- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 13 August 2015 16:51
- Hits: 1313
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ผลกระทบจากการลดค่าเงินหยวน ยังกดดันตลาดหุ้นเอเซีย รวมถึงไทย ยังแนะนำหุ้นรายตัวที่ยังสามารถทำกำไรได้ดีกว่าตลาด (SCC, THCOM, BTS, EASTW) วันนี้ยังเลือก WORK(FV@B45)เป็น Top pick เป็น 1 ในไม่กี่รายที่อยู่รอดภายใต้เศรษฐกิจชะลอตัว จาก rating สูง และสามารถขึ้นค่าโฆษณาได้ เพราะมีฐานเดิมที่ต่ำ และ SCC(FV@B580) ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า
เงินเอเซียอ่อนค่า การลดค่าเงินหยวน เป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นลงต่อ
เชื่อว่าสถานการณ์ค่าเงินเอเซียอ่อนค่ายังเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นเอเซียรวมถึงตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง กล่าวคือเมื่อสายของวันอังคารที่ผ่านมา (11 ส.ค. 2558) ธนาคารกลางของจีน (PBOC) ประกาศลดค่าเงินหยวนจาก 6.1162 หยวน/ดอลลาร์ เป็น 6.2298 หยวน หรืออ่อนค่า 1.85% และล่าสุดอยู่ที่ 6.3306 หยวน/ดอลล่าร์ ซึ่งน่าจะเป็นแรงกดดันจากที่เงินหยวนผูกติดอยู่กับดอลลาร์สหรัฐ ในสถานการณ์ที่เงินดอลลาร์แข็งค่า (ตลอดระยะ 1 ปี นับตั้งแต่กลางปี 2557) ทำให้เงินหยวนยังคงตัว หรือแกว่งตัวในทิศทางแข็งราว 1.11% นับจากเดือน มี.ค. จนถึงวันที่ 10 ส.ค. 2558 ทั้งนี้แม้จีนจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวและการส่งออกหดตัวในลักษณะเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเซีย ซึ่งพบว่าค่าเงินเอเซียทุกสกุลล้วนอ่อนค่านับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2558 เป็นต้น (ค่าเงินบาทอ่อนค่า 8.9% จากจุดแข็งค่าสุดเดือน เม.ย. – ปัจจุบัน ขณะที่ค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย อ่อนค่ามากสุด 12.54% ตามมาด้วยเปโซฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 4.52% รูเปียะห์อินโดนีเซีย อ่อนค่า7.42 % ในช่วงเดียวกัน)
การลดค่าเงินหยวนส่วนหนึ่งเพื่อที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันการส่งออกในตลาดโลก นอกเหนือจากการใช้นโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา เช่น การลดดอกเบี้ยนโยบาย หรือการลด RRR เนื่องจากจีนเผชิญกับการส่งออกชะลอตัว โดยล่าสุดเดือน ก.ค. พบว่ายอดส่งออก ลดลง 8.3%yoy ลดลงต่อเป็นเดือนที่ 5 และถ้าเทียบยอดการส่งออกตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (ytd) ยังคงลดลง 0.52%yoy การอ่อนค่าเงินหยวนในครั้งนี้ คาดว่าจะกระทบตลาดเงินและตลาดทุนดังนี้คือ
1) ค่าเงินภูมิภาคเอเชียอ่อนตัวลงตามเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วง 2 วันหลังจากที่มีประกาศลดค่าเงินหยวน กล่าวคือ รูเปียะห์อินโดนีเซียอ่อนค่ามากสุด 1.7% ตามมาด้วยริงกิตมาเลเซียอ่อนค่า 1.4% เงินบาทอ่อนค่า 1.34% และเปโซฟิลิปปินส์อ่อนค่าราว 1.0% ทั้งนี้พบค่าเงินของอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ทำจุดต่ำสุดตั้งแต่ปี 2541
2) ตลาดหุ้นเอเซียน่าจะยังคงอ่อนค่าต่อตามแรงขายของต่างชาติ เพราะค่าเงินเอเซียที่มีแนวโน้มอ่อนค่า ตามปัจจัยพื้นฐานในประเทศที่อ่อนแอ และ ยังเผชิญกับการส่งออกที่ลดลง จะไม่สามารถดึงเงินทุนต่างชาติกลับมาในระยะสั้นๆ ได้
เงินบาทอ่อนค่า มีทั้งผู้ได้-เสีย : SCC เด่นสุด
เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ดังกล่าวข้างต้น น่าจะดีต่อผู้ส่งออกที่มีโครงสร้างรายได้ส่วนใหญ่เป็นเงินต่างประเทศ แต่ต้นทุนบางส่วนเป็นเงินบาทไทย โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดย KCE ทุกๆ 1 บาท ที่อ่อนค่า กำไรปกติจะเพิ่มขึ้นราว 5.5% เนื่องจากโครงสร้างรายได้ 70% เป็นดอลลาร์ โครงสร้างต้นทุน 50% เป็นดอลลาร์ เช่นเดียวกับ SVI ทุกๆ 1 บาทที่อ่อนค่า กำไรปกติจะเพิ่มขึ้นราว 5.2% เนื่องจากโครงสร้างรายได้ 85% เป็นดอลลาร์ โครงสร้างต้นทุน 75% เป็นดอลลาร์ และ DELTA ทุกๆ 1 บาท ที่อ่อนค่า กำไรปกติจะเพิ่มขึ้นราว 5.7% เนื่องจากโครงสร้างรายได้ 72% เป็นดอลลาร์ โครงสร้างต้นทุน 54%เป็นดอลลาร์ แต่ฝ่ายวิจัยยังคงแนะนำ ถือ
