- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 07 May 2015 16:29
- Hits: 1463
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาดว่า SET น่าจะได้แรงหนุนจากหุ้นน้ำมัน (PTT, PTTEP) ตามการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบ และหุ้นส่งออกที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า (HANA, KCE) วันนี้ยังเลือก PTTEP(FV@B140) และ ASK([email protected]) เป็น Top picks โดย ASK ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลงมากสุด
เงินบาทอ่อนค่ามากสุดในภูมิภาค HANA เด่นสุด
ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยถูกกดดันรอบด้าน ทั้งกำลังซื้อในประเทศที่ลดลงจากที่ขาดแรงกระตุ้น และภาคการเกษตรต่ำ จากการส่งออกที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักคือ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ส่วนสหรัฐ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจล่าสุดดูเหมือนจะเริ่มส่งสัญญาณว่ากลับมาชะลอตัว หลังจากที่ฟื้นตัวสวนทางกับประเทศอื่นๆ ตลอดปี 2557 และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปี 2557 กว่า 50% มีส่วนสำคัญทำให้เงินเฟ้อไทยติดลบต่อเนื่องมา 4 เดือนแรกของปีนี้ และอาจจะทำให้คาดว่าปีนี้เงินเฟ้อไม่น่าเกิน 1% ซึ่งทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ยฯ อย่างน้อย 0.25-0.5% ในการประชุมที่เหลืออีก 4 ครั้งจนถึงสิ้นปี 2558 ถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งกดดันเงินบาทผันผวนอย่างมาก โดยช่วง 2 สัปดาห์หลังสุด เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง และทำสถิติสูงสุดรอบใหม่ในรอบ 6 ปี (เมื่อ ธ.ค. 2552) คืออยู่ 33.33 บาทต่อดอลลาร์ หรือเงินบาทอ่อนค่าราว 3% (นับจากจุดต่ำสุดเมื่อ 20 เม.ย. ถึง 5 พ.ค. 2558) ซึ่งนับว่าอ่อนค่ามากที่สุด ในภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่อ่อนค่ามากสุดไม่เกิน 2% เช่น เงินรูเปียะของอินโดนีเซียอ่อนค่า 1.4% เงินเปโซของฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 1% และ เงินรูปีย์ อ่อนค่า 2% ตรงข้ามกับเงินริงกิตของมาเลเซียกลับยังมีทิศทางแข็งค่ากว่า 3% ซึ่งคาดว่าสถานการณ์นี้น่าจะยังมีอยู่เนื่องจากสินค้าส่งออกและ ตลาดส่งออกของ คู่แข่งขันในภูมิภาคเอเซีย จะมีความคล้ายคลึงกัน
แต่อย่างไรก็ตามการอ่อนค่าของเงินกลับส่งผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มชิ้นส่วนฯ เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่เป็นเงินต่างประเทศ แต่ต้นทุนบางส่วนเป็นเงินบาทไทย ฝ่ายวิจัยประเมินว่าทุกๆ 1 บาทที่อ่อนค่า จะส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิกลุ่มฯ ในปี 2558 ปรับเพิ่มขึ้น 5.4% จากเดิม โดยบริษัทที่ได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาท ได้แก่
HANA (FV@B48) ได้รับผลประโยชน์สูงสุด เนื่องจากกำไรจากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมถึง 6.2% ขณะที่ไม่มีภาระหนี้สินดอกเบี้ยจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศเลย นำโดยผลิตภัณฑ์หลัก IC และ PCBA +ใช้ในกลุ่มยานยนต์ และ smart phone โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลิตภัณฑ์ Hearing aids (เครื่องช่วยการได้ยิน) ที่จะเติบโตเป็นอย่างมากในปีนี้ โดย HANA ได้เพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานลำพูนเฟส 2 เต็มที่ตั้งแต่งวด 2Q58 เป็นต้นไป เพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าใหม่ๆ ประกอบกับงวด 2Q58 และ 3Q58 เข้าสู่ช่วงฤดูกาลส่งออก จึงคาดว่ากำไรสุทธิงวด 2Q58 จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และคาดว่าปี 2588 กำไรสุทธิจะเติบโตถึง 23.9% แต่ราคาตลาดมี upside 3.2% จึงแนะนำให้ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว
