- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 18 June 2014 16:16
- Hits: 2699
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แนะนำเก็งกำไร DTAC(FV@B122) ผลกระทบจำกัด หลังจากชะลอประมูล 4G และยังเลือก GUNKUL(FV@B20) เป็น Top pick วันนี้พบกับทีมผู้บริหาร ในงาน'บริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน'ที่ห้องค้า ASP ชั้น 3
FOMC มีโอกาสยืดการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ตลาดหุ้นสะท้อนด้านบวก
เชื่อว่าระยะสั้นตลาดยังให้น้ำหนักต่อปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในฝั่งยุโรป และแผนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ซึ่งความคิดเห็นในตลาดยังมีความขัดแย้งอยู่ กล่าวคือ ล่าสุด IMF และธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลด GDP Growth สหรัฐ ในปี 2557 เหลือ 2% และ 2.1% ตามลำดับ นั่นแสดงถึง เศรษฐกิจสหรัฐในอีก 3 ไตรมาสที่เหลือ จะขยายตัวได้ไม่เกิน 2% (จากในงวด 1Q57 ขยายตัวได้ 2%yoy) ซึ่งทำให้ IMF มีความเห็นว่า FOMC ควรจะใช้ดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ต่อไป
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจชี้นำที่สำคัญของสหรัฐ
ล่าสุด พบว่า ยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยอัตราการว่างงานเดือน พ.ค. อยู่ที่ระดับ 6.3% (ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าและเป้าลุเป้าหมายเบื้องต้น 6.5% ที่ Fed กำหนด) และสอดคล้องกับจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ที่ค่อยๆปรับลดลง เช่นเดียวกับการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. หรือคิดเป็น 2.1%yoy (หรือ 0.4%mom เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วที่สุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 2556 และสูงกว่าตลาดคาด 0.2%mom) เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน หลักๆ เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าเชื้อเพลิง และอาหาร (แม้หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อนับจาก ต้นปี 2557 – พ.ค. อยู่ที่ 0.9% ytd ซึ่งอาจจะห่างจากเป้าหมายมากทีกำหนดไว้ 2% ก็ตาม) ซึ่งน่าจะมีผลต่อพิจารณาการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (FED)
ภายในช่วง 1H58 หรือไม่คงต้องรอดูผลของการประชุมของ FED ระหว่างวันที่ 17-18 มิ.ย. นี้ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นสหรัฐระยะสั้น เชื่อว่าน่าจะสะท้อนความหวังเชิงบวกต่อการเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายออกไปสอดคล้องกับความเห็นของ IMF ดังกล่าวข้างต้น และพบว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลคู่ค้าหลัก 10 แห่งหรือ Dollar Index ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีสัญญาณการแกว่งตัวขึ้นในทิศทางอ่อนค่า หลังจากทีมีทิศทางแข็งค่าเป็นกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา
การชะลอโครงการ 4G น่าจะดีต่อ DTAC
