- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 20 July 2015 17:11
- Hits: 906
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
กลับมาให้น้ำหนักกับตลาดหุ้นไทย ทั้งปัญหาภัยแล้ง และความเสี่ยงต่อการปรับลดประมาณการกำไรตลาด จึงยังเลือกรายหุ้นที่ภูมิคุ้มกันสูงจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว โดยยังเลือก THCOM (FV@B51) และเลือก IRPC([email protected]) เป็น Top pick
ตลาดหุ้นยุโรปปรับฐานอีกครั้ง หลังฟื้นตัวเกือบ 2 สัปดาห์
วันนี้ธนาคารพาณิชย์กรีซ จะกลับมาให้บริการตามปกติอีกครั้งหลังจากปิดดำเนินการมา 3 สัปดาห์ เนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงิน และภายหลังจากรัฐบาลของนายกฯ อเล็กซิส ซีปราส ได้ลงมติผ่านกฏหมายมาตรการรัดเข็มขัดฉบับใหม่ ซึ่งส่งให้ ECB และ EU พิจารณาเห็นชอบ พร้อมกับ ECB อนุมัติเงินช่วยเหลือฉุกเฉินให้แก่ธนาคารกรีซ (ELA) อีก 900 ล้านยูโร รวมเป็น 9 หมื่นล้านยูโร เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์กลับมาเปิดทำการได้ในวันนี้ (แต่ยังต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมทางการเงินต่อไป โดยจำกัดยอดการเบิกถอนได้ไม่เกินวันละ 60 ยูโร หรือจะเลือกถอนเงินเป็นรายสัปดาห์ครั้งเดียวไม่เกิน 420 ยูโร) นอกจากนี้ EU ยังอนุมัติเงินกู้ระยะสั้น (bridging loan) วงเงิน 7.16 พันล้านยูโร (7.6 พันล้านเหรียญ) ให้กรีซชำระหนี้ 3.5 พันล้านยูโรให้แก่ ECB ในวันนี้ และชำระหนี้ที่ค้างกับ IMF ด้วย ส่วนเงินช่วยเหลือก้อนใหม่จาก ESM 8.6 หมื่นล้านยูโร ระยะเวลา 3 ปี ก็ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาเยอรมันไปแล้วเช่นกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 439 ต่อ 119 เสียง
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกอย่างจะเสร็จสิ้นเรียบร้อย เนื่องจากรัฐสภากรีซ มีภาระผูกพันที่จะต้องพิจารณาปฏิบัติตามเงื่อนไขการประนอมหนี้เพิ่มเติมในวันพุธที่ 22 ก.ค. นี้ ได้แก่ การลดค่าใช้จ่ายด้านระบบศาล และการปรับปรุงกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับกองทุนการเงินของ EC
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่อาจจะกลับเข้ามากดดันตลาดเพิ่มเติมคือ การให้ส่วนลดหนี้ให้กับกรีซ ซึ่งจะลงเอยที่ 30% หรือเพิ่มมากกว่านี้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังต้องมีการถกเถียงกันในวงเจ้าหนี้ (TROIKA) เพื่อเป็นการช่วยเหลือกรีซในระยะยาว โดยเยอรมัน อาจจะเป็นประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ส่วนลดดังกล่าว โดยสรุป เชื่อว่าปัญหาหนี้กรีซได้ผ่อนคลายลง และ ได้สะท้อนผ่านการปรับขึ้นของตลาดหุ้นหลักๆ ของยุโรปให้ขึ้นกลับมาจนใกล้เคียงกับระดับเดิมแล้ว จึงมีโอกาสปรับฐานรอบใหม่ จากปัญหาที่ยังอยู่และอาจจะกลับมากดดันตลาดได้อีกครั้ง สะท้อนได้จากค่าเงินยูโรที่เริ่มกลับมาอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์อีกครั้ง
ทางด้านจีน หลังจากการรายงานตัวเลข GDP Growth งวด 2Q58 ที่อยู่ที่ 7% มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 6.8% และตัวเลขการส่งออกที่กลับมาเป็นบวก ล่าสุดตัวเลขราคาที่อยู่อาศัยโดยเฉลี่ย 70 เมืองเดือน มิ.ย. ในจีนปรับตัวสูงขึ้น 0.16% mom (หลังจากเดือน พ.ค. ที่ปรับขึ้น 0.06%) ทั้งนี้เป็นผลจากราคาบ้านในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเสินเจิ้น ราคาปรับขึ้น (ยกเว้นหัวเมืองเล็กๆ ที่เล็กยังไม่ฟื้นตัว) ทั้งนี้น่าจะเป็นผลจากการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งมาอยู่ที่ 4.85% และลดเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ลง 3 ครั้งเหลือ 18% รวมถึงการผ่อนคลายกฎการยื่นขอกู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัยในปักกิ่ง อย่างไรก็ตามตลาดเชื่อว่า รัฐบาลจีนน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มอีก เพื่อให้ GDP โดยได้ตามเป้าหมายที่ 7% โดยวันอาทิตย์ที่ผ่านมาทางธนาคารจีนได้อัดฉีดเงินเข้าระบบเพิ่มอีก 2 หมื่นล้านหยวนผ่านเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร (7-day reserve repos)
เงินเฟ้อสหรัฐเริ่มขยับขึ้น แต่น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วสิ้นปีนี้
แม้เศรษฐกิจสหรัฐมีสัญญาณการฟื้นตัว แต่เชื่อว่ายังไม่หนุนการขึ้นดอกเบี้ยเร็วนัก โดยอย่างเร็วน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ทั้งนี้หากพิจารณาตามเงื่อนไขการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed 2 ประการคือ อัตราการว่างงานและเงินเฟ้อ ยังไม่สอดคล้องกัน กล่าวคืออัตราการว่างงานขณะนี้อยู่ที่ 5.3% ใกล้ตามเป้าหมาย แต่ทางด้านเงินเฟ้อ ที่คาดว่ายังห่างเป้าหมายที่ 2% แม้อัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือน มิ.ย. จะขยับขึ้นมาเป็นบวก 0.1%yoy หลังจากติดลบมา 5 เดือน (0.3% mom ลดลงจากเดือน พ.ค. ที่ขยายตัว 0.4% mom) และหากพิจารณา ไม่รวมอาหารและพลังงาน พบว่าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็น 1.8% จาก 1.7% ในเดือน พ.ค. เป็นผลเนื่องมาจากราคาค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่เพิ่มต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 (+0.4% yoy จากพฤติกรรมของชาวอเมริกันที่หันมาเช่าห้องพักแทนที่จะซื้อบ้าน)
ขณะที่ทางด้านตลาดหุ้นสหรัฐ ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการประกาศผลประกอบการงวด 2Q58 ที่ล่าสุดนักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นสหรัฐ คาดว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น S&P500 จะหดตัวลงถึง 4.4%yoy (ลดลงมากกว่าคาดการณ์เดือน มี.ค. ที่หดตัว 2.2%yoy) มาจากการลดลงของ 7 ภาคธุรกิจ 80 บริษัท ซึ่งเป็นการหดตัวของกำไรเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่งวด 2Q55 ส่งผลให้คาดการณ์ EPSปี2558 ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ต้นปีราว 4.3% จึงอาจเป็นอีกปัจจัยกดดันตลาดอีกประการ
ภาวะภัยแล้ง และกำไรงวด 2Q58 ชะลอตัว กดดัน SET
ดังที่กล่าวไปแล้วเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาถึงผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง น่าจะกดดันให้นักเศรษฐศาสตร์ ทยอยปรับลดประมาณการ GDP Growth ปี 2558 เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้หลังจากที่สำนักเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้รายงาน GDP Growth ภาคเกษตรในช่วง 1H58 พบว่าหดตัวถึง 4.2% yoy (งวด 1H57 ประสบภัยแล้งเช่นกัน) อันเป็นผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องจากปี 2557ทำให้สาขาพืชและบริการทางการเกษตร ติดลบ 7.3% และ ติดลบ 6.6% (ยกเว้นสาขาปศุสัตว์ ประมง และป่าไม้ ยังขยายตัวได้ดีที่ 2.1%, 2.2%, และ 3.5% ตามลำดับ) ซึ่งประเมินในเบื้องต้นน่าจะ ทำให้ GDP รวมของประเทศ จะลดลง 0.4–0.5% ได้
ทั้งนี้ ทางฝั่งภาคเอกชน พบว่าวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้มีบริษัทหลักทรัพย์ภัทรได้ปรับลด GDP Growth ปี 2558 ลงจากเดิม 3.3% เหลือเพียงร้อยละ 2.5 โดยเป็นการปรับลดยอดส่งออก และการบริโภคภาคเอกชน ที่ชะลอตัวตามการชะลอตัวของจีนและภัยแล้งในประเทศ ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เตรียมจะรายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยครั้งต่อไปในวันที่ 24 ก.ค. ที่จะถึงนี้ (ล่าสุดประเมิน GDP Growth ปี 2558 3.7% ตามวิธีเดิมคือ constant price) แต่อย่างไรก็ตามถือว่าการปรับลดของบริษัทหลักทรัพย์สอดคล้องกับ ASPS ที่ได้ประเมินไว้ที่ 2.5% ตั้งแต่ต้นปีนี้ และเช่นเดียวกับทาง KBANK ที่ประเมินไว้ทั้งปีที่ 2.8% เช่นกัน
ส่วนผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งน่าจะมีน้ำหนักต่อเงินเฟ้อในประเทศเพิ่มมากขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรเช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะมีแนวโน้มขยับขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่ ASPS ประเมินไว้ที่ 0.5% เป็น 1.17-1.5% ขึ้นกับระยะเวลาภัยแล้งจะยืดยาวเพียงใด และสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 58 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งน่าจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายของ กนง. อาจจะเริ่มมีกรอบที่จำกัดขึ้น โดยเป็นไปได้ในการประชุมของ กนง. ที่เหลืออีก 4 ครั้ง จนถึงสิ้นปี 2558 จะมีการพิจารณาลดดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้ง (จากปัจจุบันที่ 1.5% เหลือ 1.25%) โดยการประชุม กนง. รอบถัดไปคือ 5 ส.ค. 2558 หากมีการลดดอกเบี้ยรอบนี้แล้ว เป็นไปได้ว่าที่เหลือจะไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้อีก
เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจจะความสัมพันธ์โดยตรงกับแนวโน้มผลประกอบการ หรือความสามารถในการทำกำไรของตลาดหุ้น ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแน่นอนว่าจะกดดันให้ตลาดหุ้นมีความสามารถในการทำกำไรลดลงด้วย สะท้อนได้จากที่นักวิเคราะห์ ASPS ได้ทยอยปรับประมาณการกำไรตลาดอย่างต่อเนื่องและยังมีแนวโน้มปรับลดประมาณการกำไรตลาดอีกครั้ง หลังการประกาศงบงวด 2Q58 เสร็จสิ้น โดยในเดือน ก.ค. นี้ กลุ่ม ธ.พ. ได้นำร่องประกาศงบกันไปบ้างแล้ว ส่วนหุ้น real sector จะประกาศในช่วงกลางเดือน ส.ค. เป็นต้นไป ถือว่ายังคงกดดันตลาดหุ้นไทยต่อไป เพราะการปรับลดกำไรตลาดหรือปรับลด EPS ตลาด หมายถึงค่า Expected PER ตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกิน 16 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่เริ่มจะแพงกว่าประเทศในเพื่อนบ้านบางแห่ง
ต่างชาติเริ่มกลับมาเลือกซื้อรายประเทศ...หลังขายสุทธิมายาวนาน
วันศุกร์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นอินโดนีเซียและตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ หยุดทำการ ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 3 ตลาด แม้ ต่างชาติยังแสดงยอดซื้อสุทธิราว 12 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) แต่พบว่ายังคงขายสุทธิบางประเทศ คือ เกาหลีใต้ ขายสุทธิราว 103 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 2 วัน) ที่เหลืออีก 2 ประเทศ ซื้อสุทธิ คือ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิราว 111 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) และตลาดหุ้นไทยถูกซื้อสุทธิราว 5 ล้านเหรียญ หรือ 164 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิได้เพียงวันเดียว) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 48 ล้านบาท
สรุป สัปดาห์ที่ผ่านมา (13 - 17 ก.ค.) นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิสะสมในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 343 ล้านเหรียญ โดยเป็นการซื้อสุทธิสะสมอยู่ 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ ซื้อสุทธิสะสมสูงสุดในภูมิภาคราว 320 ล้านเหรียญ รองลงมาคือ ตลาดหุ้นไต้หวันถูกซื้อสุทธิสะสมราว 97 ล้านเหรียญ ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่ม TIP ยังคงขายสุทธิสะสมทุกประเทศ คือ อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และไทย ขายสุทธิสะสมใกล้เคียงกันราว 29, 21 และ 24 ล้านเหรียญ ตามลำดับ
และหากพิจารณาตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ต่างชาติขายยัง สุทธิสะสมในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 2,653 ล้านเหรียญ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทยที่ขายสุทธิสะสมสูงถึง 516 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นแรงขายที่สูงกว่ายอดขายสุทธิสะสมของทั้งเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา (เดือน มิ.ย.มียอดขายสุทธิสะสมรวม 311 ล้านเหรียญ) และถือได้ว่าเป็นเดือนที่มีแรงขายสูงที่สุดในปีนี้
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 16,780 ล้านบาท และ เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิ 3,236 ล้านบาท แต่พบว่า ค่าเงินบาทยังคงอ่อนตัวต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 34.23 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอ จากปัญหาภัยแล้ง และ ต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่อง
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647