- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 30 July 2015 00:14
- Hits: 1413
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แม้ดัชนีลงมาต่อเนื่องแต่ยังมีค่า PER 15.3 เท่า อิง EPS ตลาดที่ปรับลงหลังสุดที่ 91.89 บาท แต่ความเสี่ยงที่ EPS ตลาดจะลดลงจากนี้ยังมี สะท้อนการปรับลดกำไรหุ้นรายยังมี เช่น BIGC กลยุทธ์เน้นหุ้นที่กระทบจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวน้อย เลือก EASTW(FV@B14) เป็น Top pick มีแหล่งน้ำเพียงพอ ทำให้ได้ลูกค้าใหม่ หลังน้ำขาดแคลนในชลบุรี เป็นหุ้น PER ต่ำ + จ่ายปันผล 4%
SET แกว่งตัวลงต่อตราบที่ยังขาดแรงหนุนชัดเจน
เชื่อว่า SET Index ยังแกว่งในทิศทางขาลง โดยน่าจะบวก/ลบ ใกล้เคียง 1400 จุด เพราะนอกจากขาดปัจจัยหนุนแล้วยังคงถูกกดดันจากปัจจัยรอบด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก กดดันการส่งออกของประเทศ ดังที่นำเสนอวานนี้ถึงยอดส่งออกเดือน มิ.ย. หดตัว 7.87% yoy เทียบกับที่หดตัว 5% เดือน พ.ค. ขณะที่ด้านนำเข้าหดตัวน้อยกว่าคือ เพียง 0.21% และลดลงน้อยกว่าเดือน พ.ค. ที่หดตัว 20%
ทั้งนี้ พบว่าตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ, จีน, ญี่ปุ่น และยุโรป ล้วนอยู่ในภาวะหดตัว รวมถึงการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าประมง ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯยังจัดให้ไทยคงอยู่ในกลุ่มประเทศ Tier3 คือยังใช้แรงงานที่ผิดกฏหมาย ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ที่ต้องใช้วัตถุดิบทางทะเล เช่น ปลาป่น ซึ่งใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในประเทศยังเข้าสู่ภาวะชะลอตัว โดยจากการเปิดเผยของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย.อยู่ที่ระดับ 168.86 หดตัว 8.04%yoy ถือเป็นหดตัวมากสุดในรอบ 15 เดือน ทำให้ MPI งวด 1H58 หดตัวมากถึง 3.7% แต่ยังคาดหวังว่าครึ่งปีหลังอุตสาหกรรมรถยนต์จะฟื้นตัวขึ้นได้ (สัดส่วน 18% ของการผลิตอุตสาหกรรม, 10%ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม) ซึ่งทำให้ สศอ. ยังคงประมาณการเดิมว่า PMI ปีนี้จะอยู่ที่ 3-4% และทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวถึง 2-3%yoy แต่อาจจะมีการประมาณการอีกที่ต้องติดตามในเดือน ส.ค. ที่จะถึงนี้
และเช่นเดียวกับการปรับ GDP Growth ของประเทศในปีนี้ มีแนวโน้มที่นักเศรษฐศาสตร์ทุกค่ายจะปรับลดลงมาต่ำกว่า 3% ซึ่งลงมาใกล้เคียงกับ ASPS ที่ประเมินไว้ว่าปี 2558 จะเติบโตราว 2.5% (ภายใต้สมมติฐานยอดส่งออกอยู่ที่ 1% ขณะที่ภาคส่งออก คิดประมาณ 70% ของ GDP) ทั้งนี้ ล่าสุดทาง สศค. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจลงจาก 3.7% เป็น 3%yoy (กรอบ 2.5-3.5%) จากภาคการส่งออกที่ปรับลดลงจากสมมติฐานเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 0.2% เป็นหดตัว 4% ล่าสุดการส่งออกงวด 1H58 หดตัวที่ 4.84%yoy แต่คาดว่าภาคการท่องเที่ยวและการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่เหลือจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ รวมถึงปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อลงเป็น -0.6% จากราคาน้ำมันที่ลดลง (สมมติฐานที่ 60 เหรียญฯต่อบาร์เรล) และอุปสงค์ในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ
ความเสี่ยงในการปรับลดกำไรตลาดยังมี ตราบที่ยังมีการปรับลดรายหุ้นอยู่
เช่นเดียวกับการปรับลดกำไรตลาด แม้ได้มีการทยอยปรับลดประมาณการกำไรหุ้นรายตัวเป็นครั้งที่ 2 ในระหว่างการรายงานงบงวด 2Q58 โดยที่ผ่านมาได้ปรับลดกำไรของหุ้นในกลุ่มที่มี market cap ขนาดใหญ่ไปแล้วคือ ธนาคารพาณิชย์ รวมถึงธุรกิจการเงินรายย่อย พลังงาน บันเทิง โดย EPS ตลาดปี 2558 สิ้นสุดกลางเดือน ก.ค. 2558 อยู่ที่ 91.91 บาทต่อหุ้น แต่หลังจากนี้คาดว่าจะมีการปรับลดประมาณการหุ้นรายตัวเพิ่มเติม เช่น ธุรกิจค้าปลีก ล่าสุดนักวิเคราะห์ ASPS ได้ปรับลดประมาณการกำไรของ BIGC จากเดิม 9% เนื่องจากกำไรที่รายงานจริงงวด 1H58 คิดเป็น 41% ของประมาณการ ทั้งนี้เพราะใน ยอดขายสาขาเดิม (SSS) กลับมาติดลบอีกครั้งคือราว 1.8%yoy เทียบกับงวด 1Q58 ที่ขยับขึ้นมาเป็น 0% และ 0.5% ในงวด 4Q57 หลังจาก SSS ติดลบตลอด 9 เดือนแรกของปี 2557 เช่นเดียวกับ HMPRO ปรับลดประมาณการกำไรในปี 2558 และ 2559 ลง 10% และ 17% ตามลำดับ จากการปรับลดสมมติฐานยอดขายสาขาเดิม (SSS) และแผนการเปิดสาขาใหม่ในปีนี้ รวมถึงอัตราการทำกำไรที่ต่ำกว่าคาด ตรงกันข้าม มีการปรับเพิ่มกำไรของ EASTW เพิ่มขึ้นจากเดิม 8% เพราะภาวะภัยแล้งที่พัทยาและชลบุรี ทำให้การประปาพัทยา ซึ่งใช้แหล่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำบางพระเป็นแหล่งน้ำดิบ ประสบปัญหาน้ำกร่อย จึงหันมาซื้อน้ำดิบจาก EASTW (ติดตามอ่านรายละเอียด Equity Talk 16 ก.ค.2558) แต่คาดว่าจะไม่มีส่วนช่วยหนุน EPS ตลาดเท่าไรนัก