หลังจากที่ คสช. เข้ามายึดอำนาจการบริหารประเทศเป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์ ได้ดำเนินการหลายโครงการต่อเนื่องจากที่เกิดปัญหาในการบริหารจากรัฐบาลที่ผ่านมา ได้แก่ การจ่ายเงินจำนำข้าวที่ติดค้างชาวนา 92,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเร่งชำระหนี้หมดภายใน 21 มิ.ย. นี้ ตามมาด้วยเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 และการทำงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ก.ย.2557 โดยเป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท ขณะที่โครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนในสาธารณูปโภค ซึ่งส่วนใหญ่เดินหน้าต่อ แต่ปรับแหล่งเงินมาใช้งบประมาณประจำปี และ พรบ. หนี้สาธารณะ แม้ได้มีการชะลอโครงการลงทุนบางโครงการเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสก่อน เช่น โครงการบริหารน้ำ 3.5แสนล้านบาท โครงการแท็บเล็ตแจกนักเรียน แต่อย่างไรก็ตาม ASP ประเมินว่า GDP Growth ปีนี้น่าจะขยายตัวได้ราว 2 %
ล่าสุดเที่ยงวานนี้ (18) คสช. ได้มีคำสั่งให้ กสทช. ชะลอ โครงการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz (2 ใบอนุญาต มูลค่ารวม 2.32 หมื่นล้านบาท) และความถี่ 900 MHz (2 ใบอนุญาต มูลค่ารวม 1.97 หมื่นล้านบาท) และ การให้ความช่วยเหลือประชาชนในการซื้ออุปกรณ์เปลี่ยนผ่านทีวีจากระบบอนาล็อกเป็นดิจิตอล ด้วยการแจกคูปองมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท
คาดว่าผลกระทบนาจะเกิดใน 2 ลักษณะคือ ต่อเศรษฐกิจและผู้ประกอบการโดยตรง กล่าวคือ
ธุรกิจสื่อและบันเทิงกระทบน้อยยังชอบ RS(FV@B10) เม็ดเงินช่วยเหลือที่จะให้จำนวน 20 ล้านครัวเรือนๆ ละ 1,000 บาท หรือเป็นเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาทเป็นอันต้องเลื่อนออกไป แต่อย่างไรก็ตามในที่สุดเชื่อว่าเงินสนับสนุนน่าจะยังมีอยู่ต่อไป (ปัจจุบันจำนวนครัวเรือน ที่ชมโทรทัศน์ปัจจุบันส่วนใหญ่ 65% เป็นผู้รับชมผ่านทีวีดาวเทียม และอินเตอร์เน็ต (กลุ่มมีกำลังซื้อ) ที่เหลือ 35% เป็นผู้รับชมผ่านเสาทีวีแบบดั้งเดิม) ในระยะสั้นเท่ากับทำให้ขาดแรงกระตุ้นการใช้จ่ายในเครื่องใช้ไฟฟ้า และขาดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ผู้ให้บริการด้านธุรกิจโฆษณาและบันเทิง อาจจะประสบความสำเร็จในการก้าวสู่ธุรกิจทีวีดิจิตอลล่าช้า แต่อย่างไรก็ตามในระยะสั้น หลังจากที่ปัญหาการเมืองคลี่คลาย และกระแสบอลโลกทำให้การโฆษณามีแนวโน้มที่ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ในสถานการณ์นี้จึงยังคงดีต่อผู้ประกอบการในกลุ่มโทรทัศน์ดาวเทียม โดยเฉพาะ RS(FV@FV10) ที่ยังได้ประโยชน์จากการถ่ายทอดบอลโลก
ธุรกิจสื่อสารกระทบ ADVANC มากสุด ขณะที่ DTAC น่าจะกระทบน้อยสุด โดยผู้ที่จะกระทบมากสุดคือ ADVANC เพราะกำลังการให้บริการคลื่นปัจจุบันคือ 900 และ 2100 ใช้บริการ 2G และ 3G ลูกค้า 42 ล้านรายเต็มแล้ว ทำให้คลื่น 2100 ไม่สามารถแบ่งมาให้บริการ 4G ได้เหมือนคู่แข่ง 2 ราย ที่มีลูกค้าน้อยกว่าเกือบ 40% ของลูกค้า ADVANC ขณะที่การชะลอประมูลคลื่น 900 ทำให้ ADVANC จะต้องเร่งโอนลูกค้า 2G ที่มีอยู่ 38% ของลูกค้ารวม ออกมาให้ทันก่อนอายุบริการหมด 15 ก.ย. 58 ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงรายจ่ายจูงใจลูกค้าเกินคาด ขณะที่ DTAC รับผลกระทบน้อยสุด เพราะปัจจุบันให้บริการ 2G และ 3G+4G บนคลื่น 1800 และ 850+2100 ตามลำดับ โดยคลื่น 1800 และ 850 DTAC มีอายุบริการอีก 4 ปี ทำให้ DTAC ไม่ต้องเผชิญปัญหาย้ายลูกค้า 2G ส่วน TRUE ปัจจุบันให้บริการ 2G และ 3G+4G ด้วยคลื่น 1800 และ 850+2100 ตามลำดับ แต่คลื่น 1800 จะหมดอายุบริการ 15 ก.ย. นี้ ทำให้ต้องการคลื่น 1800 มาบริการลูกค้า 2G ที่ยังโอนมา 3G ไม่ได้ 3.2 ล้านราย แต่เนื่องจาก ลูกค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีรายได้ต่อเลขหมายน้อย จึงกระทบน้อยกว่า ADVANC และ กสทช. จะประชุมหาแนวทางเยียวยา จึงแนะนำเก็งกำไร DTAC(FV@B122) ราคาหุ้นปรับตัวลงจนเริ่มมี Upside และ TRUE เป็นหุ้น Turnaround แนะนำซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว ส่วน ADVANC แนะนำให้ชะลอการลงทุนช่วงสั้น
ไทยยังถูกขายต่อเนื่องเช่นเดียวกับกลุ่ม TIP
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ด้วยยอดเบาบาง ราว 134 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าเพียง 4%) ภาพรวมยังคงเป็นการเลือกซื้อรายประเทศ และขายสุทธิในกลุ่ม TIP ออกมา กล่าวคือ ซื้อสุทธิในไต้หวันซื้อสุทธิเป็นวันที่ 9 ราว 130 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 36%) และเกาหลีใต้ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 37 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว) กลับกันกับไทย ที่ถูกขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 6 ราว 23 ล้านเหรียญฯ (753 ล้านบาท, ลดลง 36% จากวันก่อนหน้า) เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย ที่ยังขายสุทธิเบาบางเป็นวันที่ 2 ราว 7 และ 2 ล้านเหรียญฯ ตามลำดับ
นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องถึง 6 วันรวม 4.1 พันล้านบาท ในทิศทางเดียวกับประเทศในกลุ่ม TIP ที่ถูกขายสุทธิออกมา หลังจากที่ถูกเข้าซื้ออย่างหนักในช่วงก่อนหน้า เว้นเพียงแต่ประเทศไทย ที่มีปัญหาด้านการเมืองคอยกดดัน เชื่อว่าในระยะสั้น กระแสเงินทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้าไทยจะยังคงชะลอตัวต่อไป จากปัจจัยการเมืองที่คอยกดดัน และ ตลาดจะถูกขับเคลื่อนจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันเป็นหลัก
ดอกเบี้ยนโยบาย 2% เพียงพอสำหรับสนับสนุนการโอนฯ บ้าน
วันนี้ กนง. จะมีการประชุม ซึ่งประเมินว่ามีความเป็นไปได้มากที่จะเห็นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% ตามเดิม ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยเห็นว่าระดับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำเพียงพอสำหรับการสนับสนุนให้เกิดการโอนฯ บ้านได้ตามปกติ อีกทั้งแนวโน้มสถานการณ์การเมือง และระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ดีขึ้น น่าจะทำให้สถาบันการเงินลดระดับความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยลง ภายใต้องค์ประกอบดังกล่าว น่าจะทำให้ Backlog ของผู้ประกอบการต่างๆ มีคุณภาพที่ดีขึ้น
ในส่วนของบริษัทจดทะเบียน 15 แห่ง ใน Coverage ของฝ่ายวิจัย ASP พบว่า ณ สิ้น 1Q57 มี Backlog รวมอยู่ที่ 2.65 แสนล้านบาท แยกเป็นส่วนของโครงการแนวราบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นคอนโดมิเนียม ทั้งนี้จากการตรวจสอบแผนการบันทึกรายได้ของโครงการคอนโดมิเนียม พบว่า ในช่วง 2Q57 – 4Q57 ผู้ประกอบการ 15 ราย มี Backlog ในส่วนคอนโดฯ พร้อมโอนฯ และบันทึกรายได้ 7.44 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท/ไตรมาส ซึ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับ 1Q57 ที่น่าจะมีการโอนฯ คอนโดฯ เพียง 1.43 หมื่นล้านบาท สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เชื่อว่าผลประกอบการงวด 1Q57 ของกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ประกาศออกมาแล้ว น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปี และน่าจะเห็นการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในงวด 2Q57 และปรับขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใน 4Q57 ซึ่งน่าจะทำให้ราคาหุ้นตอบสนองในเชิงบวก หุ้นเด่นที่น่าสนใจได้แก่ AP (FV@B 7.10), ANAN (FV@B 2.90), RML (FV@B 3.28) และ SC (FV@B 4.45)
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล