- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 11 September 2015 16:44
- Hits: 2189
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
หลังจากที่ SET ปรับตัวขึ้นกว่า 100 จุด (จากจุดต่ำสุดที่ 1,292 จุด) การปรับฐานระยะสั้นจึงเป็นเรื่องปกติ แต่เชื่อว่าจะมีโอกาสเดินหน้าต่อ ด้วยแรงหุ้นของหุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังชอบหุ้น Domestic Play Top pick คือ KBANK(FV@B232) และเพิ่ม TCAP(FV@B37) น่าจะได้ประโยชน์เต็มที่ทั้ง SMEs และ การลดภาษีส่งออกรถยนต์มือสอง
เงินเฟ้อต่ำทั่วโลก กดดัน Fed เลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไป
วานนี้มีการประกาศดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่สำคัญในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะภาคการผลิต สะท้อนจากดัชนีราคาผู้ผลิตพบว่ายังบคงชะลอตัวลง เริ่มจาก จีน พบว่าดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ส.ค. หดตัว 5.9% หดตัวมากกว่าที่ตลาดไว้ว่าจะหดตัว 5.6% (ติดลบต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 42) สวนทางกับ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ส.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 2% (เกิดจากราคาอาหารเพิ่มขึ้น 3.7 %, ราคาเนื้อสุกร เพิ่มขึ้น 19.6%, ราคาผักเพิ่มขึ้น 15.9 %) สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 1.8% ยิ่งเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2558 อาจจะเติบโตได้ไม่เกิน 7% เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัว 3.6% มากกว่าที่ตลาดคาดว่า จะหดตัว 3.3% (ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5) และยอดคำสั่งซื้อเครื่องจักรใน ก.ค. ลดลงที่ 2.8 % น้อยกว่าที่เดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 16.6%
ส่วนทางด้านสหรัฐ มีการรายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการครั้งแรกรายสัปดาห์ สิ้นสุด 5 ส.ค. เป็นไปตามคาดที่ระดับ 2.75 แสนราย ลดลงจากครั้งก่อนหน้า 7,000 ราย สอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่ลดลงเหลือ 5.1% ต่ำสุดตั้งแต่วิกฤติ subprime แต่อย่างไรก็ตามสหรัฐยังคงมีปัญหา เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอยู่ที่เพียง 0.1 % (ต่ำกว่าเป้าหมาย 2%) ซึ่งทำให้ ASPS เชื่อว่า Fed จะยังไม่รีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม ในวันที่ 16-17 ก.ย. (อีก 1 สัปดาห์ข้างหน้าที่จะถึงนี้) โดยคาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วสุดในปลายปีคือ 15-16 ธ.ค. 2558 หรืออาจเป็นต้นปี 2559 สอดคล้องกับอังกฤษ หลังจากการประชุม BOE เมื่อวานนี้ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ระดับ 0.5 % (คงที่ระดับ 0.5 % ตั้งแต่ มี.ค 52) โดย นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารอังกฤษ ให้ความเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ BOE ยังมีโอกาสปรับขึ้นได้ในปีหน้า โดยมองต่างจากตลาดที่ว่า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ จึงทำให้อังกฤษมีโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปีหน้า ใกล้เคียงกับสหรัฐ
SET ปรับฐานแล้วน่าจะไปต่อ โดยหุ้น Domestic Play นำตลาด
รัฐเตรียมอัดฉีดเงินเข้าระบบภายในเดือนนี้ โดยจะใช้โอกาสของการเปิดตัวยุทธศาสตร์สานพลังประชารัฐ เพื่อเศรษฐกิจรากฐาน 20 ก.ย. ที่อิมแพ็ค เมืองทอง เป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งน่าจะหนุนให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบในเดือน ต.ค. เป็นต้นไป จึงเป็นไปได้ที่ GDP Growth ในงวด 4Q58 จะฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญจากงวด 3Q58 และน่าจะกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องในปี 2559 ทั้งนี้ล่าสุดทีมวิเคราะห์เศรษฐกิจของ ASPS ได้ทำการปรับเพิ่ม GDP Growth ในปี 2558 จากเดิมที่ประเมินไว้ 2.5% เล็กน้อย ขึ้นมาอยู่ที่ 2.7% โดยคาดว่าในงวด 4Q58 GDP Growth จะอยู่ 2.6% ฟื้นตัวจาก 2.3% ในงวด 3Q58 และในปี 2559 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.8% โดยปัจจัยขับเคลื่อนมาจากภาคครัวเรือนเป็นหลัก แม้ว่าจะกำหนดให้การส่งออก และ นำเข้า ในรูปดอลลาร์ จะหดตัวเฉลี่ย -3.48% และ -5.53% ตามลำดับ
