- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 17 August 2015 18:09
- Hits: 1266
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แม้ตลาดหุ้นไทยได้ผ่านการปรับฐานแล้ว แต่ยังมี Ex. PER 15.5 เท่า ทำให้มี upside จำกัด ยังเน้นหุ้นที่สามารถทำกำไรได้ดีกว่าตลาด (SCC, BTS, EASTW, WORK) วันนี้เลือก AOT(FV@B344) เป็น Top pick ด้วยลักษณะธุรกิจที่มีรายได้ค่าเช่า และค่าบริการผู้เดินทางเข้าประเทศ ทำให้เติบโตได้ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว มีแผนขยายสนามบินชัดเจน ราคาหุ้นมี upside 21%
GDP ไทยชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกคาดเติบโตเพียง 2.8% ใน 2Q58
เชื่อว่า ตลาดยังให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจโดยรวมของโลก โดยเฉพาะสหรัฐรวมถึงไทย โดยในเช้าวันนี้เวลา 9.30 น. สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) จะรายงาน GDP Growth งวด 2Q58 ซึ่งพิจารณาจากผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ 22 ราย โดย Bloomberg ล่าสุด ประเมินว่า GDP Growth งวด 2Q58 จะอยู่ที่ราวเฉลี่ย 2.8%yoy ซึ่งมีการปรับประมาณการจากที่มีการสำรวจในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ได้ค่าเฉลี่ยที่ 3% ซึ่งหากตัวเลขที่ประกาศเป็นไปตามประมาณการเชื่อว่าแรงกดดันตลาดจะมีไม่มากนัก แต่หากออกมาต่ำกว่าตลาดคาดตลาดน่าจะตอบรับด้านลบได้อีก และในทางตรงกันข้ามตลาดอาจจะตอบรับด้านบวก หากออกมาดีกว่าคาด
ส่วนทางด้านสหรัฐ วันศุกร์ที่ผ่านมา มีการรายงานตัวเลขดัชนีราคาสินค้าผู้ผลิต(PPI) ที่ประกาศปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่คาดอยู่ที่ระดับ 0.2% จากที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.1% ซึ่งมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน ก.ค. อยู่ที่ 53.8 ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจาก 53.6 จากเดือน มิ.ย. แม้เพียงเล็กน้อย และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ที่ 0.1% แม้อาจจะขัดแย้งกับ ภาคแรงงานที่เริ่มทรงตัว หลังจากที่ฟื้นตัวต่อเนื่องมานาน และอัตราว่างงานที่ยังอยู่ที่ระดับ 5.3% ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้ทาง ASPS ยังเชื่อว่าการประชุมของ Fed ครั้งถัดไปคือ 16-17 ก.ย. 2558 จะยังไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่น่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วสุดคือ ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้คือ 15-16 ธ.ค. 2558 หรือต้นปี 2559 ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่ได้สะท้อนในตลาดหุ้นสหรัฐแล้ว
ใกล้สิ้นสุดการรายงานงบ 2Q58 หดตัว 9%qoq
นอกจากประเด็นเรื่อง GDP ของไทยดังกล่าวข้างต้น คาดว่าปัจจัยที่ เชื่อว่ายังคงกดดันตลาดหุ้นคือ ค่าเงินเอเซียที่ยังผันผวนและผลกำไรตลาดที่จะนำไปสู่การปรับลดประมาณการโดยรวมในปี 2558 และ 2559 กล่าวคือ ค่าเงินในภูมิภาคเอเซียยังคงผันผวน ตามค่าเงินหยวน หลังจากที่ธนาคารกลางของจีน (PBOC) ได้ลดค่าเงินเมื่อ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา แต่เป็นที่สังเกตว่า ค่าเงินสกุลอื่น ๆ ในเอเชียได้อ่อนค่าล่วงหน้าแล้วในอัตราเฉลี่ยเกือบ 9% ตั้งแต่ช่วงเม.ย. ที่ผ่านมา (นำโดยเงินริงกิตของมาเลเซียอ่อนค่ามากสุดถึง 14% ตามด้วยเงินบาทอ่อนค่า 8.9% (จากจุดแข็งค่าสุดเดือน เม.ย. - ปัจจุบัน) เงินรูเปียะห์อินโดนีเซีย อ่อนค่า7.42 % และ เงินเปโซ ฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 4.7% และค่าเงินรูปีของอินเดียอ่อนค่า 4.9%) ดังนั้นโอกาสที่ค่าเงินจะลดลงค่าเงินหยวนจะลดลงต่อยังมีโอกาสอยู่เมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค เพราะขณะนี้ค่าเงินหยวนเพิ่งอ่อนค่าไปเพียง 3% นับจากวันที่ประกาศลดค่าเงิน อย่างไรก็ตามการลด
