- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 21 July 2015 16:33
- Hits: 1117
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แรงซื้อจากกลุ่มนักลงทุนในประเทศ เป็นแรงหนุนหลักที่ทำให้ SET Index ยืนอยู่ที่ระดับสูงได้ ทั้งที่แรงรับทางปัจจัยพื้นฐานไม่ว่า GDP Growth หรือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน อ่อนแรงลง Downside ของ SET Index จึงยังมีอยู่ แนะนำถือหุ้น High Dividend Yield และหุ้นที่ภูมิคุ้มกันสูงจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว โดยยังเลือก THCOM (FV@B51) และเลือก IRPC([email protected]) เป็น Top pick
ผลทางปฏิบัติหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2558 ถือเป็นวันที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับแก้ไข มีผลบังคับใช้ ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวน่าจะมีผลหลายประการที่น่าติดตามกล่าวคือ
กำหนดการเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ : รัฐธรรมนูญชั่วคราวได้ขยายระยะเวลาที่ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของ ครม. , คสช. และ สปช. จาก 60 วัน เป็น 90 วัน ซึ่งในวันนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างจะมีการประชุมเพื่อลงมติว่า จะใช้สิทธิขยายระยะเวลาตามที่ รัฐธรรมนูญชั่วคราว เปิดโอกาสให้ทำได้หรือไม่ หากขยายระยะเวลาออกไปเป็น 90 วัน ก็คาดว่าจะส่งร่างให้ สปช. ลงมติรับ หรือไม่รับร่างได้ ภายใน 5 ก.ย.2558 แต่หากไม่ใช้สิทธิขยายเวลาก็น่าจะเห็นการลงมติร่างรัฐธรรมนูญของสปช. ในช่วงต้นเดือน ส.ค.2558 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ส่วนกระบวนการหลังจากที่ สปช. ลงมติไปแล้ว หากรับร่างรัฐธรรมนูญก็จะนำไปสู่การทำประชามติ ซึ่งกรณีใช้สิทธิขยายระยะเวลาออกไปเป็น 90 วันดังกล่าวข้างต้น ก็น่าจะเห็นการลงประชามติได้ในช่วงเดือน ม.ค.2559 และหากผ่านก็จะนำไปสู่การเลือกตั้งในเดือน ก.ย.2559 แต่หากร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านความเห็นชอบ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการลงมติของ สปช. หรือการทำประชามติ ก็ต้องกลับไปร่างรัฐธรรมนูญและทำประชามติใหม่ ภายใน 180 วัน
เกี่ยวกับการปรับ ครม. : รัฐธรรมนูญชั่วคราว ได้มีการแก้ไขคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เปิดทางให้ผู้ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้ง แต่ไม่อยู่ในระหว่างการเพิกถอนสิทธิ์ สามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ซึ่งเมื่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไข มีผลบังคับใช้ จึงถูกคาดหมายว่าจะเห็นการปรับ ครม. ในอีกไม่นานจากนี้โดยเป้าสำคัญอยู่ที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจประเด็นการเมืองในช่วงเวลานับจากนี้ถือเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด ในฐานะปัจจัยเสี่ยงที่อาจสร้างแรงกดดันต่อ SET Index นอกจากนี้ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กำหนดทิศทางของ Fund Flow จากนักลงทุนต่างชาติอีกด้วย
Downside ของ SET Index ยังเปิดอยู่ ปรับพอร์ตเข้าหุ้นปันผลฯ
