- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 06 August 2015 16:50
- Hits: 1347
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
สถานการณ์แวดล้อมในเชิงพื้นฐานเห็นได้ชัดเจนว่ายังไม่มีปัจจัยบวกที่มีน้ำหนักมากพอที่จะขับเคลื่อน SET Index ให้ปรับขึ้นไปได้ การลงทุนในช่วงนี้ยังให้เน้นหุ้นที่กระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวน้อย ยังชื่นชอบ THCOM, BTS, HANA, EASTW และเลือก SCC(FV@B580) เป็น Top pick
กนง. ยืนดอกเบี้ยฯ ดีต่อ ธ.พ. เชื่อค่าเงินปัจจุบันหนุนส่งออก
ผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เดิมคือ 1.5% โดย กนง. เห็นว่ามาตรการในช่วงที่ผ่านมายังมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อน่าจะมาถึงจุดต่ำสุดแล้ว โดยล่าสุดในเดือน ก.ค. ติดลบ 1.05% yoy และตลอด 7 เดือนแรกของปีนี้ ยังติดลบ 0.8% ขณะที่เงินบาทที่อ่อนค่ายังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ หากพิจารณาเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องมานานนับตั้งแต่ กลางเดือน เม.ย. เป็นต้นมา อยู่ที่ 32.38 บาท/เหรียญ จนถึงวานนี้ที่ 35.16 บาท/เหรียญ เท่ากับเงินบาทอ่อนค่ามาแล้วกว่า 8% ถือว่าอ่อนสุดในภูมิภาค แต่อาจใกล้เคียงกับเงินริงกิตของมาเลเซียที่อ่อนค่าราว 8.5% ในเกือบ 4 เดือน (ขณะที่ค่าเงินรูเปียะห์ของอินโดนีเซีย อ่อนค่า 3.9% และค่าเงินเปโซของฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 3.4%) การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย เป็นไปในทิศทางเดียวกับผลการประชุมของธนาคารกลางของประเทศเพื่อนบ้าน โดยธนาคารกลางอินเดียมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยฯ ไว้ที่ระดับ 7.25%
หลังจากที่ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่ต้นปี 2558 รวม 0.75% คาดว่าส่วนหนึ่งน่าจะมีสาเหตุจากเงินรูปีของอินเดียที่อ่อนค่ากว่า 3.4% นับตั้งแต่เดือน ก.พ. เป็นต้นมา (อยู่ที่ 63.8รูปี/เหรียญ เทียบกับ 61.7รูปี/เหรียญ เมื่อเดือน ก.พ. 2558) ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 5.3% และ เช่นเดียวกับธนาคารกลางออสเตรเลีย ผลการประชุม 2 วันก่อนหน้า มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.0% นับเป็นการคงดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 หลังจากได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% เมื่อเดือน ก.พ. และ พ.ค ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ราว 5.2% นับจากกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา
การคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำดังกล่าว น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยลดแรงกดดันต่อผลการดำเนินงานของหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่ได้รับผลกระทบจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ลดลงจากการที่ กนง. ปรับลดอัตรา 2 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา โดยฝ่ายวิจัยยังคงชอบ KBANK (FV@B 232) ที่มีจุดเด่นในเรื่องของคุณภาพสินทรัพย์ มีการกระจายตัวของโครงสร้างสินเชื่อที่ดีไปในทุกกลุ่ม ลดความเสี่ยง NPL มูลค่าสูง ขณะที่มี Coverage ratio ระดับสูง จากนโยบายกันสำรองหนี้ฯ ที่ระมัดระวังในช่วงที่ผ่านมา ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี
สปช. ลงมติร่างรัฐธรรมนูญ 7 ก.ย.2558 ต้องการ 125 เสียง รับ หรือไม่รับ
ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับแก้ไข คณะกรรมาธิการยกร่างจะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญที่ปรับปรุงเสร็จแล้วให้กับ สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 22 ส.ค.2558 โดยที่ สปช. จะต้องทิ้งช่วงเวลาไว้ 15 วัน ก่อนที่จะเรียกประชุมเพื่อลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ไม่สามารถจะเสนอให้แก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญได้อีก ทั้งนี้ สปช. จะต้องประชุมและลงมติให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน นับจากที่เริ่มประชุม ซึ่งหากพิจารณาตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ สปช. ก็น่าจะเริ่มนัดประชุมได้ในวันที่ 5 ก.ย. 2558 หลังจากนั้นจะต้องลงมติภายในวันที่ 7 ก.ย.2558 ซึ่งล่าสุดสมาชิก สปช. บางท่านก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันกรอบเวลาดังกล่าว
ปัจจุบันสมาชิก สปช. มีอยู่ทั้งสิ้น 249 ท่าน ซึ่งการลงมติ เห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ กับร่างรัฐธรรมนูญ ต้องการคะแนนเสียงข้างมากไม่น้อยกว่า 125 เสียง โดย สปช. 21 ท่าน ที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย ก็สามารถใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงได้ประเด็นที่น่าติดตามก็คือ กระแสที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ออกมา ปรากฎว่ามีการเคลื่อนไหวรวบรวมคะแนนเสียงเพื่อที่จะโหวต ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สำหรับผลการลงมติของ สปช. หากออกมาเป็นการ เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการต่อไป ก็จะเป็นการเข้าสู่ขั้นตอนของการทำประชามติ ซึ่งต้องมีการพิมพ์ร่างฯ แจกให้กับผู้มีสิทธิ์ ลงคะแนนทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 80% โดยคาดว่าน่าจะลงคะแนนประชามติได้ราว 10 ม.ค.2559 หากผ่านความเห็นชอบก็จะนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งยังเหลือกระบวนการในการร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และการจัดเตรียมการเลือกตั้ง โดยน่าจะเกิดขึ้นได้ราวเดือน ก.ย. 2559
แต่หากสถานการณ์เป็นไปในทางตรงข้าม กล่าวคือ สปช. ลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการถัดไปก็จะดูซับซ้อนขึ้น กล่าวคือ ทั้ง สปช. และ คณะกรรมาธิการยกร่าง ต้องสิ้นสภาพไป และจะมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่ ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ภายใน 180 วัน ซึ่งหากนับช่วงระยะเวลาคร่าวๆ ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งร่างโดยคณะกรรมการชุดใหม่น่าจะเสร็จราวเดือน มี.ค. 2559 การทำประชามติ ก็น่าจะทำได้ในราวเดือน ก.ค. หรือ ส.ค. 2559 ส่วนการเลือกตั้ง ก็น่าจะเกิดขึ้นช่วงไตรมาสที่ 1/2560
สถานการณ์การเมืองจากนี้ไป จุดสนใจจะมาอยู่ที่การคาดหมายผลการลงมติ เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีผลโดยตรงกับกำหนดการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการเมืองไทย และจะมีผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย
ภาคแรงงานสหรัฐชะลอตัวเล็กน้อย หนุน Fed ขึ้นดอกเบี้ยปลายปี
สหรัฐ ดังที่ได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้ว่าดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจสหรัฐมีสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะภาคการบริโภคที่เริ่มกลับมาอ่อนแรง ขณะที่ทางด้านตลาดแรงงานอาจดูไม่ค่อยดีนักโดยวานนี้มีการรายงานตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน จัดทำโดย ADP เดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นเพียง 1.85 แสนตำแหน่ง น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.15 แสนตำแหน่ง และน้อยกว่าเดือน มิ.ย. ที่เพิ่มขึ้น 2.29 แสนตำแหน่ง สวนทางกับภาคบริการที่ยังขยายตัว สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ก.ค. จัดทำโดยสถาบัน ISM อยู่ที่ระดับ 60.3 เพิ่มขึ้นจาก 56.0 ในเดือน มิ.ย. และดีกว่าคาดที่ 56.1 สอดคล้องกับ ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นสุดท้าย เดือน ก.ค. จัดทำโดย Markit อยู่ที่ 55.7 จาก 54.8 ในเดือนที่แล้ว และสูงกว่าคาดที่ 55.0
ส่วนทางด้านดุลการค้าเดือน มิ.ย. ปรากฏว่าการส่งออกลดลง 0.1%. ผลมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และ demand จากต่างประเทศที่ชะลอตัวลง ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.2% โดยรวมส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลเพิ่มขึ้น 7.1%mom อยู่ที่ 4.38 หมื่นล้านเหรียญ
ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ยังผันผวน ทำให้คณะกรรมการ Fed หลายคนยังคงมีความเห็นที่แบ่งเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน โดยฝ่ายที่ต้องการให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. คือ นายเดนนิส ล็อคฮาร์ท ประธาน Fed สาขาแอตแลนตา เนื่องจากเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากพอและพร้อมแล้วที่จะขึ้นดอกเบี้ย เว้นเสียแต่ว่าดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจจะต้องย่ำแย่อย่างมาก สวนทางกับความเห็นของ นายเจอโรม โพเวลล์ หนึ่งในคณะกรรมการฯ ล่าสุดกล่าวว่า Fed ยังไม่ได้ตัดสินใจแน่นอนที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ย.โดยยังต้องพิจารณาถึงตลาดแรงงาน และอัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย ASPS ยังเชื่อว่า Fed น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดคือเดือน ธ.ค. 2558
