- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 24 July 2015 17:18
- Hits: 2136
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET ยังผันผวนขาลง คาดว่ามีโอกาสลงไปทดสอบ 1,440 จุด แต่ระยะกลางถึงยาวยังมองไปที่ 1,430-1,425 จุด ยังชื่นชอบหุ้นที่มีภูมิคุ้มกันสูงจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว THCOM (FV@B51), BTS(FV@B12), IRPC([email protected]) และเลือกเป็น Top picks และแนะนำให้เก็งกำไร SAMTEL(FV@B27) ซึ่งได้รับงานใหม่จากภาครัฐ ช่วยเพิ่ม Backlog
เศรษฐกิจสหรัฐยังแข็งแกร่ง vs กรีซ ยังรับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม
สหรัฐฯ ยังคงรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดพบว่าผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์สิ้นสุดที่ 18 ก.ค.2558 ลดลงมากถึง 2.6 หมื่นราย ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 40 ปี (มาอยู่ที่ระดับ 2.55 แสนราย อยู่ในระดับต่ำกว่า 3 แสนรายต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 20) ขณะที่อัตราการว่างงานที่ล่าสุดอยู่ที่ 5.3% อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ให้น้ำหนักกับอัตราการว่างงาน ซึ่งปัจจุบันถือว่าเข้าใกล้เป้าหมายแล้ว ยกเว้นอีกปัจจัยคือ เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับใกล้ 0% ซึ่งยังห่างจากเป้าหมาย 1% ในระยะสั้น จึงทำให้ยังเชื่อมั่นว่า Fed น่าจะเกิดขึ้นในเดือน ธ.ค. หรืออย่างช้าในต้นปีหน้า
เช่นเดียวกับทางธนาคารกลางอังกฤษ ที่เริ่มมีทิศทางความคิดเห็นว่าน่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของอังกฤษในช่วงดังกล่าวเช่นกันทางด้านปัญหาของกรีซ กดดันตลาดน้อยลง หลังจากที่ EU ให้เงินกู้ระยะสั้น (bridging loan) แก่กรีซ 7.16 พันล้านยูโร เพื่อชำระหนี้ IMF, ECB และธนาคารกลางกรีซรวม 6.8 พันล้านยูโรในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา และล่าสุดเมื่อวานนี้สภากรีซมีการลงมติอนุมัติแผนปฎิรูปฉบับที่ 2 (การลดค่าใช้จ่ายด้านระบบศาล และการปรับปรุงกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับกองทุนการเงินของ EC) ด้วยคะแนนที่ 230 ต่อ 63 เสียง เพื่อเตรียมขอรับเงินช่วยเหลือในรอบถัดไป ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือก้อนใหม่ 8.6 หมื่นล้านยูโร โดยจะมีการเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้ในวันนี้ ซึ่งยังต้องติดตามต่อว่ากรีซจะได้รับอนุมัติเงินช่วยเหลือ ก่อนวันที่ 20 ส.ค. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ถึงกำหนดชำระหนี้แก่ ECB 3.2 พันล้านยูโร
ค่าเงินบาทอ่อนค่าน่าจะดีหุ้นส่งออก HANA ราคาตกต่ำเกินเหตุ
นอกจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ทั้งจากภาวะภัยแล้งและการส่งออกที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกแล้ว ความเชื่อว่าเศรษฐกิจและตลาดทุนของนักลงทุน ยังกดดันให้เงินบาทของไทยตกต่ำมากสุดในรอบ 6 ปี โดยล่าสุดอยู่ที่ 34.79 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงในช่วง พ.ค. 2552 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติซับไพร์ม และนับว่าเงินบาทได้อ่อนค่าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นับจากกลางเดือน พ.ค. เป็นต้นมา และดูแล้วเงินบาทมีโอกาสจะอ่อนค่าต่อไปแตะระดับต่ำสูงสุดที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยากจากปัญหาที่กล่าวข้างต้น ซึ่งแน่นอนว่าเงินบาทที่อ่อนค่า น่าจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ส่งออก และอาจจะช่วยชดเชยกำลังซื้อในต่างประเทศที่ชะลอตัวลงได้บ้าง ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งพบว่าราคาหุ้นได้ตกต่ำมากถึง 13% ในช่วงเวลาเพียง 1 เดือนเศษ (ตกต่ำกว่ากว่าดัชนีตลาดที่ลดลงราว 4.7%) และหากพิจารณาเป็นรายตัวพบว่า HANA(FV@B48) ลดลงมากที่สุดถึง 18.75% โดยคาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก เนื่องจากสินค้าที่ผลิตหลักจะใช้ในกลุ่ม sensor ของ smart phone, touch pad (ที่ใช้ในnote