้างราว 23% และ Dividend Yield สูงกว่า 3%
ใกล้ได้ข้อสรุปมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ... กระตุ้นราคาหุ้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่าน่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้าประเด็นหลักที่กระทรวงการคลังต้องการแก้ปัญหาคือกรณีที่สถาบันการเงินปฎิเสธการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย โดย Rejection Rate ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 20–30% ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ เสนอให้ปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ ลงจาก 2% ของราคาประเมินเหลือ 0.02% และค่าธรรมเนียมการจดจำนองลงจาก 1% ของวงเงินกู้เหลือ 0.01% โดยจะให้ความสำคัญกับบ้านที่ระดับราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท ทั้งนี้หากพิจารณาจากจุดประสงค์ที่ต้องการของทั้งฝ่ายผู้ออกนโยบาย และฝ่ายผู้ประกอบการค่อนข้างจะสอดคล้องกันคือต้องการช่วยเหลือผู้ซื้อเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้หากจะพิจารณาถึงผลกระทบของมาตรการที่อาจออกมาพอสรุปได้ดังนี้
การปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์: ปกติจัดเก็บในอัตรา 2% ของราคาประเมินซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของราคาขาย แบ่งเป็นภาระของผู้ซื้อและผู้ขาย ฝ่ายละ 1% หากมีการปรับลดลง ก็จะทำให้ภาระของผู้ซื้อลดลงประมาณ 0.6% ของราคาซื้อบ้าน ขณะที่ผู้ประกอบการก็จะมีค่าใช้จ่ายลดลง หรือ Margin ก่อนหักภาษีเพิ่มขึ้นราว 0.6% เช่นกัน การปรับลดค่าธรรมเนียมจดจำนอง: ปกติจัดเก็บจากผู้ซื้อบ้านในอัตรา 1% ของวงเงินที่ผู้ซื้อบ้านต้องการกู้จากสถาบันการเงิน โดยที่ฝ่ายผู้ประกอบการไม่มีภาระต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ดังนั้นหากปรับลดลงเหลือ 0.01% ผลประโยชน์ที่ได้ก็จะตกอยู่กับฝ่ายผู้ซื้ออย่างเดียว
ภาษีธุรกิจเฉพาะ: แม้จะไม่ได้มีการพูดถึงในข่าวนี้ แต่ก็ควรนำมาวิเคราะห์ไว้ด้วย เนื่องจากเคยเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการที่นำมาใช้ในอดีต ภาษีธุรกิจเฉพาะ จัดเก็บในอัตรา 3.3% ของราคาขายบ้าน โดยจัดเก็บจากฝ่ายผู้ขายทั้งจำนวน หากมีการปรับลดลง ก็จะทำให้ฝ่ายผู้ขายได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะจะทำให้ Margin ก่อนหักภาระภาษีปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% (ขึ้นอยู่กับว่าจะปรับลดเหลือเท่าใดในอดีตเคยลงมาอยู่ที่ 0.11%) เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ Backlog ที่ผู้ประกอบการสะสมไว้ โดยตัวเลข ณ สิ้น 2Q58 Backlog ของผู้ประกอบการ 15 รายอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท หาก Margin เพิ่มขึ้น 3% ก็จะทำให้กำไรเพิ่มขึ้น 7.2 พันล้านบาท ก่อนภาษี หรือ ราว 5.7 พันล้านบาทหลังภาษี
ประเด็นเรื่องมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ น่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาเก็งกำไรในหุ้นอสังหาฯ เพิ่มมากขึ้นจากนี้ไป ส่วนบริษัทไหนจะได้
ประโยชน์มากน้อยเท่าใดอยู่ที่ขอบเขตของมาตรการ โดยหากครอบคลุมสินค้าที่ราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท กลุ่มที่ได้ประโยชน์อาจมีไม่มาก เนื่องจากราคาขายสินค้าในพอร์ตของผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีราคาที่สูงขึ้น แต่บริษัทที่ยังมีฐานสินค้าในกลุ่มนี้อยู่บ้านก็น่าจะ ได้แก่ PS , LPN, SPALI แต่หาก มาตรการครอบคลุมไปถึงบ้านราคา 3–5 ล้านบาทด้วย กลุ่มผู้ได้ประโยชน์ก็จะกระจาย โดยผู้ได้ประโยชน์มากที่สุดก็น่าจะได้แก่ ผู้ประกอบการที่มี Backlog สะสมอยู่ในระดับสูง เช่น SIRI, PS, SPALI ,ANAN, LPN เป็นต้น สำหรับหุ้นที่ฝ่ายวิจัยเลือกเป็น Top Pick ในกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยได้แก่ SIRI (FV@B 2.13), PS (FV@B 34.46), SPALI (FV@B 27.57)
OECD ปรับลด GDP Growth โลกลง สะท้อนเศรษฐกิจจีนชะลอตัว
ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มาจากจีน และความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ รวมทั้งการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมัน สร้างความกังวลต่อการเติบโตของ GDP โลกว่าจะสามารถเป็นไปได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ความกังวลส่งผลให้สำนักวิจัยต่างๆ ปรับลด GDP Growth โลก ในปีนี้ลง ล่าสุด องค์การทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้ออกมาปรับลด GDP Growth ในปีนี้ลงเหลือ 3% (จากเดิมคาดไว้ที่ระดับ 3.1%) และปีหน้าปรับลดลงเหลือ 3.6% (จากเดิม 3.8%) (เปรียบเทียบกับคาดการณ์ของ IMF เมื่อเดือน ก.ค. คาดว่า GDP Growth โลก ปี 2558 โต 3.3 % และ ปี 2559 โต 3.8 %) สาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวลงของจีน (ขนาด GDP เป็นลำดับที่ 2 ของโลก) หลังจากดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นของจีน ประจำเดือน ก.ย. จัดทำโดย Markit และ Caixin ออกมาต่ำที่สุดในรอบกว่า 6 ปีครึ่ง นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2551 อยู่ที่ระดับ 47.0 ลดลงมากกว่าที่
