- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 05 June 2015 16:40
- Hits: 1191
บล.เอเซีย พลัส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การฟื้นตัวของดัชนียังเกิดขึ้นเป็นรายกลุ่มที่ราคาหุ้นอาจจะปรับลดลงลึกและลดลงมากกว่าประมาณการกำไรที่ถูกปรับลดลง เช่น ธ.พ. แต่ความผันผวนยังมีอยู่ และน่าจะเคลื่อนไหวต่ำกว่า 1,500 จุด ยังเน้นหุ้นที่ได้ประโยชน์เงินบาทอ่อนค่า (TUF, VNG, HANA, RCL) และยังเลือก HANA(FV@B48) เป็น Top Pick
SET Index 1,490.90
เปลี่ยนแปลง (จุด) 8.83
มูลค่าซื้อขาย (ล้านบาท) 36,487.33
ยอดซื้อ-ขายสุทธิ นักลงทุนแต่ละประเภท (ล้านบาท)
นักลงทุนต่างชาติ -1,688.38
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ -307.72
นักลงทุนสถาบันในประเทศ 1,413.33
นักลงทุนรายย่อย 582.77
IMF ฟันธง FED ขึ้นดอกเบี้ยฯ ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
สหรัฐ ดังที่กล่าวมาตลอดว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีความขัดแย้งกัน จึงอาจจะเป็นอุปสรรคต่อฟื้นตัวกว่าคาด โดยเฉพาะด้านตลาดแรงงาน แม้ล่าสุดมีการรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (Initial Jobless Claims) สัปดาห์ล่าสุด ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 6 พันราย ดีขึ้นกว่าที่มีการรายงานยอดเพิ่มขึ้น 7 พันรายในสัปดาห์ก่อนหน้า แต่ตัวเลขยังมีขึ้น ๆ ลง ๆ หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ล่าสุด IMF ได้ทำการปรับลด GDP growth ปีนี้ของสหรัฐฯลง จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 3.1% เป็น 2.5% และในปี 2559 จาก 3.1% เป็น 3% (สอดคล้องกับ ตัวเลข GDP growth ของสหรัฐ 1Q58 ที่ขยายตัวเพียง 2.7% yoy) เนื่องจากการฟื้นของตลาดที่อยู่อาศัยช้ากว่าที่คาด และค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นส่งผลต่อดุลการค้า ซึ่งอาจกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ทั้งนี้เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าและราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำอาจกดดันเงินเฟ้อให้ห่างจากเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ Fed ตั้งไว้ที่ 2% โดย IMF ให้ความเห็นว่า Fed ควรจะตัดสินใจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ซึ่งสอดคล้องกับทาง ASPS ที่มองว่า Fed น่าจะตัดสินใจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ตามที่ ASPS นำเสนอมาตลอด
ทางฝั่งยุโรป การเจรจาแผนปฏิรูปเศรษฐกิจระหว่างกรีซและกลุ่มเจ้าหนี้ยังไม่คืบหน้า โดยกรีซได้ขอเลื่อนการชำระเงินแก่ IMF ที่มีกำหนดชำระในวันศุกร์นี้ 300 ล้านยูโร และอีกสามครั้งในเดือน มิ.ย. โดยจะรวมจ่ายเป็นก้อนเดียวคือประมาณ 1.6 พันล้านปลายเดือน มิ.ย. นี้ (โดยใช้เงื่อนไขของ IMFในปี 1970 ที่ให้ประเทศสมาชิกสามารถรวมหนี้และชำระในครั้งเดียวในเดือนเดียวกันได้) ทั้งนี้ยังต้องคอยติดตามทาง IMF ว่าจะยอมรับการเลื่อนชำระหนี้ของกรีซหรือไม่ (หลังจากมีการยอมเลื่อนชำระหนี้ให้ประเทศ Zambia ในกลางปี 2523) นอกจากนี้แล้วกำหนดการที่กรีซจะได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มประเทศเจ้าหนี้จะหมดในช่วงปลายเดือนนี้ ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มแรงกดดันตลาดได้อีกว่ากรีซจะผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกจากสหภาพยุโรป
และไทย วานนี้มีการรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. อยู่ที่ระดับ 75.6 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 11 เดือน ซึ่งเป็นผลเนื่องจากราคาพืชผลที่ยังอยู่ในระดับต่ำกดดันรายได้และกำลังซื้อของเกษตรกร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศขณะที่ราคาสินค้าเพื่อการบริโภคที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่ารายได้ รวมถึงความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งอาจกระทบการส่งออกของไทย ซึ่งอาจจะทำให้การบริโภคภาคครัวเรือน (ประมาณ 40% ของ GDP) ในงวด 2Q58 อาจจะชะลอตัวกว่างวด 1Q58 ที่ขยายตัวถึง 2.4% (ส่วนหนึ่งเกิดจากฐานงวด 1Q57 ต่ำ) การขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ น่าจะต้องพึ่งการใช้จ่ายของภาครัฐ และการท่องเที่ยว โดยทาง ASPS ยังคงมองว่า GDP growth ของไทยปีนี้น่าจะโตที่ 2.5% yoy
ธ.พ. ฟื้นตัว อาจเกิดจากราคาหุ้นลดลงมากกว่ากำไรที่ปรับลด
หลังการปรับปรุงประมาณการกำไรล่าสุด พบว่าปี 2558 กำไรตลาดอยู่ที่ 8.88 แสนล้านบาท และ 1.02 ล้านล้านบาทในปี 2559 คิดเป็นกำไรต่อหุ้น (EPS) 95.74 บาท และ 109.97 บาทตามลำดับ มีอัตราการเติบโตราว 24.79% และ 14.86% โดยกลุ่มฯ ที่คาดว่ามีการเติบโตของกำไรสุทธิปี 2558 เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่
- ขนส่ง เติบโต 159% (AAV 689%, BA 427%, RCL 38%)
- ปิโตรเคมี เติบโต 97% (IVL 205%, PTTGC 98%)
- พลังงาน เติบโต 95% (PCP 517%, PTT 69%, PTTEP 40%)
- ประกันฯ เติบโต 45% (BLA 60%, BKI 12%)
- ท่องเที่ยว-โรงแรม เติบโต 35% (CENTEL 52%)
- รับเหมาก่อสร้าง เติบโต 35% (NWR 1074%, UNIQ 59%,CK 59%, ITD 55%)
- สื่อ-บันเทิง เติบโต 27% (WORK 1900%, RS 66%)
- วัสดุก่อสร้าง เติบโต 24% (TASCO 146%, TPIPL 45%, VNG 42%, SCC 24%)
- ค้าปลีก-ส่ง เติบโต 23% (LOXLEY 54%, CPALL 32%, BEAUTY 26%)
- ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เติบโต 23% (DELTA 21)
- ยานยนต์ เติบโต 23% (AH 31%, SAT 20%)
- โรงพยาบาล เติบโต 11% (BH 30%, CHG 23%) ICT เติบโต 3% (TRUE 341%, JAS 339%)
- ธนาคารพาณิชย์ เติบโต 2% (TISCO 12%, TCAP 12%)
- อาหาร เติบโต 1% (TUF 17%, MINT 25%)
ยกเว้น กลุ่มอสังหาฯ คาดว่ากำไรฯ ทรงตัวจากปีที่แล้ว และตรงข้าม กลุ่มที่คาดว่ากำไรสุทธิลดลง ได้แก่ เกษตร ลดลง 1% ธุรกิจการเงิน ลดลง 3% เป็นต้น
ทั้งนี้ หากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของดัชนีรายกลุ่มจะพบว่า ส่วนใหญ่การปรับลดของดัชนีกลุ่มจะลดลงในอัตราที่แรงกว่า การปรับลดประมาณการ ยกเว้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พบว่าดัชนีกลุ่มปรับตัวลดลง 5% ในเดือน พ.ค. และ ลดลง 14% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน เทียบกับที่นักวิเคราะห์ ASPS ได้ปรับมีการลดประมาณกำไรลง 5.5% ซึ่งนักวิเคราะห์ ASPS ได้ตั้งสมมติฐานที่ระมัดระวังมาก คือ ให้ กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.5% เหลือ 1% ดังนั้น การลดดอกเบี้ยของ กนง. นับจากนี้ไม่น่าจะกระทบต่อหุ้น ธ.พ. มากนัก ยกเว้นว่าจะมีการลดดอกเบี้ยมากกว่า หรือเศรษฐกิจฟื้นตัวล่าช้ากว่าคาด และ GDP Growth ลดลงต่ำกว่า 3% ตามที่ตลาดคาด ขณะที่หุ้นธนาคารพาณิชย์มีค่า Expected P/E 9.7 เท่า ในปี 2558 และ 8.54 เท่าในปี 2559 และมีธนาคารพาณิชย์หลายแห่งที่มี Ex.P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มมากคือ TISCO, KTB, BBL, KBANK และหากพิจารณาด้านเงินปันผล พบว่า KTB ให้ผลตอบแทนสูงสุดราว 4.7% ในปีนี้ และ 5.6% ปีหน้า ตามมาด้วย TISCO และ BBL เงินปันผลเฉลี่ย 6.3% และ 4.1% ในปีนี้ และในปีหน้า 7.1% และ 4.7% ตามลำดับ จึงแนะนำทยอยสะสม BBL และ TISCO
ยกเว้น กลุ่มบันเทิง และอสังหาริมทรัพย์ ที่การปรับลดของดัชนีกลุ่มจะสอดคล้องกับการปรับลดประมาณการ กล่าวคือ กลุ่มบันเทิง ดัชนีกลุ่มปรับตัวลดลง 5% ในเดือน พ.ค. และลดลง 13% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน เทียบกับที่นักวิเคราะห์ ASPS ได้ปรับมีการลดประมาณกำไรปีนี้ลง 16.7% (เป็นการปรับลดทุกบริษัทยกเว้น RS) ซึ่งถือว่าน่าจะสะท้อนผลกระทบด้านลบไประดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามความเสี่ยงยังมีอยู่ โดยเฉพาะประมาณการ GDP Growth ของปีนี้จะเป็นไปตามที่ตลาดประเมินไว้กว่า 3% (ส่วน ASPS ประเมินไว้ 2.5%) หรือไม่ อย่างไรก็ตามหากพิจารณาค่า P/E ปีนี้โดยเฉลี่ยยังสูง 23.78 เท่า ใกล้เคียงกับปี 2557 แต่หากพิจารณาเป็นรายหุ้นพบว่า มีบางแห่งที่ลดลง เช่น MAJOR(จาก 27.4 เท่า ในปี 2557 เหลือ 24.7 เท่าในปี 2558) RS (จาก 33.9 เท่า เหลือ 20.4 เท่า) VGI(จาก 35.6 เท่า เหลือ 25.6 เท่า) WORK (จาก 497 เท่า เหลือ 59 เท่า) เป็นต้น จึงแนะนำทยอยสะสมหุ้น RS และ WORK และกลุ่มอสังหาฯ พบว่าปรับประมาณการกำไรฯ ปีนี้ลง 4.6% เท่ากับดัชนีกลุ่มฯ ที่ปรับตัวลดลง YTD 4.6% และปรับลดลงในเดือน พ.ค. 3.2% โดย SPALI ปรับลดลงมากสุดถึง 22.7%ytd ตามมาด้วย LPN -22.5% QH -14.7% และ PS -10.3% เนื่องมาจากยอดโอนรับรู้รายได้ฯ ในงวด 1Q58 น้อยกว่าที่คาดตามกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัว สวนทางกับ SENA และ AP ที่เพิ่มขึ้นถึง 56.3%ytd และ 22.8%ytd ตามลำดับ เป็นไปตามผลการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่อง
ตรงข้ามกับบางกลุ่มที่ดัชนีกลุ่มอาจจะปรับลดลงน้อยกว่าการปรับลดประมาณการได้แก่ กลุ่ม ICT, เกษตรและอาหาร กล่าวคือ กลุ่ม ICT แม้จะมีการปรับลดประมาณการกำไรลงราว 19.6% (ปรับลด TRUE, DTAC, SIM, SAMART) แต่ราคาหุ้นกลับลดลงน้อยกว่า เพิ่มขึ้น 2% ในเดือน พ.ค. และติดลบเพียง 5%ytd น่าจะเกิดจากหุ้นใหญ่หลายบริษัทในกลุ่มยังคงทำกำไรได้ตามเป้าหมาย ได้แก่ ADVANC(EPS Growth 18%), THCOM (EPS Growth 29%) และ INTUCH (EPS Growth 15.3%) จึงน่าจะช่วยประคองดัชนีกลุ่ม แนะนำทยอยสะสมหุ้น ADVANC และ INTUCH ในฐานะที่จ่ายเงินปันผลเด่น คือราว 6.1% และ 7% ในปี 2558 ตามลำดับ
ตามมาด้วยกลุ่มเกษตร แม้จะมีการปรับลดประมาณการกำไรลงราว 13% (STA ปรับจากผลของราคาผลิตภัณฑ์ แต่ GFPT ปรับลดหลังกำไรงวด 1Q57 ต่ำกว่าคาด) แต่ราคาหุ้นกลับเพิ่มขึ้น ปรับ 2% ในเดือน พ.ค. และติดลบเพียง 6%ytd ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการฟื้นตัวของ STA อันเกิดจากการฟื้นตัวของราคายาง และได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าเต็มที่ เพราะโครงสร้างรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออก แต่ต้นทุนเป็นเงินบาทส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากราคาหุ้นส่วนใหญ่เต็มมูลค่า ยกเว้น GFPT (P/E เพิ่มจาก 9.2 เท่าในปี 2557 เป็น 13.3 เท่าในปี 2558) จึงยังแนะนำซื้อสะสม
และกลุ่มอาหาร แม้ปรับประมาณการกำไรฯ ปีนี้ลง 7.7% (ปรับลด KSL, CPF เป็นหลัก)แต่ดัชนีกลุ่มปรับลดลงเพียง 4.2%ytd และไม่เปลี่ยนแปลง ในเดือน พ.ค. โดยพบว่าหุ้นในธุรกิจน้ำตาล ได้แก่ KTIS ลงไปหนักมากถึง 20.5% ytd และ KSL ลดลง 1.9%ytd ตามราคาน้ำตาลโลกที่ตกต่ำ ขณะที่ธุรกิจส่งออกอาหารทะเลอย่าง TUF และ CFRESH ราคาลดลงไป 9.6%ytd และ 8.3%ytd ตามลำดับ รวมทั้งส่งออกสัตว์บกอย่าง CPF แม้ราคาหุ้นจะมีการฟื้นตัวขึ้นมาบ้างในช่วงสั้น แต่ยังลดลงไปถึง 9.1% สวนทางกับธุรกิจเครื่องดื่มอย่าง TIPCO, CBG, MALEE และ ICHI ราคาเพิ่มขึ้นนับจากต้นปี 114%, 24.2%, 18.5% และ 6.4% ตามลำดับ ขณะที่ TVO ราคาเพิ่มขึ้น 10.7%ytd สำหรับหุ้นเด่นในกลุ่มอาหาร คือ TVO เนื่องจากมีค่า P/E ต่ำ 10 เท่า และเงินปันผลสูง 8% ตามมาด้วยส่งออกอาหารที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนตัว CPF, TUF
ต่างชาติขายหุ้นไทยสูงสุดในรอบ 21 วัน
วานนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 147 ล้านเหรียญ และยังซื้อสุทธิอยู่ประเทศเดียว คือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ราว 363 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นต่อเนื่องวันที่ 5) ส่วนที่เหลืออีก 4 ประเทศยังคงถูกขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง นำโดยตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายราว 480 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นต่อเนื่องวันที่ 5) ซึ่งเป็นการขายสุทธิสูงสุดในรอบ 34 วันที่ผ่านมา ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 23 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นต่อเนื่องวันที่ 4) ตลาดหุ้นอินโดนีเซียถูกขายสุทธิราว 29 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นต่อเนื่องวันที่ 5) และ ตลาดหุ้นไทยถูกขายสุทธิราว 50 ล้านเหรียญ หรือ 1,688 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นต่อเนื่องวันที่ 5) ถือเป็นการขายที่สูงที่สุดในรอบ 21 วัน หรือนับตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 1,413 ล้านบาท
ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 9,463 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 4,829 ล้านบาท ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากวันก่อนหน้า ล่าสุดค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.78 บาท/ดอลลาร์
นักวิเคราะห์: ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647