ขณะที่นักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีของ ASPS ได้เริ่มมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว อาจจะกระทบต่อผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เนื่องจากจีนเป็นผู้บริโภครายใหญ่ของโลก ซึ่งอาจจะกดดันประมาณการกำไรของกลุ่มปิโตรเคมีในช่วง 2H58 โดยคาด Spread ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะแข็งแกร่งในช่วง 2H58 ขณะที่งวด 3Q58 กลุ่มโรงกลั่นมักจะถูกกดดันตามค่าการกลั่นที่อ่อนตัวลงตามฤดูกาล นอกจากยังเผชิญกับผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน ตามราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงมาต่ำกว่า 53 เหรียญฯต่อบาร์เรล เทียบกับที่ระดับ 60 เหรียญฯต่อบาร์เรล เมื่อสิ้นงวด 2Q58 อย่างไรก็ตามหุ้นเด่นในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมียังชื่นชอบ IRPC เนื่องจากมีสินค้าในระดับ premium และยังมี upside สูงสุดในกลุ่มฯ
โดยสรุปหากอิง EPS ตลาด โดยคำนึงถึงการปรับลดกำไรรายหุ้นล่าสุด (เมื่อวานนี้) ที่ 91.86 บาทต่อหุ้น คาดว่าดัชนีตลาดจะอยู่ที่ 15.31 เท่า แต่ความเสี่ยงจากการปรับลดประมาณการกำไรหุ้นรายตัวยังมี จะกดดันให้ EPS ตลาดมีโอกาสลดลงได้อีก จึงเป็นไปได้ที่กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทยในระยะ 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า จะอยู่ระหว่าง Expected PER 15 เท่า คือ 1,378 และ Expected PER 15.5 เท่า 1,423 จุด
นับตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบัน ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยสูงสุด
วานนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 313 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) และยังคงเป็นการขายสุทธิทั้ง 5 ประเทศ โดยประเทศที่ถูกขายสุทธิสูงสุดคือ ไต้หวันถูกขายสุทธิราว 109 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) รองลงมาคือเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 90 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6) เช่นเดียวกับกลุ่ม TIP อย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 39 ล้านเหรียญ และ 28 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ส่วนตลาดหุ้นไทยต่างชาติยังคงขายสุทธิราว 52 ล้านเหรียญ หรือ 1,823 ล้านบาท ซึ่งขายติดต่อกัน 7 วัน โดยมียอดขายสุทธิสะสมรวมสูงถึง 10,496 ล้านบาท เช่นเดียวกับกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 1,008 ล้านบาท
แม้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ต่างชาติซื้อสุทธิสะสมสูงถึง 18,360 ล้านเหรียญ แต่เมื่อเทียบกับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันต่างชาติซื้อสุทธิสะสมน้อยลงเหลือเพียง 9,461 ล้านเหรียญ โดยเป็นการซื้อสุทธิสะสม 4 ประเทศ คือ เกาหลีใต้, ไต้หวัน, อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซื้อสุทธิสะสมราว 5,453 ล้านเหรียญ 4,816 ล้านเหรียญ 249 ล้านเหรียญ และ 227 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ยกเว้นไทยที่ถูกขายสุทธิสะสมอยู่ราว 1,285 ล้านเหรียญ
ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 32,795 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิ 3,017 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 34.84 บาท/ดอลลาร์
กลยุทธ์การลงทุนถือหุ้น 40% ที่เหลือเป็นเงินสด
กลยุทธ์การลงทุนยังแนะนำให้ถือหุ้น 40% ของพอร์ต ที่เหลือถือเงินสด โดยเลือกลงทุนเป็นรายหุ้นที่มีภูมิคุ้มกันสูง ได้รับแรงกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวน้อย หรือหุ้นปันผลสูงที่มีระดับ P/E ต่ำ Upside สูง รายละเอียดดังตารางด้านล่าง
นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647