KCE (FV@B60) ทุกๆ 1 บาทที่อ่อนค่าจะทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 5.5% โดยแนวโน้มผลการดำเนินงานงวด 2Q58 จะฟื้นตัวตามช่วงฤดูกาลส่งออก ส่วนกำไรจากการดำเนินงานทั้งปี 2558 คาดว่าจะเติบโตถึง 27.4% yoy ตามคำสั่งซื้อของผลิตภัณฑ์ PCB จากลูกค้าเก่าที่ผ่านการทดสอบสินค้าแล้ว และการเน้นหาลูกค้าใหม่รองรับการขยายโรงงานใหม่ตั้งแต่ 1Q58 เป็นต้นไป แต่ราคาตลาดมี upside 8.6% จึงแนะนำให้ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว
DELTA (FV@B78) ได้รับผลประโยชน์รองลงมา โดยทุกๆ 1 บาทที่อ่อนค่าจะทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 5.7% ขณะที่ผลการดำเนินงานอาจชะลอตัวในงวด 2Q58 เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ซึ่งจะทำให้ยอดขายรวมอ่อนตัวลง แล้วค่อยกลับฟื้นตัวในช่วง 2H58 ซึ่งจะย่างเข้าสู่ช่วงฤดูกาลส่งออก ด้วยแรงหนุนจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภท Data center กลุ่ม Telecom และการลงทุนด้านโทรคมนาคมขั้นพื้นฐานในประเทศอินเดีย คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2558 เติบโต 21.2% yoy อย่างไรก็ตาม ราคาปัจจุบันเต็มมูลค่าพื้นฐานแล้ว แนะนำให้ทยอยขายทำกำไรไปก่อน หรือให้ switch ไปลงทุนใน HANA
SVI ([email protected]) ทุกๆ 1 บาทที่อ่อนค่าจะทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 5.2% ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2558 ธุรกิจจะ turnaround อย่างมีนัยฯ แม้คาดกำไรจากการดำเนินงานปี 2558 จะหดตัวถึง 21.9% yoy จากการที่ผลการดำเนินงานงวด 1Q58 ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เนื่องจากอยู่ระหว่างการฟื้นฟูโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรใหม่ แต่จะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติตั้งแต่งวด 2Q58 เป็นต้นไป และเติบโตเต็มที่ถึง 28.7% yoy ในปี 2559 ราคาตลาดมี upside 10.4% จึงแนะนำให้ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว
สต๊อกน้ำมันลด + ปัญหา oversupply ลดลง ดีต่อ PTTEP, PTT
วานนี้ EIA (สารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ) รายงานตัวเลข สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ของสัปดาห์ก่อนหน้า ลดลง 3.9 ล้านบาร์เรล เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 487 ล้านบาร์เรล ซึ่งผิดจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้คาดว่าส่วนหนึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากการผลิตและสำรวจน้ำมันในสหรัฐมีแนวโน้มลดลง ตาม จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯที่ลดลงตั้งแต่ปลายปี 2557 จนลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ ปี 2553 เนื่องจากผู้ประกอบการรายเล็กประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากต้นทุนการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน ไม่คุ้มต้นทุน จึงต้องทยอยลด หรือออกจากอุตสาหกรรม นอกจากนี้ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังมีอยู่ โดยเฉพาะการประท้วงในประเทศลิเบีย เป็นอุปสรรคต่อการผลิตและขนส่งน้ำมัน ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่กดดันให้ supply ของน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ทำให้ปัญหาผลผลิตน้ำมันเกินความต้องการค่อยๆ ลดลง หรือทำให้ความต้องการใช้น้ำมันและปริมาณผลิตกลับมาอยู่ในระดับสมดุลมากขึ้น ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้ถือเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน โดยลาสุดราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 65.35 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล สามารถยืนเหนือ 60 เหรียญฯ ต่อเนื่องมาเป็นเวลาเกือบ 1 เดือน แต่อย่างไรก็ตามพบว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยจากต้นปีจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 53.97 เหรียญฯ เมื่อเทียบกับสมมติฐานของ ASPS กำหนดราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้ที่ 70 เหรียญฯ นั่นหมายความว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยต้องอยู่ที่ 78 เหรียญฯ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการประชุม OPEC ที่จะมีขึ้นในช่วงกลางเดือนหน้า จะกำหนดทิศทางการผลิตน้ำมันอย่างไร
ในภาวะที่ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวทางเอเชียพลัสมองว่าน่าจะส่งผลดีต่อหุ้น PTT(FV@B402) และ PTTEP(FV@B140) ที่ได้ประมาณกำไรสุทธิปี 2558 ว่าจะเติบโต จากปี 2557 70% และ 81.5% ตามลำดับ
ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นภูมิภาคอีกครั้งหนึ่ง แต่ยังขายไทยเล็กน้อย
วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคเป็นวันแรกราว 42 ล้านเหรียญ โดยซื้อสุทธิอยู่ 2 ประเทศคือ ตลาดหุ้นไต้หวัน 56 ล้านเหรียญ (ซื้อต่อเนื่องวันที่ 11) และซื้อสุทธิในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ 71 ล้านเหรียญ (ซื้อต่อเนื่องวันที่ 2) ที่เหลือคือกลุ่ม TIP ยังคงถูกขายสุทธิ โดยตลาดหุ้นอินโดนีเซียถูกขายออกมา 63 ล้านเหรียญ (ซึ่งในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 578 ล้านเหรียญ) และตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ถูกขาย 19 ล้านเหรียญ ส่วนตลาดหุ้นไทยถูกขายสุทธิเล็กน้อยราว 2 ล้านเหรียญ หรือ 67 ล้านบาท (ขายต่อเนื่องวันที่ 5) ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันยังขายสุทธิ 8,394 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 6,590 ล้านบาท แต่นับตั้งแต่ต้นปียังคงซื้อสุทธิ 8,063 ล้านบาท การขายของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นแลตลาดตราสารหนี้น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงอยู่ที่ 33.26 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 5 ปี (นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2553 เป็นต้นมา)
Sell in May ไม่น่าจะมีผลกับตลาดหุ้นไทยมากนัก
Sell in May (and go away) มีที่มาจากผลวิจัยของตลาดหุ้นต่างประเทศที่มักจะปรับลงในช่วงเดือน พ.ค. เหตุมาจาก ผู้จัดการกองทุนที่ส่วนใหญ่มักหยุดพักผ่อนในช่วงฤดูร้อน จึงขายหุ้นออกมาเพื่อลดความเสี่ยงในช่วงดังกล่าว ฝ่ายวิจัยจึงได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงในเดือน พ.ค. ของดัชนีหุ้นสำคัญทั่วโลก ทั้งในตลาดหุ้นภูมิภาคอเมริกา ยุโรป และเอเซีย รวมทั้งตลาดหุ้นไทย ในช่วง 15 ปีหลังสุด พบว่าสำนวนดังกล่าวมักเป็นจริงและใช้ได้กับตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐ (ดาวโจนส์) เนื่องจากในอดีตตลาดหุ้นเหล่านี้มักจะตกในช่วงเดือน พ.ค. (ตามภาพด้านล่าง)
แต่สำหรับตลาดหุ้นไทยนั้น ยังถือว่าไม่มีทิศทางที่ชัดเจน เนื่องจากในอดีต SET ปรับลงในเดือน พ.ค. มีเพียง 47% ตรงข้ามดัชนีกลับให้ผลตอบแทน 0.2% จึงเชื่อว่า Sell in May ไม่น่าจะมีผลกับตลาดหุ้นไทยมากนัก อย่างไรก็ตาม แม้ในอดีตโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะปรับลงในเดือน พ.ค. จะมีไม่ถึงครึ่ง แต่ในปีนี้ SET Index มีหลายปัจจัยกดดัน ทั้งกระแสเงินต่างชาติที่ยังไม่ได้เข้ามาอย่างชัดเจน,ระดับ PER หุ้นไทยที่ค่อนข้างสูง และปัญหาเศรษฐกิจ-การเมืองในประเทศ จึงยังประมาทเรื่องนี้ไม่ได้
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
มาราพร กี้วิริยะกุล