- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 17 July 2015 16:41
- Hits: 1744
บล.เอเซียพลัส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แม้ตลาดหุ้นโลกจะได้รับ Sentiment เชิงบวกจากปัญหากรีซที่ผ่อนคลาย แต่เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังถูกกดดันจากปัญหาภัยแล้ง และความเสี่ยงต่อการปรับลดประมาณการกำไรตลาดที่ยังมีอยู่ ยังเลือกหุ้นที่ภูมิคุ้มกันสูงจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว THCOM(FV@B51), BTS(FV@B12) และเลือก IRPC([email protected]) เป็น Top pick เช่นเดิม
ตลาดหุ้นโลกตอบรับ แผนช่วยเหลือกรีซ
ดัชนี ชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังส่งสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยวานนี้มีการรายงานตัวเลขด้านแรงงาน พบว่ายังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง กล่าวคือ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ สิ้นสุด 11 ก.ค. ลดลง 1.5 หมื่นราย อยู่ที่ 2.81 แสนราย นับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 1 เดือน และลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ 2.85 แสนราย (ต่ำกว่าระดับ 3 แสนรายติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 19 ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543) อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณความขัดแย้งในภาคการผลิต โดย Fed สาขาฟิลาเดลเฟีย รายงานดัชนีภาคการผลิตเดือน ก.ค. ลดลงสู่ระดับ 5.7 จาก 15.2 (ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของปีนี้) และลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 12 แม้ดัชนียังคงอยู่สูงกว่า 0 ซึ่งบ่งชี้ว่ายังมีการขยายตัวแต่การลดลงมากกว่าคาด ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวลถึงเสถียรภาพของเศรษฐกิจสหรัฐ
ด้วยเหตุนี้ทำให้การแถลงการต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาสหรัฐ ของนางเจเน็ต เยลเลน ยังคงยืนยันในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ แม้จะยังมีความกังวลต่อปัจจัยภายนอก ทั้งในเรื่องของปัญหาในกรีซ และจีน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่ยังต่ำกว่าเป้าหมายอยู่ก็ตาม อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ตลาดน่าจะรับรู้ไปแล้วระดับหนึ่ง จากนี้ไปคงต้องติดตามว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเท่าไร มากหรือน้อยกว่าตลาดคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อตลาดมากกว่า
ส่วนการเจรจาปัญหาหนี้กรีซลุล่วงมามากกว่าครึ่งทางแล้ว หลังจากที่วานนี้การประชุมของสหภาพยุโรป (EU) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติอนุมัติเงินช่วยเหลือแก่กรีซ เริ่มจาก ECB ได้เพิ่มวงเงินช่วยเหลือฉุกเฉินให้แก่ธนาคารกรีซ (ELA) อีก 900 ล้านยูโร รวมเป็น 9 หมื่นล้านยูโร เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งคาดว่าน่าจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ในกรีซสามารถกลับมาเปิดทำการได้ในวันจันทร์หน้า (20 ก.ค.) ขณะที่ EU เตรียมอนุมัติเงินกู้ระยะสั้น วงเงิน 7 พันล้านยูโร (7.6 พันล้านเหรียญ) ในวันที่ 20 ก.ค. ซึ่งครบกำหนดที่กรีซจะต้องชำระหนี้ 3.5 พันล้านยูโรให้แก่ ECB และชำระหนี้ที่ค้างกับ IMF ขณะที่เงินช่วยเหลือก้อนใหม่ 8.6 หมื่นล้านยูโร ระยะเวลา 3 ปี จะได้รับการอนุมัติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาในขั้นตอนสุดท้ายของรัฐสภาเยอรมันในวันนี้
โดยสรุป การให้ความช่วยเหลือกรีซน่าจะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันต่อ เศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลก แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าผลดีต่อตลาดหุ้นไทยน่าจะจำกัด จากเหตุผลของปัญหาในประเทศเอง โดยจะกล่าวในย่อหน้าถัดไป
