- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 03 June 2015 16:13
- Hits: 1242
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เงินเฟ้อต่ำ น่าจะหนุน กนง. ลดดอกเบี้ย กดดันเงินบาทอ่อนค่าต่อ ยังให้เน้นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่อ่อนตัว และ/หรือ เงินบาทอ่อนค่า (TUF, VNG, HANA, KCE, RCL) วันนี้เลือก HANA([email protected]) เป็น Top Pick
มูดี้ส์ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือไทย แต่ให้น้ำหนักต่อประเด็นการเมือง
ล่าสุด Moody's สถาบันจัดดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลไทยสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินบาทไว้ที่เดิมคือระดับ Baa1 โดยยังเป็นระดับการลงทุน (Investment Grade โดยอยู่เหนือ Junk bond 3 ขั้น) และยังมีมุมมองความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพ (Stable outlook) (ถือว่าการจัดอันดับของไทย ยังไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. 2546 เป็นต้นมา) โดยการทบทวนการจัดอันดับความน่าเชื่อของประเทศไทย ครั้งนี้เป็นการให้มุมมองในระยะ 12 - 18 เดือนข้างหน้าล่าสุด ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ Moody's ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือคือ เศรษฐกิจไทยยังมีความเข้มแข็งและยังขยายตัวได้ ฐานะทางการคลังยังแข็งแรง หนี้ภาครัฐ และหนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำมาก และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่สูงมากถึง 1.6 แสนล้านเหรียญฯ (ใกล้เคียงกับช่วงเดือน พ.ค. 2554 ที่ไทยมีเงินทุนสำรองฯ สูงถึง 1.8 แสนล้านเหรียญฯ) โดยปัจจัยกดดันยังมาจากปัญหาการเมือง ระดับหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ล่าช้า
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำให้ Moody's ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในอนาคต คือ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการท่องเที่ยว ต้นทุนเงินทุนของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการขาดวินัยทางการคลัง และดุลการชำระเงินและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ถือว่าการคงอันดับความน่าเชื่อถือน่าจะมีน้ำหนักต่อตลาดน้อย หรือเป็นกลางเท่านั้น โดยประเด็นที่ตลาดน่าจะให้น้ำหนักยังเป็นเรื่องของการทบทวนประมาณการกำไรของตลาด ซึ่งจะยิ่งเป็นการเพิ่ม Current P/E จากปัจจุบันอยู่ในระดับ 17.4 เท่าให้สูงขึ้นไปอีก จึงเป็นความเสี่ยงต่อตลาดในระยะสั้น ๆ
เงินเฟ้อยังติดลบกว่าคาด หนุน กนง. ลดดอกเบี้ยต่อ
ล่าสุดเงินเฟ้อเดือน พ.ค. ยังคงอ่อนตัวลง และอ่อนตัวมากกว่าคาด กล่าวคือเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 1.27% yoy (ต่ำกว่าที่ตลาดคาด ที่ -1.1% และเดือน เม.ย.ที่ลดลง -1.04%) หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน แต่หากพิจารณาเงินเฟ้อฟื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) พบว่า ปรับตัวสูงขึ้น 0.94% yoy (ดีกว่าตลาดคาดว่าจะติดลบ 1% เทียบกับเดือนเม.ย.ที่ขยายตัว 1.02%) ทั้งนี้เงินเฟ้อทั่วไปที่ยังลดลงหลักๆ มาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกที่ลดลง (เฉลี่ย เบนซิน 95 และ 91 อยู่ที่ 34 และ 27.2 บาทต่อลิตรตามลำดับ) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (เฉลี่ย เบนซิน 95 และ 91 อยู่ที่ 49.2 และ 38.6 บาทต่อลิตรตามลำดับ) และค่ากระแสไฟฟ้าที่ปรับลดอัตราค่าไฟอัตโนมัติลง 9.35 สตางค์ต่อหน่วย (มาอยู่ที่ 49.61 สตางค์ต่อหน่วย) โดยเริ่มใช้ เดือน พ.ค.เป็นเดือนแรก โดยรวมทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และเงินเฟ้อพื้นฐาน เทียบเฉลี่ย 5 เดือนแรกปี 2558 ลดลง 0.77% yoy และขยายตัว 1.27 yoy ตามลำดับ
และหากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม มีการปรับตัวสูงขึ้น 0.17% yoy ถือว่ายังทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า ที่ขยายตัว 0.17% ใกล้เคียงกัน (เป็นผลจากราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ปรับตัวขึ้น 0.16% และน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่ม 3.09% mom) และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 0.05% ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับบีที่แล้วเป็นผลจากราคากลุ่มพลังงาน (น้ำมัน และไฟฟ้า) ส่วนกลุ่มของอาหารและเครื่องดื่มยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ จึงอาจกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด แต่ก็อาจมีความเสี่ยงจากการบริโภคภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว ทั้งนี้จึงต้องติดตามรายงายตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่จะรายงานในวันพฤหัสบดีนี้ และการประชุม OPEC ที่จัดขึ้นในวันศุกร์นี้ว่าจะมีการตัดสินใจอย่างไรต่อกำลังการผลิตน้ำมันในกลุ่มซึ่งจะมีผลต่อราคาน้ำมัน
ทั้งนี้ ทาง ASPS มองว่าทั้งปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะไม่สามารถขยายตัวได้ถึง 1% ตามที่คาดไว้ ส่งผลให้อาจมีแนวโน้มที่ทาง กนง. (ที่จะมีการประชุมอีก 3 ครั้งในปีนี้) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีกถึง 2 ครั้ง (ครั้งละ 0.25%) โดยสิ้นปีอัตราดอกเบี้ยอาจจะอยู่ที่ระดับ 1% ส่งผลให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าไปแตะระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งจะเป็นผลดี
