- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 21 August 2015 16:58
- Hits: 1029
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ปัจจัยกดดันยังมีรอบด้าน ทั้งเงินบาทอ่อนค่า และราคาน้ำมันต่ำกว่า 50 เหรียญฯต่อบาร์เรล ระยะสั้นคาดดัชนีมีแนวรับ 1,360-1,370 จุด (current PER16x) ยังแนะสะสมหุ้น Defensive + P/E ต่ำ + ปันผลสูง คือ ADVANC(FV@B285) และ EASTW (FV@B14) เป็น Top picks
ปัจจัยกดดันรอบด้าน....FED จึงน่าจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วสุด ธ.ค. นี้
ดัชนี ชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐ ยังส่งสัญญาณขัดแย้ง ซึ่งอาจจะทำให้การใช้นโยบายการเงินเข้มงวดของ Fed มีโอกาสเลื่อนออกไปกล่าวคือ การรายงานตัวเลขภาคแรงงาน ล่าสุดพบว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการครั้งแรกรายสัปดาห์ สิ้นสุด 15ส.ค. เพิ่มขึ้น 4,000 ราย(อยู่ที่ 2.77 แสนราย เพิ่มขึ้นจากงวดก่อนหน้า 2.73แสนราย) ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาด (ว่าจะอยู่ที่ 2.71 แสนราย) น่าจะทำให้อัตราการว่างงานยังคงทรงตัวที่ระดับ 5.3% อีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามทางด้านฝั่งการบริโภคภาคครัวเรือน ยังคงทรงตัวหรือกระเตื้องขึ้นบ้าง สะท้อนจาก ยอดขายบ้านมือสอง สิ้นสุดเดือน ก.ค. สูงกว่าเดือนก่อนหน้า 1 แสนหลัง (อยู่ที่ระดับ 5.59 ล้านหลัง) ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการสร้างบ้านใหม่ ตั้งแต่ต้นปี (ม.ค.-มิ.ย.58) ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.07 แสนหลัง ประกอบกับการรายงานผลการประชุม Fed เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ทำให้ลดความคาดหวังของตลาด ต่อการขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นของ Fed
ขณะที่ทาง ASPS ยังเชื่อว่าการประชุมของ Fed ครั้งถัดไปคือ 16-17 ก.ย. 2558 จะยังไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่น่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วสุดคือ ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้คือ 15-16 ธ.ค. 2558 หรือต้นปี 2559
ความคาดหวังต่อการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐที่ล่าช้าออกไป มีส่วนสำคัญที่ทำให้ค่าเงินของดอลลาร์สหรัฐ (Dollar Index) ล่าสุดพบว่ายังคงปรับตัวอ่อนค่าติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 โดยอ่อนค่าราว 2% สวนทางกับเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นอยู่ที่ 1.1216 ดอลลาร์/ยูโร หรือแข็งค่าราว 1% ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ซึ่งการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ผลที่ตามมาน่าจะมีส่วนหนุนให้สินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มฟื้นตัวดังจะเห็นได้จากราคาทองคำฟื้นตัว 5% ในช่วง 2 สัปดาห์ ยกเว้นราคาน้ำมัน ดิบดูไบยังคงอ่อนค่าต่ำกว่า 50 เหรียญฯต่อบาร์เรล โดยล่าสุดอยู่ที่ 45 เหรียญฯต่อบารเรล และกำลังจะทดสอบจุดต่ำสุดเดิมที่ 44 เหรียญฯต่อบาร์เรล ที่เกิดขึ้นเมื่อกลางเดือน ม.ค. 2558 ซึ่งแตกต่างจากในอดีต ที่ราคาน้ำมันมักจะปรับขึ้นเมื่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า
ทั้งนี้ คาดว่า ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากกำลังซื้อโดยรวมที่มีแนวโน้มอ่อนตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่สุดของโลก ขณะที่สถานการณ์ด้านผู้ผลิตยังคงเดินหน้าผลิตต่อเนื่องโดยเฉพาะทางด้านของ OPEC ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าผู้ประกอบการรายใหม่ๆ อย่างผู้ที่ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน เช่น สหรัฐ ซึ่งคาดว่าต้นทุนน่าจะสูงในระดับ 60-70 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งคงต้องติดตามดูต่อไปว่าผู้ประกอบการที่มีต้นทุนสูงจะทนรับภาระขาดทุนได้นานเพียงใด ซึ่งการตัดสินใจลดการผลิตของผู้ประกอบการกลุ่มหลังน่าจะมีผลทำให้ปริมาณผลผลิตน้ำมันส่วนเกินของโลกมีแนวโน้มลดลง และน่าจะหนุนราคาน้ำมันดิบโลกฟื้นตัว หากแตะระดับสุดดังกล่าวอีกครั้ง ณ ระดับราคาตลาดปัจจุบันทั้ง PTT(FV@B360), PTTEP(FV@B94) จึงน่าจะเป็นการกลับเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น
ตลาดหุ้นโลกยังปรับฐานต่ออีกระยะ
การที่ตลาดหุ้นหลักๆ ของโลกได้ปรับฐานมาเป็นเวลานาน อาจจะมีคำถามว่า การปรับฐานของตลาดหุ้นโลกใกล้จบหรือยัง ดังนั้นเรา
