- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 07 September 2015 17:16
- Hits: 2683
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แม้ตลาดอาจกดดันหลัง สปช. ไม่ผ่านรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีผลให้การเลือกตั้งรอบใหม่ต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 2560 แต่เชื่อว่าตลาดน่าจะรับรู้ไปแล้ว ยังให้น้ำหนักมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และยังชอบหุ้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ วันนี้เลือก CK([email protected]) เป็น Top pick
สปช. ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฯ การเลือกเกิดขึ้นเร็วสุด 2560
เป็นที่สรุปว่าที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน 2558 ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่เสนอโดยคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเสียง 135 ต่อ 105 เสียง (ไม่ออกเสียง 7 เสียง) ผลจากการลงมติดังกล่าวทำให้ต้องกลับไปเริ่มต้นกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรี จะทำการแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างธรรมนูญชุดใหม่ขึ้นมาภายใน 30 วัน (ภายใน 6 ต.ค.2558) โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะมีสมาชิก 20 คน และประธานอีก 1 คน รวมเป็น 21 คน โดยที่คณะกรรมการดังกล่าวเมื่อตั้งขึ้นแล้วต้องดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งก็คาดจะแล้วเสร็จราว 6 เม.ย.2559 หลังจากนั้นมีระยะเวลา 3 เดือน ในการทึ่จะนำร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างเสร็จแล้ว ไปดำเนินการจัดทำประชามติ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเดือน ก.ค 2559 เมื่อผ่านการทำประชามติได้โดยผลออกมาเป็นเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการต่อไป ก็จะเป็นการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งประเมินกันว่าน่าจะอยู่ในช่วงปลาย 1Q60 หรือต้น 2Q60 แต่อย่างไรก็ตามหากผลการทำประชามติออกมาแล้วพบว่า เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องกลับไปเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่การที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้นมา ซึ่งกว่าจะจบกระบวนการ จนถึงการนำไปสู่การจัดการเลือกตั้ง ก็ต้องใช้ระยะเวลา 15–16 เดือน
เชื่อว่าประเด็นนี้น่าจะสร้าง Sentiment เชิงลบต่อตลาดหุ้น โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่ให้น้ำหนักต่อการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สะท้อนจากที่ต่างชาติได้ขายหุ้นไทยมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 (ขณะที่ประเทศในกลุ่ม TIP ต่างชาติเพิ่งขายปีนี้ เป็นปีแรกในรอบ 3 ปี) จนทำให้การถือครองหุ้นของต่างชาติ ลดลงไปต่ำสุดที่ 31.78% (รวม NVDR ด้วย) ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 7 ปี (เป็นระดับต่ำสุด ใกล้เคียงกับครั้งนี้คือ เมื่อ 31 ธ.ค. 2551 แต่ยังสูงกว่าปี 2547 ที่ต่างชาติถือครองหุ้นไทยต่ำเพียง 28.53%) จึงคาดว่า Fund Flow น่าจะยังไม่กลับมาซื้อหุ้นไทย แต่น่าจะขายลดน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในมุมกลับ ช่วงระยะเวลาการเลือกตั้งที่ยาวนานออกไป ก็น่าจะเป็นการเปิดทางให้การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลมีความต่อเนื่องขึ้น ซึ่งเป็นผลดีในระยะยาว
ต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่อง ส่งผลให้บาทอ่อนค่าสุดในรอบ 6 ปี 6 เดือน
วันศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 254 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) โดยเป็นการขายสุทธิทั้ง 5 ประเทศ คือ ไต้หวันถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 127 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 2 วัน) รองลงมาคือ เกาหลีใต้ที่ถูกขายสุทธิราว 81 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 21) เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ที่ถูกขายสุทธิเล็กน้อยราว 6 ล้านเหรียญ และ 4 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ส่วนไทยต่างชาติขายสุทธิราว 35 ล้านเหรียญ หรือ 1,266 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 1,113 ล้านบาท
ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 2,037 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 1,131 ล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมา ต่างชาติขายทั้งหุ้นและตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ล่าสุดอยู่ที่ 35.99 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 6 ปี 6 เดือน (นับตั้งแต่ 23 ก.พ. 2552 เป็นต้นมา)
มาตรการกระตุ้นระยะสั้นของไทย น่าจะมีน้ำหนักหักล้างเศรษฐกิจจีนชะลอตัว
การรายงานดัชนีเศรษฐกิจสหรัฐล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ก.ย. ยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะ ทางฝั่งตลาดภาคแรงงาน พบว่ายอด การจ้างงานนอกภาคการเกษตร เดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 1.73 แสนราย ต่ำกว่าผลกว่าผลสำรวจ ที่คาดไว้ 2.17 แสนราย แต่อย่างไรก็ตามอัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. กลับลดลงเหลือ 5.1% ดีกว่าที่ผลสำรวจคาดไว้ที่ระดับ 5.2% (เป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2551 วิกฤติซับไพรม์) ซึ่งนอกจากจำนวนคนทำงานเต็มเวลา (ปัจจุบันอยู่ที่ 122 ล้านราย สูงกว่า พ.ย. 2550 ก่อนเกิดวิกฤติซับไพรม์) ยังเป็นผลจากที่มีผู้อยู่ในวัยทำงานได้เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น (ทำให้ตัวหารเพิ่มขึ้น) การฟื้นตัวของภาคแรงงานของสหรัฐ ทำให้ Fed สามารถบรรลุเป้าหมายได้ 1 ประการ ส่วนอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ยังคงเป็นปัจจัยหักล้างคือ เรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำอยู่ ปัจจุบันอยู่ที่ 0.1%(ต่ำกว่า 1% มาตั้งแต่ พ.ย.57) ซึ่งผลมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกที่ลดลง ซึ่งทำให้ ASPS เชื่อว่า Fed จะยังไม่รีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม ในวันที่ 16-17 ก.ย. (อีก 1สัปดาห์ข้างหน้าที่จะถึง) โดยคาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วสุดในปลายปี คือ 15-16 ธ.ค. 2558 หรืออาจเป็นต้นปี 2559
ปัจจัยนี้ถือว่าตลาดน่าจะให้นำหนักน้อยลง ตรงกันข้ามปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัวในจีนน่า จะมีน้ำหนักมากขึ้น (มีขนาดเศรษฐกิจลำดับที่ 2 ของโลก) และเป็นประเทศที่มีการนำเข้า-ส่งออกเป็นมูลค่ามหาศาลเกิดภาวะชะงักงัน ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในเอเชียที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก แม้หลายประเทศจะพยายามทำให้เงินอ่อนค่าเพื่อช่วยการส่งออก แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ผลมากนัก และยิ่งมาถูกกระทบจากการลดค่าเงินหยวน (ด้วยการลดอัตราอ้างอิงที่ผูกกับดอลลาร์ลง) เมื่อกลางเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาเฉลี่ยกว่า 3% ทำให้สินค้าที่ส่งออกไปยังจีนแพงขึ้นในสายตาคนจีน อย่างไรก็ดี เมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากเงินดอลลาร์ที่จีนไปผูกค่าเงินอยู่ด้วยแข็งค่าขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ที่สงครามค่าเงินด้วยการลดค่าเงิน อาจจะกลับมาอีกครั้ง
ส่วนปัญหาในประเทศ แม้การลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญล่าสสุด จะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 2560 แต่คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ๆ น่าจะมีน้ำหนักมากพอ ๆ กับปัจจัยกดดันจากภายนอก กลยุทธ์การลงทุนแนะนำให้ เลือกหุ้นที่ได้ประโยชน์นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะหุ้นที่ยัง Laggard เช่น CK, SCC, DRT, ROBINS, SYNTEC, SAT (คาดว่ายอดขายน่าจะโดดเด่นในงวด 4Q58 เนื่องจากปรับขึ้นภาษีรถยนต์ จะทำให้ราคาขายรถยนต์ในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2559)
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์