ส่วน HANA แม้จะได้ประโยชน์สูงสุด โดยทุกๆ 1 บาท ที่อ่อนค่า กำไรปกติจะเพิ่มขึ้นถึง 6.2% เนื่องจากโครงสร้างรายได้ 100% เป็นดอลลาร์ โครงสร้างต้นทุน 60% เป็นดอลลาร์ แต่ฝ่ายวิจัยเตรียมปรับประมาณการฯ ปี 58-59 ลงเฉลี่ย 25% เนื่องจากการลดลงของรายได้ อัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่าเสื่อมราคาของโรงงานใหม่ในช่วง 2H58 ส่งผลให้กำไรปกติปีนี้ลดลงราว
11%yoy และอยู่ในระหว่างทบทวนคำแนะนำ
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มวัสดุก่อสร้างบางรายที่ได้รับประโยชน์เนื่องจากเป็นผู้ส่งออกสุทธิ ได้แก่ SCC, VNG ส่วน TASCO แม้รายได้ส่วนใหญ่เป็นการส่งออก และได้รับประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าในแง่ของ Operation แต่เงินกู้สำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ก็อยู่ในสกุลดอลลาร์เช่นกัน จึงมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น เมื่อเงินบาทอ่อนค่า และ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ได้ประโยชน์ จากผู้รับเหมาที่เน้นรับงานจากต่างประเทศ ได้แก่ TTCL,BJCHI, SRICHA
ตรงข้าม ผู้ที่เสียประโยชน์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีหนี้สินเป็นต่างประเทศ ได้แก่ TPIPL มีหนี้สินหลักอยู่ในสกุลยูโร หากเงินบาทอ่อนค่า ก็จะมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เช่นเดียวกับ SIM เสียประโยชน์ เพราะนำเครื่องมือถือเข้ามาจำหน่าย (รับเงินเป็นดอลลาร์ 80% ของต้นทุน) แต่ขายเป็นบาท และ ธุรกิจสายการบิน เสียประโยชน์ทั้งหมด เพราะต้นทุนราว (สัดส่วน 60%-70% ของต้นทุนรวม อาทิ น้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ค่าประกัน ค่าเช่าเครื่องบิน) อยู่ในสกุลดอลลาร์ แต่ไม่ได้รับผลกระทบทั้งหมด เพราะชดเชยได้บางส่วนจากการทำ Natural Hedge จากที่มีรายได้บางส่วนเป็นเงินสกุล USD (ราวๆ 40%-50% ของรายได้รวม)
ดอลลาร์สหรัฐกลับมาอ่อนค่า หนุนราคาน้ำมันโลกฟื้นตัวระยะสั้น
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐช่วงสั้น ๆ ยังสะท้อนการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการผลิต พบว่า สินค้าคงคลัง เพิ่มขึ้น 0.9%yoy มากกว่าการสำรวจถึง 0.5% ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน ก.ค. อยู่ที่ 53.8 ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจาก 53.6 จากเดือน มิ.ย แม้อาจจะขัดแย้งกับ ภาคแรงงานที่เริ่มทรงตัว หลังจากที่ฟื้นตัวต่อเนื่องมานาน สะท้อนจากเมื่อวันศุกร์ที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่ายอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 8 พันตำแหน่ง (อยู่ที่ 215 พันตำแหน่ง) เทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 3.1 หมื่นตำแหน่ง ถือว่าเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลง ทำให้อัตราว่างงานยังอยู่ที่ 5.3% (ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ที่ 0.1% ซึ่งจะต้องเฝ้าติดตามการรายงานตัวเลขทางด้านการบริโภค และตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการครั้งแรก ในวันนี้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ASPS เชื่อว่าการประชุมของ FED ครั้งถัดไปคือ 16-17 ก.ย. 2558 จะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่จะขึ้นปลายปีนี้ (ในการประชุม 15-16 ธ.ค. 2558) หรือต้นปี 2559 ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาอ่อนค่าอีกรอบ
