- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 15 September 2015 18:04
- Hits: 1250
บล. เอเซีย พลัส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แผนกระตุ้นเศรษฐกิจมีความชัดเจนมากขึ้น พร้อม เน้นลงทุนระยะยาว โดยเพิ่มระยะเวลาส่งเสริมการลงทุน (BOI) เชื่อว่าน่าจะประคองดัชนี ท่ามกลางความกังวลในจีน ยังเน้นหุ้น Domestic Play (CK, KBANK, TCAP) วันนี้เลือก Top pick คือ CK([email protected])
กระตุ้นการลงทุนผ่าน BOI ดีต่อ CK/WHA
หลังจากรัฐบาล เดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น พร้อมมาตรการช่วยเหลือ SMEs ล่าสุด ออกมาตรการเพิ่มเติมโดยเน้นไปที่ การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน 2 ส่วนหลัก คือ
เร่งการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล ทำให้การลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็คมีความชัดเจนมากขึ้นอีก หลัง รมว.คมนาคม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกลับไปพิจารณาแผนดำเนินงานโครงการลงทุนขนาดใหญ่ 17 โครงการ มูลค่ารวม 1.6 ล้านล้านบาท ให้มีความกระชับมากขึ้น โดย 8 โครงการที่ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ประกอบด้วย ถนนมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง รถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง โครงการด้านการพัฒนาท่าเรือ 2 โครงการ และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 จะเร่งเดินหน้าเปิดประมูลให้ได้โดยเร็ว ซึ่งปัจจุบันมี 3 โครงการที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการเปิดประมูลแล้ว คือ ถนนมอเตอร์เวย์ช่วงพัทยา-มาบตาพุด และรถไฟทางคู่ช่วงแก่งคอย-ฉะเชิงเทรา และช่วงจิระ-ขอนแก่น ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ที่เหลืออีก 9 โครงการ คาดว่าจะนำเสนอเข้า ครม. ในปีนี้ ประกอบไปด้วยโครงการรถไฟฟ้า 5 โครงการ รถไฟทางคู่ 2 โครงการ และรถไฟความเร็วสูงอีก 2 โครงการ และจะทยอยเปิดประมูลในปี 2559-2560 สร้างกระแสเชิงบวกต่อกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่จะมีงานเข้ามาหล่อเลี้ยงต่อเนื่องไปอีกหลายปี
ฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักการลงทุน 'มากกว่าตลาด 'และ เลือก CK (FV@B 31.25) เป็น Top Pick
ดึงดูดการลงทุนภาคเอกชน : คณะกรรมการ BOI อนุมัติเพิ่มระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเดิม 8 ปี เป็น 13 ปี ให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย นอกจากนี้ยังเพิ่มการลดหย่อนภาษีจากเดิม 50% เป็น 90% ในเวลา 5 ปี หลังจากครบกำหนดการได้รับยกเว้นภาษีในช่วง 13 ปีแรก โดยขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงเสนอให้ ครม. เห็นชอบก่อนที่จะเสนอเข้าที่ประชุม สนช. คาดจะมีผลบังคับใช้ในปี 2559 สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ใหม่นี้จะถูกคัดเลือกโดย BOI อีกครั้งหนึ่ง เมื่อ ครม. อนุมัติแล้ว แต่ในเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มที่เป็นการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศเป็นหลัก โดยฝ่ายวิจัยมองว่าประเด็นดังกล่าวน่าจะจูงใจให้เกิดการลงทุนมากขึ้น
หลังจากยอดคำขอยื่นรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในช่วง 1H58 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมเพียง 7.11 หมื่นล้านบาท หดตัวแรง 79% YoY เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ได้ยื่นคำขอไปก่อนหน้าแล้วในช่วงปลายปี 2557 ก่อนที่ BOI จะปรับเปลี่ยนกฏเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนแบบใหม่ที่เปลี่ยนจากกำหนดตามพื้นที่ Zoning มาเป็นกำหนดตามประเภทอุตสาหกรรม โดยเมื่อพิจารณาคำขอฯทั้งหมดใน 1H58 พบว่ามีสัดส่วนเป็นกิจการเป้าหมายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใหม่ของ BOI และนโยบายภาครัฐสูงถึง 63% อาทิเช่น กิจการพลังงานทดแทน, กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยาง, กิจการที่สอดคล้องกับนโยบาย Digital Economy และกิจการระบบโลจิสติกส์ เป็นต้น สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ชัดเจนที่สุดจากมาตรการนี้ได้แก่ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม โดยมี WHA (FV@B 4.72) เป็น Top Pick
ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ มีความเชื่อมั่นต่อแผนกระตุ้นฯ
หลังจากภาครัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นระลอก ดังกล่าว ล่าสุดได้มีการเปิดเผยผลสำรวจของ กรุงเทพโพลล์ (ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ) โดยการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ จำนวน 55 คน ระหว่าง 4 – 10 ก.ย. 58 ผลสรุปออกมา ส่วนใหญ่เกือบ 70% เห็นตรงกันว่ามาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง ที่เหลือไม่แสดงความเห็น หรือมีเพียงส่วนน้อยราว 5.5% ที่เห็นว่าไม่ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และผู้ตอบส่วนใหญ่ (55%) เห็นว่าเป็นนโยบายประชานิยม (มีเพียง 31% ยังเชื่อว่าน่าจะเป็นนโยบายประชานิยมที่ดี) ส่วนมาตรการช่วยเหลือ SMEs นั้น ผู้ตอบกว่า 91% เห็นด้วย และกว่า 67% ของผู้ตอบ เชื่อมั่นในตัวรองนายกฯ สมคิด ฯ
