- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 09 July 2015 17:34
- Hits: 2633
บล. เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ปัจจัยกดดันจากภายนอก และมีแนวโน้มตัดลด EPS ตลาดลงจากเดิมราว 4% ทำให้มีโอกาสปรับลดดัชนีเป้าหมายจากเดิม 1,480 จุดเหลือ 1,421 จุด กลยุทธ์ยังเน้นหุ้นรายตัวที่มีกำไรเด่นงวด 2Q58-3Q58/ประโยชน์จากเงินบาทอ่อน (RCL, TASCO, HANA) หรือกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวน้อย TASCO, THCOM วันนี้เลือก THCOM(FV@B51) เป็น Top Pick
ภาพรวมยังดูแย่ ทั้งกรีซ และเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวกว่าคาด
ท่ามกลางความกังวลต่อกรีซ จะกดดันต่อเศรษฐกิจสหภาพยุโรป และเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่กรีซ อาจจะออกจากสหภาพยุโรป มีโอกาสเกิดขึ้นสูง โดยเฉพาะภายหลังจากผลการลงประชามติเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ประชาชนเลือก No ถึงกว่า 62% คือ ไม่ยอมรับเงื่อนไขรัดเข็มขัดของเจ้าหนี้ และปัญหาสถาบันขาดสภาพคล่องทางการเงินจากการแห่งถอนเงินของประชาชน จนนำไปสู่การปิดให้บริการต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2 (กำหนดปิดถึงวันที่ 13 ก.ค.) ทำให้ดูเหมือนกรีซ อาจจะมีอำนาจต่อรองกับเจ้าหนี้มากขึ้น เช่น อาจจะมีการเรียกร้องขอตัดลดหนี้ (Debt haircut) สะท้อนจากเจ้าส่วนใหญ่ (TROIKA) พยายามที่จะให้กรีซอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป โดยพร้อมจะให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติม (เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน)
แม้ว่า ECB เพิ่งให้เงินช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินกรีซ หรือ ELA ไปเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้การเจรจารอบใหม่ระหว่างกรีซและเจ้าหนี้จะราบรื่นหรือไม่เพียงใด ขึ้นกับแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของกรีซ จะจัดทำแผนการให้สอดคล้องกับมาตรการรัดเข็มขัดที่เจ้าหนี้เสนอมาตั้งแต่ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินกับ TROIKA ในหลายปีก่อน อาทิ การปรับขึ้นภาษี การตัดลดเงินบำนาญ เพื่อแลกกับเงินกู้ช่วยเหลือระยะเวลา 3 ปีจากกองทุนรักษาเสถียรภาพยุโรป หรือ ESM ซึ่งวันนี้เป็นวันกำหนดเส้นตายอีกครั้งที่กรีซต้องเสนแผนปฏิรูปต่อเจ้าหนี้ หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกินเส้นตายวันที่ 12 ก.ค. ที่จะมีการประชุมผู้นำ EU ในวันดังกล่าว โดยรวมไม่ว่าผลการเจรจาจะได้ข้อสรุปอย่างไร หากสามารถประเมินความเสียหายที่เจ้าหนี้จะได้รับผลกระทบโดยเฉพาะการตั้งสำรองจากการด้อยค่าของเงินลงทุน น่าจะทำให้สามารถประเมิน Downside risk ของตลาด ซึ่งจะดีกว่าการเจรจาที่ยืดเยื้อโดยไม่ผลสรุปใดๆ ประเด็นนี้จึงยังคงกดดันตลาดหุ้นโลกอยู่
ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจจีน ที่อาจเติบโตได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 7% ในปีนี้ ได้หนุนให้รัฐบาลจีน ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม ทั้งการลดดอกเบี้ยนโยบาย และการตัดลด RRR ได้ช่วยหนุนตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงติดต่อกันนานเกือบ 1 เดือน กว่า 32% แต่อย่างไรก็ตาม กลับสร้างความกังวลต่อตลาดหุ้นจีนอาจจะเข้าสู่สภาวะฟองสบู่ เนื่องจากมีการใช้วงเงิน margin ในการซื้อขายหุ้นจำนวนมาก จนทำให้รัฐบาลจีนต้องประกาศใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น และสั่งห้ามการซื้อขายด้วย Margin ยิ่งเป็นอีกแรงผลักดันให้เกิดการขายหุ้นจำนวนมาก จึงทำให้ตลาดหุ้นจีนยังคงมีความเสี่ยงที่จะปรับลงต่อ (วานนี้ได้เกิดตลาดได้การหยุดทำการซื้อขายหุ้น ถึง 1,331 ตัว รวมกว่า 40% ของ Market cap)
โดยภาพรวมทำให้ OECD แสดงความเห็นว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะฟื้นตัวล่าช้ากว่าคาด สะท้อนจากรายงาน Composite leading indicators ที่จัดทำโดย OECD ล่าสุดลดลงจาก 100.08 เป็น 99.99 (ต่ำกว่า 100 แสดงถึงการหดตัวทางเศรษฐกิจ) โดยของจีนปรับตัวลงจาก 97.48 เป็น 97.31 (หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ มิ.ย 2556) สอดคล้องกับการรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจีนชะลอตัวดังที่เคยนำเสนอก่อนหน้าเช่น PMI เช่นเดียวกับ สหรัฐฯที่ดัชนีลดลงจาก 99.61 เป็น 99.51 สอดคล้องกับทาง IMF ที่ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐยังมีความผันผวนอยู่ และควรมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงต้นปี 2559 แม้ว่าวานนี้ได้มีการรายงานผลการประชุมของ Fed เมื่อ 16-17 มิ.ย. ที่ผ่านมาจะมีมุมมองต่อเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 แต่ก็ยังมีความกังวลทางด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและประสิทธิภาคในการผลิตรวมถึงผลกระทบจากกรีซ และการชะลอตัวของจีนก็ตาม
นอกจากนี้ทางฝั่งอังกฤษดัชนีได้ปรับตัวลดลงเช่นกับ จาก 99.97 เป็น 99.83 ตรงกันข้ามกับดัชนีทางฝั่งยูโรโซนที่ปรับตัวดีขึ้น (อาจเป็นเพราะยังไม่ได้รวมผลกระทบจากเรื่องกรีซ) เป็น 100.72 (จากการปรับตัวดีขึ้นของฝรั่งเศส เยอรมัน และอิตาลี ซึ่งน่าจะเป็นผลของการใช้มาตราการ QE) ทั้งนี้การดัชนีชีนำเศรษฐกิจรวมที่ปรับตัวลดลง อาจสะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังช้า และจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดต่อ
ปรับลดกำไรหุ้นพลังงานลง 17% ปีนี้ และลดอีก 6.5% ปีหน้า
มาอีกแล้ว หลังจากที่นำเสนอไปวานนี้ถึงปัจจัยเสี่ยงที่กดดันตลาดนอกจากปัจจัยภายนอก จากปัญหากรีซแล้ว การปรับลดประมาณการกำไรตลาดยังมีอยู่ โดยหลังจากที่นักวิเคราะห์กลุ่มธนาคารพาณิชย์ของ ASPS ได้ปรับประมาณการกำไรปี 2558 และ 2559 ของกลุ่มธนาคารฯ หายไปราว ราว 1.8 และ 2.09 หมื่นล้านบาท หรือลดลงจากประมาณการเดิมราว 9% และ 9.5% ตามลำดับแล้ว วานนี้นักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานได้ทำการปรับลดประมาณการกำไรของหุ้น PTTEP ลง จากประมาณการเดิม 7.9% ในปี 2558 และปรับลดอีก 6.7% ในปี 2559 ด้วยเหตุผลหลายประการ คือ 1) ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงราว 1.2 บาทต่อเหรียญ ส่งผลให้มีการบันทึกการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนราว 730 ล้านบาท และบันทึกภาษีจ่ายเพิ่มขึ้นราว 2.46 พันล้านบาท และ 2) บันทึกขาดทุนจากการทำ Hedging น้ำมันราว 1.66 พันล้านบาท และหากพิจารณาเฉพาะกำไรปกติคาดว่าจะปรับตัวลดลง 34.8%qoq ซึ่งถูกกดดันจากทั้งราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปริมาณขายผลิตภัณฑ์ที่ลดลงเฉลี่ย 1.5%qoq รวมถึงคาดต้นทุนรวมที่คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 11.1%qoq พร้อมกับได้ปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบลงจากเดิมที่ประเมินไว้ 63 เหรียญฯต่อบาร์เรล เหลือ 58 เหรียญฯ เพื่อสะท้อนการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบที่ล่าช้ากว่าคาด ปัจจุบันราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ยจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน 56 เหรียญฯต่อบาร์เรล
ขณะที่ช่วงที่เหลือของปีนี้ต้องเฉลี่ย 70 เหรียญฯ จึงจะทำให้ตลอดปี 2558 อยู่ที่ 63 เหรียญฯ ซึ่งดูแล้วอาจจะเป็นไปได้ยากขึ้นในภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังได้รับแรงกดดันจากปัญหาของกรีซ ซึ่งน่าจะกดดันเศรษฐกิจยุโรปในวงกว้าง และจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก ยังเผชิญกับภาวะการเติบโตในอัตราชะลอตัวลง และการปรับลดประมาณการกำไรของ PTTEP ยังกระทบกับ PTT ซึ่งถือหุ้นใน PTTEP 65.29% กล่าวคือ ตามประมาณการกำไรใหม่ของ PTTEP ทำให้ PTT ต้องลดประมาณการกำไรในปี 2558 ลงจากประมาณการเดิม 7.9% ในปี 2558 และปรับลดอีก 6.7% ในปี 2559
โดยรวมในเบื้องต้น คาดว่าจะทำให้กำไรสุทธิต่อหุ้นของตลาดหายไปจากประมาณการปัจจุบันที่ 95.49 บาทต่อหุ้น และ 109.78 บาทต่อหุ้น อัตราสูงขึ้นถึง 4% และ 3.5% หรือลดลงเหลือ 91.73 เท่า และ 105.92 บาท ซึ่งเท่ากับทำให้ Expected PER ของตลาดขยับขึ้นจากปัจจุบัน ที่ดัชนี 1,470 จุด 15.4 เท่า เป็น 16 เท่า ซึ่งทำให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้ตลาดหุ้นไทยจึงยังไม่น่าสนใจ จึงมีแนวโน้มจะปรับลดดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 2558 ที่เดิมกำหนดไว้ที่ 1,480 จุด อิง 15.5 เท่า ลดลงเหลือ 1,421 จุด (อิง Expected PER 15.5x) อย่างไรก็ตามจะใช้ประมาณการ EPS ใหม่ เมื่อเห็นว่านักวิเคราะห์ ASPS ได้ทยอยปรับลดประมาณการกำไรหุ้นรายบริษัทได้เกือบครบหรือหยุดนิ่งแล้ว กลยุทธ์การลงทุนจึงยังเน้นรายหุ้น โดยเฉพาะหุ้นที่มีผลกำไรที่โดดเด่นในงวด 2Q58 และต่อเนื่องในงวด 3Q58 ได้แก่ หุ้นส่งออก และอิงส่งออกที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าได้แก่ HANA, KCE, TUF, RCL หรือหุ้นในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวน้อย ขณะเดียวกันยังได้ประโยชน์จากการเร่งเบิกจ่ายงบเหลื่อมปี โดยเฉพาะการซ่อมบำรุงถนน เอื้อประโยชน์ TASCO ถือเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่สุดของประเทศ หรือ ธุรกิจมีลักษณะผูกขาดเช่นให้บริการดาวเทียม คือ THCOM เป็นต้น
ต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาคสูงสุดในรอบ 183 วัน
วานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 964 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการขายสูงสุดในรอบ 183 วันที่ผ่านมา (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) โดยเป็นการขายเกือบทุกตลาด ยกเว้นประเทศเดียวคือ อินโดนีเซียที่กลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 4 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 2 วัน) ส่วนที่เหลืออีก 4 ประเทศต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ ไต้หวันถูกขายสุทธิสูงสุดในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 507 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการขายสูงสุดในรอบ 84 วันที่ผ่านมา (ขายสุทธิต่อเนื่องวันที่ 5) รองลงมาคือ เกาหลีใต้ถูกขายราว 373 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการขายสูงสุดในรอบ 202 วันที่ผ่านมา (ขายสุทธิต่อเนื่องวันที่ 4) เช่นเดียวกับ ฟิลิปปินส์ที่ถูกขายสุทธิราว 20 ล้านเหรียญ และ ไทยถูกขายสุทธิราว 68 ล้านเหรียญ หรือ 2,223 ล้านบาท (หลังจากกลับมาซื้อสุทธิได้เพียงวันเดียว) โดยรวมทำให้ ตั้งแต่ต้นปี จนถึงวานนี้ ต่างชาติยังคงขายสุทธิสะสมในตลาดหุ้นไทยราว 734 ล้านเหรียญ หรือ 2.47 หมื่นล้านบาท และเช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 624 ล้านบาท
ตรงข้ามกับ ตลาดตราสารหนี้ พบว่านักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 8,450 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิ 556 ล้านบาท อย่างไรก็ตามแรงขายในตลาดหุ้นและความกังวลต่อเศรษฐกิจในประเทศได้กดดันให้เงินบาทแตะ 34 บาทต่อดอลลาร์ ติดต่อกันหลายวัน ซึ่งทำให้เป็นไปได้ที่จากนี้ไปจะเห็นเงินบาทอ่อนค่าเหนือ 40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดันให้แรงขายต่างชาติยังมีอยู่ แต่อย่างไรก็ตามน่าจะดีหุ้นส่งออก ที่เน้นสินค้า high end เช่น HANA, KCE เป็นต้น
แนะ THCOM เป็นหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจในประเทศจำกัด
ท่ามกลางความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศล่าช้า สะท้อนจากที่นักวิเคราะห์ ASPS ได้ปรับลดประมาณการกำไรลงรวม 2 ครั้งในปีนี้ โดยพบว่าหุ้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือหุ้นในกลุ่ม ธ.พ. บันเทิง อสังหาริมทรัพย์เป็นตัว แต่อย่างไรก็ตามยังมีหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบที่น้อยกว่า หรือมีลักษณะเฉพาะตัว เช่น เป็นผู้นำในธุรกิจอย่างกรณี TASCO ดังกล่าว หรือ THCOM ซึ่งเป็นเจ้าของดาวเทียมแห่งเดียวในประเทศไทย เพื่อให้บริการสื่อสาร โดยเฉพาะการบริการเสียงและข้อมูล ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัย 5 ของคนในยุคการสื่อสารข้อมูลที่รวดเร็ว รวมถึงให้บริการ Digital TV ซึ่งถือว่าได้ประโยชน์โดยตรงจากการประมูลคลื่น Digital ในช่วงที่ผ่านมา จึงถือได้ว่า THCOM น่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้แม้ระยะสั้น THCOM อาจจะได้รับผลกระทบทางด้านลบ จากการที่มีข่าวว่า TOT ซึ่งเป็นลูกค้ารายหนึ่งของ THCOM ซึ่งเป็นผู้เช่าการใช้งานดาวเทียม iPSTAR (ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานเฉพาะด้านการเชื่อมต่อข้อมูล/อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เหมาะกับการใช้ด้านโทรคมนาคม โดยเฉพาะค่ายมือถือ มักเช่าใช้เป็นโครงข่ายสำรอง, เชื่อมต่อพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น) ซึ่งแม้ iPSTAR เพียง 1 ดวง มีกำลังให้บริการถึง 8% ทั้งหมดของ THCOM อาจจะถูกยกเลิกการเช่าจาก TOT เพราะ TOT อาจจะประสบผลขาดทุน เนื่องจากวัตถุประสงค์การเช่า iPSTAR ตั้งแต่แรก ก็เพื่อมาใช้กับโครงการ Schoolnet และ Taplet แต่เมื่อรัฐบาลปัจจุบันได้ยกเลิกโครงการ Taplet ทำให้ TOT มีแนวโน้มจะยกเลิกการเช่า iPSTAR เพื่อลดภาระค่าเช่าราว 500 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้หาก TOT จะยกเลิกการเช่า iPSTAR คาดว่าจะกระทบ THCOM จำกัด เพราะ TOT ต้องแจ้งล่วงหน้าก่อน 1 ปีพร้อมจ่ายค่าปรับจำนวนหนึ่งให้กับ THCOM ขณะที่คาดว่า THCOM ยังสามารถหาผู้เช้ารายใหม่ได้ เนื่องจาก iPSTAR ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานเฉพาะด้านการเชื่อมต่อข้อมูล (อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง) ดังกล่าวข้างต้น ยังเป็นที่ต้องการของค่ายมือถือเกือบทุกราย
อย่างไรก็ตาม ในกรณีเลวร้าย ใช้กรณีที่จะไม่มีลูกค้ารายใหม่มาแทน TOT คาดว่าจะทำให้กำไร THCOM ลดลงจากประมาณการราว 10% ต่อปี (250 ล้านบาทต่อปี) และกระทบมูลค่าพื้นฐาน 4 บาท ซึ่งแม้จะลดลงจากเดิม 51 บาท มาราว 47 บาท แต่ยังเป็นระดับที่มี Upside จากราคาปัจจุบัน จึงแนะนำให้เลือกลงทุนในหุ้น THCOM เพื่อรองรับภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว และให้ไปแทนหุ้นที่ถูกกระทบจากเศรษฐกิจในประเทศหนัก ๆ ดังกล่าวข้างต้น