ต่อหุ้นกลุ่มส่งออก
ส่วนทางฝั่งยุโรปอัตราเงินเฟ้อ (CPI) เดือน พ.ค.ขยายตัว 0.3% yoy (เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และสูงกว่าที่คาดว่าจะขยายตัว 0.2%) เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ขยายตัวได้ 0.9% (คาดไว้ที่ 0.7%) เป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน และเมื่อหักราคาพลังงานออกเพียงอย่างเดียวอัตราเงินเฟ้อขยายตัวได้ถึง 1% ซึ่งการฟื้นตัวของอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนที่บ่งชี้ว่าพ้นจากภาวะเงินฝืดแล้วนี้ เป็นผลเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายอัดฉีดเงินเข้าสู้ระบบ (QE) ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จะอัดฉีดเงินเข้าระบบเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร ซึ่งเริ่มใช้เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา และจะอัดฉีดไปจนถึง ก.ย. 2559 โดยปัจจุบันอัดฉีดเงินเข้าระบบแล้ว 2.39 ล้านยูโร
ต่างชาติขายหุ้นไทยสูงสุดในรอบ 18 วัน
วานนี้กลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 161 ล้านเหรียญ เป็นการขายทุกประเทศ ยกเว้น ซื้อสุทธิอยู่ประเทศเดียว คือตลาดเกาหลีใต้ และซื้อสุทธิเพียงเล็กน้อยราว 3 ล้านเหรียญ (เป็นการซื้อสุทธิเป็นต่อเนื่องวันที่ 4) ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศถูกขายสุทธิ นำโดยตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิราว 67 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นต่อเนื่องวันที่ 2) ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิอีกครั้งราว 48 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิได้เพียง 1 วัน) และตลาดหุ้นไทยถูกขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ราว 49 ล้านเหรียญ หรือ 1,663 ล้านบาท (ซึ่งนับเป็นยอดขายสูงสุดในรอบ 18 วัน) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 462 ล้านบาท (ส่วนตลาดหุ้นอินโดนีเซียวานนี้ปิดทำการเนื่องจากเป็นวันหยุด)
ขณะที่ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 26,648 ล้านบาท ซึ่งสวนทางกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 1,272 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่กดดันให้เงินบาทผันผวน โดยล่าสุดอยู่ที่ 33.69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
กลยุทธ์ยังเน้นหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์เงินบาทอ่อนค่า
เชื่อว่าการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายดังกล่าวข้างต้น บวกกับ แนวโน้มการขายตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งได้ขายสุทธิ 2.6 หมื่นล้านบาท ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา และขายสุทธิ 1.15 หมื่นล้านบาท จากต้นปี 2558 - จนปัจจุบัน เทียบกับที่ซื้อสุทธิ 2.07 แสนล้านบาท และ ซื้อสุทธิ 4.2 แสนล้านบาท ในปี 2557 และ 2556 ตามลำดับ ล้วนเป็นปัจจุบันกดดันให้เงินบาทมีคงอ่อนค่า โดยใกล้เคียง 33.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะแตะ 34 บาท ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่ามากสุด ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2552 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติซับไพร์ม แต่ถือว่าอ่อนค่าไปในทิศทางเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน และถือว่าเป็นผลดีต่อภาคส่งออก ที่มีรายได้ในรูปสกุลดอลลาร์สุทธิ (รายได้ดอลลาร์ มากกว่าต้นทุนดอลลาร์ หรือมีต้นทุนเป็นเงินบาท) จึงแนะนำให้สะสมหุ้นในกลุ่มดังต่อไปนี้คือ
กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คือ HANA (FV@B48) รองลงมาคือ DELTA (FV@B78), KCE (FV@B60) และ SVI([email protected]) ตามด้วยผู้ส่งออก Particle board คือ VNG ([email protected]) ผู้ส่งออกอาหาร ได้แก่ TUF (FV@B26), CPF(FV@B28) และ CFRESH([email protected]) รวมถึงหุ้นเดินเรือเทกองที่มีรายได้เป็นสกุลดอลลาร์ และยังได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ตกต่ำในปัจจุบัน คือ RCL ([email protected])
ทั้งนี้ยกเว้นหุ้นส่งออกสินค้าเกษตร อีกกลุ่มหนึ่ง แม้จะฐานรายได้ในรูปดอลลาร์เกือบ 100% และใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก แต่นักวิเคราะห์ ASPS มีคำแนะนำเพียงถือ เพราะนอกจากธุรกิจส่งออกไม่สดใสแล้ว พบว่าราคาตลาดยังใกล้ Fair Value หรือมี upside จำกัด คือ KSL(FV@B5) แต่อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทอ่อนค่าลงทุก 1 บาท จากสมมติฐานของ ASPS ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ จะหนุนให้กำไรของ KSL เพิ่มขึ้น 6.7% จากประมาณการปัจจุบัน ตามมาด้วย STA(FV@B14) แม้ทุกๆ 1 บาทที่อ่อนค่า จากสมมติฐานจะเพิ่มกำไรให้ 7.2% จากประมาณการปัจจุบัน แต่ราคาปัจจุบันมี upside จำกัด
นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์ : กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล