- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 09 June 2015 17:35
- Hits: 1020
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดน่าจะให้น้ำหนักต่อการประชุม กนง. พรุ่งนี้ ซึ่งคาดว่ามีโอกาสลด/ไม่ลดดอกเบี้ย เท่าๆ กันขณะที่คาดเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า ยังชื่นชอบหุ้นที่ได้ประโยชน์เงินบาทอ่อนค่า (TUF, VNG, HANA, RCL) หรือหุ้นที่ฟื้นตัวจากเศรษฐกิจภายนอก วันนี้เลือก IRPC([email protected]) เป็น Top Pick เนื่องจาก Spread ของ Olefin ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 (อ่าน Industry Update กลุ่มปิโตรเคมีวันนี้)
ตลาดหุ้นจีนยังบวกต่อ ด้วยความคาดหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง
ข้อมูลเศรษฐกิจจีนล่าสุดยังบ่งบอกถึงภาวะเศรษฐกิจชะลอ สะท้อนจากยอดการค้าระหว่างประเทศที่รายงานล่าสุด พบว่าการส่งออกเดือน พ.ค. -2.5% yoy แต่ถือเป็นพัฒนาการเชิงบวก เพราะหากเทียบกับเดือน มี.ค และ เม.ย. ติดลบในอัตราสูงถึง -15% และ - 6.4% ตามลำดับ ทั้งนี้เกิดจากตลาดส่งออกที่มีสัญญาณที่ดีขึ้น เช่น สหรัฐฯ (ตลาดส่งออกอันดับ 1 สัดส่วน 18.8% ของยอดส่งออกรวม) ที่ขยายตัวถึง 7.8% yoy และตลาดยุโรป แม้ยังติดลบอยู่ที่ -6.9% yoy แต่ก็ติดลบในอัตราน้อยลงเช่นกัน ขณะที่ทางด้านนำเข้าพบว่ายังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 (เดือน พ.ค. -17.6% yoy ทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า) เป็นผลจากการนำเข้าน้ำมันและเหล็กที่ปรับตัวลงมาก ทั้งนี้ยอดนำเข้าเหล็กที่ลดลงเป็นผลจากภาคการก่อสร้างของจีน และการลงทุนที่ยังอยู่ในระดับหดตัว สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน พ.ค.อยู่ที่ 49.2 ต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่อง 3 เดือน (ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงการหดตัวภาคการผลิต)และหากพิจารณาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่ายอดส่งออกขยายตัวเพียง 0.7% ตรงข้ามกับการนำเข้าหดตัวถึง 17.3% ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของประเทศที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายที่ 7% (IMF คาดการณ์ที่ 6.8%) อาจเป็นไปได้ยากซึ่งอาจจะทำให้คาดหวังว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจีนยังคงจำเป็นในช่วงที่เหลือของปีนี้ (หลังจากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสามครั้งมาอยู่ที่ 5.1% และลดเงินสำรองเงินฝากลงแล้ว 2 ครั้งก็ตาม)
ส่วนทางด้านญี่ปุ่น มีการรายงาน GDP Growth งวด 1Q58 ที่มีการปรับปรุงใหม่ที่ 1% จากเดิม 0.6% ทำ annualized เพิ่มขึ้นจาก 2.4% (ประมาณการครั้งก่อนหน้า) เป็น 3.9% (สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ 1.1%) การปรับตัวขึ้นเกิดจากการลงทุนที่ดีขึ้น สะท้อนจากงบลงทุนภาคธุรกิจที่ปรับตัวขึ้นจาก 0.4% ในประมาณการครั้งแรกเป็น 2.7% (คาดการณ์ที่ 2.1%) และเป็นผลจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้การท่องเที่ยวดีขึ้น ขณะที่ภาคการบริโภคที่ทรงตัวขึ้น (หลังจากหดตัวหลังการปรับขึ้นอัตราภาษีเมื่อต้นปีที่แล้ว) อาจถือได้ว่าเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน QE ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2557
ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นไทยเล็กน้อย
วานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 340 ล้านเหรียญ โดยยังคงขายสุทธิอยู่ 4 ประเทศคือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิเป็นวันแรกราว 35 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 7 วัน) ตามมาด้วยตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิราว 273 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นต่อเนื่องวันที่ 7) และหากนับตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.จนถึงวานนี้ ตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสะสมสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 1,441 ล้านเหรียญ ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 12 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นต่อเนื่องวันที่ 6) เช่นเดียวกับตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ถูกขายสุทธิราว 21 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นต่อเนื่องวันที่ 7) ยกเว้นตลาดหุ้นไทยต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 2 ล้านเหรียญ หรือ 53 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิเป็นต่อเนื่อง 6 วัน) ขณะที่สถาบันในประเทศยังซื้อสุทธิราว 217 ล้านบาท และเช่นเดียวกับ ตลาดตราสารหนี้ พบว่านักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 20,786 ล้านบาท ซึ่งต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 924 ล้านบาท และยังกดดันให้เงินบาทผันผวน โดยล่าสุดอยู่ที่ 33.78 บาท/เหรียญดอลลาร์
ตลาดหุ้นน่าจะอยู่ในภาวะปรับฐานตามตลาดเพื่อนบ้าน
แม้ตลาดหุ้นไทย ได้มีปรับฐานมาตั้งแต่ดัชนีแตะ 1,617 จุดเมื่อ 13 ก.พ. 2558 จนปัจจุบันพบว่าดัชนีหุ้นไทยลดลงแล้ว 6.7%(ytd) หรือใช้เวลานานเกือบ 5 เดือน เทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่ม TIP ถือว่าไทยยังปรับฐานน้อยกว่า เช่น ฟิลิปปินส์ พบว่าปรับตัวลดลง 8% แต่การปรับฐานเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อกลางสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน พ.ค. และในช่วงใกล้เคียงกัน อินโดนีเซียลดลง 10% หรือใช้เวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น ส่วนตลาดอื่น ๆ ในเอเซียมีสภาพไม่แตกต่างจากกลุ่ม TIP คือ มาเลเซีย ดัชนีลดลง 6.5% นับจากปลาย พ.ค. และอินเดียปรับตัวลดลง 10% จากจุดสูงสุดเมื่อต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา หรือปรับฐานกินเวลานาน 4 เดือน
ตรงกันข้ามกับบางประเทศในเอเซีย พบว่าดัชนีตลาดหุ้นฟื้นตัวหรือให้ผลตอบแทนเป็นบวก เช่น เวียดนาม ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องและให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูง 13% (โฮจินมิน 11.2% และ ฮานอย 14.5%) หลังจากที่ตลาดหุ้นเวียดนามมีการปรับฐานในช่วงหลายเดือนก่อนหน้า ขณะที่จีน ให้ผลตอบแทนกว่า 60% นับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน และน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินผ่อนคลายที่รวดเร็วและต่อเนื่อง และ ญี่ปุ่นปี 2558 เป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งโดยพบว่าตลาดหุ้นให้ผลตอบแทน 16% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่าน QE เพิ่มเติมในช่วงปลาย 2557 หลังจากที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากการขึ้น Sales tax
ทั้งนี้การปรับฐานตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP เชื่อว่ามีหลายเหตุผล คือ
น่าจะเกิดจากตลาดหุ้น TIP ให้ผลตอบแทนในปี 2557 ที่ดีกว่าตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะอินเดียให้ผลตอบแทนเกือบ 30% ตามมาด้วยตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย ให้ผลตอบแทนกว่า 22.9% และ 22.8% ตามลำดับ และ ไทย 15.3% ยกเว้นมาเลเซียที่ให้ผลตอบแทนเป็นลบทั้ง 2 ปี ตรงข้ามกับจีนที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกทั้ง 2 ปี
เกิดจากต่างชาติที่ชะลอการซื้อ/ขายสุทธิในตลาดภูมิภาคในปีนี้ลง เทียบกับปี 2557 กล่าวคือในปี 2557 ต่างชาติซื้อสุทธิเกือบทุกประเทศ ได้แก่ อินเดีย รวม 1.61 หมื่นล้านเหรียญฯ อินโดนีเซีย ซื้อสุทธิรวม 3.77 พันล้านเหรียญฯ ฟิลิปปินส์ ซื้อสุทธิรวม 1.26 พันล้านเหรียญฯ เกาหลีใต้ ซื้อสุทธิรวม 5.68 พันล้านเหรียญฯ ไต้หวัน ซื้อสุทธิรวม 1.32 หมื่นล้านเหรียญฯ ยกเว้นเพียงตลาดหุ้นไทยแห่งเดียวที่ ขายสุทธิรวม 1.09 พันล้านเหรียญฯ
แต่สำหรับปี 2558 ytd นั้น แม้นักลงทุนต่างชาติจะยังคงซื้อสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคเอเซียเช่นเดิม แต่แรงซื้อเริ่มลดน้อยลง โดยเฉพาะในตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่ยอดซื้อสุทธิในปีนี้คิดเป็นเพียง 13% ของปีที่แล้ว ส่วนฟิลิปปินส์ ซื้อสุทธิในปีนี้คิดเป็น 43% ของปีที่แล้วขณะที่ตลาดหุ้นไทยก็ยังคงถูกขายเช่นเดิมที่ 302 ล้านเหรียญฯ
พื้นฐานหรือความสามารถในการทำกำไรของตลาดที่แตกต่างกัน คือ คาดว่าในปีนี้ ตลาดหุ้นไทยน่าจะมี EPS Growth สูงสุด 24% เทียบกับ อินเดีย คาด 13% ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 9.9% อินโดนีเซีย 8.5% จีน 5.1% มาเลเซีย 0.4% ขณะที่ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วแม้หลายประเทศจะค่อนข้างดี เช่น หุ้นญี่ปุ่น คาดว่าจะเติบโตถึง 14.7% และเยอรมัน 9.5% แต่มีบางประเทศ EPS growth ติดลบ เช่น สหรัฐ -1% และ อังกฤษ -11.2% เป็นต้น โดยรวม ทำให้ค่า Expected P/E ตลาดหุ้นเอเซียอยู่ในระดับที่แพง คือ ฟิลิปปินส์ 17.3 เท่า ตามมาด้วยจีน 18.2 เท่า ไทย 15.5 เท่า มาเลเซีย 15 เท่า และ อินโดนีเซีย 13.3 เท่า ส่วนตลาดพัฒนาแล้ว พบว่าญี่ปุ่นมี Expected P/E สูงสุด คือ 17.4 เท่า รองลงมาคือ S&P 500 15.7 เท่า DJIA 14.6 เท่า อังกฤษ 14.4 เท่า เยอรมัน 12.6 เท่า และ ฮ่องกง 11.6 เท่า เป็นต้น
นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647