ในช่วงเวลากว่า 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ถือได้ว่า SET Index อยู่ในช่วงของการปรับฐาน โดยมีการเคลื่อนไหวผันผวนอยู่ในกรอบแคบและยังยืนอยู่ในระดับที่สูง ไม่ได้มีการปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามรูปแบบการเคลื่อนไหวของ SET Index ดังกล่าวหากพิจารณาควบคู่ไปกับองค์ประกอบในเชิงพื้นฐาน อย่างเช่น GDP Growth แล้วถือว่าอยู่ในภาวะที่ไม่สอดคล้อง หรืออาจจะเรียกว่า Divergence ก็ได้ โดยจะเห็นว่า GDP Growth อยู่ในทิศทางที่ปรับลดลงอย่างชัดเจน การที่ SET Index ยังคงยืนอยู่ที่ระดับสูง ส่วนหนึ่งอธิบายได้ว่า เกิดจากแรงหนุนของเม็ดเงินที่เข้ามาซื้อหุ้นต่อเนื่องของนักลงทุน โดยบทบาทหลักในการเข้ามาซื้อหุ้นอยู่ที่กลุ่มนักลงทุนในประเทศ ส่วนนักลงทุนต่างชาติ หลังจากที่ได้ขายสุทธิออกมาต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2556 แล้วยังไม่เห็นแรงซื้อกลับมาอย่างมีนัยสำคัญ ประเด็นที่น่าติดตามก็คือว่าหากแรงซื้อสนับสนุนจากนักลงทุนในประเทศอ่อนแรงลง ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณแล้วในปัจจุบันที่มูลค่าการซื้อขายต่อวันทำการลดต่ำลง ขณะที่การซื้อ-ขายสุทธิ ของนักลงทุนแต่ละกลุ่มไม่มีทิศทางที่ชัดเจนอาจทำให้ SET Index ไม่สามารถยืนอยู่ที่ระดับสูงได้
สำหรับแรงรับที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ SET Index ได้แก่เรื่องของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ซึ่งในปัจจุบันก็อยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงที่จะเห็นการปรับลดลงมาของประมาณการกำไรปี 2558 เช่นกัน โดยน่าจะเห็นการปรับประมาณการที่ชัดเจนหลังประกาศงบการเงิน 2Q58 แล้วเสร็จ (ปัจจุบันกลุ่มธนาคารพาณิชย์ประกาศตัวเลขกำไร 2Q58 ออกมาอยู่ที่ 4.9 หมื่นล้านบาท ลดลง 5.7% QoQ และ 5.5% YoY ทั้งนี้ยังไม่รวม BAY, BBL และ KTB)
จากสถานการณ์แวดล้อมที่เป็นดังกล่าวข้างต้นทำให้เชื่อว่า Downside สำหรับ SET Index ยังคงมีอยู่ นักลงทุนควรที่จะปรับพอร์ตเข้ามาสู่หุ้นที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง โดยอาจใช้ ASP Smart ในการคัดกรองหุ้น ที่ให้ Dividend Yield เกิน 5% และมีค่า Beta ต่ำ ซึ่งมีหลายตัวเลือกที่น่าสนใจเช่น ASK, TVO, BTS, INTUCH เป็นต้น และบางส่วนอาจเข้าลงทุนในหุ้นที่ภูมิคุ้มกันจากความผันผวนของเศรษฐกิจเช่น กลุ่มก่อสร้าง อย่าง CK หรือกลุ่มปิโตรเคมีอย่างเช่น IRPC หรือกลุ่มที่มีรายได้ที่แน่นนอนอย่าง THCOM
แม้เงินเฟ้ออาจขยายตัวขึ้นจากภัยแล้ง แต่ กนง. ยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยฯ ลง
วานนี้ทางสำนักเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานดัชนีราคาสินค้าและผลผลิตสินค้าเกษตรเดือน มิ.ย. พบว่าดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่ขายได้ ณ ไร่นา อยู่ที่ 136.75 แม้ว่า จะลดลง 4.61%yoy เป็นผลจากราคายางพารา, กล้วยไม้ และปศุสัตว์ที่ปรับตัวลง แต่ในส่วนของ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15%, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง เพิ่มขึ้น 3.91%, 10.10% และ 10.10% ตามลำดับ เช่นเดียวกับผลไม้ เช่น ทุเรียน, สัปปะรดโรงงานและมังคุดที่ราคาสูงขึ้นถึง 62.4%, 77.94% และ182.46% ตามลำดับ รวมถึงหากพิจารณาดัชนีราคารายเดือนพบว่าขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.83% mom โดยราคาที่ปรับสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว มีสาเหตุภาวะภัยแล้งทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยผลักดันให้ราคาสูงขึ้น สอดคล้องกับตัวเลขดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลง 6.28% yoy (ลดลง 7.61% mom) และทางสศก. มองว่าระดับราคาในเดือน ก.ค. อยู่ระดับใกล้เคียงกัน แต่ผลผลิตน่าจะปรับตัวลงอีกเนื่องจากภาวะภัยแล้ง