ทั้งนี้ สะท้อนจากในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เริ่มทรงหรือปรับตัวลดลง 1.3% จากจุดที่แข็งค่าสุดที่ 97.7 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา (สวนทางกับเงินยูโรที่กลับมาแข็งค่า 3.3% จากจุดต่ำสุดที่ 1.08 เหรียญฯต่อยูโร) ช่วยทำให้ความต้องการถือดอลลาร์ลดลงในระยะสั้น และหนุนให้สินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันฟื้นตัวในระยะสั้น ๆ โดยล่าสุดพบว่าราคาน้ำมันดิบดูไบยังคงอยู่ที่ 50 เหรียญฯต่อบาร์เรล (ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในรอบนี้ที่ 49 เหรียญฯต่อบาร์เรล) ซึ่งเป็นระดับที่ทำผู้ผลิตและสำรวจ shale oil และ shale gas ประสบภาวะขาดทุนและจะต้องทยอยลดกำลังการผลิต ในลักษณะเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2557 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2558 ซึ่งน่าจะมีผลทำให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบโลกจะค่อย ๆ ลดลง และทำให้ปริมาณผลผลิตส่วนเกินจากความต้องการ (Oversupply) ค่อย ๆ ลดลง จากปัจจุบันที่ทั้งโลกมี Oversupply ที่ระดับ 1.77 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากผู้ผลิตหลัก ๆ ในกลุ่มโอเปคยังรักษาระดับการผลิตไว้ที่เดิมแม้ราคาน้ำมันดิบจะลดลงก็ตาม ซึ่งอาจจะการบ่งบอกถึงราคาหุ้นในกลุ่มน้ำมันอาจจะมาถึงจุดต่ำสุดอีกครั้งหนึ่ง
ต่างชาติเทขายหุ้นในภูมิภาค ตามเงินสกุลเอเซียที่อ่อนค่า
วานนี้ แม้ตลาดหุ้นไทยปิดทำการเนื่องจากเป็นวันแม่แห่งชาติ แต่ตลาดเพื่อนบ้านยังคงเปิดทำการ พบว่านักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 577 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการขายสุทธิสูงสุดในรอบ 34 วันที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการที่จีนลดค่าเงินหยวน ส่งผลให้ค่าเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเซียอ่อนค่าตาม ทั้งนี้พบว่าเป็นการขายสุทธิทั้ง 4 ประเทศ นำโดยไต้หวันขายสุทธิสูงสุด ราว 269 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) รองลงมาคือ เกาหลีใต้ขายสุทธิราว 227 ล้านเหรียญ ตามมาด้วยอินโดนีเซียขายสุทธิราว 56 ล้านเหรียญ และฟิลิปปินส์ที่ขายสุทธิราว 25 ล้านเหรียญ
ส่วนวันอังคารที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 225 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) โดยเป็นการขายสุทธิทั้ง 5 ประเทศ เริ่มจากไต้หวันถูกขายสูงสุดในภูมิภาคราว 85 ล้านเหรียญ รองลงมาคือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 54 ล้านเหรียญ เช่นเดียวกับกลุ่ม TIP อย่างอินโดนีเซียขายสุทธิราว 43 ล้านเหรียญ ตามมาด้วย ฟิลิปปินส์ที่ขายสุทธิราว 9 ล้านเหรียญ และไทยยังคงขายสุทธิราว 34 ล้านเหรียญ หรือ 1,215 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องป็นวันที่ 7) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 367 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่องเป็น 3 วัน)
หากพิจารณากระแสเงินจากต่างชาติตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่า ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิสะสมในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 8.2 พันล้านเหรียญ แต่เป็นยอดซื้อสุทธิสะสมที่ลดลงเกินครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับยอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา (1.8 หมื่นล้านเหรียญ) และถ้าสังเกตเป็นรายประเทศจะพบว่า ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกซื้อสะสมสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 5.1 พันล้านเหรียญ รองลงมาคือ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิสะสมราว 4.3 พันล้านเหรียญ เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่ถูกซื้อสุทธิราว 159 ล้านเหรียญ และ 149 ล้านเหรียญตามลำดับ ยกเว้นไทยประเทศเดียวที่ถูกขายสะสมสุทธิราว 1.5 พันล้านเหรียญ หรือ 5 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้แม้แรงขายจากต่างชาติจะเพิ่มขึ้นมากจนทำให้ยอดซื้อสะสมสุทธิในตลาดหุ้นไทยนับจากปี 2552 ถึงปัจจุบันติดลบ 6 พันล้านบาท แล้วก็ตาม แต่โอกาสหยุดขายยังไม่หมด เนื่องจากผลกระทบจากค่าเงินเอเซียที่ยังมีแนวโน้มอ่อนค่า
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์