WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASP copyบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
      Fund Flow ยังคงไหลออกจากตลาดหุ้น แต่มูลค่าการขายสุทธิ และผลกระทบต่อ SET Index จะลดลงตามลำดับ โดยที่ระดับ SET Index 1450 จุด ซึ่งมีค่า Current PER 16.52 เท่า และ PER สิ้นปี 2558 ที่ 15.15 เท่า น่าจะแข็งแกร่งพอที่จะรับแรงกดดันจาก Sentiment เรื่องกรีซได้ แนะนำเลือก HANA(FV@B48) เป็น Top Pick

 

เจรจารอบใหม่ของกรีซเปิดฉาก สร้างความผันผวนต่อตลาดหุ้นโลก
     การเจรจาปัญหาหนี้กรีซรอบใหม่ที่จะมีขึ้นในการประชุมผู้นำสหภาพยุโรป (EU) ในวันนี้ที่กรุงบรัสเซลส์ นางแองเจลา แมร์เคิล นายกฯเยอรมัน ได้แจ้งให้นายอเล็กซิส ซีปราส นายกฯ กรีซ ยื่นข้อเสนอใหม่ของรัฐบาลกรีซเข้าสู่ที่ประชุม เพื่อพิจารณาหาทางออกร่วมกัน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการหารือกันในเรื่องของการขอลดหนี้ (Debt haircut) รวมถึงการขอยืดระยะเวลาปลอดชำระหนี้ (Grace period) รวมอยู่ด้วย ขณะที่ทางด้านการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) วานนี้ มีมติให้คงระดับเพดานเงินกู้ฉุกเฉิน หรือ Emergency Liquidity Assistance (ELA) ให้แก่ภาคธนาคารและสถาบันการเงินของกรีซไว้ที่ 8.9 หมื่นล้านยูโรตามเดิม แต่เพิ่มเงื่อนไขที่เข้มงวดขึ้น คือ มีการพิจารณาถึงการตัดลดสินทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกัน (Haircuts on collateral for ELA adjusted) ซึ่งอาจจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และพันธบัตรของกรีซเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสถาบันการเงินต้องมีต้นทุนเงินที่สูงขึ้น ทั้งนี้ กรีซมีกำหนดที่จะต้องชำระหนี้แก่ ECB อีกราว 3.5 พันล้านยูโร (3.9 พันล้านเหรียญฯ) ในวันที่ 20 ก.ค.นี้ ซึ่งหากกรีซยังไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ อาจจะเป็นเหตุให้ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ ELA ในงวดถัดไป จากสถานการณ์แวดล้อมปัจจุบันเห็นได้ว่าจุดยืนของทั้ง ฝ่ายเจ้าหนี้ และลูกหนี้ยังคงต่างกันอย่างมาก ผลสรุปของการเจรจาคงยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน


      ทางด้านสหรัฐฯ หลังจากก่อนหน้านี้ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจแสดงทิศทางของการฟื้นตัวในตลาดแรงงานโดยอัตราการว่างงานปรับมาอยู่ที่ 5.3% ต่ำสุดตั้งแต่ เม.ย. 2551 (ก่อนปัญหาวิกฤติระบบการเงิน) ส่วนดัชนีชี้นำในกลุ่มการลงทุนยังคงมีทิศทางที่แตกต่างของตัวเลขชี้นำที่ออกมา อย่างตัวเลข PMI ภาคการผลิตที่รายงานโดย ISM และ Markit มีทิศทางตรงกันข้ามกัน เช่นเดียวกับวานนี้ตัวเลข PMI ภาคบริการจาก ISM เดือน มิ.ย. ที่ปรับตัวดีขึ้นจาก 55.7 ในเดือน พ.ค. มาอยู่ที่ 56 (ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 56.3) โดยมีทิศทางตรงกันข้ามกับของ Markit ที่ปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ 54.8 (เดือน พ.ค. และตลาดคาดการณ์ที่ 56.2 ละ 56.7 ตามลำดับ) แต่อย่างไรก็ตาม PMI ภาคบริการยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งยังบ่งชี้ถึงการขยายตัวทางด้านบริการอยู่ทั้งนี้หากพิจารณาเงื่อนไขในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed พบว่าตัวเลขอัตราการว่างงานน่าจะเข้าใกล้เป้าหมายของ Fed แล้วแต่หากพิจารณาถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ปัจจุบันยังคงติดลบอยู่ ซึ่งห่างจากเป้าหมายของ Fed ที่เข้าใกล้ 2% และตัวเลขดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจที่ยังมีทิศทางแตกต่างกันอยู่ ทำให้ ASPS ยังคงมองว่า Fed น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วในช่วงเดือน ธ.ค. หรืออย่างช้าในช่วงต้นปี 2559

 