ตลาดคาด 47.5 และลดลงจาก 47.3 ในเดือน ส.ค สะท้อนให้เห็นการชะลอตัวลงที่ต่อเนื่องในภาคการผลิตของจีน
ทางด้าน สหรัฐ มีการรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิต ประจำเดือน ก.ย. อยู่ที่ระดับ 53 ทรงตัวเท่ากับเดือนก่อนหน้า และดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 52.8 โดยประเด็นที่ต้องจับตา คือ การแถลงของนางเจเน็ต เยลเลน ประธาน Fed ในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยฯ ซึ่งตลาดมีการคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายในปี 2558 จากการให้ความเห็นของ นายเดนนิส ล็อคฮาร์ท ประธาน Fed สาขาแอตแลนตา กล่าวว่า ยังคงหวังว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งฝ่ายวิจัยก็ยังเชื่อว่า Fed อาจจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วที่สุดในช่วงปลายปีนี้ (15-16 ธ.ค.) หรืออาจเลื่อนไปเป็นต้นปีหน้าก็มีความเป็นไปได้
การชะลอตัวของภาคการผลิตของจีนวานนี้ ส่งผลให้ราคาราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ WTI วานนี้ลงหนักกว่า 3.5% เช่นเดียวกับน้ำมันดิบ Brent วานนี้ปรับลดลงเกือบ 3% และยังไม่สามารถกลับขึ้นไปยืนเหนือ 50 เหรียญฯ/บาร์เรลได้เป็นเวลาเกือบเดือนแล้ว ประกอบกับวานนี้สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ได้รายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์สิ้นสุด 18 ก.ย. ลดลง 1.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 453.97 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2 สวนทางกับสต็อกน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล เนื่องจากสิ้นสุดฤดูกาลขับขี่ในสหรัฐและเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ซึ่งเพิ่มความกังวลเรื่อง Over Supply ประกอบกับ Demand ที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากผู้บริโภคน้ำมันอันดับ 2 ของโลกอย่างจีน ที่ภาคการผลิตอยู่ในภาวะหดตัว
ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยสูงราว 5 พันล้านบาท
ความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก บวกกับตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนที่ประกาศออกมาอยู่ที่ 4.70 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 6 ปีนั้น กดดันให้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคสูงถึง 1 พันล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิทั้ง 5 ประเทศ นำโดยไต้หวันถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 495 ล้านเหรียญ รองลงมาคือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 303 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ตามมาด้วยอินโดนีเซียถูกขายสุทธิราว 47 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7) และฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 34 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ส่วนไทยต่างชาติสลับมาขายสุทธิสูงถึง 136 ล้านเหรียญ หรือ 4.9 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิที่สูงสุดในรอบ 34 วันที่ผ่านมา (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็น 2 วัน) กดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ 36.19 บาท/ดอลลาร์
แรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่ออกมาวานนี้ เชื่อว่าน่าจะมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้น SCC ปรับลดลงถึง 20 บาท โดยจากการตรวจสอบข้อมูลในเชิงพื้นฐานพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในส่วนของ Spread ของธุรกิจปิโตรเคมีในสายโอเลฟินส์ ยังอยู่ที่ระดับสูง และถึงแม้จะมีการบันทึก Stock Loss เข้ามาบ้างในงวด 3Q58 แต่ก็เป็นสิ่งที่ถูกคาดหมายไว้ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว การปรับตัวลดลงของ SCC จึงน่าจะถือเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่จะทยอยซื้อสะสมเข้าพอร์ตการลงทุน โดยราคาหุ้นปัจจุบันมี Upside จากปัจจัยพื้นฐานราว 23% และให้ Dividend Yield สูงกว่า 3% ต่อปี
ทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 7,080 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 3,033 ล้านบาท
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์