ค่าเงินหยวนจะมากเพียงใดยังขึ้นกับ ปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศจีนเองจะใช้เวลาฟื้นตัวเพียงใด จากที่ประสบปัญหาส่งออก และการบริโภคในเทศในประเทศชะลอตัว ซึ่งสะท้อนจากดัชนีผู้บริโภคที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1.6%yoy ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 3% และเช่นเดียวกับ ดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงติดลบ -5.4% จากที่คาดการณ์ไว้ -5.0% ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายที่ยังจะมีอยู่ ทั้งการลดดอกเบี้ย และ การลด RRR เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในกิจ
นอกจากนี้ ในเรื่องผลประกอบการของตลาดหุ้นไทย สัปดาห์นี้เป็นช่วงสิ้นสุดการงานงบงวด 2Q58 ซึ่งในเบื้องต้น สิ้นสุด เช้าวันจันทร์พบว่ามีการรายงานมาแล้วราว 83%จากที่ทั้งหมด 680 บริษัท พบว่ามีกำไรสุทธิรวม 2.08 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากงวด 2Q57 แต่ลดลง 9% เทียบกับงวด 1Q58 ขณะที่ประมาณการกำไรตลาดโดยรวมทั้งปี 2558 แล 2558 จะอยู่ 8.5 แสนล้านบาท และ 9.63 ล้านบาท ลดลงจากประมาณการเดิม 4.18% และ 5.53% หรือคิดเป็น EPS จะอยู่ที่ 91.24 บาท และ 103.42 บาทต่อหุ้น (จะนำเสนอรายละเอียดอีกครั้งในวันพรุ่งนี้) ซึ่งแสดงว่าราคาตลาดปัจจุบันที่ 1,413 จุด มีค่า Expected PER ที่ประมาณ 15.5 เท่า ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ทาง ASPS กำหนดไว้ในสิ้นปี 2558 ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยอาจจะมี upside ที่จำกัด
ต่างชาติยังขายหุ้นไทยตลอดเดือน ส.ค.
วันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเกาหลีใต้หยุดทำการเนื่องจากเป็นวันหยุด ส่วนตลาดหุ้นในภูมิภาคอีก 4 ประเทศที่เหลือ โดยรวมพบว่าต่างชาติยังคงขายสุทธิราว 165 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 8) และหากพิจารณาเป็นรายประเทศจะพบว่า ไต้หวันถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 64 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) ตามมาด้วยอินโดนีเซียขายสุทธิราว 30 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 9) และฟิลิปปินส์ที่ถูกขายสุทธิราว 13 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6) ส่วนไทยต่างชาติยังคงขายสุทธิราว 58 ล้านเหรียญ หรือ 2,028 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 9) แต่เป็นที่สังเกตว่าสถาบันในประเทศกลับมาซื้อสุทธิราว 3,122 ล้านบาท ซึ่งหลักๆ น่าจะเกิดจากแรงซื้อของกองทุนประหยัดภาษี (LTF)
ทั้งนี้ หากพิจารณาตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. จนถึงปัจจุบัน พบว่า ต่างชาติยังคงขายหุ้นไทยทุกวัน โดยมียอดขายสุทธิสะสมรวมสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 16,243 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 1,608 ล้านบาท ส่วนทางค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 35.27 บาท/ดอลลาร์
เลือกหุ้นที่ราคาลงลึก และมีโอกาสฟื้นตัวเร็ว : AOT
ดังที่ได้กล่าวไปใน Market Talk วันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า ตลาดหุ้นไทยขึ้นไปทำจุดสูงสุดในปีนี้ที่ 1,619.65 จุด เมื่อกลางเดือน ก.พ. 2558 และลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 1,382.70 จุด เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุด SET สามารถ rebound ฟื้นตัวได้ในรอบ 2 วันหลังสุดราว 0.5% โดยกลุ่มฯ ที่สามารถฟื้นตัวได้มากกว่าตลาด คือ โรงพยาบาล 2.42% ตามมาด้วย ยานยนต์ 2.37% รับเหมาฯ 1.63% การเงิน 1.4% ธนาคารพาณิชย์ 1.39% ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 1.27% ขนส่ง 1.26% พลังงาน 0.79% ค้าปลีก 0.73% ตรงข้ามกับกลุ่มเกษตร-อาหาร, ท่องเที่ยว-โรงแรม และวัสดุก่อสร้าง ที่ underperform กว่าตลาด คือ ปรับตัวลดลง 0.92%, 0.46% และ 0.15% ตามลำดับ
กลยุทธ์การลงทุนช่วงตลาดฟื้นตัว ยังคงเน้นเลือกหุ้นที่ปรับลงลึกมากกว่าตลาดในช่วงที่ผ่านมา มี upside สูง และมี Beta สูง ซึ่งจะคาดหวังได้ถึงการฟื้นตัวที่เร็วและแรงกว่าหุ้นที่มีค่า Beta ต่ำ ได้แก่ AOT (FV@B344) upside 21% Beta 1.25, PTT (FV@B385) upside 28.3% Beta 1.37, CPF (FV@B26) upside 26.8% Beta 1.40, STPI ([email protected]) upside 60.6% Beta 1.48, RS (FV@B13) upside 14.0% Beta 1.51, RCL (FV@B12) upside 55.8% Beta 1.52, DEMCO (FV@B18) upside 60.7% Beta 1.53 และ PTTEP (FV@B110) upside 32.5% Beta 1.64 วันนี้เลือก AOT เป็น top pick โดยนักวิเคราะห์ ASPS ได้ปรับเพิ่มคำแนะนำ AOT จาก "ถือ" เป็น "ซื้อ" โดย 2 เหตุผลสนับสนุน คือ
1) ข้อจำกัดการเติบโตในระยะยาวคลี่คลายมากขึ้น โดยแผนขยายสนามบินสุวรรณภูมิ เห็นความคืบหน้า จากที่เคยติดปัญหาการเห็นชอบโครงการจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม (EIA) มานานหลายปี ขณะนี้ได้รับการอนุมัติและกำลังเข้าสู่ขั้นตอนที่ AOT เปิดประมูลหาผู้ก่อสร้างในปีนี้ และเริ่มสร้างปีหน้า ซึ่งคาดจะใช้เวลาสร้างราว 3 ปี และบริการได้ราว ก.พ. 62 หนุนกำลังให้บริการเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 45 เป็น 60 ล้านคน ขณะที่ในระยะสั้น ที่อาจติดปัญหากำลังให้บริการที่หนาแน่น (ปัจจุบันใช้งานเกินกำลัง) AOT ได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อาทิ การขยายจุดตรวจหนังสือเดินทางผู้โดยสารขาออกจาก 1 ชั้นเป็น 2 ชั้น
2) ราคาหุ้นปรับตัวลงต่อความกังวลความกังวลต่อนักท่องเที่ยวชาวจีน (41% ของนักท่องเที่ยวรวม) ที่อาจลดลงตามภาวะเศรษฐกิจเริ่มเติบโตในอัตราชะลอตัว ทั้งนี้ เชื่อว่า AOT จะรับผลกระทบน้อย แม้คาดการจับจ่ายคนจีนเมื่อเข้ามาท่องเที่ยวอาจลดลง แต่ด้วยจุดเด่นประเทศไทยที่เป็นปลายทางที่ใช้เงินท่องเที่ยวคุ้มค่ากว่ากว่าประเทศอื่น และมีแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจีนชื่นชอบ จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวลำดับท้ายๆ ที่ถูกยกเลิก กอปรกับ AOT มีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมจากการใช้สนามบิน ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว ทำให้เชื่อว่าผลกระทบที่จะได้รับจะอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ หลังจากประกาศงบงวดบัญชี 3Q58 (กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 64%yoy) ฝ่ายวิจัยได้ปรับไปใช้มูลค่าพื้นฐานปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 344 บาท มี Upside สูง 21.5% จากราคาที่ลงมาตอบรับความกังวลข้างต้น
นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647