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับผลการสำรวจของเอเบคโพลล์ เมื่อ 10 เม.ย. 2544 หลังจากออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เมื่อต้นปี 2544 ในขณะนั้นพบว่าส่วนใหญ่ 54% ของผู้ตอบ มีความเชื่อมั่นต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เหลือ 46% ไม่เชื่อมั่น แต่ผลปรากฏว่าในระยะ 6 เดือนหลังจากนั้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ เชื่อว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้น่าจะให้ผลในเชิงบวกลักษณะเดียวกัน
เงินเอเซียชะลออ่อนค่า สะท้อน Fed เลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไป
ท่ามกลางความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ได้ลดความคาดหวังต่อการขึ้นดอกเบี้ยฯ ในการประชุมของ Fed ในวันที่ 16-17 ก.ย. นี้ ล่าสุด นายลาร์รี่ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีคลัง และ นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุน IMF แสดงความเห็นที่ตรงกันว่า Fed ไม่ควรรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ในการประชุมครั้งนี้ เพราะเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของ Bloomberg เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว พบว่าผู้ที่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบเดือนนี้ เหลือเพียง 28% เท่านั้น (ลดลงจาก 38% สำรวจเดือน ก.ค.) ขณะที่ส่วนใหญ่ราว 72% (เพิ่มจาก 62% เดือน ก.ค.) คาดว่าจะคงดอกเบี้ย 0.25% และ ลดเป้าหมายการขึ้นดอกเบี้ย ณ สิ้นปีนี้ จะอยู่ที่ 0.76% (จากเดิมที่ 1.375%)
เช่นเดียวกับการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) วันนี้ ตลาดคาดการณ์ว่า BOJ จะยังคงนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไป และจะให้ความสนใจในการประชุมรอบถัดไปคือ 30 ต.ค. ซึ่งจะมีการแถลงเป้าหมายเศรษฐกิจใน 2559 ทำให้คาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม (จากปัจจุบันที่กำหนดวงเงิน QE 80 ล้านล้านเยน/ปี) ทั้งนี้การรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจล่าสุด พบว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมใน ก.ค. ชะลอตัวลงโดยเพิ่มขึ้นเพียง 0 % vs 0.2% ใน มิ.ย. และเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. ยังต่ำมากเพียง 0.2 %
ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 16 ก.ย. นี้ พรุ่งนี้ ว่าน่าจะยืนดอกเบี้ยฯ ที่เดิมคือ 1.5% เพราะเชื่อว่าการที่ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบราว 2 แสนล้านบาท น่าจะกระตุ้นกำลังซื้อได้ดีกว่าการลดดอกเบี้ย ฯ และน่าจะเห็นผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในงวด 4Q58
ด้วยความคาดหวังว่า Fed จะชะลอตัวขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ส่งผลให้เงินสกุลดอลลาร์ ชะลอการแข็งค่าโดยอ่อนค่าลงราว 1% จากจุดที่แข็งค่าสุด (เช่นเดียวกันเมื่อเทียบเงินดอลลาร์กับยูโรก็พบว่าเริ่มปรับอ่อนค่ามา 0.9%) ตรงกันข้ามกับเงินสกุลต่างๆของประเทศคู่ค้าในภูมิภาคเอเชีย ที่กลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง อาทิ ริงกิต (1%) เปโซ (0.6%) รูปี (0.7%) และรูเปียะห์ที่ยังยืนระดับเดิม ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่ลดแรงกดดัน Fund Flow ระยะสั้น
แรงขายจากต่างชาติในตลาดหุ้นภูมิภาคเริ่มเบาบางลง
ช่วง 2-3 วันทำการที่ผ่านมา แรงขายจากต่างชาติในตลาดหุ้นภูมิภาคเริ่มมีแนวโน้มลดน้อยลง และกลับมีแรงซื้อในบางประเทศกลับเข้ามาบ้าง โดยวานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคเล็กน้อยราว 19 ล้านเหรียญ แต่เป็นการซื้อสุทธิถึง 3 ประเทศ คือ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 43 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิได้เพียงวันเดียว) เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่ถูกซื้อสุทธิราว 11 ล้านเหรียญ และ 7 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ส่วนที่เหลืออีก 2 ประเทศต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 78 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 27) และ ไทย แต่ขายสุทธิเล็กน้อยราว 3 ล้านเหรียญ หรือ 94 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 1,104 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 5,795 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 784 ล้านบาท ซึ่งช่วยหนุนให้เงินเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 36.04 บาท/ดอลลาร์
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
หุ้นที่แนะนำใน Market talk