- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 23 September 2015 18:04
- Hits: 1087
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การปรับลดประมาณการกำไรกลุ่มธนาคารฯ อันเนื่องมาจากปัญหา SSI กระทบ EPS ปี 2558 ของบริษัทจดทะเบียนราว 0.7 บาท/หุ้น ทำให้ค่า Current PER ปัจจุบันอยู่ที่ 16.1 เท่า ยังคงให้ความสำคัญกับหุ้นที่พื้นฐานแข็งแกร่ง และได้ประโยชน์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เลือก CK([email protected]) และ TCAP([email protected]) เป็น Top picks
ปรับประมาณการฯ กลุ่ม ธ.พ. ลง 3.5% กระทบ EPS ตลาดราว 0.7 บาท
ปัญหาหนี้ของ SSI ได้บทสรุปว่าเจ้าหนี้ทั้ง 3 รายคือ KTB, SCB และ TISCO ตัดสินใจจัดชั้นหนี้ SSI เป็น NPL พร้อมใช้นโยบายกันสำรองที่เข้มงวดมากขึ้น โดยกันสำรอง SSI-UK 100% แบบไม่คิดมูลค่าหลักประกัน และกันสำรอง SSI-ไทยทั้งจำนวน แบบคิดมูลค่าหลักประกัน ส่งผลให้ ธ.พ. ทั้ง 3 ราย ต้องกันสำรองหนี้ฯ เพิ่มขึ้นในงวด 3Q58 ได้แก่ KTB กันสำรองหนี้ฯ ราว 9 พันล้านบาท กระทบสุทธิต่อกำไรสุทธิงวด 3Q58 ราว 4.2 พันล้านบาท ด้าน SCB กันสำรองหนี้ฯ ราว 1.1 หมื่นล้านบาท กระทบสุทธิต่อกำไรสุทธิงวด 3Q58 เพียง 2.40 พันล้านบาท และ TISCO กันสำรองหนี้ฯ ราว 1.50 พันล้านบาท กระทบสุทธิต่อกำไรสุทธิงวด 3Q58 เท่ากับ 1.20 พันล้านบาท (ดังรายละเอียดใน Industry Update กลุ่มธนาคารพาณิชย์ วานนี้ (22 ก.ย. 58))
ทั้งนี้ ผลจากการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวคาดว่ากระทบต่อกำไรสุทธิกลุ่ม ธ.พ. โดยรวมในปีนี้ ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยต้องปรับลดประมาณการกำไรกลุ่ม ธ.พ. ลงจากเดิม 3.5% หรือราว 6.6 พันล้านบาท เบื้องต้นฝ่ายวิจัยประเมินว่าเหตุดังกล่าวอาจทำให้กำไรสุทธิรวมของตลาดฯ ในปีนี้ลดลง (ภายใต้สมมติฐานไม่มีการปรับประมาณการฯ กลุ่มอื่นลง) มาอยู่ที่ประมาณ 8.3 แสนล้านบาท (จาก 8.36 แสนล้านบาท) และกระทบต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ให้ลดลงราว 0.7 บาท มาอยู่ที่ราว 89 บาท/หุ้น (จาก 89.63 บาท/หุ้น) อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ valuation ของ SET จะพบว่า ระดับ current PER ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 16.1 เท่า มี upside เหลืออีกเพียง 4- 7% เมื่อเทียบกับดัชนีเป้าหมายสิ้นปีที่ 1,435 - 1,480 จุด (อิง Expected PER 16 - 16.5 เท่า) นอกจากนี้ ระดับแนวต้านจิตวิทยา 1,400 จุด (คิดเป็นระดับ Current PER ประมาณ 16.34 เท่า) ยังถือว่าเป็นแนวต้านใหญ่ที่ SET ยังผ่านไปไม่ได้เนื่องจากยังมีแรงขายกำไรที่บริเวณนี้ตลอด จึงทำให้เชื่อว่า SET ยังคงแกว่งตัวในกรอบ 1,370 – 1,400 จุด ตัวเลือกการลงทุน จึงยังเน้นเลือกหุ้นที่มีประเด็นบวกสนับสนุน หรือเป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากโครงการภาครัฐ อาทิ CK([email protected]) และ TCAP([email protected]) หรือหุ้นในหมวดพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ยังได้ sentiment เชิงบวก ได้แก่ SIRI (FV@B 2.13), SPALI (FV@B 27.57), PS (FV@B 34.46), AP(FV@B 8.64) และ SC (FV@B 4.06)
Super Cluster เป็นบวกต่อนิคมอุตสาหกรรม: WHA โดดเด่นที่สุด
วานนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษรวมกลุ่ม (Super Cluster) ใน 6 อุตสาหกรรมเป้าหมายประกอบด้วย 1. ยานยนต์และชิ้นส่วน 2. เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม 3. ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4. ดิจิทัล 5. นวัตกรรมด้านอาหาร และ 6. ศูนย์รวมการแพทย์ ในพื้นที่ลงทุน 9 จังหวัดที่กำหนด โดยผู้ประกอบการที่ลงทุนตามกลุ่ม Super Cluster จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อน 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี (ปีที่ 9-13) นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ทางภาษีอื่นๆ เช่น การสนับสนุนการให้ถิ่นที่อยู่ถาวรสำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติ และอนุญาตให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมได้ ทั้งนี้ จุดประสงค์ของนโนบายการรวมกลุ่มเพื่อต้องการให้เกิดการรวมตัวกันเป็นห่วงโซ่การผลิตที่ครบวงจรตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพระหว่างกัน และช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้
สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลบวกโดยตรงจากนโยบายนี้คือกลุ่มผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมฯ ได้แก่ AMATA, HEMRAJ และ ROJNA เนื่องจาก BOI ได้มีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการที่จะขอรับสิทธิประโยชน์ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2559 และต้องเริ่มดำเนินการภายในสิ้นปี 2560 ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงเชื่อว่าน่าจะทำให้ยอดขายที่ดินใหม่ (Presales) ของกลุ่มฯเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปี 2559 สำหรับ Top Pick ของกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ยังเลือก WHA (ซื้อ: [email protected]) เนืองจากธุรกิจพัฒนานิคมฯของบริษัทย่อย (HEMRAJ) ได้รับ Sentiment บวกจากนโยบายดังกล่าว และมีแนวโน้มกำไรเด่น โดยเฉพาะงวด 4Q58 ซึ่งจะมีการขายสินทรัพย์เข้า REIT
ตลาดหุ้นโลก ยังคงเต็มไปด้วยความกดดันเศรษฐกิจโลก
ตลาดหุ้นโลกยังคงมีความกังวลในเรื่องเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยในวันนี้ทั่วโลกกำลังจับตาการประกาศดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีน เดือน ก.ย. ออกมา ซึ่งตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ 47.5 จากเดือนก่อนหน้าที่ 47.3 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2552 ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงหนัก ซึ่งระดับที่ต่ำกว่า 50 หมายถึงภาคการผลิตจีนยังชะลอตัว ล่าสุด ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB)ได้มีการปรับการคาดการณ์ GDP Growth ของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียลงสู่ระดับ 5.8% ในปี 2558 (เดิม คาดไว้ที่ระดับ 6.1%) และ 6% ในปี2559 (เดิม คาดไว้ที่ระดับ 6.2%) โดยสาเหตุที่ปรับลดลงเนื่องมาจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ซึ่งยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นโลกอยู่
ทางด้านของตลาดหุ้นยุโรป วานนี้ถูกกดดันหนักหลังจากประเด็นของโฟล์คสวาเกน บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก ถูกเปิดเผยว่าบริษัทได้ฉ้อโกงการตรวจวัดมาตรฐานการควบคุมการปล่อยไอเสียรถยนต์ของสหรัฐอเมริกามานานกว่า 4 ปี ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทลดลงหนักกว่า 20% มูลค่าตลาดหายไปถึง 1.6 หมื่นล้านยูโร (ราว 6.4 แสนล้านบาท) และกดดันทำให้ดัชนี DAX เยอรมัน วานนี้ติดลบไปถึง 3.8 % สถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีนักในยุโรป ทำให้คาดการณ์กันว่าการประชุม ECB วันที่ 22 ต.ค.นี้ ECB อาจจะเพิ่มการเข้าซื้อพันธบัตรวงเงินกว่า 1 ล้านล้านยูโร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำอยู่(เงินเฟ้อล่าสุดติดลบ 0.4%)
ยังมีความเสี่ยงที่ทำให้กระแสเงินทุนยังไม่ไหลกลับเข้ามา
วานนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเล็กน้อยราว 2 ล้านเหรียญ แต่เป็นการขายสุทธิ 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซียถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 26 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 8 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) และเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 5 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ส่วนที่เหลืออีก 2 ประเทศต่างชาติซื้อสุทธิ คือ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 39 ล้านเหรียญ ส่วนตลาดหุ้นไทย แม้วานนี้จะปรับตัวลดลง 13.41 จุด หรือราวๆ 1% แต่ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 3 ล้านเหรียญ หรือ 99 ล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงที่จะกดดันให้กระแสเงินทุนจากต่างชาติยังไม่ไหลกลับเข้ามา คือ ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกยังมีความผันผวนสูง รวมถึงในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทไทยกลับมาอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุดอยู่ที่ 36.10 บาท/ดอลลาร์
ด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 20,634 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิราว 320 ล้านบาท
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์