- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 13 July 2015 17:22
- Hits: 1216
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
กลุ่มบันเทิงมีแนวโน้มทำกำไรต่ำกว่าคาด จากเศรษฐกิจในประเทศที่ซึมยาว และยังมีภัยแล้งเข้ามากดดัน เชื่อว่าโอกาสการปรับประมาณการกำไรของตลาดหุ้นไทยยังมีอยู่ ยังเน้นหุ้นที่กำไรเด่นในช่วงที่เหลือ/ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อน (RCL, HANA) หรือทนทานต่อเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวได้(TASCO) โดยยังเลือก THCOM(FV@B51) และ BTS(FV@B12) เป็น Top Picks
ขณะที่ปัญหากรีซยังมี... FED เตรียมขึ้นดอกเบี้ย ธ.ค. นี้/ต้น 2559
สหรัฐ ด้วยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐ ที่บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดแรงงาน ซึ่งหนุนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนรวมถึง ตลาดที่อยู่อาศัย และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พบว่า ยอดสต็อกสินค้าภาคการค้าส่ง เดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือน โดยเพิ่มขึ้น 0.8% จากเดือนก่อนหน้า (mom) และยอดค้าส่งเพิ่มขึ้น 0.3% mom แม้ว่าชะลอตัวลงจากเดือน เม.ย. ขยายตัวถึง 1.6% (ดีขึ้นจากที่ติดลบต่อเนื่องตลอด 8 เดือน ที่ผ่านมา) ซึ่งหนุนให้ FED เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย แม้ปัญหาในระยะสั้น ๆ คือ อัตราเงินเฟ้อที่ยังติดลบ และ ห่างจากเป้าหมายระยะสั้นที่ 1% ซึ่งสอดคล้องกับผลแถลงการณ์ของ Yellen เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทำให้มีโอกาสจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ แต่เน้นย้ำว่าจะปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตามผลการของ Bloomberg พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ 67% ของผู้ถูกสำรวจ คาดว่า Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมในเดือน ธ.ค. (เพิ่มขึ้นจาการสำรวจครั้งก่อนหน้า เมื่อ 8 มิ.ย. มีเพียง 54%) เช่นเดียวกับทาง ASPS ทีมองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ครั้งแรกน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ธ.ค. หรืออย่างช้าในช่วงต้นปี 2559
ส่วนยุโรป เมื่อผ่านพ้นช่วงกำหนดเส้นตาย ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ในการเปิดทางให้กรีซยืนแผนยกเศรษฐกิจให้กับเจ้าหนี้ แต่ก็ดูเหมือนทุกอย่างยังไม่มีข้อสรุป หรือมีความคืบหน้าใด ๆ โดยที่ประชุมผู้นำของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป มีความเห็นที่ขัดแย้งในการที่จะปล่อยให้กรีซยังอยู่หรือไปจากสหภาพยุโรป (เยอรมัน ที่มีแผนรองรับการให้กรีซออกจากยูโรโซนชั่วคราว 5 ปี และปฏิเสธการใช้ hair cut ขณะที่ฝรั่งเศส ต้องการให้กรีซคงอยู่ต่อ) ในเบื้องต้นผู้นำสหภาพยุโรปต้องการให้กรีซกลับไปทบทวน แก้ไขแผนปฎิรูปใหม่ โดยยืด เส้นตายออกไปเป็น คืนวันพุธ (12 ก.ค. นี้) หลังจากนี้จะผ่านขั้นตอนการพิจารณาของเจ้าหนี้อีกครั้ง ทั้งนี้สิ่งที่กรีซจะได้จากการจัดทำแผนปรับโครงสร้างการเงินใหม่คือ เงินช่วยเหลือก้อนใหม่ ที่เจ้าหนี้จะพิจารณาเพิ่มให้จากเดิม 53.3 เป็น 86 พันล้านยูโร อย่างไรก็ตามต้องติดตามว่าการจัดทำแผนของกรีซจะบรรลุตามเป้าหมายของเจ้าหนี้ และทำให้กรีซสามารถขอเงินช่วยเหลือก้อนใหม่หรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่น่าจะมีโอกาสกดดันตลาดได้ทุกเมื่อมีแนวโน้มปรับลดกำไรกลุ่มบันเทิง กดดันกำไรตลาดปีนี้และปีหน้าต่อเนื่อง
ปัจจัยแวดล้อมยังคงกดดันความสามารถในการทำกำไรตลาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังชะลอตัว เป็นผลทำให้นักวิเคราะห์ ASPS ได้ปรับลดประมาณการกำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มพลังงานไปแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา (โดยปรับลดประมาณการกำไรปี 2558 และ 2559 ของกลุ่มธนาคารฯ หายไปราว ราว 1.8 และ 2.09 หมื่นล้านบาท หรือลดลงจากประมาณการเดิมราว 9% และ 9.5% ตามลำดับแล้ว และปรับลดประมาณการกำไรของกลุ่มพลังงาน ลงจากเดิม 17.5% และ 6.5% ในปี 2558 และ 2559 โดยปรับลดประมาณการ PTTEP ลงจาก เดิม 7.9% และ 6.7% ตามลำดับ และปรับลดประมาณการกำไรของ PTT เนื่องจากถือหุ้นใน PTTEP 65.29% จึงทำให้ประมาณการใหม่ของ PTT ลดจากประมาณการเดิม 7.9% และ 6.7% ตามลำดับ (ติดตามอ่านรายละเอียดได้ใน Market Talk วันที่ 9 ก.ค. 2558 )
และเมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังจากที่นักวิเคราะห์กลุ่มบันเทิงได้เริ่มทำ Preview Earning งวด 2Q58 ในรายตัว เริ่มเห็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก และทำให้มีโอกาสปรับลดประมาณการเพิ่มเติม เริ่มจาก RS แม้ผู้บริหารเปิดเผยยอดผู้ชม ทั่วประเทศช่อง 8 ในเดือน มิ.ย. ยังคงเพิ่มจากเดือน พ.ค. ต่อเนื่อง และสามารถรักษาอันดับที่ 4 ไว้ได้ แต่พบว่าอัตราใช้เวลาโฆษณาของช่อง 8 ใน 2Q58 อยู่ที่เพียงราว 45% แต่ต่ำกว่าคาดการณ์ของบริษัทที่ 55-60% โดยอัตราค่าโฆษณาอยู่ที่ 2.5 หมื่นบาท/นาที (ทรงตัวจาก 1Q58 ) ทำให้รายได้ธุรกิจสื่อทีวีฟื้นตัวน้อยกว่าคาด แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มละครอีก 2 เรื่อง/สัปดาห์ ส่งผลให้ช่อง 8 ยังขาดทุนเล็กน้อย จึงทำให้งวด 2Q58 อาจจะคุ้มทุนเท่านั้น และแม้คาดว่างวด 2H58 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่คาดว่าอัตราการใช้เวลาโฆษณาเฉลี่ยทั้งปีนี้ จะอยู่ที่ราว 65% ต่ำกว่าคาดที่ 75% จึงมีแนวโน้มจะปรับลดประมาณการกำไรในปี 2558 ลง โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะ อยู่ที่ราว 150 ล้านบาท และกำไรปีหน้าอยู่ที่ราว 300 ล้านบาท เทียบกับประมาณการปัจจุบันที่ 600 ล้านบาทในปี 2558 และ 730 ล้านบาทในปี 2559 และคาดว่ามูลค่าพื้นฐานเบื้องต้น ภายใต้ประมาณการใหม่จะลดลงจากเดิม 21 บาท มาอยู่ที่ราว 13-15 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาตลาดยังมี upside กว่า 20% จึงคงคำแนะนำซื้อ
และคาดว่าผลประกอบการของกลุ่มบันเทิงอื่น ๆ น่าจะประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะ MCOT คาดงวด 2Q58 กำไรน่าจะ ลดลงจากงวด 2Q57 แม้จะมีการปรับผังรายการใหม่ตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา แต่เรตติ้งยังไม่สูงพอที่จะหนุนให้รายได้ค่าโฆษณาให้ฟื้นตัว และรายได้สัมปทานจาก True Vision ได้ลดลง หลังจาก True Vision ได้ทยอยโอนย้ายลูกค้าไปบริษัทย่อยที่ได้ใบอนุญาตธุรกิจทีวีบอกรับสมาชิก (จะมีรายได้เพียง 35 ล้านบาทต่อปี ในปีนี้และปีหน้า) แต่กลับมีต้นทุนเพิ่มจากการเร่งลงทุน content และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่สูงขึ้นในช่วงปลายปี ทำให้นักวิเคราะห์ ASPS มีแนวโน้มปรับลดกำไรลงจากเดิม 45.4% จากประมาณการครั้งก่อน มีโอกาสปรับลดมูลค่าพื้นฐานอิงวิธี DCF จากปัจจุบันที่ 12 บาท จึงยังคงคำแนะนำ "ขาย" และ BEC คาดกำไรงวด 2Q58 จะฟื้นตัวจากงวด 1Q58 โดยคาดว่ารายได้โฆษณามีแนวโน้มฟื้นตัวตามผลของฤดูกาล แม้การปรับเพิ่มค่าโฆษณาจะทำได้ยากแต่ปรับกลยุทธ์แบบขายเป็นแพคเกจ พร้อมกับมีการปรับผังรายการ ช่อง 3 Family (ช่อง 13) และ ช่อง 3 SD (ช่อง 28) ไปเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา แม้ต้นทุนตัดจำหน่ายค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลทั้ง 3 ช่อง ที่เพิ่มขึ้น แต่ยังสามารถจัดการได้โดยรวม
นักวิเคราะห์ ASPS ยังคงประมาณการกำไรปี 2558 ที่คาดว่าจะลดลง 19.9%yoy (หลังจากเพิ่งปรับประมาณการฯ ปี 2558-59 ลงเฉลี่ยปีละ 26.5% หลังการรายงานงบ 1Q58 ที่ผ่านมา) ราคา Fair Value อยู่ที่ 51 บาท มี upside ราว 38% คงคำแนะนำ "ซื้อ" นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องภัยแล้ง ที่คาดว่าจะส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรที่ต้องพึ่งพาน้ำเป็นหลักได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะ
ภาคเกษตร และอาหาร ที่อาจจะกดดันเรื่องต้นต้นทุนวัตถุดิบที่แพงขึ้น (CPF, GFPT, TUF) รวมถึงกิจการที่พึ่งพาแหล่งน้ำธรรมชาติในการขายน้ำดิบและน้ำประปา (EASTW, TTW) อาจจะมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เพื่อให้มีปริมาณน้ำขายได้ตามปกติ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ มีความเสี่ยงที่จะปรับประมาณกำไรตลาดลงไปได้อีก หลังจากที่ได้ปรับลดจากผลกระทบของ 2 กลุ่มข้างแล้ว คาดว่ากำไรสุทธิต่อหุ้นของตลาด (EPS) จะหายไป เพิ่มขึ้นล่าสุดที่คาดว่าจะลดลงเฉลี่ย 4% และ 3.5% (เหลือ 91.73 เท่า และ 105.92 บาท) กลยุทธ์การลงทุนจึงยังเน้นรายหุ้น โดยเฉพาะหุ้นที่มีผลกำไรที่โดดเด่นในงวด 2Q58 และต่อเนื่องในงวด 3Q58 ได้แก่ หุ้นส่งออก และอิงส่งออกที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าได้แก่ HANA, KCE, TUF, RCL หรือหุ้นในประเทศที่ได้รับผลกระทบไม่มากจากเศรษฐกิจชะลอตัว หรือบางแห่งยังได้ประโยชน์จากการเร่งเบิกจ่ายงบเหลื่อมปี โดยเฉพาะการซ่อมบำรุงถนน เอื้อประโยชน์ TASCO ถือเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่สุดของประเทศ หรือธุรกิจมีลักษณะผูกขาดเช่นให้บริการดาวเทียม คือ THCOM เป็นต้น
ต่างชาติขายหุ้นไทยสูงราว 3.9 พันล้านบาท
วันศุกร์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 93 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7) โดยยังขายทุกประเทศยกเว้นเพียง อินโดนีเซีย แห่งเดียวที่ ซื้อสุทธิ โดยซื้อสุทธิราว 104 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการซื้อสูงสุดในรอบ 81 วันที่ผ่านมาส่วนอีก 3 ประเทศที่เหลือยังคงขายสุทธิ ประกอบด้วย เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 80 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องวันที่ 6) ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิเล็กน้อยราว 2 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องวันที่ 3) และไทยถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 115 ล้านเหรียญ หรือ 3,909 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องวันที่ 3) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิสูงถึง 5,311 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อที่สูงสุดในรอบ 202 วันที่ผ่านมา (ส่วนตลาดหุ้นไต้หวันวันศุกร์ที่ผ่านมาปิดทำการ เนื่องจากเป็นวันหยุด)
ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 15,529 ล้านบาท และเช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิ 2,839 ล้านบาท จึงมีส่วนประคองค่าเงินบาทแกว่งตัวอออกด้านข้างโดยยังคงต่ำกว่า 34 บาทต่อดอลลาร์ โดยล่าสุดอยู่ 33.94 บาท/ดอลลาร์
นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647