ปัญหากรีซไม่น่าจะทำให้ SET Index ปรับลงไปได้อีกมากนัก
         นับจากช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลดลงมาราว 2.5% ซึ่งแรงกดดันหลักประการหนึ่งได้แก่ความกังวลเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้สินของกรีซ แต่อย่างไรก็ตามหากประเมินผลกระทบจริงที่จะเกิดขึ้นต่อปัจจัยพื้นฐาน รวมถึง Fund Flow จากกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ ฝ่ายวิจัย ASPS เห็นว่าอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล โดยหากจะเชื่อมโยงผลกระทบในเชิงปัจจัยพื้นฐาน สิ่งที่กังวลมากสุดจากปัญหาเรื่องกรีซ ก็น่าจะเป็นเรื่องของการค้าระหว่างประเทศ แต่เมื่อมาพิจารณาในรายละเอียดพบว่าประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าไปยังกรีซคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.06% ของมูลค่าส่งออกรวม (ข้อมูลปี 2557) ขณะที่สัดส่วนการส่งออกรวมไปยังยุโรปอยู่ที่ 12% ดังนั้นหากปัญหายังไม่ขยายตัวไปกระทบภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real sector) ของกลุ่มประเทศยุโรป ผลกระทบกับภาคการส่งออกของประเทศไทยก็ไม่น่าจะอยู่ในระดับที่มีนัยสำคัญ

 

      ทั้งนี้ สถานะปัจจุบันของปัญหาส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในภาคการเงิน ส่วนความกังวลอีกด้านหนึ่งคือเรื่องของ Fund Flow จากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ประเมินว่าจะยังเห็นแรงขายสุทธิของกลุ่มนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่งแต่จะเป็นเม็ดเงินที่ลดลงตามลำดับ ทั้งนี้จากการติดตามตัวเลขสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในตลาดหุ้นไทย (รวมส่วนที่ปิดโอน และการถือผ่าน NVDR) พบว่าได้ลดลงจากระดับสูงสุดช่วงกลางปี 2556 ที่ 36-37% มาอยู่ที่ช่วง 32 - 33% ของ Market Cap รวม ซึ่งถือเป็นระดับปกติค่อนไปในทางที่ต่ำ โดยธรรมชาติจึงไม่น่าจะเห็นแรงขายออกมาเพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้หากรวบรวมยอดซื้อสุทธิสะสมของนักลงทุนต่างชาติในรอบล่าสุดคือนับจากปี 2552 พบว่ามูลค่าตลาดที่ซื้อสะสมสูงสุดอยู่ที่ระดับ 3.21 แสนล้านบาท ช่วงกลางปี 2556 แต่หลังจากนั้นได้มีแรงขายสุทธิออกมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ยอดรวมการซื้อสุทธิในรอบดังกล่าวเหลือเพียง 2.15 หมื่นล้านบาท

 

       ในปัจจุบัน จึงทำให้เชื่อว่าแม้จะยังอยู่ในภาวะที่ Fund Flow ไหลออก แต่เม็ดเงินก็น่าจะลดน้อยลงต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ทำให้ SET Index ปรับตัวลดลงก็คือ การขาดแรงซื้อในระดับที่เหมาะสมจากกลุ่มนักลงทุนในประเทศ เข้าไปรับ ซึ่งต่างกับช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งนักลงทุนสถาบันในประเทศ ซื้อสุทธิสะสมเป็นมูลค่าตลาดกว่า 2.15 แสนล้านบาท นับจากช่วง 4Q55 เป็นต้นมา ทำให้ดูดซับแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติไปได้หมดภายใต้องค์ประกอบดังกล่าว ทำให้เชื่ออิทธิพลจากกรณีปัญหาหนิ้สินของกรีซ จะสร้างแรงกดดันต่อ SET Index ได้อีกไม่มากโดยที่ SET Index ระดับ 1450 จุดซึ่งมีค่า Current PER 16.52 เท่า และให้ค่า PER สิ้นปี 2558 ที่ 15.15 เท่า จึงน่าจะมีความแข็งแกร่งพอที่จะรับแรงกดดันจากปัญหาดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องระวังความเสี่ยงจากปัจจัยแวดล้อมอื่นในประเทศ เช่น การปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน และสถานการณ์การเมือง

 

การใช้จ่ายภาครัฐปีนี้ คาดจะเบิกได้ถึงเป้า หนุนหุ้นกลุ่มก่อสร้าง
       หลังจากตัวเลขชี้นำทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งทางด้านการบริโภคภาคครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัว จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน และภาคการลงทุนที่ยังไม่ฟื้นตัวสะท้อนโดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ผลิตที่ปรับตัวลงต่อเนื่องเช่นกัน เช่นเดียวกับการส่งออกที่ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือน พ.ค.รวมแล้วหดตัวถึง 21% yoy และเงินเฟ้อที่ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือน มิ.ย. ที่ติดลบถึง 0.81% อาจกล่าวได้ว่าตัวแปรสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะเป็นการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยล่าสุด รมว. คลัง ได้กล่าวยืนยันว่าในปีงบเบิกจ่ายลงทุนปี 58 นี้จะเบิกจ่ายได้มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ที่ 86% โดย ณ วันที่ 19 มิ.ย. 2558 มีการเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 2.05 แสนล้านบาท จากวงเงิน 4.49 ล้านบาท หรือประมาณ 45.61% โดยมีการก่อสัญญาผูกพันกับภาคเอกชนแล้ว 7.85 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าช่วงที่เหลืออีก 3 เดือนก่อนหมดปีงบประมาณน่าจะมีการเร่งเบิกจ่ายเพิ่มได้อีกมาก ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อหุ้นภาคการก่อสร้างที่เกี่ยวเนื่องจากการลงทุนภาครัฐ หุ้นเด่นได้แก่ CK (FV@B 31.25) และ TASCO (FV@B 27.50)

 

ความคืบหน้าประมูล 4G สร้างกระแสเชิงบวกหุ้นสื่อสาร เฉพาะอย่างยิ่ง ADVANC
      วานนี้ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ( กทค.) มีมติเห็นชอบ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการประมูล 4G โดยให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz โดยกำหนดเงื่อนไขหลักๆ คือ จะมีการประมูลในอนุญาตใหม่ 2 ใบ กำลังให้บริการใบละ 12.5 MHz โดยมีราคาตั้งต้นใบละ 11,600 ล้านบาท หลังจากนี้ กสทช. จะใช้เวลาในขั้นตอนเตรียมการประมูลอีก 3 เดือน ก่อนเปิดประมูลวันที่ 11 พ.ย. 58 ทั้งนี้ คาดความคืบหน้าการประมูลดังกล่าวคาดสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดว่าการประมูลจะเกิดขึ้นตามกำหนด โดยในสถานการณ์ดังกล่าว ผู้ที่รับประโยชน์มากสุด คือ ADVANC ซึ่งยังไม่มีบริการ 4G รายเดียว ประกอบกับ ฐานะการเงินแข็งแกร่งสุด จึงเชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในผู้ชนะการประมูลแน่นอน หนุนให้ ADVANC มีศักยภาพในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดกลับมาจาก DTAC และ TRUE ที่เริ่มต้นให้บริการ 4G ไปแล้ว (จากปัจจุบันที่ทำได้เพียงประคองตัว) ส่วนอีก 1 ใบอนุญาต คาดเป็นการแข่งระหว่าง DTAC TRUE และ JAS โดย DTAC และ TRUE จะต้องแย่งชิงกันเพื่อนำมาเพิ่มกำลังให้บริการ 4G จากที่มีในปัจจุบันที่ 5 และ 10 MHz เพื่อขึ้นครองตำแหน่งผู้ที่มีกำลังให้บริการ 4G มากสุด ส่วน JAS แม้คาดร่วมประมูลตามกลยุทธ์ใหม่ที่ต้องการให้บริการ 4G แต่คาดจะแพ้ประมูล เพราะไม่มีฐานลูกค้า และโครงข่ายให้บริการเลย จึงน่าจะสู้ราคาประมูลสูงสุดต่ำกว่า 3 เจ้าหลัก ดังนั้น โดยภาพรวมแล้ว ในกลุ่ม ICT ฝ่ายวิจัยจึงยังคงชื่นชอบหุ้นที่ได้รับประโยชน์มากสุดอย่าง ADVANC(FV@B285) รวมถึงบริษัทแม่ INTUCH(FV@B113) ซึ่งถือหุ้นใน ADVANC 40.45%

ต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาคทั้ง 5 ประเทศ
       วานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 558 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการขายสุทธิทั้ง 5 ประเทศ นำโดยตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิสูงสุดในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 297 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องวันที่ 2) รองลงมาคือ ตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิราว197 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องวันที่ 3) เช่นเดียวกับตลาดอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ถูกขายสุทธิใกล้เคียงกันราว 13 ล้านเหรียญ และ 9 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ส่วนตลาดหุ้นไทยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิราว 42 ล้านเหรียญ หรือ 1,419 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องวันที่ 3) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 523 ล้านบาท และหากพิจารณาตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. จนถึงวานนี้ พบว่าต่างชาติขายสุทธิสะสมในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 880 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการขายสุทธิสะสมทั้ง 5 ประเทศเช่นกันทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 21,813 ล้านบาท เช่นเดียวนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิ 397 ล้านบาท ส่วนทางค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากวันก่อนหน้า โดยล่าสุดอยู่ที่ 33.86 บาท/ดอลลาร์

นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!