- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 22 July 2015 17:26
- Hits: 1696
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET ปรับตัวลงตามความคาดหวังเศรษฐกิจและกำไรตลาดปี 2558 ลดลงต่ำกว่าเป้าหมายเดิมหาก EPS ตลาด หลังการปรับลดรอบ 2 จะอยู่ที่ 92.17 บาท SET เป้าหมายใหม่สิ้นปี 2558 จะอยู่ที่ 1,427 จุด จึงเน้นหุ้นรายตัวที่มีภูมิคุ้มกันสูงจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว (THCOM (FV@B51), BTS(FV@B12) และยังเลือก IRPC([email protected]) เป็น Top pick
ตลาดยังมีความเสี่ยงขาลงตามเศรษฐกิจและกำไรตลาด
หลังจากเผชิญกับภาวะภัยแล้งนานติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือนกว่าๆ ปรากฏว่ารอบ 2-3 วันที่ผ่านมาเริ่มเห็นฝนตกทั่วทั้งประเทศ จากข้อมูลของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร พบว่ามีปริมาณน้ำฝนไหลเข้าอ่าง/เขื่อนเก็บน้ำหลัก 4 แห่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักฯ (คิดเป็นประมาณ 35.35% ของความจุของอ่างน้ำทั้งประเทศ) กระเตื้องขึ้น กล่าวคือ สิ้นสุด ณ 21 ก.ค. 2558 มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างรวม 20.66 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบกับ 12.18 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาปริมาณน้ำในอ่างอยู่ที่ระดับ 7,176 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดลงจาก7,226 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับ 16 ก.ค. ส่วนหนึ่งเกิดจากการปล่อยน้ำไหลออกยังมากกว่าปริมาณน้ำไหลเข้า สถานการณ์นี้ทำให้ลดแรงกดดันในระยะสั้น แต่ยังมิอาจจะสรุปได้ว่าประเทศไทยพ้นจากภาวะภัยแล้ง และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ยังกดดันเศรษฐกิจในประเทศ ในช่วงที่เหลือของปี
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักเศรษฐกิจเกษตร หรือ สศก. ได้สรุป อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคเกษตร (GDP Growth)ในช่วง 1H58 ติดลบ 4.2% ซึ่งถือว่ารุนแรงกว่าปี 2557 ที่เกิดภัยแล้งและทำให้ GDP Growth ติดลบในอัตราน้อยกว่า (เฉลี่ยครึ่งปีหลัง 2557 หดตัว -1.8%) โดยภัยแล้งในปี 2558 ทำให้ผลผลิตเกษตรหดตัวราว 7% (ยกเว้นปศุสัตว์ประมง และป่าไม้ ยังขยายตัวได้ดีที่ 2.1%, 2.2%, และ 3.5% ตามลำดับ) และตลอดปี 2558 สศก คาดว่า GDP Growth ภาคเกษตรจะติดลบ 3.3-4.3% และคาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม 0.4-0.5% ได้ ซึ่งเป็นเหตุผลให้สำนักวิจัยภาคเอกชนได้ปรับลด GDP Growth ในปี 2558 ลดลงต่ำกว่า 3% ขณะที่ ASPS ยังคงประมาณที่ 2.5%
นอกจากนี้ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจบ่งชี้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว คือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. ที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 มาอยู่ที่ระดับ 84 โดยสาเหตุมาจากความกังวลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ
กล่าวคือการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคยังคงชะลอตัวอยู่ (จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง 6 เดือนเช่นกัน) และภาวะภัยแล้งที่ทำให้เกษตรกรที่เป็นกำลังซื้อสำคัญของภาคอุตสาหกรรมลดลง รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังชะลอตัวอยู่ ทำให้ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน/ขยายการลงทุน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าที่ลดลงมาอยู่ที่ 99 จาก 100.9 ในเดือน พ.ค. จากยอดคำสั่งซื้อ, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการที่ลดลง ปัจจัยเหล่านี้ถือว่ากดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของตลาด โดยเฉพาะธุรกิจที่อิงเศรษฐกิจในประเทศ เช่น ธนาคารพาณิชย์ และธุรกิจการเงินรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความต้องการสินเชื่อในประเทศชะลอตัว ตามกำลังซื้อ ของประชาชน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ (40% ของประชากรทั้งประเทศ)
