- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 10 September 2015 17:14
- Hits: 1654
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตั้งแต่งวด 4Q58 และทำให้ EPS ของตลาดปีนี้ที่ประเมินหุ้นละ 89 บาท และเพิ่มเป็น 101.92 บาทในปีหน้า เป็นไปได้สูง หรือมีโอกาสปรับขึ้นได้บางกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากมาตรการรัฐ ซึ่งช่วยถ่วงดุลเศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้บ้าง จึงยังเน้นหุ้น Domestic Play เลือก KBANK(FV@B232) เป็น Top pick
การกระตุ้นเศรษฐกิจจะหนุน SET ขึ้นอีกอย่างน้อย 4-5%
ดังที่กล่าวแล้วว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐในรอบนี้มีความคล้ายคลึงกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2554 ทั้งการกระตุ้นในระดับผู้มีรายได้น้อย และการให้ความช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการในระดับกลางและเล็ก ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลเศรษฐกิจในอดีตพบว่า หลังจากที่มีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ได้ฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นเวลา 11 เดือน นับตั้งแต่เดือนแรกที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจคือ ต.ค. 2544 และหนุนให้ GDP Growth ฟื้นตัวในงวดถัดไปและหนุนให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) เพิ่มขึ้นจาก 3.6% งวด 3Q44 เป็น 4.1 % ในงวด 4Q44 และในปี 2545 เพิ่มขึ้นถึง 6.1% นับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับ 3.4% ในปี 2544 โดยพบว่าเครื่องจักรสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือการบริโภคภาคครัวเรือน ขณะที่การลงทุนโดยรวม มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นอีก 2-3 ไตรมาสถัดมา ซึ่งในรอบนี้ ASPS ประเมินในเบื้องต้นคาดว่า GDP Growth ในงวด 4Q58 น่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดที่ 2.3% ในงวด 3Q58 เพิ่มเป็น 2.6% ในงวด 4Q58 และตลอดปี 2558 น่าจะอยู่ที่ระดับ 2.7% สูงกว่าประมาณการเดิมที่คาดไว้เพียง 2.5% และในปี 2559 น่าจะกระเตื้องขึ้นเป็น 3.8% ซึ่งจะนำเสนอในรายละเอียดอีกครั้งใน Economic Update
เช่นเดียวกับด้านการทำกำไรของตลาดพบว่า หลังจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในงวด 4Q44 เต็มไตรมาส แต่ปรากฏว่าเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวในงวดถัดไปคืองวด 1Q45 พบว่า กำไรตลาดอยู่ที่ 35,570 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 58,710 ล้านบาทในงวด 2Q45 เทียบกับงวด 4Q44 ที่ต่ำสุดราว 13,659 ล้านบาท และทำให้ปี 2545 กำไรตลาดอยู่ที่ 208,549 ล้านบาท (ส่วนใหญ่เป็นรายการพิเศษ เช่นกำไรจากการประนอมหนี้) เพิ่มขึ้นจาก 112,437 ล้านบาทในทั้งปี 2544 (และพบว่าดัชนีที่ระดับสูงสุด ณ เดือน ต.ค. 2544 อยู่ที่ 287.83 จุด มีค่า PER 8.52 เท่า ขณะที่ดัชนีที่สูงสุดในงวด 1Q45 อยู่ที่ 391.71 จุด หรือมีค่า PER 12 เท่า)
ดังนั้น หากเชื่อว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นซ้ำรอยในอดีต คาดว่ากำไรตลาดปี 2558 น่าจะมีการฟื้นตัวที่ดีตั้งแต่งวด 4Q58 เป็นต้นไป ด้วยเหตุนี้ทำให้ประเมินว่ากำไรตลาดในปี 2558 ที่ ASPS ได้มีการปรับลดลง 3 ครั้งในปีนี้ โดยลดลงเหลือ 8.8 แสนล้านบาท หรือราว 89 บาทต่อหุ้น (เพิ่มขึ้น 16.8%จากปี 2557) และ 101.92 บาทต่อหุ้น ในปี 2559 (เพิ่มขึ้นจากปี 2558 13.7%) มีความเป็นไปได้สูง หรืออาจจะมีการปรับเพิ่มประมาณการกำไรในบางกลุ่มที่ได้รับผลบวกจากมาตรการเศรษฐกิจโดยตรง เช่น ธนาคารพาณิชย์ และธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น