ทั้งนี้ทาง ASPS มองว่าภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นอาจทำให้ GDP Growth รวมลดลง 0.4 -0.5% และ เงินเฟ้อปีนี้อาจขยับขึ้นเป็น 1.17-1.5 (รายละเอียดใน Investment strategy วันที่ 17 ก.ค. 2558) ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจมีกรอบที่จำกัด อย่างไรก็ดีฝ่ายวิจัยยังคาดว่า กนง. น่าจะมีโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้ง (0.25%) จากการประชุมอีก 4 ครั้งที่เหลือในปีนี้ ทำให้ปลายปีอัตราดอกเบี้ยน่าจะอยู่ที่ 1%
ตลาดผ่อนคลายช่วงสั้น หลังกรีซชำระหนี้ได้แล้ว
วานนี้ กรีซได้ชำระหนี้ให้กับบรรดาเจ้าหนี้รวมเป็นเงิน 6.8 พันล้านยูโร (7.4 พันล้านเหรียญ) เรียบร้อยแล้ว (แบ่งเป็นชำระหนี้ ECB 4.2 พันล้านยูโร ชำระหนี้ IMF 2.1 พันล้านยูโร และชำระคืนหนี้ 500 ล้านยูโรให้แก่ธนาคารกลางกรีซ) ด้วยเงินกู้ระยะสั้น (bridging loan) วงเงิน 7.16 พันล้านยูโร (7.6 พันล้านเหรียญ) ที่ได้จาก EU ขณะที่ธนาคารพาณิชย์กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง แต่ยังต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมทางการเงินต่อไป โดยจำกัดยอดการเบิกถอนได้ไม่เกินวันละ 60 ยูโร หรือจะเลือกถอนเงินเป็นรายสัปดาห์ครั้งเดียวไม่เกิน 420 ยูโร สำหรับขั้นตอนถัดไปของเงินช่วยเหลือก้อนใหม่ 86 หมื่นล้านยูโรนั้น ขั้นตอนถัดไปคือ รัฐสภากรีซต้องพิจารณากฏหมายในเรื่องการลดค่าใช้จ่ายด้านระบบศาล และการปรับปรุงกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับกองทุนการเงินของ ECในวันพุธที่ 22 ก.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่อาจจะกลับเข้ามากดดันตลาดเพิ่มเติมคือ การเจรจาประนอมหนี้โดยการตัดลดหนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือกรีซในระยะยาว โดยเยอรมันอาจจะเป็นประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ส่วนลดดังกล่าว จึงเชื่อว่าปัญหาหนี้กรีซแม้ได้ผ่อนคลายลงในระยะสั้น แต่จากปัญหาที่ยังอยู่ ก็มีโอกาสที่จะกลับมากดดันตลาดได้อีกครั้ง
ต่างชาติยังเลือกซื้อสุทธิรายประเทศ
วานนี้ตลาดหุ้นอินโดนีเซียหยุดทำการเนื่องจากเป็นวันหยุด ส่วนตลาดหุ้นที่เหลือนักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิราว 140 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) โดยเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ ตลาดหุ้นไต้หวันถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 143 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) เช่นเดียวกับตลาดหุ้นเกาหลีใต้ที่ถูกซื้อสุทธิราว 16 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิได้เพียงวันเดียว) ส่วนที่เหลืออีก 2 ประเทศ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ คือ ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 19 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) และตลาดหุ้นไทยถูกขายสุทธิเล็กน้อยราว 1 ล้านเหรียญ หรือ 16 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิได้เพียงวันเดียว) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 963 ล้านบาท
ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 10,372 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิ 156 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 34.37 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647