- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 07 August 2015 17:05
- Hits: 1305
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
สภาพแวดล้อมในเชิงพื้นฐานยังไม่เอื้อต่อการปรับขึ้นของตลาดหุ้นไทย ขณะที่ยังไม่เห็นสัญญาณการกลับเข้ามาของ Fund Flow ต่างชาติ อย่างไรก็ตามควรจับตาที่เงินบาท หากอยู่ในภาวะที่ Downside จำกัด ก็อาจมีส่วนทำให้ Fund Flow ไหลกลับ ตัวเลือกการลงทุนยังให้เน้นหุ้นที่ทนทานต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ เช่น THCOM, BTS, HANA, EASTW และเลือก SCC(FV@B580) เป็น Top pick
การปรับลดคาดการณ์ GDP Growth ปี 2558 จะมีให้เห็นต่อเนื่อง
มุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศเมื่อเริ่มต้นปีนี้เรียกได้ว่าค่อนข้างแตกต่างกับปัจจุบัน สะท้อนจากค่ากลาง (Median) ของ GDP Growth ฝ่ายวิจัยเก็บสถิติข้อมูลมาจาก 14 แห่ง ในเดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 4.5% แต่เมื่อปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไม่สามารถขับเคลื่อนได้ตามเป้า ทั้งการบริโภคภาคครัวเรือนที่ซบเซา การลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัว บวกกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ต้องทยอยปรับลดคาดการณ์ GDP Growth ลงอย่างต่อเนื่อง ในเดือน เม.ย. 58 และล่าสุด ก.ค. 58 มาเป็น 3.8% และ 3.2% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุดได้สะท้อนถึงพัฒนาการเชิงลบของภาคการส่งออก (คิดเป็นกว่า 70% ของ GDP) ซึ่งพบว่าหดตัว 7 เดือนติดต่อกัน ทำให้กระทรวงพาณิชย์ต้องปรับเป้าการส่งออกปี 2558 เป็นหดตัว 3% (จากเดิมขยายตัว 1.2%) เช่นเดียวกับ ธปท.ปรับเป้าส่งออกติดลบ 4% (จากเติบโต 1.4%) ด้วยเหตุจากมูลค่าการส่งออกลดลงโดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักอย่างจีนที่เศรษฐกิจชะลอตัว รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ก็มีส่วนให้ราคาส่งออกหดตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ ซึ่งไทยยังได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ (ราคาข้าวตกไป 7% ยางพารา 19% และน้ำตาล 9%) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน โดยเดือน ก.ค. อยู่ที่ 73.4 ลดลงจาก 74.4 ในเดือน มิ.ย. ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 62.6 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เช่นกัน และต่ำสุดในรอบ 14 เดือนนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 57 สะท้อนถึงความมั่นใจที่ยังไม่กลับมา
องค์ประกอบดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะทำให้นักเศรษฐศาสตร์ทุกค่ายปรับลด GDP Growth ในปีนี้ลงมาต่ำกว่า 3% ขณะที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ 2.5% (ตามการคำนวณแบบเดิม) ภายใต้สมมติฐานการส่งออกเติบโต 1% ซึ่งมีความเป็นไปได้ยาก จึงมีโอกาสที่จะทบทวนประมาณการอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงการส่งออกสุทธิ พบว่ามีสัดส่วนราว 6.6% เท่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าแม้จะมีความเสี่ยงจาก downside แต่ก็ไม่น่ามีผลกระทบอย่างมีนัยฯ
ภาคแรงงานสหรัฐปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ภาพรวมยังคงแข็งแกร่ง
สหรัฐ ตัวเลขการขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก รายสัปดาห์สิ้นสุด 1 ส.ค. เพิ่มขึ้น 3,000 ราย สู่ระดับ 270,000 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.12 %แต่โดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์ที่ผ่านมายังคงอยู่ที่ 268,250 ราย ต่ำกว่าระดับ 300,000 ราย สะท้อนภาพรวมตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราว่างงาน ว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่
ทางด้านอังกฤษ ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2552 และคงวงเงินการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ไว้ที่ 3.75 แสนล้านปอนด์ (5.76 แสนล้านดอลลาร์) ตามเดิม พร้อมปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อลง ตามการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันโลก จึงทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า BOE น่าจะค่อยๆ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 2559
Fund Flow อาจกลับมาหาก Downside ของอัตราแลกเปลี่ยนถูกจำกัด
หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิออกจากตลาดหุ้นไทย จนกระทั่งมูลค่าซื้อสุทธิสะสมสูงสุดนับจากปี 2552 ที่เคยสูงสุดกว่า 3.21 แสนล้านบาทในช่วง พ.ค.2556 แทบจะไม่เหลืออยู่ในปัจจุบัน ทำให้มีความเชื่อตรงกันว่าแรงขายจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติจะไม่สร้างผลกระทบในระดับที่มีนัยสำคัญต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลาปัจจุบัน ประเด็นที่น่าสนใจมีอยู่ว่า แล้วเมื่อใดจะเห็น Fund Flow จากนักลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาสู่ตลาดหุ้นไทยอีกรอบ ซึ่งฝ่ายวิจัยพอจะให้ข้อสังเกตขององค์ประกอบที่จะทำให้เกิดการไหลกลับของ Fund Flow ดังต่อไปนี้ โดยหากเกิดเหตุใดเหตุหนึ่งขึ้นมา ก็มีโอกาสจะเห็น Fund Flow ไหลกลับ