มาสรุปกันก่อนว่า การปรับฐานของแต่ละตลาดมาถึงจุดไหนกันแล้ว ใครที่ปรับฐานมากสุดหรือน้อยสุด คือ ตลาดหุ้นเอเซียอาจจะปรับฐานมากสุดแห่งหนึ่งของโลก ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้หลายประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกได้รับผลกระทบตามไปด้วย และสะท้อนไปที่ตลาดหุ้น โดยตลาดหุ้นส่วนใหญ่จะขึ้นไปสูงสุดเมื่อช่วงเดือน เม.ย. ก่อนที่จะปรับฐานหลังจากนี้จนถึงปัจจุบัน โดยพบว่าตลาด ฮ่องกง ไต้หวัน และอินโดนีเซีย ลดลงมากสุด 19.9% 19.5% และ 19.5% ตามมาด้วย มาเลเซีย ลดลง 15.3% ไทยลดลง 15% สิงคโปร์ ลดลง 14.8% เกาหลีใต้ ลดลง 13.8% และ ฟิลิปปินส์ ลดลง 10.4% ส่วนตลาดหุ้นจีน เพิ่งปรับฐานกลางเดือน มิ.ย. แต่ปัจจุบันลดลงหนักถึง 29%
ตลาดยุโรป ประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและภาวะเงินฝืด สะท้อนจากที่ตลาดหุ้นส่วนใหญ่แกว่งตัวลงมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนกระทั่ง ECB ได้ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ทั้งลดดอกเบี้ยนโยบายจนติดลบ ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (TLTRO) จนกระทั่งการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลประเทศต่างๆ (QE) เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดหุ้นมีการฟื้นตัวได้เมื่อช่วงต้นปี อย่างไรก็ตามปัญหาหนี้กรีซ และการอ่อนค่าของเงินยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ได้เป็นปัจจัยที่สั่นคลอนให้ตลาดหุ้นยุโรปแกว่งตัวเชิงลบมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือน เม.ย. เช่นกัน โดย DAX เยอรมัน ลดลงถึง 15.7% CAC40 ฝรั่งเศส ลดลง 9.2% FTSE100 อังกฤษ ลดลง 10.36% IBEX สเปน ลดลง 10.8% และตลาดหุ้นอิตาลี ลดลง 6.8% แต่ปัจจุบันตลาดหุ้นในยุโรปเริ่มทรงตัว หลังจากผ่านการแก้ปัญหาในกรีซ
ตลาดหุ้นสหรัฐ ภาวะเศรษฐกิจนับว่าแข็งแกร่งสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ แม้หลังจากหยุดใช้มาตรการ QE แล้ว แต่ตลาดหุ้นสหรัฐยังมี momentum แรงส่งเหลืออยู่ แต่จากความกังวลมาโดยตลอดว่าดอกเบี้ยจะกลับเป็นขาขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐไปไหนได้ไม่ไกลแกว่งตัว sideway มาในช่วงครึ่งปีแรกนี้ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อ และอัตราว่างงาน ที่เป็น 2 ปัจจัยหลักที่ Fed ใช้พิจารณา ยังคงห่างไกลเป้าหมาย รวมทั้งสัญญาณทางเศรษฐกิจที่เริ่มอ่อนตัวลง จึงทำให้ Fed ไม่น่าจะรีบขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. นี้ ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลง ในช่วงปลายเดือน พ.ค. โดย Dow Jones ลดลง 7.2% S&P500 ลดลง 4.4%
การลดลงของดัชนีตลาดหุ้นโลก ทำให้ระดับ Expected P/E ของหลายๆ ภูมิภาคเริ่มลดลง โดยตลาดหุ้นเอเซีย อยู่ในระดับ 14.3 - 19.4 เท่า ตลาดหุ้นยุโรป 13.5 - 16 เท่า และสหรัฐ 16 - 17.7 เท่า สวนทางกับ EPS Growth ที่ทำได้ในระดับต่ำ กล่าวคือ ตลาดหุ้นเอเซียเติบโตเฉลี่ยเพียง 4-5% ยุโรปเฉลี่ย 8% ส่วนสหรัฐอาจหดตัว ด้วยเหตุนี้ทำให้คาดว่าการปรับฐานน่าจะเกิดขึ้นมากพอสมควรและการปรับฐานจากนี้น่าจะค่อยๆ ลดลง และ อีกปัจจัยหนึ่งคือ หากเห็นว่า Fed มีการขึ้นดอกเบี้ยในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป และน่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ น่าจะช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นฟื้นกลับมาได้อีกครั้งหนึ่ง
ต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องในตลาดภูมิภาค
หลังการเปิดเผยรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ เป็นยืนยันว่า Fed มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยภายในสิ้นปีนี้ ประกอบกับปัจจัยลบจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเมื่อคืนที่ดิ่งลง ส่งผลให้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นในเอเชียปรับตัวลงแรง ขณะที่วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 12 โดยขายสุทธิราว 741 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิทั้ง 5 ประเทศ เริ่มจากเกาหลีใต้ขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 221 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 11) ตามมาด้วยไต้หวันถูกขายสุทธิราว 175 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับกลุ่ม TIP อย่างอินโดนีเซียถูกขายสุทธิสูงถึง 186 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 12) และฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 26 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 10) ส่วนตลาดหุ้นไทยต่างชาติขายสุทธิราว 132 ล้านเหรียญ หรือ 4,714 ล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกัน 3 วัน โดยมียอดขายสุทธิสะสมรวม 1.6 หมื่นล้านบาท) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 2,791 ล้านบาท
ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 11,654 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 984 ล้านบาท ขณะที่เงินบาทยังคงอ่อนค่า มาอยู่ที่ 35.60 บาท/ดอลลาร์
นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647