book) และ hearing aids ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่วนใหญ่ตลาดส่งออกจะอยู่สหรัฐ และจีน รองลงมาคือ DELTA(FV@B75) ราคาหุ้นตกลงราว 17% ในช่วงเดียวกัน เนื่องจากเป็นผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Power supply ที่ใช้ในอุปกรณ์ Data center ฐานลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐ แนวโน้มผลกำไรยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่เนื่องจากได้ทำประมาณการสูงเกินไป เช้านี้นักวิเคราะห์ ASPS จึงออกบทวิเคราะห์หุ้น DELTA โดยปรับลดประมาณการกำไรปี 2558 และ 2558 ลงจากเดิม 12% และ 11.6% และปรับลด Fair Value ลง 3.8% อยู่ที่ 75 บาท แต่ราคาตลาดยังสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานใหม่ในปี 2558 จึงแนะนำให้ Switch ไปเข้า HANA แทน
ตรงข้ามกับหุ้น KCE(FV@B60) ที่พบว่าราคาหุ้นแทบไม่เปลี่ยนในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าชนะตลาด โดย KCE เป็นผู้ผลิตแผ่น PCB ให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ และกลุ่มลูกค้าในยุโรปเป็นหลัก แต่เนื่องจากราคาตลาดยังมี upside จากมูลค่าพื้นฐาน 13.74% จึงแนะนำให้ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว
ส่วนหุ้นในกลุ่มเกษตรและอาหาร เช่น CPF(FV@B26), GFPT(FV@B13) ยังอยู่ระหว่างการปรับลดประมาณกำไรในปี 2558 โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะปรับลดลงจากเดิมราว 40% และ 20% ซึ่งจะมีผลทำให้ต้องปรับลดมูลค่าพื้นฐานตามลำดับ ระยะสั้นจึงแนะนำให้ชะลอตัวไปก่อน ทั้งนี้แม้จะได้รับผลบวกจากเงินบาทที่อ่อนอย่างมากก็ตาม แต่ไม่อาจจะชดเชยได้ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามราคาพืชผลทางการเกษตรที่กระทบจากปัญหาภัยแล้ง เช่นเดียวกับ TUF([email protected]) ซึ่งเผชิญปัญหากับการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจปลาทูน่าในสหรัฐ เนื่องจากเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ 1 ใน 3 ราย ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกินกว่า 50% ของมูลค่าตลาดรวม ได้ส่งกระทบทำให้แผนการเข้าไปซื้อกิจการ Bumble Bee ในสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ผลิตปลาทูนารายใหญัอันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 28% ต้องเลื่อนออกไป ทำให้นักวิเคราะห์ ASPS ต้องปรับไปใช้มูลค่าพื้นฐานก่อนการซื้อกิจการ Bumble Bee และก่อนการเพิ่มทุน ดังรายงานไปเมื่อวานนี้
ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคทั้ง 5 ประเทศ
วานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 458 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) โดยเป็นการขายสุทธิทั้ง 5 ประเทศ นำโดยตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 184 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) รองลงมาคือ คือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 172 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) เช่นเดียวกับกลุ่ม TIP อย่างตลาดหุ้นฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียถูกขายสุทธิใกล้เคียงกันราว 12 ล้านเหรียญ และ 10 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ส่วนตลาดหุ้นไทยต่างชาติยังคงขายสุทธิราว 79 ล้านเหรียญ หรือ 2,739 ล้านบาท ซึ่งขายติดต่อกันเป็นวันที่ 4 โดยมียอดขายสุทธิรวม 5,412 ล้านบาท ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 1,437 ล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2)
ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 3,447 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 1,563 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทยังคงอ่อนตัวต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 34.80 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยกดดันทางเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่อง
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647