- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 20 June 2014 15:12
- Hits: 2815
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
Demand โลกฟื้น และปัญหาในอิรัก ยังหนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ วันนี้ยังเลือก Top pick คือ KSL(FV@B17) และยังชื่นชอบหุ้นพลังงานอย่าง PTT(FV@B360), PTTEP(FV@B195), และ GUNKUL(FV@B20)
น้ำตาลยังเป็นขาขึ้น หนุน KSL
ในช่วงสั้น ๆ พบว่าราคาน้ำตาลโลกยังคงเดินหน้าต่อในลักษณะเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเช้านี้ได้ขยับขึ้นแตะ 18.691 เซนต์ต่อปอนด์ หรือเพิ่มขึ้น 1.85% จากเมื่อวานนี้ (หลังจากวานนี้ขยับขึ้นกว่า 3% จากวันพุธ) ทั้งนี้ปัจจัยหนุนระยะสั้น ๆ น่าจะมาจากการปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงานของประเทศบราซิล ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการน้ำมันต้องปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตเอทานอลเข้าไปในน้ำมันเบนซิน มาที่ระดับ 26% จากเดิม 25% ส่งผลให้ชาวไร่อ้อยในบราซิล นำผลผลิตอ้อยที่ได้จากไร่ ไปส่งให้กับโรงงานผลิตเอทานอล เพิ่มขึ้น เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการส่งเข้าหีบโรงน้ำตาล
นอกจากนี้ ความกังวลต่อปริมาณผลิตน้ำตาลโลกที่อาจเข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น จากอดีตที่ภาวะอุตสาหกรรมน้ำตาลโลกอยู่ในภาวะผลผลิตเกินความต้องการจำนวนมาก (Over supply) เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งในแหล่งเพาะปลูกอ้อยสำคัญ ๆ ของโลก โดยข้อมูลล่าสุดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่าส่วนเกินผลผลิตของน้ำตาลโลก จะเหลือเพียง 4.1 ล้านตันในปี 2557/58 จากที่เคยสูงในระดับ 7 ล้านตันในปีผลผลิตก่อนหน้า เนื่องจากแนวโน้ม Demand น้ำตาลโลกที่เพิ่มขึ้น 1.6% yoy เป็น 171.5 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณผลผลิตน้ำตาลโลกค่อนข้างทรงตัวจากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 175.6 ล้านตัน หรือมีโอกาสลดลง หากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกอ้อยในกลุ่มประเทศผู้ผลิตชั้นนำของโลก ด้วยเหตุนี้จึงหนุนให้ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มขึ้นต่อเนื่องช่วง 1-2 ปีข้างหน้า โดยมีความเป็นไปได้ที่จะขยับขึ้นไปยืนเหนือ 20 เซนต์ต่อปอนด์ เทียบกับปี 2556 เฉลี่ย 17.55 เซนต์ต่อปอนด์ และนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักวิเคราะห์ ASP ปรับเพิ่มสมมติฐานราคาเฉลี่ยน้ำตาลโลกปี 2557/58 ไว้ที่ 21.5 เซ็นต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสมมติฐานเดิมทีกำหนดไว้ 18 เซนต์ต่อปอนด์ (แต่เพิ่มขึ้น 19.4% yoy) ซึ่งจะหนุนให้กำไรสุทธิของ KSL ในปี 2557/58 เติบโต 21.4% yoy
ฝ่ายวิจัยยังชื่นชอบ KSL โดยมูลค่าหุ้นภายหลังการปรับเพิ่มประมาณอยู่ที่ 17.20 บาท ยังมี Upside อีก 18% จากราคาหุ้นปัจจุบัน ซึ่งมี PER ต่ำเพียง 10.6 เท่า ใกล้เคียงกับราคาหุ้น KBS (อยู่ระหว่างทบทวนประมาณการและคำแนะนำ) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่มีขนาดเล็กกว่า และมีธุรกิจต่อยอดขั้นปลายน้อยกว่า KSL แต่น่าจะได้ประโยชน์ในลักษณะเดียวกัน และถือว่าทั้ง 2 บริษัท อยู่ในระดับที่ต่ำมากหากเทียบกับหุ้นน้ำตาลในต่างประเทศ ที่ทำธุรกิจลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะในประเทศบราซิล 2 แห่งคือ Cosan และ Sao Martinho ซื้อขายที่ PER 15.9 เท่า และ PER 18.2 เท่า
ราคาน้ำมันดิบโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น หนุน PTT, PTTEP
ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งทะยานพากันทำจุดสูงสุดในรอบกว่า 9 เดือน โดยพบว่าสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าล้วนปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ส่งมอบเดือน ก.ค. ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 2.5% ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 107.7 เหรียญฯ/บาร์เรล (ล่าสุดอยู่ที่ 106.6 เหรียญฯ/บาร์เรล) และสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า Brent ส่งมอบเดือน ก.ค. สัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นกว่า 4.5% ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 115.7 เหรียญฯ/บาร์เรล (ล่าสุดอยู่ที่ 114.8 เหรียญฯ/บาร์เรล) และเดียวกับราคาน้ำมันดิบดูไบตลาดสิงคโปร์ สัปดาห์ที่ผ่านมาขึ้นไปถึง 4.9% จาก 106 เหรียญฯ/บาร์เรล ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 111.8 เหรียญฯ/บาร์เรล (ล่าสุดอยู่ที่ 111.26 เหรียญฯ/บาร์เรล) รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นได้หนุนให้ค่าการกลั่นดีดตัวขึ้นมาอยู่ที่ 4.69 เหรียญฯ/บาร์เรล จากวันจันทร์ที่ผ่านมาที่ 3.78 เหรียญฯ/บาร์เรล (ดีต่อ BCP มากสุด รองมาคือ TOP และ PTTGC ตามลำดับ)
ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนราคาน้ำมัน ยังคงเป็นปัญหาในแหล่งผลิตน้ำมันดิบสำคัญของโลก โดยเฉพาะสงครามกลางเมืองในอิรัก หลังจากที่ 2 วันก่อน กลุ่มอิสลามหัวรุนแรง ISIL ได้ใช้อาวุธสงครามโจมตีโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของประเทศที่อยู่ทางภาคเหนือของอิรัก นอกจากเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งน้ำมันแล้ว ยังทำให้สถานีบริการต่างๆ ปิดบริการชั่วคราว ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมัน และ ล่าสุด Exxon Mobil และ BP ได้สั่งอพยพคนงานออกจากอิรักแล้วเพื่อความปลอดภัยจากการสู้รบที่เริ่มขยายลงมาสู่ภาคใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นฐานการผลิตน้ำมันขนาดใหญ่ถึง 3 ใน 4 ที่อิรัก จากปัจจุบันที่อิรักผลิตน้ำมันดิบได้เกือบ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาเป็นอันดับ 2 ในกลุ่ม OPEC รองจากซาอุดิอาระเบีย โดยสรุป เชื่อว่าสถานการณ์ในอิรักยังไม่มีท่าทียุติลงได้โดยง่าย น่าจะยังคงหนุนราคาน้ำมันโลกให้อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มผู้ประกอบการน้ำมัน ฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักการลงทุน “มากกว่าตลาด” ยังคงคำแนะนำซื้อ PTT (FV@B 360) และ PTTEP (FV@B 195) เชื่อว่านักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานของ ASP มีโอกาสปรับสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบที่กำหนดไว้เพียง 100 เหรียญฯต่อบาร์เรล
ดอกเบี้ยนโยบายเอเซียน่าจะทรงตัว เงินเฟ้อขยับขึ้น
เอเชียยืนดอกเบี้ยนโยบาย แม้เศรษฐกิจเอเซียเข้าสู่ภาวะชะลอตัวเป็นส่วนใหญ่ แต่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ได้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 7.5% (คงที่ตั้งแต่ พ.ย. 2556) และดอกเบี้ยเงินฝาก 5.75% เพื่อรองรับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เมื่อปีที่แล้ว 5 ครั้ง รวมเพิ่มขึ้น 1.75% ถือว่าเป็นแรงกดดันต่อการขยายตัวของการลงทุน
วันพุธที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% ตามตลาดคาด รวมถึงได้ปรับลด GDP Growth เหลือ 1.5% ในปี 2557 แต่ กนง มีมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบ V-shape แม้จะฟื้นตัวได้ไม่มาก แต่ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว หากพิจารณา GDP Growth ตามประมาณการใหม่ของ กนง. ซึ่ง 1H57 คาดว่า -0.5% (งวด 2Q57 -0.4% จากงวด 1Q57 อยู่ที่ -0.6%) ส่วน 2H57 น่าจะพลิกฟื้นมาเติบโต 3.4-3.5% (เทียบกับ ASP งวด 2H57 คาด 3.9% จากทั้งปี 2557 คาด 2%)
และ ล่าสุด ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่เดิม 3.5% ตามตลาดคาด เพราะเงินเฟ้อ ในเดือน พ.ค. อยู่ 4.5% yoy ทำสถิติสูงสุดในรอบ 2.5 ปี (จาก 4.1% ในเดือนก่อนหน้า) อันเป็นผลมาจากผลกระทบทางพายุเอลนิโย ซึ่งส่งผลต่อราคาต้นทุนค่าอาหารและการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน (ธนาคารกลางได้ปรับเพิ่มการ เงินเฟ้อของปี 2557 ที่ระดับ 4.4% จากเดิม 4.3% และปี 2558 ที่ระดับ 3.7% จาก 3.4% โดยคาดว่า GDP Growth ปี 2557 จะอยู่ที่ 7.5% ขณะที่งวด 1Q57 เติบโตเพียง 5.7%yoy เป็นระดับต่ำกว่า 6% ครั้งแรกในรอบ 9 ไตรมาส)
ขณะที่ฝั่งสหรัฐ ผลการประชุมของ FOMC เชื่อว่า การใช้มาตรการการเงินเข้มงวดจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยแม้หลังตัดลด QE เสร็จสิ้นภายในเดือน ก.ย. 2557 คาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นภายในกลางปี 2558 เนื่องจากตลาดแรงงานไม่ฟื้นมากนัก แม้ อัตราการว่างงานได้ลดลงมาอยู่ที่ 6.3% ในเดือน พ.ค. แต่ยังห่างไกลจากระดับก่อนวิกฤติซับไพร์ม หรือยังห่างจากระดับการจ้างงานเต็มที่ ทั้งนี้ล่าสุด จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 14 มิ.ย. ลดลง 6,000 ราย หรือลดลง 1.9% จากสัปดาห์ก่อนหน้า และเป็นระดับที่ต่ำกว่าคาดเล็กน้อย
นอกจากนี้ สมาคมธนาคารสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage Bankers Association) คาดว่ายอดขายบ้านใหม่และบ้านที่มีอยู่แล้วในสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะต่ำลง ในปี 2557 ซึ่งถือว่าเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยคาดว่าละลดลง 4.1%yoy ทั้งนี้เนื่องมาจากราคาบ้านปรับตัวกว่า 10% ในช่วงที่ผ่านมา
ต่างชาติยังเทขายหุ้นไทย แต่กลับซื้อหนักในตราสารหนี้
แม้ว่า วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 แต่ยอดซื้อกลับลดลงถึง 90% เหลือเพียงราว 83 ล้านเหรียญฯ ซึ่งเกิดจากการเข้าซื้ออย่างหนักในประเทศเดียวคือ ไต้หวัน ที่ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 11 ราว 276 ล้านเหรียญฯ แต่มูลค่ากลับลดลง 52% จากวันก่อนหน้า ขณะที่ประเทศที่เหลือขายสุทธิทั้งหมด เริ่มจากขายหนักสุทธิคือประเทศไทย และ ขายสุทธิเป็นวันที่ 8 ราว 119 ล้านเหรียญฯ (3.9 พันล้านบาท, เพิ่มขึ้น 41% จากวันก่อนหน้า) เกาหลีใต้สลับมาขายสุทธิราว 33 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิติดต่อกัน 3 วันก่อนหน้า) ฟิลิปปินส์ขายสุทธิเป็นวันที่ 4 ราว 24 ล้านเหรียญฯ แต่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับวานนี้ และสุดท้าย อินโดนีเซียสลับกลับมาขายสุทธิอีกครั้งราว 17 ล้านเหรียญฯ
นักลงทุนต่างชาติยังคงเทขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายสุทธิสะสมจากต้นปีจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 4.3 หมื่นล้านบาท แตกต่างจากประเทศในกลุ่ม TIP ที่ยังมียอดซื้อสุทธิสะสม (3.8 พันล้านเหรียญฯ ในอินโดนีเซีย และ 973 ล้านเหรียญฯ ในฟิลิปปินส์) แม้จะเริ่มเห็นยอดขายในช่วงสัปดาห์หลัง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติ กลับเข้าซื้ออย่างหนักในตลาดตราสารหนี้ของไทย โดยซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 5 ราว 8.4 พันล้านบาท รวม 5 วันซื้อสุทธิราว 2.6 หมื่นล้านบาท หนุนให้ค่าเงินบาทไทย ยังคงประคองตัวอยู่ที่ระดับ 32.47 บาทต่อเหรียญฯ ได้ แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะเทขายอย่างต่อเนื่องในตลาดหุ้นก็ตาม
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล