- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 25 June 2014 17:48
- Hits: 2647
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
'ต่ำกว่า 1460 ควรหยุดรอ/ปรับพอร์ต'
• หุ้นที่เปลี่ยนคำแนะนำทางปัจจัยพื้นฐานวันนี้ : ไม่มี
• ภาพตลาดวันก่อน : ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดลดลง 7.78 จุดมาปิดที่ 1460.92 มูลค่าซื้อขายประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ตลาดขาดปัจจัยบวกใหม่และกังวลว่าภาคส่งออกของไทยจะฟื้นตัวได้ช้า หลังจากมีปัญหาส่งออกสินค้าประมงไปสหรัฐเพราะประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์ รวมทั้งการเจรจา FTAระหว่างไทย-อียูที่เลื่อนออกไป ประกอบกับตลาดได้ปรับขึ้นมาพอสมควร จึงมีแรงขายทำกำไรออกมา นักลงทุนสถาบันในประเทศ, ต่างชาติ และพอร์ตบล.ขายสุทธิ ส่วนรายย่อยเป็นกลุ่มที่สวนซื้อสุทธิ
• ปัจจัยและกลยุทธ์ : การฟื้นตัวที่ดีของความเชี่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐในเดือนมิ.ย.ไม่ได้รับการตอบรับจากตลาดหุ้นมากนัก เนื่องจากได้สะท้อนเข้าไปในราคาหุ้นที่ปรับขึ้นในช่วงก่อนหน้าแล้วพอสมควร นักลงทุนบางกลุ่มเลือกที่จะขายทำกำไรออกไปก่อนเพราะกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอาจจะปรับขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ในกลางปี 2558 แต่...แนวโน้มระยะกลาง-ยาวของตลาดหุ้นญี่ปุ่นดูดีขึ้นจากแผนปฎิรูปการลงทุนของกองทุนเงินบำนาญของรัฐบาลจำนวน1.26 ล้านล้านดอลลาร์ ที่มีแนวโน้มว่าจะมีการจัดสรรเงินไปยังตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น ส่วนภายในประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิรูปประเทศในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
เรามองว่าการลงทุนโครงการขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ 2.4 ล้านล้านบาทจะเป็นหนึ่งใน Key growth ของเศรษฐกิจไทยในหลายปีข้างหน้า เพราะเป็นสิ่งจำเป็นและต้องดำเนินการเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและการเปิดสู่การค้าเสรีในกลุ่ม AEC กลุ่มอุตสาหกรรมที่โดดเด่นเป็น รับเหมาฯ วัสดุก่อสร้าง, ธนาคารพาณิชย์ และนิคมอุตสาหกรรม กลยุทธ์ทางเทคนิค : ซื้อใหม่เน้นซื้อตามค่าบวก (ค่าลบควรหยุดรอหรือขายโดยเฉพาะพอร์ตที่มีเงินสดเหลืออยู่น้อย) ค่าลบอาจหมายถึงการมี Downside 20-30 จุดของตลาด (แนวรับ1440, 1430 จุด) ส่วนการปรับขึ้นต่อมีแนวต้านระยะสั้น 1470, 1480 จุด หุ้นพื้นฐานแนะนำซื้อลงทุนระยะยาววันนี้เป็น AMATA
Fundamental Pick
AMATA แนะนำซื้อปิด 17.00 บาท เป้าหมาย 18 บาท(กำลังปรับปรุง)
• ในช่วงที่มีปัญหาการเมืองและยอดขายที่ดินซบเซาบริษัทมีแผนกลยุทธ์ที่จะเน้นธุรกิจนิคมฯไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามและพม่า สำหรับเวียดนามเองปัจจุบันมีการพัฒนาอยู่ 2 โครงการ และอีก 1 โครงการที่พม่า ซึ่งอยู่บริเวณรอยต่อของชายแดนไทย-พม่า เพราะมองว่ามีโอกาสในการเติบโตสูงในอนาคต และขณะนี้ปัญหาการเมืองได้คลี่คลายลง บริษัทคาดว่าจะทำยอดขายได้ดีขึ้นใน 2H57 จากที่ขายได้ 118 ไร่ในช่วง 1Q57 แรงกระตุ้นราคาหุ้น คือ การขายโรงงานจำนวน 88 แห่งเข้าสู่ REIT และนำบริษัทย่อย อมตะเวียดนามจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET) ซึ่งคาดว่าทั้งสองเรื่องจะเกิดขึ้นช่วง 2H57 แนะนำซื้อ กำหนดราคาพื้นฐานที่ 18.00 บาท ซึ่งคิดเป็นส่วนลด 10% จาก NAV ของบริษัท
ปัจจัยต่างประเทศและโภคภัณฑ์
- ประธานเฟดฟิลาเดเฟียเสนอให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐตั้งแต่ 3Q57
- นายชาร์ลส์ พลอสเซอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ สาขาฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่าเขามีมุมมองที่ค่อนข้างเป็นบวกเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว2.4% ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้และในปีหน้า โดยการจ้างงานที่มีเสถียรภาพมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อเริ่มคงที่ เขาได้แนะว่าธนาคารกลางสหรัฐควรขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น (Fed fund rate) ในไตรมาส 3/57
+ สหรัฐ : ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคมิ.ย.แข็งแกร่งขึ้นมาก
+ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส ชิลเลอร์เปิดเผยดัชนีราคาบ้าน 20 เมืองในเดือนเม.ย. ปรับตัวขึ้น10.8%YoY
+ ยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ค.ปรับตัวสูงขึ้น 18.6% แตะที่ 504,000 ยูนิต ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.35 หรือในรอบ 22 ปี และแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.51หรือในรอบ 6 ปี
+ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นแตะ 85.2 ในเดือนมิ.ย.จาก 82.2 ในเดือนพ.ค.โดยดัชนีเดือนมิ.ย.สูงกว่าที่นักเศรษฐศาตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ที่ 83.5 สำหรับดัชนีการคาดการณ์ของผู้บริโภคสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นแตะ 85.2ในเดือนมิ.ย.จาก 83.5 ในเดือนพ.ค.57 ขณะที่ดัชนีสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวเป็น 85.1 จากระดับ 80.3 ในเดือนพ.ค.นับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นที่แข็งแกร่งมาก
- เยอรมนี : ความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนมิ.ย.ลดลง
- สถาบัน Ifo ระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีในเดือนมิ.ย.ลดลงแตะ 109.7 จาก110.4 ในเดือนพ.ค. และต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ 110.2
+ ญี่ปุ่น : มีแนวโน้มว่าจะจัดสรรเงินในกองทุนบำนาญฯ ไปลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น
+ นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่น เปิดเผยถึงมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว พร้อมให้คำมั่นว่าจะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งอยู่ในระดับสูงที่สุดชาติหนึ่งของโลกให้ต่ำกว่า 30% ในช่วงหลายปีข้างหน้า และจะปฏิรูปกองทุนลงทุนเงินบำนาญของรัฐบาลจำนวน 1.26 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีการจัดสรรเงินไปยังตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น สำหรับแผนการด้านภาษีจะอยู่ในรูปของการขยายฐานภาษีเพื่อชดเชยการลดภาษี แต่รายละเอียดของมาตรการนี้ยังไม่ได้มีรายละเอียดในเชิงลึก
- ตลาดหุ้นสหรัฐร่วงแรง
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 16,818.13 จุด ร่วงลง 119.13 จุด หรือ -0.70% ดัชนีNASDAQ ปิดที่ 4,350.36 จุด ลดลง 18.32 จุด หรือ -0.42% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,949.98 จุดลดลง 12.63 จุด หรือ -0.64% โดยในช่วงแรงตลาดปรับขึ้นรับข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีก่อน แต่ลดลงในช่วงต่อมาและปิดลบ นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงาน ได้แก่ หุ้นเอ็กซอน โมบิลร่วงลง 1.6% และหุ้นไพโอเนียร์ เนเชอรัล รีซอสเซส ดิ่งลง 4.8%
• สัญญาน้ำมันดิบอยู่ในกรอบแคบ
• สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค.ปรับตัวลง 14 เซนต์ ปิดที่ 106.03 ดอลลาร์/บาร์เรลส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค.ที่ตลาดลอนดอน เพิ่มขึ้น 34 เซนต์ ปิดที่ 114.46 ดอลลาร์/บาร์เรล นักลงทุนยังจับตาดูสถานการณ์ในอิรักอย่างใกล้ชิด หลังจากที่นายจอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐเดินทางไปยังเมืองเออร์บิล เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน ทางทิศเหนือของประเทศอิรัก เพื่อกระตุ้นให้บรรดาผู้นำหันมาเผชิญหน้ากับกลุ่มหัวรุนแรงของรัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนท์ (ISIL)
+ สัญญาทองคำ COMEX ขยับขึ้นต่อ
+ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 2.9ดอลลาร์ หรือ 0.22% ปิดที่ 1,321.3 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยตลาดทองคำนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกัน5 วันทำการ เพราะนักลงทุนยังคงเดินหน้าถือครองทองคำเพื่อความปลอดภัยในยามที่สถานการณ์อิรักยังอยู่ในขั้นวิกฤต
ปัจจัยในประเทศและหลักทรัพย์
+ โรดโชว์แผนลงทุน 2.4 ล้านล้านบาทฟื้นฟูความเชื่อมั่น
+ มีกระแสข่าวว่าตัวแทนคสช.กำลังพิจารณาเรื่องการโรดโชว์ชี้แจงแผนลงทุนโครงสร้างขั้นพื้นฐานของไทยมูลค่า 2.4 ล้านล้านบาท ให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้มีความเข้าใจในทิศทางการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐของไทยมากขึ้น