1. ระดับ Current PER ของตลาดหุ้นไทยลงมาสู่ระดับที่เหมาะสม ช่วง 14 – 16 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ถือเป็นภาวะปกติของตลาดหุ้นไทย ซึ่งไม่ได้มีเหตุการณ์พิเศษ หรือ Fund Flow ไหลเข้ามาอย่างผิดปกติ ทั้งนี้ที่ระดับ SET Index ปัจจุบัน 1430.58 จุด ให้ค่า Current PER ที่ 16.67 เท่า (บนสมมุติฐานที่ได้ปรับลด EPS ปี 2558 ลงมา 4% จากประมาณการที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่ 95.74)
2. เศรษฐกิจ และ การเมือง ของประเทศไทย กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยในส่วนของเศรษฐกิจควรอยู่ในภาวะที่เริ่มเห็นจุดวกกลับจากจุดต่ำสุด ขณะที่การเมืองเห็นความชัดเจนของกำหนดการเลือกตั้ง
3. ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจำกัด ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมามีความคาดหมายว่าเงินบาทของไทยมีโอกาสที่จะอ่อนค่าลง ทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลออกไปอยู่ในสกลุเงินที่ปลอดภัย อย่างเช่น USD แต่เมื่อใดก็ตามเมื่อนักลงทุนเล็งเห็นว่า Downside ของเงินบาทที่จะอ่อนตัวลงไป อยู่ในระดับที่จำกัดมากแล้ว หรือดียิ่งไปกว่านั้นคือมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้น เม็ดเงินลงทุนก็น่าจะไหลกลับมา นับจากสิ้น 1Q58 จนถึงปัจจุบันพบว่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาแล้วราว 8% (32.53 เป็น 35.13 บาท/USD) ซึ่งจาการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง SET Index กับอัตราแลกเปลี่ยนย้อนหลัง พบว่าจุดเปลี่ยนที่สำคัญของ SET Index มีความสัมพันธ์กับค่าเงินบาท โดยในช่วงนับจากปี 2540 เป็นต้นมา จะเห็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอยู่ 3 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ช่วงต้นปี 2542 ในช่วงเวลาดังกล่าวเงินบาทอยู่ที่ 40.79 ต่อ USD ซึ่งเป็นการอ่อนค่าลงต่อเนื่องหลังการลอยตัวค่าเงินบาท ได้เกิด Fund Flowไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ SET Index พลิกกลับไปอยู่ในแนวโน้มขึ้น หลังจากที่ปรับลงมาต่อเนื่องนับจากวิกฤติต้มยำกุ้ง
ครั้งที่ 2 ในช่วงปลายปี 2551 ต่อเนื่อง ต้นปี 2552 เป็นช่วงที่อยู่ในภาวะวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯ เงินบาทอ่อนค่าลงค่อนข้างแรง เมื่อถึงระดับหนึ่งก็ทำให้ Fund Flow ไหลเข้าและ SET Index พลิกกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง
ครั้งที่ 3 ช่วงเดือน พ.ค.2556 เป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องมายาวนาน ภาวะดังกล่าวทำให้เงินบาทแข็งค่าจนมาอยู่ที่ 29.76 ต่อ USD หลังจากนั้นได้เกิดแรงขายออกมาจนทำให้ SET Index เข้าสู่ภาวะปรับฐานปัจจุบัน เงินบาบกลับมาอ่อนค่าอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าเมื่อถึงระดับที่ปรับขึ้นไปใกล้ 36 บาทต่อ USD อาจทำให้ความคาดหวังว่าจะเห็นเงินบาทอ่อนไปกว่านี้น่าจะลดลง ซึ่งก็หมายความว่า Downside Risk สำหรับเงินบาทจำกัด อาจทำให้มี Fund Flow ไหลเข้ามาอีกรอบหนึ่งก็ได้ ถือเป็นความหวังสำหรับตลาดหุ้นไทยที่น่าจับตา
ใน 4 วันที่ผ่านมา ต่างชาติขายหุ้นไทยกว่า 4.3 พันล้านบาท
วานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 276 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) แต่เป็นการซื้อสุทธิเพียงประเทศเดียว คือ ฟิลิปปินส์ถูกซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 3 แสนเหรียญ ส่วนที่เหลืออีก 4 ประเทศ ต่างชาติยังคงขายสุทธิคือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 119 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) และไต้หวันถูกขายสุทธิราว 99 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่ถูกขายสุทธิราว 19 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ส่วนไทย วานนี้แรงขายจากต่างชาติบวกกับสถาบันในประเทศ ทำให้ตลาดหุ้นไทยลดลง 5.78 จุด หรือ -0.4% โดยต่างชาติยังคงขายสุทธิราว 40 ล้านเหรียญ หรือ 1,395 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องป็นวันที่ 4) โดยมียอดขายสุทธิสะสมรวม 4.3 พันล้านบาท และสถาบันในประเทศขายสุทธิราว116 ล้านบาท
ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 15,216 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิ 1,549 ล้านบาท ส่วนทางค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 35.12 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647