ดังนั้นแม้ดัชนีตลาดปัจจุบันจะมี Expected PER 15.7 เท่า ซึ่งเกินจากระดับดัชนีเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่อิง Expected PER 15.5 เท่าก็ตาม แต่ผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะสร้าง sentiment เชิงบวก ต่อกำไรตลาดที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต จนคาดว่ามีความเป็นไปที่จะดัน Expected PER ขึ้นไปสู่ระดับ 16-16.5 เท่า (เช่นในช่วงปี 2544-2555 ดังกล่าวข้างต้น) หรือคิดเป็นดัชนีตลาดราว 1,436-1,486 จุด หรือมี upside จากดัชนีปัจจุบันราว 2.9-6.4% แม้จะไม่มาก แต่ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การเลือกหุ้นที่ถูกต้องจึงจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งจะกล่าวถึงในย่อหน้าถัดไป
หุ้นที่คาดจะชนะตลาด จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ : KBANK. SCC. CK
การ rebound ของตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา จากบริเวณ 1,300 จุด ณ วันนี้ดัชนีขึ้นมาเกือบ 100 จุดแล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจากนี้จะไปได้ไกลแค่ไหน และกลุ่มอะไรจะเป็นช่วยหนุนตลาด เรามาแกะรอยตลาดหุ้นในปี 2544 หลังจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น โดยพบว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ฟื้นตัวตั้งแต่สู่เดือน ส.ค. 2544 และปรับขึ้นต่อเนื่องถึงวันที่ 4 ก.ย. 2544 เป็นระยะเวลานานกว่า 1 เดือน โดยให้ผลตอบแทน 14.1% โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าตลาด
ส่วนรายหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ของแต่ละกลุ่มสรุปได้ดังต่อไปนี้
วัสดุก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 25.0% (VNG 42%, TPIPL 42%, SCC 30%)
อสังหาฯ เพิ่มขึ้น 23.8% (AMATA 44%, SPALI 38%, QH 30%, LH 26%, AP 25%)
สื่อสาร เพิ่มขึ้น 21.6% (INTUCH 39.9%, ADVANC 22.6%)
ธุรกิจการเงิน เพิ่มขึ้น 19.9% (CNS 43.3%, KGI 32.1%)
ธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้น 16.6% (KKP 26.4%, KBANK 26.4%, SCB 23.4%, BBL 22.2%, TCAP 18.5%)
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 15.0% (CCET 25.6%, DELTA 18.4%)
แต่เป็นที่สังเกตว่า หลังจากนั้น ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวขึ้นเป็นกว่า 1 เดือนหลังการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2544 พบว่า ตลาดมีการพักฐานเป็นเวลา 1 เดือน (ในเดือน ต.ค.) ก่อนที่จะฟื้นตัวอีกครั้งในเดือนถัดไป คือช่วงเดือน พ.ย. 2544 และขึ้นต่อเนื่องไปถึงเดือน เม.ย. 2547 โดย SET ปรับขึ้นไปได้อีกกว่า 50% ด้วยเหตุนี้หากเห็นว่าจังหวะตลาดปรับฐานแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นที่ได้ประโยชน์จากโครงการภาครัฐ เช่น CK, SCC, TASCO, ROBINS, ADVANC, INTUCH, BTS เป็นต้น
แรงขายจากต่างชาติทั้งในตราสารหนี้และหุ้น กดดันให้บาทอ่อนค่าต่อเนื่อง
วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 503 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7) แต่เป็นการซื้อสุทธิเพียงประเทศเดียว คือ ไต้หวันราว 681 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ส่วนที่เหลืออีก 4 ประเทศยังคงขายสุทธินำโดยเกาหลีใต้ขายสุทธิสูงสุด 77 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 24) ตามมาด้วยอินโดนีเซียขายสุทธิราว 30 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7) และฟิลิปปินส์ขายสุทธิราว 31 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6) ส่วนไทยต่างชาติยังคงขายสุทธิราว 40 ล้านเหรียญ หรือ 1,438 ล้านบาท (ขายสุทธิติดติอกัน 6 วัน โดยมียอดขายสุทธิสะสมรวม 8.4 พันล้านบาท) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ยังซื้อสุทธิสูงถึง 4,200 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ พบว่านักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1,358 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 2,608 ล้านบาท และหากพิจารณาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่า ต่างชาติขายสุทธิสะสมสูงถึง 4.9 หมื่นล้านบาท ด้วยแรงขายของต่างชาติ ทั้งในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น มีส่วนสำคัญในการกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ 36.21 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์