ดัชนีเป้าหมายจะถูกปรับลดลงตาม EPS ตลาด
ดังที่ได้นำเสนอว่า นักวิเคราะห์ ASPS ได้ทยอยปรับประมาณการกำไรในปี 2558 ลงในหลายลงดังที่ได้นำเสนอก่อนหน้าคือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ปรับลดประมาณการกำไรลง 9% (จากการปรับลดคาดการณ์กำไรฯ ของ 5 ธ.พ. ใหญ่) ตามมาด้วย กลุ่มพลังงานที่ปรับลดประมาณการกำไรลดลงราว 13.2% (จากการปรับลดกำไรของ PTTEP และ PTT ลง) ส่วนกลุ่มที่จะปรับลดหลังจากนี้ คือ กลุ่มเกษตร-อาหาร คาดว่าจะปรับลด CPF ลงราว 40% จากประมาณการเดิม และ GFPT เตรียมจะปรับลด 20% จากประมาณการเดิม จากผลกระทบภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง กระทบต่อต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์บกมีแนวโน้มสูงขึ้น ตามมาด้วยกลุ่มบันเทิง มีการปรับประมาณการกำไรของ MCOT และ RS ลง เนื่องจากรายได้ค่าโฆษณาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการตัดจำหน่ายใบอนุญาตทีวีดิจิทัล
ทั้งนี้ ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เหลือน่าจะเห็นการปรับประมาณการหลังการประกาศงบการเงิน 2Q58 (กลางเดือน ส.ค.) จากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่ากำไรสุทธิต่อหุ้นของตลาด (EPS) ในปี 2558 และ 2559 ลดลงจากประมาณการเดิม 3.8 และ 3.5% เหลือ 92.17 และ 105.5 บาท ตามลำดับ นับเป็นการปรับลดประมาณการเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเมื่อสิ้นงวด 1Q58 ฝ่ายวิจัยได้ปรับลดประมาณการฯ ปีนี้ และปีหน้าลง 7.3 และ 4.3% ตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนีเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2558 อิง Expected P/E 15.5 เท่า อยู่ที่ 1427 จุด จึงคาดว่าดัชนียังมีโอกาสปรับลงต่อกลยุทธ์การลงทุนจึงยังแนะนำเลือกหุ้นที่มีภูมิคุ้มกันจากความผันผวนของเศรษฐกิจเช่น กลุ่มก่อสร้าง อย่าง TASCO ([email protected]), CK ([email protected]) หรือกลุ่มปิโตรเคมีอย่างเช่น IRPC ([email protected]) หรือกลุ่มที่มีรายได้ที่แน่นนอนอย่าง THCOM (FV@B51) และ BTS (FV@B12)
ทั้งต่างชาติและสถาบันขายสุทธิหุ้นไทย
วานนี้ตลาดหุ้นอินโดนีเซียหยุดทำการเนื่องจากเป็นวันหยุด ส่วนตลาดหุ้นที่เหลือนักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิราว 24 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) โดยเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ ตลาดหุ้นไต้หวันถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 187 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) เช่นเดียวกับตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ที่ซื้อสุทธิราว 15 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 3 วัน) ส่วนที่เหลืออีก 2 ประเทศนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ คือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ที่ถูกขายสุทธิราว 167 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิได้เพียงวันเดียว) และ ตลาดหุ้นไทยถูกขายสุทธิราว 10 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2)
หากพิจารณาจากผลตอบแทนของตลาดหุ้นในภูมิภาคทั้ง ฟิลิปปินส์, เกาหลีใต้ และไต้หวัน เพิ่มขึ้น 1.09%, 0.5% และ 0.34% ตามลำดับ ยกเว้นตลาดหุ้นไทยที่ติดลบอยู่ประเทศเดียว โดยลดลง 19.27 จุด หรือ 1.31% ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติบวกกับสถาบันในประเทศ โดยสถาบันในประเทศขายสุทธิราว 1,670 ล้านบาท ขายติดต่อกันเป็นวันที่ 4 โดยมียอดขายสุทธิรวม 3,265 พันล้านบาท
ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 29,406 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิ 282 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจในประเทศมีอิทธิพลมากกว่า กดดันให้เงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 34.45 บาท/ดอลลาร์ และน่าจะมีแนวโน้มแตะ 35 บาท/ดอลล่าร์
นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647