ในปี 2558 แต่เงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเฉลี่ย 34 บาท (อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับ 32.83 บาทในปี 2557) จะทำให้มูลค่าการส่งออกและนำเข้าในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น 1.4% และ 3.2% ตามลำดับ
และเช่นเดียวกับสำนักวิจัยบางแห่งได้ออกมาปรับเพิ่มประมาณการฯ ในปีนี้ขึ้น เช่นกัน โดย ล่าสุด มหาวิทยาลัยหอการค้า ได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้จากเดิม 2.5-2.9% มาเป็น 2.8%-3.3% โดยประเมินว่างวด 4Q58 เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวในลักษณะเดียวกับที่ ASPS ได้นำเสนอข้างต้น ซึ่งถือเป็น sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นอย่างน้อยในระยะสั้น ๆ 1-2 สัปดาห์ ทั้งนี้แม้ดัชนีตลาดปัจจุบันจะมี Current PER 15.7 เท่า ซึ่งเกินจากระดับดัชนีเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่อิง Expected PER 15.5 เท่าก็ตาม แต่ผลบวกจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะสร้างความเชื่อมั่นต่อผลการดำเนินงานของตลาดที่ดีขึ้นในอนาคต โดยคาดว่าน่าจะดันให้ดัชนีตลาดในปีนี้ มีค่า Expected PER เพิ่มขึ้น 1-2 เท่า ไปสู่ระดับ 16-16.5 เท่า ในลักษณะใกล้เคียงกับปี 2544 -2545 ซึ่งพบว่าหลังจากที่มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจผลักดันให้ PER ตลาดขึ้นจากระดับ 8 เท่าปลายปี 2544 เป็น 12 เท่าในงวดต้นปี 2545 นั่นหมายความว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยน่ามีโอกาสขึ้นไปแตะ 1,436-1,486 จุด เทียบกับดัชนีตลาดหุ้นวานนี้ที่ 1396 จุด พบว่ามี upside หรือ 2.9-6.4% โดยกลยุทธ์การลงทุนแนะนำเป็นรายหุ้น โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม Domestic Play ได้แก่ CK, SCC, TASCO, ROBINS, ADVANC, KBANK, INTUCH, BTS, TCAP เป็นต้น และยังเลือกหุ้น Top picks : SCC, KBANK, TCAP วันนี้เพิ่ม TCAP เข้ามาเนื่องจากได้ประโยชน์จากมาตรการรัฐในหลายด้าน ทั้งสินเชื่อ SMEs, การปลดล๊อกรถยนต์คันแรก จากเดิม 5 ปี เหลือ 3 ปี ทำให้เกิดการเปลี่ยนมือได้ ช่วยให้บริษัทที่ยึดรถยนต์นำออกมาขายได้ และ ล่าสุด การปรับลดภาษีส่งออกรถยนต์มือ ทั้ง 3 ประเด็นเอื้อประโยชน์ให้กับ TCAP ทั้งสิ้น
ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง
วานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 122 ล้านเหรียญ โดยเป็นการขายสุทธิ 3 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ ขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 187 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 25) ตามด้วยฟิลิปปินส์ ขายสุทธิราว 13 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7) เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่ ขายสุทธิราว 9 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 8) ส่วนที่เหลืออีก 2 ประเทศซื้อสุทธิคือไต้หวันถูกซื้อสุทธิราว 64 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) และ ไทยสลับมาซื้อสุทธิเป็นวันแรกราว 23 ล้านเหรียญ หรือ 825 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 6 วัน) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 1,115 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 6,884 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 1,105 ล้านบาท ส่วนทางค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 36.05 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์