ทางด้านของยูโรโซน มีการรายงานยอดค้าปลีกเดือน มิ.ย. ลดลง 0.6%mom นับเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบเกือบ 1 ปี นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2557 หลักๆ มาจากการลดลงของยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. ของเยอรมัน ที่ลดลงมากถึง 2.3%mom ตามมาด้วย ดัชนี PMI ภาคบริการ จัดทำโดย Markit เดือน ก.ค.อยู่ที่ 54.0 ลดลงจาก 54.4 ในเดือน มิ.ย. เนื่องจากดัชนี PMI ภาคบริการของเยอรมันในเดือนนี้ไม่เติบโตจากเดือนก่อน ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการของฝรั่งเศส ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากปัญหาในกรีซ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในยูโรโซนมีการชะลอตัวลง ด้านของกรีซ มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเจรจาหนี้ โดย นายกฯ ซิปราส กล่าวว่าใกล้ที่จะบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้ TROIKAแล้ว สร้างความเชื่อมั่นว่ากรีซจะมีเงินมาชำระหนี้ และยังอยู่ในยูโรโซน โดยรัฐบาลกรีซเตรียมที่จะเสนอร่างกฎหมายแผนปฏิรูปเศรษฐกิจให้รัฐสภาพิจารณาภายในวันที่ 14 ส.ค.นี้ ซึ่งคาดว่า รัฐสภากรีซจะลงมติได้ภายในวันที่ 19 ส.ค. ก่อนหน้าวันครบกำหนดชำระหนี้ให้กับ ECB ในวันที่ 20 ส.ค. นี้
ยังมีการปรับลดประมาณการลง
จากข้อมูลที่ฝ่ายวิจัยรวบรวมจนถึงช่วงบ่ายวานนี้ ในเบื้องต้นคาดว่า EPS ของตลาด จะลดลงมาอยู่ที่ราว 92.14 บาทในปี 2558 และ 105.17 บาทในปี 2559 (ตัวเลขสุดท้ายจะสรุปอย่างเป็นทางการหลังประกาศงบ 2Q58 ครบแล้ว) เริ่มตั้งแต่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ปรับลดประมาณการกำไรลง 9% ตามมาด้วยกลุ่มพลังงาน ปรับลดประมาณการกำไรลงราว 6% ตามมาด้วยการปรับลงของหุ้นหลายตัวในหลายอุตสาหกรรม เช่น
ส่งออกอาหาร-เครื่องดื่ม (จากการปรับลดประมาณการ CPF, GFPT), อาหาร-เครื่องดื่ม (ปรับลดประมาณการ M, MINT), ค้าปลีก-ส่ง(ปรับลดประมาณการ HMPRO, BIGC,), สื่อ-บันเทิง (ปรับลดประมาณการ VGI, RS, MCOT), อสังหาฯ (ปรับลดประมาณการ SPALI), รับเหมา (ปรับลดประมาณการ SEAFCO, BJCHI), ขนส่งทางเรือ ปรับลดประมาณการ RCL, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปรับลดประมาณการ DELTA, ร.พ. ปรับลดประมาณการ CHG เป็นต้น
ทั้งนี้ ดัชนีตลาดปัจจุบันมีค่า Expected PER ราว 15.6 เท่า ซึ่งแม้จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน ( ฟิลิปปินส์สูงสุด 20 เท่า อินเดียที่ระดับ 16.7 เท่า มาเลเซีย 16.3 อินโดนีเซีย 15.3 และ จีน 15 เท่า) แต่การปรับลด EPS ตลาดจะทำให้ PER รวมของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กลยุทธ์ลงทุน กำหนดให้ถือเงินสด 60% และถือหุ้น 40% ยังเน้นหุ้นกระทบจากเศรษฐกิจในประเทศน้อยและกำไรเติบโตใน 2H58 ดังตารางด้านล่าง
ต่างชาติยังคงขายหุ้นไทยต่อเนื่องเป็นวันที่ 3
วานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 17 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) โดยเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 2 ประเทศคือ ฟิลิปปินส์ถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 30 ล้านเหรียญ และไต้หวันถูกซื้อสุทธิราว 19 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2)ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศ ต่างชาติขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 40 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่องเพียงวันเดียว) เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่ถูกขายสุทธิราว 14 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ส่วนไทยต่างชาติยังคงขายสุทธิราว 12 ล้านเหรียญ หรือ 421 ล้านบาท ซึ่งขายสุทธิติดต่อกัน 3 วัน โดยมียอดขายสุทธิสะสมรวม 2.9 พันล้านบาท ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 160 ล้านบาท
ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 13,802 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 490 ล้านบาท ส่วนทางค่าเงินบาท แรงขายจากต่างชาติทั้งในตลาดหุ้นไทยและตลาดตราสารหนี้ทำให้บาทอ่อนตัวลง โดยล่าสุดอยู่ที่ 35.17 บาท/ดอลลาร์
นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647