ความเห็น Retail Research : นับเป็นสิ่งที่ดีในการฉายภาพแผนการใช้จ่าย ลงทุนภาครัฐ และวินัยการเงินการคลังของไทยในระยะยาวให้เห็นชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนให้ความเชื่อมั่นของทุกภาคส่วนกลับมาคืนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการลงทุน เรายังคงมีมุมมองที่เป็นบวกกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมองว่าการลงทุนจะเป็น Key growth สำคัญของเศรษฐกิจไทยในระยะหลายปีข้างหน้า กลุ่มอุตสาหกรรมและหุ้นเด่นของเราเป็น กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง (หุ้น Top Picks คือ STEC รองลงมาเป็น CK), กลุ่มวัสดุก่อสร้าง (หุ้นเด่น คือ SCC รองลงมาเป็น SCCC และ TASCO), กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีสัดส่วนสินเชื่อเพื่อลงทุนสูง (หุ้นเด่น คือ KTB รองลงมาเป็น BBL, KBANK) และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (หุ้นที่เราชอบคือ AMATA, HEMRAJ, ROJNA)
• ดร.สมคิดเชื่อสหรัฐ & อียูไม่ตัดสัมพันธ์ไทย แนะเร่งชี้แจงและปฏิรูปประเทศโดยดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยให้มากขึ้น
• นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศลดสถานะไทย เนื่องจากสถานการณ์การค้ามนุษย์และการลดความสัมพันธ์ทางการค้า ว่าเชื่อว่าทั้งสหรัฐและ EU ไม่น่าจะมีการตัดความสัมพันธ์จากประเทศไทย ซึ่งไทยเองก็จะต้องเร่งชี้แจงและแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น สำหรับเศรษฐกิจโดยรวมประเมินว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากปัญหาทางการเมืองยุติลงและเริ่มเดินหน้าในการปฏิรูปอย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศกลับมาได้ ส่วนสิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญให้มาก คือการปรับโครงสร้างของการเมืองและสังคมที่อ่อนแออย่างจริงจัง โดยจะต้องอาศัยจังหวะนี้เร่งปฏิรูปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี โดยดึงภาคเอกชนให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น
- ธุรกิจกุ้งปี 57 ยังไม่สดใส...มูลค่าส่งออก4M57 ลดลง 17%YoY แต่ไม่กระทบการเติบโตเพราะฐานปี 56 ก็ต่ำมาก แนะนำเลือกซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว หุ้นเด่น คือ CPFและ TUF
• นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่าการส่งออกกุ้งไทยในภาพรวมของ 4เดือนแรกปี 57 อยู่ที่ 40,000 ตัน ลดลง 45%YoY มูลค่า 16,677 ล้านบาท ลดลง 17%YoYเนื่องจากไทยประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเพราะปัญหาโรคตายด่วน (อีเอ็มเอส) ยังคงอยู่สำหรับทั้งปี 57 คาดว่าไทยจะส่งออกกุ้งได้ประมาณ 2 แสนตัน ตลาดหลักอยู่ในสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหาในตลาดยุโรปและสหรัฐผู้ประกอบการไทยก็มีแผนสำรองในการขยายตลาดใหม่เข้ามาทดแทนคือ ตลาดจีน และรัสเซีย ซึ่งตลาดเริ่มมีกำลังซื้อสูง
• ความเห็น Retail Research : เรายังคงมีมุมมองที่ค่อนไปทางลบกับอุตสาหกรรมกุ้งของไทย เนื่องจากปริมาณผลผลิตกุ้งที่ต่ำ ทำให้การส่งออกต้องชะลอตัวไปด้วย รวมทั้งการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งจากประเทศอื่น เช่น อินเดีย, เวียดนาม ฯลฯ เข้ามาแปรรูปเพื่อส่งออกก็ทำได้น้อยลงเพราะประเทศที่เรานำเข้าก็ทำธุรกิจแปรรูปกุ้งส่งออกซึ่งมีมูลค่าเพิ่มดีกว่ามากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการกุ้งส่งออกของไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ ASIAN, CFRESH,CPF, SSF, TUF เป็นต้น
• อย่างไรก็ตาม ฐานรายได้และกำไรของธุรกิจกุ้งในปี 56 ก็ต่ำมากอยู่แล้ว ดังนั้นความซบเซาของธุรกิจกุ้งในปี 57 จึงไม่ได้กระทบกับการเติบโตของผลประกอบการบริษัทที่เกี่ยวข้องมากนักเพียงแต่ไม่ใช่ตัวที่จะทำให้มีการเติบโต (คือ แย่ทรงตัว) นอกจากนั้น CPF และ TUF ยังมีธุรกิจอื่นเข้ามาช่วยพยุงไว้ โดย CPF มีธุรกิจไก่และอาหารสัตว์ที่ยังไปได้ดีในปี 57 เข้ามาช่วยหนุนส่วน TUF มีธุรกิจทูน่าที่ทำกำไรได้ดีขึ้นช่วยผลักดันการเติบโตของกำไรในปีนี้ในเชิงกลยุทธ์แนะนำซื้อลงทุนใน CPF และ TUF โดยดูจังหวะที่ราคาหุ้นได้อ่อนตัวลงมารับข่าวลบไปมากจนฟอร์มตัวแบบ Sideway ได้หรือหุ้นเริ่มมีแรงซื้อกลับ
นักวิเคราะห์ : อาภาภรณ์ แสวงพรรค : Tel 7829 [email protected]