- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 25 August 2015 22:26
- Hits: 902
บล. เอเซีย พลัส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ปัจจัยกดดันรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และราคาน้ำมันดิบโลกทำจุดต่ำสุดใหม่ น่าจะเป็นโอกาสดีต่อผู้ประกอบการที่ใช้น้ำมันเป็นต้นทุนหลัก โดยเฉพาะกลุ่มขนส่ง แนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นปันผลที่กระทบเศรษฐกิจในประเทศน้อย BTS(FV@B12)
ตลาดหุ้นโลกยังเสี่ยง..จากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวกว่าคาด
เนื่องจากตลาดหุ้นเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจโลก การที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่อันดับ 2 ของโลก (พิจารณาจาก GDPโลก โดยเป็นรองสหรัฐ ส่วนญี่ปุ่นอันดับ 3) ดังที่นำเสนอวานนี้ถึงดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างมาก โดยเฉพาะ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อไฉซิน (PMI) เดือน ส.ค. ลดลงแตะระดับ 47.1 ซึ่งนับว่าต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค.52 ช่วงวิกฤตการซับไพร์มในสหรัฐ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และอาจจะทำให้ GDP Growth โลก อาจจะไม่สามารถเป็นไปตามเป้าหมาย (ล่าสุด IMF ได้ประเมิน GDP Growth ปี 2558 อยู่ที่ 3.3 %) นอกจากนี้ความเสี่ยงประเด็นดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ จะต้องถูกเลื่อนออกไป (ตามความเห็นของ ASPS ประเมินไว้อย่างเร็วสุดคือการประชุมรอบ ธ.ค. 2558) สะท้อนจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าอย่างรวดเร็วจากระดับสูงสุด 98 เมื่อต้นเดือน ส.ค. เหลือ 93.624 ในเช้านี้ หรืออ่อนค่า 4.4% ซึ่งสวนทางกับค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นในอัตราใกล้เคียงกัน (ยูโรแข็งค่า 5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ)
ส่วนปัจจัยในประเทศ แม้จะมีความคืบหน้าในเรื่อง การร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ยังมีความเสี่ยงที่รออยู่ข้างหน้า ทั้งนี้แม้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฯ ได้ส่งร่างฯ (ที่มีการปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำของ สปช. คสช. และ ครม. แล้ว) ให้กับสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตั้งแต่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา และหลังจากนี้ 15 วัน คือราว 5 ก.ย. 2558 จะเรียกประชุม สปช. เพื่อพิจารณาลงมติว่าจะเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าจะลงมติให้จบภายใน 3 วัน และน่าจะราว 7 ก.ย.2558 ซึ่งผลการพิจารณาลงมติของ สปช. จะเห็นชอบหรือไม่ จะมีผลต่อการกำหนดเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น กล่าวคือ หากมีการลงมติเห็นชอบก็จะทำให้มีการทำประชามติ 10 ม.ค. 2559 และน่าจะทำให้เกิดการเลือกตั้ง ราว ก.ย.2559 ตรงกันข้ามหากลงมติไม่เห็นชอบทุกอย่างต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ ซึ่งน่าจะยืดเวลาทุกอย่างออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งในกรณีหลัง คาดว่าจะเห็นการเลือกตั้งราว กลางปี 2560
ขณะที่ประเด็นใหม่ ก็คือเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี ก็เป็นไปตามข่าวที่เห็นในสังคม online ก่อนหน้านี้ ซึ่งตลาดมีความหวังว่าจะช่วยหนุนความเชื่อมั่นตลาดหุ้นได้บ้าง โดยเฉพาะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า แต่กลับถูกกลบด้วยข่าวร้ายจากทั่วโลกทั้งตลาดหุ้นสหรัฐที่ตกต่ำจนลงมาแตะระดับต่ำสุดในตอนต้นปี 2557 หรือจีนประกาศตัวเลข PMI ต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติซับไพร์มในปี 2552 ดังที่กล่าวข้างต้น และที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ เกิดระเบิดในญี่ปุ่น 2 แห่ง คือที่คลังแสงของฐานทัพสหรัฐ ในญี่ปุน และโรงงานท่อเหล็กแห่งหนึ่ง ซึ่งล้วนบั่นทอนความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นทั่วโลก
ทั้งนี้ แม้ตลาดหุ้นไทยจะตกต่ำมามากถึงเกือบ 20% นับจากจุดสูงสุดตอนต้นปี 2557 แต่หากพิจารณา Expected PER ก็ยังคงอยู่ที่ 15 เท่า เป็นเพราะปัญหาเรื่องความสามารถในการทำกำไรของตลาดหุ้นไทยที่ย่ำแย่ และต่ำกว่า สะท้อนจากที่ ASPS ได้มีการปรับลดประมาณการกำไรตลาดปีนี้ลงไปแล้ว 2 รอบ โดยรวมปรับลดลงแล้ว 13% ในปี 2558 และ 11% ในปี 2559 เทียบกับประมาณการในตอนต้นปี 2558 ซึ่งความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่กระทบเป็นลูกโซ่จากเศรษฐกิจโลกใกล้จบหรือยัง เป็นประเด็นที่ตอบยาก และยังคงสะท้อนกำไรของตลาดฯ ในงวด 2H58 ยังมีโอกาสต่ำกว่าเป้าหมายได้
ต่างชาติถือไทยลดลงต่อเนื่อง
วานนี้ นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 1,053 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 14) โดยเป็นการขายสุทธิทั้ง 5 ประเทศ นำโดยเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 616 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 13) รองลงมาคือไต้หวันถูกขายสุทธิราว 187 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) เช่นเดียวกับกลุ่ม TIP อย่างอินโดนีเซียถูกขายสุทธิราว 53 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 14) และฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 63 ล้านเหรียญ ส่วนไทยถูกขายสุทธิราว 134 ล้านเหรียญ หรือ 4,775 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 2,509 ล้านบาท
นอกจากนี้ แรงขายจากต่างชาติยังส่งผลให้ตลาดหุ้นในภูมิภาคติดลบทุกตลาด โดยตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ติดลบมากที่สุดราว 6.07% ตามมาด้วย ไต้หวัน, ไทย, อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ลดลง 4.84%, 4.73%, 3.97% และ 2.47% ตามลำดับ