ตลาดหุ้นไทยยังคงถูกกดดันจากภัยแล้ง และการส่งออกชะลอตัว
โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะกดดันให้ GDP Growth เติบโตต่ำกว่า 3% เชื่อว่าโอกาสที่นักเศรษฐศาสตร์จะออกมาปรับลดประมาณการ GDP Growth ปี 2558 จะมีมากขึ้น โดยล่าสุดทางสำนักงานเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง ถือเป็นหน่วยงานแรกที่ออกมารายงานผลกระทบต่อภาคเกษตรต่อ GDP ซึ่งทำให้ภาคเอกชนสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการประมาณการเศรษฐกิจ และผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยชัดเจนขึ้น ดังที่ได้กล่าวในย่อหน้าถัดไป ประเด็นถัดมาคือโอกาสการปรับลดประมาณการกำไรตลาดหุ้นไทยในปี 2558 ตามที่ทาง ASPS ได้นำเสนอใน Market Talk ต่อเนื่องถึงการปรับลดกำไรในหลายกลุ่มดังนี้
Domestic Play ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งปรับลดประมาณการกำไรเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ โดยปรับลดลง หรือลดลงจากประมาณการเดิมราว 9% และ 9.5% ตามลำดับ และที่เตรียมปรับเพิ่มคือกลุ่มบันเทิง โดยจะปรับลดประมาณการลงเกือบทุกแห่ง เริ่มจาก RS แม้ยอดผู้ชมทั่วประเทศช่อง 8 ในเดือน มิ.ย. ยังคงเพิ่มจากเดือน พ.ค. ต่อเนื่อง และสามารถรักษาอันดับที่ 4 ไว้ได้ แต่พบว่าอัตราใช้เวลาโฆษณาของช่อง 8 ใน 2Q58 อยู่ที่เพียงราว 45% แต่ต่ำกว่าคาดการณ์ของบริษัทที่ 55-60% โดยประเมินว่างวด 2Q58 อาจจะคุ้มทุนเท่านั้น และแม้คาดว่างวด 2H58 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่คาดว่าอัตราการใช้เวลาโฆษณาเฉลี่ยทั้งปีนี้ จะอยู่ที่ราว 65% ต่ำกว่าคาดที่ 75% จึงมีแนวโน้มจะปรับลดประมาณการกำไรในปี 2558 ลงจากเดิมที่คาดว่าจะทำกำไรได้ 600 ล้านบาท เหลือ 150 ล้านบาท และปีหน้าอยู่ที่ราว 300 ล้านบาท จากเดิมที่ประเมินไว้ 730 ล้านบาทในปี 2559 ตามมาด้วย MCOT เนื่องจากคาดงวด 2Q58
แม้ผลกำไรจะฟื้นตัวเล็กน้อยจากงวด 1Q58 แต่จะลดลง 77% จากงวด 2Q57 จากเรตติ้งยังอยู่ในระดับต่ำ และรายได้สัมปทานจาก True Vision ได้ลดลง เนื่องจาก True Vision ได้ทยอยโอนย้ายลูกค้าไปบริษัทย่อยที่ได้ใบอนุญาตธุรกิจทีวีบอกรับสมาชิกแทน จึงมีแนวโน้มปรับลดกำไรลงจากเดิม 40% ทั้งนี้รอข้อมูลเพิ่มเติมจาก MCOT ซึ่งในสัปดาห์จะประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการขายสินทรัพย์ ซึ่งอาจจะทำให้มีการบันทึกกำไรพิเศษบางส่วน ส่วน BEC มีแนวโน้มจะปรับลด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวเช่นกัน แต่คาดว่าจะปรับลดไม่รุนแรงเหมือน 2 แห่งแรก ทั้งนี้จะปรับประมาณการหลังรายงานงบงวด 2Q58 เสร็จ
Global play ขณะนี้นักวิเคราะห์ ASPS ได้ปรับลดประมาณการกำไรของกลุ่มพลังงาน ลงจากเดิม 17.5% และ 6.5% ในปี 2558 และ 2559 (โดยปรับลดประมาณการ PTTEP ลงจากเดิม 7.9% และ 6.7% ตามลำดับ และปรับลดประมาณการกำไรของ PTT เนื่องจากถือหุ้นใน PTTEP 65.29% จึงทำให้ประมาณการใหม่ของ PTT ลดจากประมาณการเดิม 7.9% และ 6.7% ตามลำดับ ตามมาด้วยหุ้นส่งออกที่คาดว่าจะปรับลดลงคือ ผู้ผลิตและส่งออกอาหารสัตว์บกครบวงจร ทั้ง CPF และ GFPT โดยคาดว่าจะปรับลด 40% และ 20% ตามลำดับ เนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้ง กดดันต้นทุนวัตถุดิบ และประสิทธิภาพการทำกำไร รวมถึงปัญหาการทำประมง ทำให้ต้นทุนกากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศ และต่างประเทศที่ชะลอตัวกดดัน ยอดขายในประเทศและต่างประเทศ
เช่นเดียวกับหุ้นเดินเรือ ล่าสุดนักวิเคราะห์ ASPS ได้ปรับลดประมาณการกำไรของหุ้น RCL เนื่องจาก 2 เหตุผลคือ อัตราค่าระวางเรือในงวด 2Q58 ต่ำกว่าคาดจากการแข่งขันที่รุนแรงกว่าคาด และปริมาณขนส่งที่ต่ำกว่าคาด จึงทำการปรับลดสมมติฐานทั้ง 2 ลงจากประมาณการเดิมราว 2% และ 2% ตามลำดับ ทำให้ประมาณการกำไรปกติปี 2558 และ 2559 ลดลงจากเดิม 40% มาอยู่ที่ 300 ล้านบาท ในปี 2558 และ 2559 โดยปี 2558 ยังมีอัตราการเติบโตจากปี 2557 ราว 56 %
ปัญหาภัยแล้ง กระทบ GDP Growth ให้ต่ำกว่า 3%
วานนี้ทาง สำนักเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้แถลงการณ์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วง 1H58 จะหดตัวถึง -4.2% yoy (เมื่อเทียบกับปี 2557 ซึ่งเกิดภาวะภัยแล้งเช่นกัน) จากเดิมคาดว่าขยายตัวที่ 1.4% เป็น หดตัวในช่วง (-4.3%) ถึง (-3.3%) โดยถือว่า สศกได้ปรับลดการเติบโตภาคเกษตรปีนี้ลงเป็นครั้งที่ 2 ทั้งนี้เกิดจากผลกระทบของภัยแล้งที่ยาวต่อเนื่อง ทำให้สาขาพืชและสาขาบริการทางการเกษตรหดตัว -7.3% และ -6.6% (ยกเว้นสาขาปศุสัตว์ ประมง และป่าไม้ ยังขยายตัวได้ดีที่ 2.1%, 2.2%, และ 3.5% ตามลำดับ)
ผลกระทบจากการปรับลด GDP ภาคเกษตร คาดว่าน่าจะทำให้ GDP รวมของทั้งประเทศ ลดลงถึง 0.4–0.5% ได้ (อ้างอิงจากประมาณการของ สศค. ที่คาดว่า GDP รวมจะลดลง 0.15% หากการเติบโตของภาคเกษตรลดลงจากขยายตัว 2.5-3% เหลือเพียง 1.4% โดยยังต้องติดตามการปรับประมาณการ GDP ของทาง สศค. ที่จะแถลงในสิ้นเดือนนี้)
เช่นเดียวกับทางธนาคารแห่งประเทศไทยที่อาจมีการปรับลด GDP Growth ลงจากประมาณการเดิมที่ 3% เนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้ง สอดคล้องกับมุมมองซึ่งกำลังอยู่ในช่วงพิจารณา เช่นเดียวกับ ASPS ที่มองว่า GDP Growth ปีนี้น่าจะโตได้ที่ 2.5% (ตามการคำนวณแบบเดิม) นอกจากนี้ผลกระทบจากภัยแล้งไม่ได้กระทบเพียง GDP Growth แต่จะกระทบถึงอัตราเงินเฟ้อที่น่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรเช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน น่าจะส่งผลสะท้อนไปที่ราคาสินค้าในตะกร้าอัตราเงินเฟ้อ อย่างอาหารสด (ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่ไก่) ซึ่ง ASPS คาดว่าหากภัยแล้งสิ้นสุดที่เดือน ก.ค. ดัชนีราคาอาหารสดจะเพิ่มขึ้น 0.5% และถ้าสิ้นสุดในเดือน ก.ย. จะทำให้ดัชนีราคาอาหารสดปรับตัวขึ้น 0.75% ซึ่งส่วนนี้จะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1.17-1.5% ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 58 เหรียญฯต่อบาร์เรล ทั้งนี้ GDP Growth ที่มีแนวโน้มขยายตัวน้อยกว่าที่คาดไว้ และอัตราเงินเฟ้อที่จะปรับตัวขึ้น หากทาง กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะทำได้อีก 1 ครั้ง (ลด 0.25%) โดยปลายปีอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ที่ 1%
ต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องวันที่ 2
วานนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 222 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) โดยเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 202 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) และเช่นเดียวกับตลาดหุ้นไต้หวันที่ถูกซื้อสุทธิราว 40 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ส่วนที่เหลืออีก 2 ประเทศ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ คือตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 16 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) และตลาดหุ้นไทยถูกขายสุทธิเล็กน้อยราว 3 ล้านเหรียญ หรือ 114 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 2 วัน) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 578 ล้านบาท (ส่วนตลาดหุ้นอินโดนีเซียวานนี้ปิดทำการเนื่องจากเป็นวันหยุด)
ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 4,793 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิ 1,743 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 34.17 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647